หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ เสริมพลังจินตนาการและความคิดเชิงสร้างสรรค์


1,270 ผู้ชม


หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ เสริมพลังจินตนาการและความคิดเชิงสร้างสรรค์



ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือนิตยสารสสวท. กับวิชาการดอทคอม
www.ipst.ac.th 





          ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมพลังต้นกล้าวิทย์  สร้างแนวคิดแห่งปัญญา”  โดยความร่วมมือของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 
หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ เสริมพลังจินตนาการและความคิดเชิงสร้างสรรค์
          “หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้สนุกสนานไปกับการเสริมสร้างจินตนาการและความคิดในเชิงสร้างสรรค์ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง  ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะในการถ่ายทอดความคิดผ่านรูปแบบของการทำหนังสือที่มีสีสันน่าอ่านและมีลูกเล่นต่าง ๆที่น่าสนใจ  เช่น การทำให้เกิดมิติด้วยการกรีด การตัด การพับ และการติดกาว  โดยหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือจะมีความโดดเด่นด้วยลักษณะของการออกแบบที่ดูแปลกและสะดุดตาต่างจากรูปแบบหนังสือทั่วไป  เช่น มีลักษณะเป็นแผ่นยาวแล้วพับเหมือนหนังสือใบลาน ภายในจะประกอบไปด้วยภาพที่มีมิติขึ้นมา หรือ การมีรูปเล่มในลักษณะแบบสามเหลี่ยม ฯลฯ     
          อาจารย์จุมพล เหมะคีรินทร์  รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย  กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการทำหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมืออยู่ที่เนื้อหาและรูปแบบของ หนังสือ  ซึ่งเนื้อหานั้นเราต้องคิดและเขียนขึ้นมาเอง โดยมีการนำวิทยาศาสตร์เข้าไปรวมอยู่ด้วยอาจจะเป็นการใช้ตัวหนังสือ หรือรูปภาพก็ได้  นอกจากนี้ยังต้องมีการกำหนดลักษณะรูปแบบของหนังสือว่าจะทำอย่างไรให้ดูน่า สนใจ จะเป็นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม กว้าง ยาวเท่าไหร่  รวมไปถึงสีสันที่สวยงามดูน่าอ่านดึงดูดความสนใจ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการส่งเสริมการสร้างนักวิทยาศาสตร์ เพราะโครงการหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือเป็นการผสมผสานและสอดแทรกความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับการทำหนังสือเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความรู้ ความสนใจในกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบๆตัวเรา และหวังว่าจะช่วยจุดประกายให้เด็กไทยเป็นนักวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น” 
          สำหรับน้องๆ เยาวชนตัวแทนจาก โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นางสาว ทวีติยา ขวัญมงคล หรือ น้องเบลล์ ที่เข้าร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้เล่าให้ฟังว่า  “หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือทำได้ง่าย ๆ คะ เริ่มจากการจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม ได้แก่  กระดาษ ที่มีน้ำหนักประมาณ 135 – 220 แกรม อาจเป็นกระดาษขาว หรือกระดาษสีก็ได้  กรรไกร ขนาดเล็ก ปลายแหลม เพื่อการตัดในซอกมุมเล็กๆ  กาว  ใช้ชนิดที่มีน้ำผสมน้อยที่สุดเพราะเวลาติดกาวจะได้ไม่ย่น  คัตเตอร์ สำหรับตัด กรีด และเจาะ ในแผ่นกระดาษ ปากกาขีดรอย ใช้สำหรับขีดส่วนที่ต้องการพับ เพื่อการพับที่ง่ายและตรงตามรอย ดินสอ ควรใช้ไส้แข็งปานกลาง ไม้บรรทัด สำหรับการขีดเส้นและทาบกระดาษตัดตามแบบ และปิดท้ายที่ สีไม้ สำหรับใช้ระบายสีตกแต่งให้ดูสวยงามค่ะ”


หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ เสริมพลังจินตนาการและความคิดเชิงสร้างสรรค์


          ส่วนน้องเตย หรือ นางสาวอรอุมา บัวแก้ว เล่าต่อว่า ความยากของการทำหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมืออยู่ที่การติดกาว เพราะหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือจะประกอบไปด้วย กระดาษอย่างน้อย 2 ชิ้น คือ ชิ้นฐาน และ ชิ้นลอยตัว สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ คือ การติดกาวที่ต้องติดให้ตรงตามที่ทำสัญลักษณ์เอาไว้ เพื่อให้เกิดการยกตัวหรือเป็น Pop Up ขึ้นมา ซึ่งวันนี้หนูและเพื่อน ๆ ก็จะช่วยกันทำ แบ่งกันระบายสี แบ่งกันตัดกระดาษ และช่วยกันติดกาว  ซึ่งหนังสือที่หนูอยากทำ เป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับ โลก อนาคต ดาราศาสตร์ ดวงดาวค่ะ “ น้องเตยกล่าว
หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ เสริมพลังจินตนาการและความคิดเชิงสร้างสรรค์           ปิดท้ายกันที่ น้องภัส หรือ นางสาว นภัสสร มีไผ่แก้ว ที่ขอฝากถึงเพื่อน ๆ และ น้องๆ ที่สนใจการทำหนังสือ วิทยาศาสตร์ทำมือ ว่า การทำหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือจะทำให้เราได้ความรู้มากมาย และยังเป็นการฝึกสมอง ฝึกทักษะทางความคิด และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจในผลงานที่เกิดจากแนวคิดของเราอีกด้วยค่ะ  “ น้องภัสกล่าว  
          แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ แต่ทว่า “หนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ” ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่จะทำให้เยาวชนไทยเกิดความคิด สร้างสรรค์และให้ความสนใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์กันมากขึ้นเพื่อก้าว ไปสู่บทบาทของการเป็นนักวิทยาศาสตร์คุณภาพที่จะช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไป ในอนาคต

อัพเดทล่าสุด