ฎีกาแรงงาน คำพิพากษา คดีแรงงาน ต่างๆที่น่าสนใจ กรณีไม่ถือว่าถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง (1)


883 ผู้ชม


กรณีไม่ถือว่าถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง (1)




นางทัศนีย์  เพ็ชรช่วย ที่ 1  นางละออง  เพ็ชรช่วย  ที่ 2                                                           โจทก์

พันตำรวจโทเพิ่ม  เพ็ชรช่วย   ที่ 3   ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมรัตน์นคร  ที่ 4

กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  ที่ 1                                                                              จำเลย

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ 2

ประเด็นข้อพิพาท     1.  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

                                  2.  โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่

                                  3. โจทก์ฟ้องเกินกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนหรือไม่

                                  4.  มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ (ระหว่างการ พิจารณาโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 4 ขอถอนฟ้องศาลอนุญาต)

                นายอุทธรณ์  เพ็ชรช่วย ผู้ตาย เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 4 มานายประมาณ 20 ปี ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 7,000 บาท โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นภริยาจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ที่ 3 เป็นบิดาของผู้ตาย ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 ขณะที่ผู้ตายขับรถยนต์ไปส่งคนงานในกิจการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายที่บ้านจังหุน ตำบลท่าเรือ  อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

                ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์ประเด็นแรกเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายวกวนไปมาอยู่บ้างแต่อ่านโดยรวมได้ใจความว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้กับนายจ้างแต่เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่ามิใช่เนื่องจากการทำงาน โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการตายอันเนื่องจากการทำงาน ซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นการขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และขอให้จ่ายเงินแก่โจทก์ตามหลักเกณฑ์ของกองทุนเงินทดแทน ถือได้ว่า เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้อบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อกล่าวหาแล้ว ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีวินิจฉัยพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

                ประเด็นที่สอง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าแม้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะมีฐานะเป็นกองทุนอยู่ในสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีระดับเป็นกรม แต่การปฏิบัติงานเบื้องต้นก็ใช้ข้าราชการในสำนักงานประกันสังคมจังหวัดทำหน้าที่ในด้านเกี่ยวกับการรับเงินจากกองทุนเงินทดแทน การที่โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจำเลยที่ 2 ก็เพราะเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนที่โจทก์ยื่นคำขอเป็นการฟ้องเพื่อมุ่งเน้นถึงสำนักงานประกันสังคมนั้นเอง ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นเป็นกระทรวงซึ่งสำนักงานประกันสังคมสังกัดอยู่ ย่อมมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลส่วนราชการในสังกัดได้ เมื่อส่วนราชการภายใต้สังกัดปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามที่กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ก็อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

                ประเด็นที่สาม โจทก์ฟ้องเกินกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ หนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ปรากฏตามหลักฐานบัญชีควบคุมการนำจ่ายไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2540 โจทก์จึงฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 53

                ประเด็นที่สี่ มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ กรณีฟังได้แต่เพียงว่าในวันเกิดเหตุผู้ตายเลิกงานปกติและออกจากที่ทำงานเวลาประมาณ 18.00 นาฬิกา เพื่อไปส่งคนงานที่บ้านจังหุน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 นาที แต่ประกฎว่าผู้ตายประสบอันตรายถึงแก่ความตายในเวลา 21 นาฬิกาเศษ ห่างจากจุดที่ส่งคนงานประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น ชี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เวลาทำงานของผู้ตาย ดังนั้น การประสบอันตรายถึงแก่ความตายของผู้ตายมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน มติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2540  ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน พิพากษายกฟ้อง

                โจทก์ที่สองและที่สามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

                ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ของให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในเรื่องผู้ตายทำงานให้ นายจ้างเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยผู้ตายทำงานล่วงเวลาเป็นอาจิณเพื่อใช้วินิจฉัยว่าผู้ตายถึงแก่ความตายในช่วงการทำงานให้นายจ้างหรือไม่นั้น เป็นอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 และ ที่ 3

คำพิพากษาฎีกาที่ 6903/2541

อัพเดทล่าสุด