จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
กรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๙(๒)แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ หมายถึงลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างกระทำโดยรู้ถึงผลเสียหายที่จะเกิดแก่นายจ้าง
การที่พนักงานแผนกซ่อมบำรุงของจำเลยผู้เป็นนายจ้างไปตรวจเช็คเครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียพบว่ามีเสียงดังผิดปกติ จึงรายงานให้โจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานทราบ แต่โจทก์ไม่พูดอะไรและไม่ได้ไปดู จนกระทั่งพนักงานดังกล่าวเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดความเสียหาย จึงหยุดเครื่อง แล้วโจทก์จึงสั่งให้พนักงานไปถอดมาซ่อมยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง การกระทำของโจทก์มิใช่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการละเลยต่อหน้าที่การงานอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยเคร่งครัดถือว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓ประกอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสุดท้าย
คำพิพากษาฎีกาที่ 902/2545