ภาคภูมิ ทิพคุณ ผ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. [email protected]
เมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่จาก สกว. 4 คน ซึ่งประกอบไปด้วย รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายและเจ้าหน้าที่โครงการของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว วัตถุประสงค์ของการไปครั้งนี้หลักๆก็คือ การไปเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือและความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่าง สกว. กับหอสมุดแห่งชาติและมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นอกจากนั้นยังไปเพื่อเจรจาหาความเป็นไปได้ในการทำวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยไทยกับนักวิจัยลาว ในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน |
|
คณะของเราเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 10 สิงหาคม ด้วยเครื่องบินของสายการบินไทย ถึงสนามบินนานาชาติกรุงเวียงจันทน์เวลา 12.30 น. (เวลาประเทศไทย) ณ กรุงเวียงจันทน์ เราใช้รถตู้เป็นพาหนะในการเดินทางเพื่อไปสถานที่ต่างๆที่ได้นัดหมายไว้ ซึ่งรถตู้ดังกล่าวก็เป็นของบริษัทขาประจำที่คณะเจ้าหน้าที่จาก สกว.ใช้ทุกครั้งเมื่อเดินทางไปทำงานในลาว สิ่งแรกที่เราได้สังเกตเห็นเมื่อไปถึงกรุงเวียงจันทน์คือ รถยนต์ที่วิ่งตามท้องถนน ถึงแม้ปริมาณรถมีไม่มากเหมือนกรุงเทพฯ แต่ที่น่าสนใจก็คือ รถยนต์ส่วนมากเป็นรถที่มีราคาแพง ซึ่งถ้าเทียบราคาเป็นเงินบาทแล้วคงมีราคาสักสองถึงสามล้านบาทขึ้นไป คนขับรถตู้ของเราเล่าให้ฟังว่า การซื้อรถในประเทศลาวจะต้องใช้เงินสดไปซื้อ เพราะสถาบันการเงินของลาวยังไม่พัฒนามากนัก และที่สำคัญคือลาวยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับหนี้ที่เป็นมาตรฐานสากล ตรงนี้เข้าตำราเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน (institutional economics) ซึ่งบอกว่ากฎเกณฑ์และกฎหมายของรัฐทำหน้าที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม (transaction costs) และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ การที่ตลาดรถยนต์ (และอาจจะรวมถึงตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดเครดิต) ของลาวไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เข้าใจว่าคงเป็นเพราะเหตุนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว รถยนต์ราคาแพงจำนวนมากนั้น เป็นรถของหน่วยงานขององค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานของรัฐมากกว่าที่จะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล สถานที่แรกที่เราได้ไปเยี่ยมเยือนคือ หอสมุดแห่งชาติลาว ซึ่งเราไปถึงที่นั่นประมาณบ่ายสองโมง ที่หอสมุดแห่งชาติลาวเราได้พบกับ ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ และดร.บัวไข ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติ และเป็นผู้ประสานงานระหว่างหอสมุดแห่งชาติกับ สกว. ให้การไปเยือนครั้งนี้สัมฤทธิผล |
|
การหารือระหว่าง สกว. กับ หอสมุดแห่งชาติลาว มีประเด็นและรายละเอียด คือ (1) การหารือเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลข่าวสารแก่หอสมุดแห่งชาติลาว เนื่องจากปัจจุบันมีนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปมีความสนใจที่จะใช้บริการของหอสมุดแห่งชาติมากขึ้น ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ของหอสมุดยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด หอสมุดแห่งชาติลาวจึงมีความต้องการสิ่งพิมพ์ของ สกว. แต่ประเด็นปัญหาก็คือ รูปแบบที่เหมาะสมของสิ่งพิมพ์ของ สกว.ที่จะนำไปให้ควรจะเป็นรูปเล่มหรือสิ่งพิมพ์ที่เก็บเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางหอสมุดแห่งชาติลาวต้องการเอกสารงานวิจัยที่จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มมากกว่า เนื่องจากจะเป็นการสะดวกสำหรับผู้มาใช้บริการหอสมุด ที่ส่วนใหญ่ต้องการยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านมากกว่าที่จะมาอ่านที่หอสมุด เพราะพื้นที่อ่านหนังสือของหอสมุดนั้นค่อนข้างจำกัด ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติลาว มองว่าถ้าหาก สกว.จัดส่งเอกสารเป็นรูปเล่มไปให้จะเป็นการดีมากกว่าที่จะให้ในรูปสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว และเพื่อเตรียมรับสิ่งพิมพ์ของ สกว. หอสมุดแห่งชาติได้เปิด “มุม สกว.” ซึ่งเป็นตู้เก็บสิ่งพิมพ์ของ สกว.โดยเฉพาะ แต่หากสิ่งพิมพ์มีจำนวนมาก ทางหอสมุดแห่งชาติก็เตรียมห้องไว้บรรจุสิ่งพิมพ์ของ สกว.ไว้แล้ว โดยขณะนี้อาคารใหม่ที่ใช้เก็บเอกสารต่างๆกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และถ้าสร้างเสร็จคาดว่าจะสำรองห้องไว้หนึ่งห้องเพื่อเก็บเอกสาร/สิ่งพิมพ์ของสกว. อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ สกว.ก็คือ การมีสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มมีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเอกสารงานวิจัย เพราะปัจจุบันเอกสารงานวิจัยส่วนมากของ สกว.จะถูกเก็บในรูปไฟล์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ การส่งเอกสารที่เป็นรูปเล่มจากประเทศไทยไปลาวมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเรื่องนี้ ทาง สกว.จะนำไปพิจารณาหาความเป็นไปได้ในการให้การช่วยเหลือต่อไป (2) การทำ MOU ระหว่าง สกว. กับ หอสมุดแห่งชาติลาว ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติลาวเห็นว่าควรให้มีการทำ MOU ระหว่าง สกว. กับ หอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างสองสถาบันเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยประโยชน์ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมจากการทำ MOU ก็คือ เกิดความสะดวกในการส่งสิ่งพิมพ์ สกว.ไปลาว เพราะจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลลาวเป็นกรณีพิเศษ ทั้งในเรื่องค่าธรรมเนียมการส่งและความสะดวกในการขนส่ง โดยทางผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติลาวได้ฝากให้ สกว.ช่วยเป็นผู้จัดทำร่าง MOU เพื่อที่จะได้นำไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆในภายหลัง การลงนามใน MOU ระหว่างสองฝ่ายจะดำเนินการเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในร่าง MOU แล้ว ซึ่ง สกว.ก็รับในหลักการและข้อเสนอดังกล่าว (3) การให้ความช่วยเหลือทางด้านสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้สิ่งพิมพ์สกว. ที่เป็นรูปเล่ม จะมีความจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน แต่ในอนาคตเมื่อลาวมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ก็จะถูกใช้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทางหอสมุดแห่งชาติลาวจึงมีความต้องการสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ สกว.เสนอให้ด้วยเช่นกัน |
|
ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติลาวมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ 10 เครื่อง ซึ่งได้รับมาจากรัฐบาลฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามระบบปฏิบัติการของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวยังไม่เข้ากับสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของ สกว. ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่หอสมุดแห่งชาติลาวในเรื่องนี้ ทาง สกว. เห็นควรที่จะหาทางปรับระบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้งานได้กับคอมพิวเตอร์ที่หอสมุดแห่งชาติลาวมีอยู่ และจะสร้างระบบให้ง่ายต่อการสืบค้น พร้อมทั้งจะช่วยอบรมในเรื่องของการสืบค้นระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แก่เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติลาวในโอกาสต่อไป เราได้ใช้เวลาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากการเจรจาเรื่องความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือทางข้อมูลข่าวสารแล้ว ก็ได้เดินชมห้องเก็บเอกสารต่างๆของหอสมุดแห่งชาติ ที่น่าสนใจก็คือ ทางหอสมุดแห่งชาติได้เก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์โบราณซึ่งอยู่ในรูปของจารึกบาลี-สันสกฤตในใบลาน ซึ่งมีความเก่าแก่หลายร้อยปี ผู้ที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ใบลานเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติลาวถือได้ว่าเป็นแห่งเดียวที่เก็บรวบรวมเอกสารใบลานที่หลากหลายและสมบูรณ์ที่สุดในโลกก็ว่าได้ ในแต่ละปีมีพระสงฆ์จำนวนมากจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเรียนและค้นคว้าเอกสารเหล่านี้ที่หอสมุดแห่งชาติลาว นอกจากนั้นในปัจจุบันมีนักวิชาการชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งพยายามที่จะพัฒนาระบบการเก็บรวบรวมจารึกใบลานในรูปของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ คณะของเราเสร็จสิ้นภารกิจที่หอสมุดแห่งชาติลาวประมาณห้าโมงเย็น จากนั้นจึงเดินทางไปที่พัก คือ โรงแรม Lao Plaza ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากที่ตั้งของหอสมุดแห่งชาติลาว หลังจากเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว เราได้ใช้เวลาประมาณเกือบสองชั่วโมงเดินทางดูสถานที่ต่างๆในลาวซึ่งประกอบไปด้วย วัดศรีเมือง ประตูชัย และพระธาตุหลวงตามลำดับ ก่อนที่จะไปรับประทานอาหารเย็นและกลับเข้าที่พัก |
|
เช้าวันที่ 11 สิงหาคม เวลา 9.00 น. คณะของเราได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (National University of Lao: NUOL) เพื่อพบและพูดคุยกับ ดร.สุนทร พิมมะสอน ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท-เอกสาขา International Development และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวอีกสองท่าน เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง NUOL กับ สกว. โครงการปริญญาโท-เอกสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Program: IDP) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศของไทย เพิ่งจะเปิดขึ้นในปีนี้ โดยจะเปิดเป็นหลักสูตรนานาชาติ ปีแรกตั้งเป้าที่จะรับนักศึกษา 15 คน ในช่วงเริ่มต้นนี้ มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งร่วมมือกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวในการร่างหลักสูตรและการบริหารจัดการโครงการ |
|
ประเด็นต่างๆที่คณะเจ้าหน้าที่ สกว.ของเราได้พูดคุยกับอาจารย์ผู้ดูแลโครงการฯ มีสาระสำคัญพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1. เนื่องจาก IDP เพิ่งจะเปิดเป็นปีแรก จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีเอกสารงานวิจัยเพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยมีแหล่งข้อมูลในการสืบค้น/ศึกษา ผู้อำนวยการ IDP จึงได้ขอให้ สกว.ช่วยสนับสนุนด้านข้อมูล/ข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการศึกษาวิจัย โดยส่งสิ่งพิมพ์ที่ สกว.มีอยู่ (ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นรายงานการวิจัยหรือสิ่งพิมพ์อื่น) ไปให้กับ NUOL สิ่งพิมพ์ที่จะจัดส่งไปอาจอยู่ในรูปของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์หรือรูปเล่มก็ได้ ทั้งนี้เพราะ IDP มีระบบที่รองรับกับไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และนักศึกษาส่วนมากก็มีโน้ตบุ๊กอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง สกว. ก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุนตามที่ NUOL ขอมา และขั้นตอนต่อไป สกว. จะจัดทำระบบให้ง่ายต่อการสืบค้น เช่น การใส่ keyword แล้วให้ได้รายชื่อของเอกสารงานวิจัยที่ต้องการออกมาทันที เป็นต้น และในอนาคต สกว. เห็นควรว่าจะปรับระบบให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติสามารถสืบค้นเอกสารงานวิจัยผ่านเว็บไซต์ของ สกว. ได้เลย 2. มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวได้เตรียมห้องขนาดประมาณ 5 × 5 เมตร เพื่อที่จะจัดทำเป็น “ศูนย์ข้อมูล สกว.” อันจะเป็นที่รวบรวมสิ่งพิมพ์ของ สกว. และเป็นที่เก็บคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ของ สกว. 3. คณาจารย์ของ NUOL เสนอให้มีการทำ MOU ระหว่างสองสถาบันเพื่อให้เกิดความสะดวกในความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบในการร่าง MOU และจะนำเสนอให้ สกว.พิจารณาเมื่อร่างเสร็จแล้ว |
|
คณะของเราได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงอยู่ที่ NUOL และเสร็จสิ้นภารกิจตอนประมาณ 11.00 น. ก่อนที่จะไปเยี่ยมเยือนสถานที่ต่อไป (ซึ่งเวลานัดหมายคือบ่ายสองโมง) ซึ่งเราได้ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงที่เหลืออยู่เที่ยวชมตลาดและศูนย์การค้าของลาว เราพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจมากคือ ได้เห็นอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราได้ไปที่ “ตลาดจีน” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวจีนเช่าจากชาวลาวเพื่อเปิดเป็นแหล่งขายสินค้าจากจีน เราพบว่าเจ้าของร้านค้าและพื้นที่ทั้งหมดเป็นคนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีนและพูดภาษาจีนเป็นหลัก และสินค้าที่จำหน่ายก็เป็นสินค้าราคาถูกที่นำมาจากจีนทั้งสิ้น เมื่อเราถามคนลาวก็พบว่าปัจจุบันคนลาวจำนวนมากขายหรือให้คนจีนเช่าที่ในเขตเมือง เมื่อได้เงินจากค่าเช่าแล้วก็ไปสร้างบ้านอยู่นอกเมือง ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าคนจีนตั้งถิ่นฐานในเขตเมือง ส่วนคนลาวเริ่มถอยร่นห่างจากศูนย์กลางของเมืองออกไปมากขึ้น ตรงนี้เราไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหามากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน เพราะเราไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการเกี่ยวกับการซื้อขายหรือเช่าที่ดินดังกล่าว แต่เมื่อวัดจากความรู้สึกของคนลาวที่เราได้พูดคุยด้วย ก็พบว่าคนลาวก็ค่อนข้างที่จะกังวลกับเรื่องนี้อยู่พอสมควร สถานที่สุดท้ายที่เราได้ไปเยี่ยมเยือนคือ กระทรวงยุติธรรมของลาว โดยนอกจากคณะของเราแล้ว ยังมีคณะอาจารย์ด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเดินทางมาสมทบ ที่กระทรวงยุติธรรมลาว เราได้พบกับคุณบุณฑา (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมลาว) คุณบุญพร เรืองมณี (แผนกยกร่างกฎหมาย) คุณศรสวัสดิ์ บุณวงศ์ (รองอธิบดีกรมบังคับคดี) และคุณกฤษณา พรหมจรรย์ (ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ กระทรวงยุติธรรม) วัตถุประสงค์หลักของการไปกระทรวงยุติธรรมลาวครั้งนี้คือ เพื่อเจรจาถึงความเป็นไปได้ในการร่วมดำเนินการวิจัยภายใต้ชุดโครงการ “กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายการค้าชายแดนไทย-ลาว” และเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนานักวิจัยทางด้านกฎหมายระหว่างไทย-ลาว |
|
ประเด็นที่ได้พูดคุยกัน ประการแรกคือ เนื่องจาก สกว. ได้รับการมอบหมายจากคณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยไทย-ลาว กระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นผู้ทำการศึกษาถึงข้อขัดข้องในเรื่องกฎระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการค้า การขนส่ง การนำเข้า-ส่งออก สินค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ซึ่ง ณ ปัจจุบันทาง สกว. กำลังดำเนินการให้ทุนสำหรับการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้จำนวน 7 โครงการ การศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ กฎหมาย จำเป็นที่จะต้องศึกษา กฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้า การขนส่ง การนำเข้า-ส่งออกสินค้าในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายในประเทศทั้งของไทยและลาว รวมทั้งสนธิสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ที่ไทยและลาวเข้าเป็นภาคีระหว่างกัน จากเหตุผลทั้งสองประกอบกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างนักกฎหมายของทั้งสองประเทศ ที่จะร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับการค้าชายแดน โดยนักวิชาการของลาวที่สังกัดกระทรวงยุติธรรมมีความพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับนักวิชาการฝ่ายไทย และฝ่ายไทย โดย สกว. จะดำเนินการประสานผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไปยังคณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยไทย-ลาว เพื่อจะได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งในขณะที่ดำเนินการประสานงานในระดับประเทศ กระทรวงยุติธรรมของลาว ก็จะได้จัดเตรียมนักวิชาการเพื่อเข้าร่วมต่อไป ประการที่สอง ทางฝ่ายลาวได้เสนอแนวคิดในการจัดการผลงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ถ้าได้มีการนำข้อมูลที่เกิดจากผลของการวิจัย กลับมาฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน ก็จะช่วยแก้ปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ฝ่ายลาวยังเสนอว่า ในช่วงก่อนขึ้นโครงการวิจัย จะจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อให้นักวิชาการของไทยและลาว ได้แลกเปลี่ยนมุมมองทางวิชาการระหว่างกัน และเพื่อทำความเข้าใจในการดำเนินการโครงการวิจัยไปด้วยกัน โดยสรุปแล้ว การพูดคุยครั้งนี้ ทั้งคณะของ สกว. คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมลาว ต่างเห็นต้องกันถึงความจำเป็นในการศึกษาวิจัยร่วม ถึงแม้ข้อสรุปในเชิงกระบวนการดำเนินการยังไม่เป็นที่เรียบร้อยนัก แต่ฝ่ายไทยก็รับที่จะดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนที่เป็นทางการต่อไป คณะของเราใช้เวลาอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมจนเกือบถึงห้าโมงเย็น หลังจากนั้นจึงได้เดินทางไปส่งคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ฝั่งหนองคาย เพื่อเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี คณะของเราเดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบินของสายการบินไทยเวลาสี่ทุ่มตรง และกลับถึงเมืองไทยในเวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง ซึ่งเป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจในลาวในครั้งนี้ |
|