กฎหมายแรงงาน : วันหยุดตามประเพณี


849 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : วันหยุดตามประเพณี




กฎหมายแรงงาน : วันหยุดตามประเพณี

 

มาตรา 29 ให้นายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าหนึ่งปีไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น

ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป

ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสหยุดงานเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามประเพณีของวันหยุดต่างๆ นายจ้างจะต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีโดยจะประกาศไว้เป็นการแน่นอนครั้งเดียวในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือประกาศในแต่ละปีก็ได้ โดยในหนึ่งปีนายจ้างจะต้องจัดวันหยุดอย่างน้อย 13 วัน และในจำนวน 13 วันนั้นต้องมีวันแรงงานแห่งชาติหรือวันที่ 1 พฤษภาคมรวมอยู่ด้วย ส่วนอีก 12 วัน นายจ้างอาจเลือกกำหนดได้จากกวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น

วันหยุดราชการประจำปีนั้น ทางราชการจะประกาศให้ทราบโยทั่วกันในแต่ละปี โดยปกติได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันมาฆบูชา วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันสงกรานต์ (3 วัน) วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันเฉลิมพระชนพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ วันปิยมหาราช วันเฉลิมพระชมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันพระราชทานรัฐธรรมนูน และวันเริ่มเทศกาลปีใหม่ (วันที่ 31 ธันวาคม)

หากวันหยุดตามประเพณีที่นายจ้างกำหนดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้างคนใด (วันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้างแต่ละคนในบางสถานประกอบกิจการอาจไม่ตรงกันลูกจ้างคนนั้นจะได้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป

โดยปกติ เมื่อนายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณีไว้แล้ว หากไม่สามารถให้ลูกจ้างหยุดได้และให้ลูกจ้างมาทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 62 ให้แก่ลูกจ้างนั้น แต่ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว นายจ้างกับลูกจ้างอาจตกลงกันว่า จะให้ลูกจ้างหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีนั้น หรือให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างวนวันหยุดก็ได้

กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2541) กำหนดงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานในวันหยุดตามประเพณีได้ไว้ดังนี้

1.)  งานในกิจการโรงแรม  สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และสถาน

       บริการท่องเที่ยว

2.)  งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหาย

       แก่งาน

        นายจ้างที่ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายข้างต้นมีความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 146 ในขณะเดียวกันนายจ้างที่ไม่จัดให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีดังกล่าวข้างต้นต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 ให้แก่ลูกจ้างนั้นด้วย

               

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ

อัพเดทล่าสุด