การสัมภาษณ์งานแบบมีโครงสร้าง : หลักทั่วไป


643 ผู้ชม


การสัมภาษณ์งานแบบมีโครงสร้าง : หลักทั่วไป




การสัมภาษณ์ (interview) คือ การพบปะพูดคุยกันของคนสองฝ่ายที่มีสถานภาพต่างกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์  (interviewer)  ซึ่งอาจเป็นผู้สัมภาษณ์เดี่ยวหรืออยู่ในรูปของคณะกรรมการก็ได้ และทำหน้าที่หลักคือสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการจากฝ่ายหนึ่งในฐานะเป็นผู้รับการสัมภาษณ์ (interviewee) หรือในฐานะของผู้สมัคร (applicant)  อันจะนำไปสู่การประเมินความสอดคล้อง ความเหมาะสม ของผู้สมัครกับตำแหน่งงานขององค์การ

            ในบรรดาเครื่องมือทำนาย (predictors) ทักษะ ความรู้ ความสามารถ บุคลิกลักษณะอื่นๆของ บุคคลที่องค์การแต่ละแห่งที่นิยมใช้นั้น จะพบเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์งานเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในอันดับต้นๆ แม้ยังไม่สามารถระบุรูปแบบการสัมภาษณ์งานใดที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับได้

            ประโยชน์และความถูกต้องของการสัมภาษณ์งานอยู่ที่ข้อมูลการพูดคุยนั้นเกี่ยวข้องกับงานมากน้อยเพียงใด และการสัมภาษณ์งานนั้นจำแนกคนได้หรือไม่

                หากเตรียมและดำเนินการให้ดี อย่างรัดกุม การสัมภาษณ์จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงธรรม ที่ส่งผลให้การตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง  แต่หากเตรียม และดำเนินการสัมภาษณ์ไม่เหมาะสม ผลการสัมภาษณ์จะทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ชี้นำในทางที่ผิด ไม่เกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาทางกฎหมายอีกมาก

การสัมภาษณ์ประเภทต่างๆ ในองค์การ

    การสัมภาษณ์นอกเหนือจากมีการพบปะพูดคุยของบุคคล 2 ฝ่าย อย่างมีเป้าหมาย การสัมภาษณ์งานพึงมีลักษณะต่างๆดังต่อไปนี้
    1. เป็นกิจกรรมที่มีการวางแผน (Planed activities)  ไว้ล่วงหน้า ในแง่ของเนื้อหาและการดำเนินการ ว่าจะซักถามอะไร ถามอย่างไร กรรมการเป็นใคร จำนวนเท่าใด องค์ประกอบเช่นไร ใช้เวลาดำเนินการสัมภาษณ์เท่าใด การสัมภาษณ์ที่ดีต้องชัดเจนในเป้าประสงค์และวิธีการโดยมีการกำหนดแนวทางไว้ อย่างชัดเจน  โดยเฉพาะกิจกรรมการสัมภาษณ์ในการคัดเลือกคนไปรองรับวิสัยทัศน์และนโยบายขององค์การได้เช่นไรบ้าง
    2. เป็นการแลกเปลี่ยนสารข้อมูลทั้งที่เป็นถ้อยคำและเป็นภาษาท่าทางระหว่างบุคคล (information exchange)  ทั้ง 2 ฝ่าย คือ กรรมการและผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ กรรมการในฐานะผู้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สมัคร และเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับองค์กรให้แก่ผู้สมัคร  ขณะเดียวกันผู้สมัครก็จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองเพิ่มเติมและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน ตำแหน่ง และองค์การ
    3. เป็นกระบวนการสื่อสารที่เป็นพลวัต (dynamic communication process)  มีการผลัดการพูดและฟัง ผลัดกันให้ข้อมูลภายใต้เวลาอันจำกัด การสัมภาษณ์ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งนี้ อาจจะมีการกำหนดหัวข้อของการพูดคุยไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วหรือไม่ก็ได้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทำให้กรรมการและผู้สมัครได้พิจารณาความเหมาะสมของตน (ผู้สมัคร) กับตำแหน่งงานและองค์การ
    4. นำไปสู่การตัดสินใจประเมินความเหมาะสมของบุคคล (person assessment) เมื่อเทียบกับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์กับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างผู้สมัครด้วยกันเองในส่วนของผู้สมัคร ข้อมูลที่ได้รับก็จะมีส่วนในการประเมินองค์การ บรรยากาศขององค์การและภาพลักษณ์ขององค์การด้วย

อ้างอิงจาก : หนังสือการสัมภาษณ์งานแบบมีโครงสร้าง
 
โดย  : ดร. วีระวัฒน์  ปันนิตามัย

อัพเดทล่าสุด