ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม ม.119


2,643 ผู้ชม


ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม ม.119




ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม ม.119

 

 
 
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดต่อไปนี้
(1)  ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2)  จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3)  ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4)  ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5)  ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6)  ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
บทบัญญัติเรื่องข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อกระทำความผิดตามมาตรา 119 นี้ เป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญมากที่สุดและเป็นบทบัญญัติที่มีคำพิพากษาฎีกามากที่สุดในบรรดาบทบัญญัติในกฎหมายแรงงงานทุกฉบับ เมื่อพิจารณามาตรา 118 แล้วจะเห็นได้ว่า โดยหลักการเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น เหตุที่นายจ้างจะอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยจะต้องเป็นเรื่องที่นายจ้างเป็นฝ่ายยกขึ้นอ้างจากความผิดที่ลูกจ้างได้กระทำว่าลูกจ้างได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดใน 6 ข้อตาที่บัญญัติไว้หรือไม่อย่างไร
เหตุที่นายจ้างจะอ้างมาตรานี้ ได้มีบทบัญญัติกำหนดไว้ชัดแจ้งในมาตรา 17 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า
ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้าง ภายหลังไม่ได้”
 
เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 17 วรรคสามกำหนดไว้เช่นนี้ก็เท่ากับว่ากำหนดว่าเหตุที่นายจ้างจะยกขึ้นเพื่ออ้างในกรณีที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 จะต้องเป็นเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างจ้างเท่านั้น ดังนั้น ถ้านายจ้างเลิกจ้างด้วยวาจาหรือโดยปริยาย ด้วยการแสดงออกต่างๆ เช่น สั่งยามรักษาการณ์ไม่ให้ลูกจ้างเข้ามาทำงานในโรงงาน  นายจ้างก็น่าที่จะยกข้ออ้างตามมาตรา 119 ขึ้นต่อสู้เมื่อลูกจ้างไปฟ้องเรียกค่าชดเชยที่ศาลแรงงานมิได้
อย่างไรก็ตาม ศาลฏีกาได้วินิจฉัยในเชิงให้โอกาสแก่นายจ้างที่มิได้บอกเลิกจ้างเป็นหนังสือว่า “ถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา”  (คำพิพากษาฎีกาที่ 7047/2542,95/2543)
อนึ่ง เหตุผลที่นายจ้างระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจริง เป็นเหตุที่ใกล้ชิดกับการเลิกจ้าง และเป็นเหตุที่นายจ้างต้องเลิกจ้างกับลูกจ้าง(ถ้าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นมาแล้วนาน 2 ปี 3 ปี นายจ้างก็ทราบดี แต่ภายหลังนายจ้างเกิดไม่ชอบใจลูกจ้างในกรณีอื่น จึงเลิกจ้าง กรณีนี้ศาลอาจพิจารณาว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว นายจ้างทราบดีแต่มิได้ลงโทษลูกจ้างแต่อย่างใด ถือว่าเป็นเหตุที่นายจ้างได้ให้อภัยแก่ลูกจ้างนั้นแล้ว)
ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม
โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด