การเสริมสร้างแสนยานุภาพในงานฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ( ตอนที่ 1 )
โดยปกติ คำว่า “แสนยานุภาพ” ที่เราได้ยินได้ฟังหรือรับทราบกันเป็นอย่างดีนั้น เรามักจะใช้เกี่ยวกับการทหารหรือ อาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร วันนี้ผมขออนุญาตหยิบยืมคำนี้ มาใช้ในการอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กรครับ ซึ่งในที่นี้ คำว่า “แสนยานุภาพ” ผมขออนุญาตให้คำนิยามความหมายว่า “การทำให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างไร้เทียมทานในงานฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน”
ในช่วงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคตก็ตาม คงไม่มีองค์กรใด ที่จะไม่มีแผนการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กรของท่าน หรือถึงแม้จะไม่มีแผนการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมหรือมาตรฐานที่ชัดเจนก็ตาม การฝึกอบรมและการพัฒนาพนักงานในองค์กร ก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญ ที่จะทำให้องค์กรของท่านแข็งแกร่ง มีศักยภาพในเวทีการแข่งขันทางการค้าและการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ( สำหรับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการ Import-Export ) เหตุเพราะ “คน” คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะต้องฝึกอบรมและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างต่อเนื่องและอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ในยุดแห่งการแข่งขันทางธุรกิจ ที่เข้มข้น ดุเดือด ชิงความได้เปรียบ ทางผลกำไรและความยั่งยืนขององค์กร
กระบวนการของการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กร โดยหลักสากลนิยม ก็จะเริ่มจากการสำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน กระบวนการถัดไปคือการจัดทำแผนการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ลำดับต่อไปก็คือ การนำแผนฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานไปปฏิบัติ จากนั้นก็จะทำการประเมินผลการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ท้ายสุดก็จะดำเนินการติดตามผลและสรุปผลการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ในที่สุด
กระบวนการแรกที่ทุกองค์กรจะต้องเริ่มดำเนินการในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ก็คือ การสำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ( Training Survey and Analysis of Needs in Training and Development Employee ) ซึ่งหมายถึง การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อค้นหาความจำเป็นของการพัฒนาบุคลากรจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงหลักสูตรฝึกอบรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นขององค์กรอย่างแท้จริง
ความสำคัญของการสำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน มีดังต่อไปนี้
- เพื่อให้ทราบความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรในอนาคตที่แท้จริง
- เพื่อให้การฝึกอบรมขององค์กรในอนาคต ได้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
- เพื่อให้การเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของบุคลากรให้สูงขึ้นด้วยการฝึกอบรมและพัฒนาทำได้อย่าง ตรงประเด็น
- เพื่อให้ทราบนโยบายขององค์กร และนำการฝึกอบรมและพัฒนามาช่วยเพื่อตอบสนองต่อนโยบายขององค์กร
- เพื่อให้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร และนำการฝึกอบรมและพัฒนามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
- เพื่อให้ทราบถึงกิจกรรมในอนาคตขององค์กร และนำการฝึกอบรมมาพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต
สิ่งที่ยากที่สุดของกระบวนการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานหรือบุคลากรในองค์กร คือ การสำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝิกอบรมและพัฒนาพนักงาน ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากในหลายๆองค์กร เวลาที่จะสำรวจค้นหาและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กร ฝ่ายบุคคล ก็มักจะใช้วิธีการส่งแบบสำรวจให้กับ แต่ละฝ่าย/หน่วยงาน กรอกรายละเอียดหรือคัดเลือกหัวข้อที่คิดว่าเหมาะสมกับฝ่าย/หน่วยงานของตนโดยใช้ดุลยพินิจหรือความรู้สึกทั่วไป ( Common Sense ) ในการตัดสินใจคัดเลือกหรือกรอกรายละเอียดดังกล่าว ซึ่งอาจจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะจัดการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กรก็ได้ และอาจจะไม่สอดคล้องกับแผนธุรกิจ ( Business Plan ) ขององค์กรในปีนั้นๆ และในหลายๆ ครั้งที่มีการสำรวจความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในองค์กร ฝ่ายบุคคลก็มักจะได้รับ Training Want มากกว่า Training Need ที่จะช่วยผลักดันให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถและทักษะอย่างแท้จริง และนำความรู้ ความสามารถและทักษะไปพัฒนาองค์กร หรือซ้ำร้าย ไปกว่านั้น แบบสำรวจที่ฝ่ายบุคคลส่งไปแต่ละฝ่าย/หน่วยงาน ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือความร่วมมือในการกรอกรายละเอียดหรือคัดเลือกหัวข้อหลักสูตร ในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในสังกัดของตน และแถมท้ายด้วยการไม่ส่งแบบสำรวจดังกล่าวกลับมายังฝ่ายบุคคลหรือส่งกลับมาก็ไม่ถึง 10% ของแบบสำรวจทั้งหมดที่ฝ่ายบุคคลจัดทำและส่งไปให้แต่ละฝ่าย/หน่วยงานในองค์กร
จะเห็นได้ว่า การที่จะทำให้กระบวนการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานหรือบุคลากรในองค์กรให้มีประลิทธิผลและประสิทธิภาพได้นั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือฝ่ายบุคคลจำเป็นจะต้องใช้กลยุทธ์หรือยุทธวิธีที่จะต้องสร้างความเข้าใจและได้รับความร่วมมือจากแต่ละฝ่าย/หน่วยงานในองค์กร ให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และความสำคัญของการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กรเสียก่อน โดยการดำเนินการดังต่อไปนี้
- นำปัจจัยที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เช่น วิสัยทัศน์ ( Vision ) พันธกิจ ( Mission ) แผนธุรกิจ ( Corporate Plan or Business Plan ) นโยบาย ( Policy ) แผนการปฏิบัติงาน (Action Plan ) ปัญหาในการทำงาน ( Problem in Working ) สมรรถนะหรือขีดความสามารถของพนักงาน ( Competency ) ใบกำหนดหน้าที่งานและคุณสมบัติของงาน ( Job Description and Job Specifications ) มาเป็นปัจจัยในอันดับแรก ในการที่จะทำให้แต่ละฝ่าย/หน่วยงานพิจารณาปัจจัยดังกล่าวนี้ เพื่อกรอกรายละเอียดและคัดเลือกหัวข้อหลักสูตรในการสำรวจคันหาและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมพนักงานหรือบุคลากรในสังกัดของตนเอง ได้อย่างตรงประเด็น สอดคล้อง เหมาะสมและมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร โดยผสมผสานกับการจัดการเชิงกลยุทธ์ ( Strategic Management), ดัชนีชี้วัดหลักในการประเมินผล ( Key Performance Indicators ) การขายและการตลาด ( Sales and Marketing ) การบริหารผลการปฏิบัติงาน ( Performance Management System ) และระบบการเทียบเคียง ( Benchmarking ) ทดแทน การใช้ความรู้สึก ( Common Sense ) เพียงอย่างเดียว ในการตัดสินใจกรอกรายละเอียดและคัดเลือกหลักสูตรในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กร
- การกำหนดแบบสำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ฝ่ายบุคคลจะต้องมุ่งเน้น ให้ครบในหัวข้อหลัก 3 ประการ คือ
- สำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อองค์กร
- สำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อหน่วยงาน
- สำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อตำแหน่งงาน
- ให้นำหลักสูตรที่จำเป็นและคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว นำไปเขียนหรือกำหนดไว้ใน ใบกำหนดหน้าที่งาน ( Job Description ) เพื่อใช้เป็นหลักสูตรพื้นฐานในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานทุกๆ คนในองค์กร และดำเนินการตามแผนการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานต่อไป
- การติดตามผลการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ควรติดตามผลจากหลักสูตรที่องค์กรคาดหวังผลและหลักสูตรที่ใช้งบประมาณสูงในการจัดฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน
จาก 4 หัวข้อหลักข้างต้น หากฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือฝ่ายบุคคล นำไปปรับใช้กับองค์กรของท่าน ก็จะสามารถช่วยให้งานฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ในองค์กรของท่าน มีทิศทางที่ชัดเจน เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ต่องานเสริมสร้างความรู้ ความสามารถและทักษะของ“คน” ในองค์กรของท่านครับ ในครั้งต่อไป ผมจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการในการสร้างแบบสอบถามหรือแบบสำรวจและวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน วิธีการสัมภาษณ์และหลักการของการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในองค์กรเพื่อนำไปจัดทำแผนการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานต่อไปครับ ติดตามตอนที่ 2 ต่อไปนะครับ
ผู้เขียนโดย : สมชาย หลักคงคา