การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก
ระบบภูมิอากาศของโลก คือความสัมพันธ์ ระหว่างบรรยากาศ มหาสมุทร หิมะ และแผ่นน้ำแข็ง (Cryoshere) สิ่งมีชีวิต (Biosphere) ดิน หิน และตะกอน (Geosphere)
หากต้องการที่จะเข้าใจ ถึงการเคลื่อนไหว และวัฎจักรของพลังงานและสิ่งต่างๆในบรรยากาศ จำเป็นที่จะต้องพิจารณา ถึงส่วนประกอบของความสัมพันธ์ข้างต้น ของระบบภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง ของระบบภูมิอากาศด้วย
บรรยากาศ
บรรยากาศ คือส่วนผสมของก๊าซต่างชนิดกัน และอนุภาคทั้งที่เป็นของเหลว (เหมือนละออง) และของแข็ง ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า อากาศที่ห่อหุ้มโลก
บรรยากาศ มีหน้าที่หลายอย่าง นอกเหนือไปจาก ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกคงอยู่ได้ ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือการควบคุม การใช้พลังงานของโลก
ถึงแม้ว่า จะมีร่องรอยของก๊าซ ที่ประกอบเป็น บรรยากาศของโลก อยู่ในอวกาศ แต่ 9% ของมวลทั้งหมด ของบรรยากาศ อยู่ในช่วง 25 - 30 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก ในขณะที่ 50% อยู่ในช่วง 5 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก (น้อยกว่าความสูง ของยอดเขาเอเวอร์เรสต์)
ส่วนผสมของก๊าซต่างๆ คงที่และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการรีไซเคิล ที่มีประสิทธิภาพ และการผสมผสานกัน อย่างทั่วถึงของบรรยากาศโลก ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย ก๊าซสองชนิดคือ
ไนโตรเจน (ประมาณ 78% โดยปริมาตร)
และออกซิเจน (ประมาณ 21% โดยปริมาตร) รวมกันมากกว่า 99%
ของบรรยากาศชั้นล่าง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า อัตราส่วนของก๊าซ สองชนิดนี้เปลี่ยนแปลงไป
มีก๊าซอีกประเภท ที่มีไม่มากนัก แต่มีบทบาทสำคัญ ต่อการใช้พลังงานของโลกก๊าซเหล่านี้เรียกว่า ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ซึ่งได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเธน และไนตรัสออกไซด์ นอกจากนี้ยังมีไอน้ำ ที่มีประมาณ 2% ของบรรยากาศ และเป็นส่วนสำคัญของ ก๊าซเรือนกระจก
โลกรับพลังงาน จากดวงอาทิตย์ ในรูปของรังสีอุลตร้าไวโอเล็ท (Ultra-violet) และรังสีอื่นที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และปล่อยรังสีออกมา ในรูปของพลังงานอินฟาเรด (Infra-red) และการเคลื่อนไหวของพลังงาน ทั้งสองส่วนนี้ จะต้องอยู่ในสภาพสมดุลย์
อย่างไรก็ตามบรรยากาศของโลก มีผลกระทบต่อ ความสมดุลย์ของพลังงาน ทั้งสองส่วนนี้ ก๊าซเรือนกระจก จะปล่อยให้รังสี ที่มีความยาวคลื่นสั้น จากดวงอาทิตย์ผ่านไปได้
ในขณะที่มีความยาวคลื่นยาว ผลก็คือ โลกจะมีอุณหภูมิ เฉลี่ยสูงกว่าเมื่อไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม 15 องศาเซลเซียส กระบวนการนี้ รู้จักกันดีในนามของ ปรากฏการณ์เรือนกระจก
องค์ประกอบอย่างอื่น ของบรรยากาศ จำเป็นต้องอยู่ ในสภาพสมดุลด้วย ปัจจัยที่มีผลกระทบ ต่อความสมดุลนี้ ทำให้สภาพภูมิอากาศ ของโลกเปลี่ยนแปลงไป
บรรยากาศของโลก ไม่อาจนับว่าเป็นระบบอิสระได้ การถ่ายโอนของพลังงาน ความชื้น และองค์ประกอบอื่นๆ เกิดขึ้นระหว่างบรรยากาศ และส่วนประกอบอื่น ของสภาพภูมิอากาศ ส่วนประกอบที่สำคัญ ที่สุดอย่างหนึ่ง ของระบบภูมิอากาศคือ มหาสมุทร
มหาสมุทร
พลังงานเคลื่อนไหว และถูกถ่ายเทให้กับมหาสมุทร โดยกระแสลมที่พัดบนพื้นผิวของมหาสมุทร กระแสน้ำที่ไหล บนพื้นผิวของมหาสมุทรที่ช่วยในการถ่ายเทความร้อน เหมือนกับกระบวนการ คล้ายๆกับที่เกิดขึ้น ในบรรยากาศ
กระแสน้ำอุ่น จะเคลื่อนเข้าหาขั้วโลก ในขณะที่กระแสน้ำเย็น จะไหลสู่เส้นศูนย์สูตรพลังงานยังสามารถ ถ่ายเทผ่านทางความชื้น น้ำที่ระเหยจากพื้นผิว ของมหาสมุทรจะนำความร้อนแฝงขึ้นไปด้วย และความร้อนถูกปล่อยออกมา เมื่อไอน้ำรวมตัวกันเป็นเมฆและฝนในที่สุด
ความสำคัญของมหาสมุทร ก็คือ มันเก็บพลังงาน ไว้ในปริมาณ ที่มากกว่าบรรยากาศ มหาสมุทรมีความจุ ความร้อนสูงกว่า บรรยากาศ 4.2 เท่า และหนาแน่นมากกว่าบรรยากาศถึงพันเท่า
โครงสร้างในแนวดิ่ง ของมหาสมุทร สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชั้น ชั้นล่างประกอบไปด้วย
น้ำเย็นซึ่งมีมากถึง 80% ของปริมาตรทั้งหมด ของมหาสมุทร ชั้นบนซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใกล้กับบรรยากาศ มีขอบเขตที่ไม่แน่นอน ส่วนของชั้นบน ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมีความลึกประมาณ 100 เมตร แต่มีความลึกหลายกิโลเมตร เมื่ออยู่ใกล้กับขั้วโลก โครงสร้างชั้นบนนี้ เก็บความร้อนไว้ได้ มากกว่าบรรยากาศถึง 30 เท่า
ดังนั้นสำหรับการเปลี่ยนแปลง ของความร้อนของ ระบบมหาสมุทรและบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ในบรรยากาศ จะมากกว่าในมหาสมุทรถึง 30 เท่า
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เพียงเล็กน้อยในมหาสมุทร จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศของโลก การแลกเปลี่ยนพลังงาน ในมหาสมุทรเกิดขึ้น ในแนวดิ่ง นั่นคือ ระหว่างโครงสร้าง ทั้งสองชั้นของมหาสมุทร
หิมะและแผ่นน้ำแข็ง (Cryosphere)
Cryosphere ประกอบด้วยส่วนของโลก ที่เป็นทั้งผืนดินและทะเลที่ปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็ง ที่เหล่านี้ได้แก่ แอนตาร์คติกา มหาสมุทรอาร์คติก กรีนแลนด์ ตอนเหนือของแคนาดา ตอนเหนือของไซบีเรีย และภูเขาสูงที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสตลอดปี
หิมะและน้ำแข็ง จะสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ บางส่วนของแอนตาร์คติกา สะท้อนมากถึง 90% ของรังสีที่มันได้รับ ในขณะที่ค่าเฉลี่ย ของการสะท้อน ของรังสีของโลกเท่ากับ 31% หากไม่มี Cryosphere แล้วพลังงานจะถูกเก็บ ไว้ที่พื้นโลกมากกว่า จะถูกสะท้อนออกไปผลก็คือ อุณหภูมิของบรรยากาศสูงขึ้น
Cryosphere ยังทำหน้าที่ เหมือนกับเป็นตัวกลาง ระหว่างบรรยากาศ และมหาสมุทรช่วยลดการเคลื่อนไหว และถ่ายเทของความชื้น และทำให้การถ่ายเทพลังงานในบรรยากาศมีเสถียรภาพ และการคงอยู่ของ Cryosphere มีผลกระทบต่อปริมาตรของมหาสมุทร และระดับน้ำทะเล ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลง ของปริมาตรของมหาสมุทรและระดับน้ำทะเล จะมีผลกระทบต่อ สภาพภูมิอากาศของโลก
สิ่งมีชีวิต (Biosphere)
สิ่งมีชีวิตมีอยู่ใน เกือบทุกสิ่งแวดล้อมบนโลก แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาถึงสภาพภูมิอากาศของโลกแล้ว จะเป็นการง่ายกว่า หากคิดว่า สิ่งมีชีวิตเป็นเหมือนกับส่วนประกอบอื่นๆ อย่างเช่น บรรยากาศ มหาสมุทร หรือ Cryosphere สิ่งมีชีวิตทั้งที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน และในมหาสมุทร มีผลกระทบต่อ การสะท้อนของรังสี จากดวงอาทิตย์ พื้นที่ที่เป็นป่า มีการสะท้อนน้อยกว่าพื้นที่ที่ว่างเปล่า อย่างทะเลทราย การมีอยู่ของป่าจึงมีผลต่อการใช้พลังงาน ของสภาพภูมิอากาศ
สิ่งมีชีวิตยังมีผลต่อ การถ่ายเทของก๊าซเรือนกระจกอย่าง คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเธน แพลงตอนที่อาศัย ในพื้นผิวของมหาสมุทร ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ละลายอยู่ในน้ำ
ในการสังเคราะห์แสง ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายเท ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นคือ มหาสมุทรดึงเอา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาจากบรรยากาศ เมื่อแพลงตอนตายไป ก็จะจมลงสู่ก้นมหาสมุทร และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปด้วย
การสังเคราะห์แสง ดังกล่าวข้างต้น ช่วยลดความเข้มข้น ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศและผลก็คือ ลดปรากฎการณ์เรือนกระจกของโลก
สิ่งมีชีวิตยังมีผลต่อปริมาณ ของอนุภาคที่เป็น ทั้งของเหลวและของแข็ง ในบรรยากาศ สปอร์ (Spore) ไวรัส แบคทีเรีย กระจัดกระจาย อยู่ในบรรยากาศเพราะลม และอนุภาคเหล่านี้ จะทำให้รังสีที่แผ่มาจาก ดวงอาทิตย์กระจัดกระจายออกไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อ ระบบพลังงานของโลก
ดิน หิน และตะกอน (Geosphere)
ส่วนประกอบที่ห้า และเป็นส่วนประกอบสุดท้าย ที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศ ของโลกคือ ดิน หิน และตะกอน ซึ่งรวมถึงส่วนประกอบ ภายในผิวโลกเองด้วย การเปลี่ยนแปลง ของสภาพภูมิอากาศของโลก ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายร้อยล้านปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การเปลี่ยนแปลง ภายในของโลกเอง การเปลี่ยนแปลงของ รูปร่างของผืนแผ่นดินและอาณาบริเวณ ของมหาสมุทร ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อระบบพลังงานของโลกทั้งสิ้น ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ กระบวนการทางฟิสิกส์ และเคมีทำให้คุณสมบัติ ของดินเปลี่ยนแปลงไป คุณสมบัติเหล่านี้ได้แก่ ความชื้น และปริมาณน้ำในดิน และปริมาณของก๊าซเรือนกระจก และอนุภาคที่เป็นทั้งของแข็งและของเหลว ในบรรยากาศ การระเบิดของภูเขาไฟ ทำให้ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนหนึ่งก็จะถูกใช้ไป โดยสิ่งมีชีวิต และการระเบิดของภูเขาไฟ ทำให้ปริมาณของฝุ่น และอนุภาคที่เป็น ทั้งของแข็งและของเหลว ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น
กระบวนการทั้งหมด ของการเปลี่ยนแปลง ของสภาพภูมิอากาศของโลก เกิดขึ้นจากองค์ประกอบ ทั้ง 5 อย่างข้างต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลง ของแต่ละองค์ประกอบ ก็มีผลกระทบ ต่อการเปลี่ยนแปลง ขององค์ประกอบอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทั้งหมดนี้มีผล ต่อการเปลี่ยนแปลง ของระบบและการไหลเวียนถ่ายเทของพลังงานทั้งหมดของโลก
เราแบ่งเขตภูมิอากาศของโลกของโลกได้อย่างไร ?
การแบ่งเขตภูมิอากาศทำได้หลายวิธีโดยอาศัยองค์ประกอบของอากาศทางด้านต่างๆ เช่น อุณหภูมิ หยาดน้ำฟ้า ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ แนวปะทะของมวลอากาศ และลักษณะดิน โดยการแบ่งเขตภูมิอากาศของโลกจะเน้นเฉพาะบนภาคพื้นดินเท่านั้น เนื่องจากบนพื้นน้ำความแตกต่างของอุณหภูมิมีไม่มากนัก การแบ่งเขตภูมิอากาศของโลกสามารถจำแนกได้จาก
การแบ่งเขตภูมิอากาศโดยอาศัยอุณหภูมิ เป็นการแบ่งเขตภูมิอากาศที่อาศัยอุณภูมิเป็นเกณฑ์ มีวิวัฒนาการมาจากวิธีการแบ่งเขตภูมิ อากาศของชาวกรีกโบราณ แบ่งออกได้เป็น 3 เขต ได้แก่ เขตภูมิอากาศร้อน (Tropic Zone) อยู่ในเขตละติจูดต่ำ ระหว่างละติจูด ที่ 23 องศาเหนือ ถึง 23 องศาใต้ มีอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือนสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส เป็นเขตที่มีอากาศร้อนตลอดปี ไม่มีฤดูหนาว ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดงดิบ (Rainforest) เขตภูมิอากาศอบอุ่น (Temperate Zone) อยู่ในเขตละติจูดกลางระหว่างเขตร้อนและเขตหนาว มีอุณหภูมิของอากาศเดือนที่หนาวที่สุดเฉลี่ยต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส แต่สูงกว่า –3 องศาเซลเซียส เป็นบริเวณที่มีฤดูหนาวและฤดูร้อนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าสน (Boreal Forest) เขตภูมิอากาศหนาว (Polar Zone) อยู่ในเขตละติจูดตั้งแต่ 66 องศาเหนือ และใต้ ไปยังขั้วโลก เป็นเขตภูมิอากาศที่ไม่มีฤดูร้อน อุณหภูมิของอากาศเฉลี่ยแต่ละเดือนต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส พืชพรรณธรรมชาดติเป็นแบบทรุนดรา(Tundra) อย่างไรก็ตามการจำแนกเขตภูมิอากาศโดยอาศัยอุณหภูมิเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถแสดงถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ที่เป็นบริเวณทะเลทราย และบริเวณพื้นที่ที่มีอากาศชุ่มชื้นได้ และไม่ได้พิจารณาถึงความใกล้ไกลจากทะเลแต่อย่างใด จึงต้องมีการอาศัยเกณฑ์อื่นในการจำแนกอีกคือ
การแบ่งเขตภูมิอากาศโดยอาศัยหยาดน้ำฟ้า การแบ่งเขตภูมิอากาศโดยอาศัยหยาดน้ำฟ้า เนื่องจากมีการพิจารณาว่าหยาดน้ำฟ้ามี ความสำคัญต่อพืชพรรณ การระบายน้ำ ความชื้น ปริมาณน้ำผิวดินและปริมาณน้ำใต้ดินเป็นอย่างมาก จึงพิจารณาถึงปริมาณหยาดน้ำฟ้า ซึ่งได้แก่ ปริมาณน้ำฝน หรือหิมะที่ตกลงมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดย โทมัส เอ. แบล์ร์ แบ่งออกเป็นดังนี้ เขตภูมิอากาศแห้งแล้ง (Arid Zone) ได้แก่บริเวณพื้นที่ซึ่งมีหยาดน้ำ ฟ้าเล็กน้อย คือ 0 – 250 มิลลิเมตรต่อปี เขตภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง (Semi - arid Zone) ได้แก่บริเวณพื้นที่ซึ่ง มีหยาดน้ำฟ้าตกเบาบาง ระหว่าง 250 – 500 มิลลิเมตรต่อปี เขตภูมิอากาศกึ่งชุ่มชื้น (Subhumid Zone) ได้แก่บริเวณพื้นที่ซึ่งมี หยาดน้ำฟ้าตกปานกลาง ระหว่าง 500 – 1,000 มิลลิเมตรต่อปี เขตภูมิอากาศชุ่มชื้น (Humid Zone) ได้แก่บริเวณพื้นที่ซึ่งมีหยาดน้ำ ฟ้าตกหนักระหว่าง 1,000 – 2,000 มิลลิเมตรต่อปี เขตภูมิอากาศชุ่มชื้นมาก (Very Wet) ได้แก่บริเวณพื้นที่ซึ่งมีหยาด น้ำฟ้าตกหนักมาก ตั้งแต่ 2,000 มิลลิเมตรต่อปี อย่างไรก็ตามการจำแนกเขตภูมิอากาศโดยอาศัยหยาดน้ำฟ้าเป็นเกณฑ์ยังมีข้อจำกัดได้แก่ การจัดเขตอากาศหนาวแบบขั้วโลกไว้รวมกับเขตทะเลทรายซึ่งมีปริมาณหยาดน้ำฟ้าตกลงมาในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แต่เขตอากาศหนาวอัตราการระเหยจะมีน้อยกว่าอากาศแบบทะเลทรายซึ่งยังมิได้คำนึงถึงอุณหภูมิซึ่งเป็นตัวการที่มีผลต่ออัตราการระเหย ด้วยเช่นกัน
การแบ่งเขตภูมิอากาศโดยใช้พืชพรรณธรรมชาติ ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาการจำแนก ประเภทของภูมิอากาศได้ โดยพืชพรรณธรรมชาติแต่ละชนิดจะมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบของภูมิอากาศ ซึ่งทำให้พืชพรรณเจริญเติบโต และสามารถปรับตัวให้เข้ากับลักษณะภูมิอากาศได้ เช่น พืชตระกูลเดียวกันจะขึ้นรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นในลักษณะอากาศอย่างเดียวกัน ดังนั้น บลูเมนสต็อค (Blumenstock) และธอร์นธเวต (Thornthwaite) จึงแบ่งเขตภูมิอากาศโดยอาศัยพืชพรรณธรรมชาติเป็นเกณฑ์ และแบ่งเขตภูมิอากาศออกเป็น 11 เขต ได้แก่ เขตภูมิอากาศแบบป่าศูนย์สูตร เขตภูมิอากาศแบบป่ามรสุม เขตภูมิอากาศแบบป่าละเมาะ เขตภูมิอากาศแบบป่าเมดิเตอร์เรเนียน เขตภูมิอากาศแบบป่าไม้ใบกว้าง เขตภูมิอากาศแบบป่าสน เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าแพรี่ เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสเต็ปป์ เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าทะเลทราย และเขตภูมิอากาศแบบทรุนดราและขั้วโลก อย่างไรก็ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศโดยใช้พืชพรรณธรรมชาติเป็นเกณฑ์นี้ยังมีข้อจำกัดใน ด้านการบอกลักษณะอากาศทั่วๆ ไป ในเขตภูมิอากาศนั้นๆ ได้เฉพาะในสภาพปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถบอกได้ถึงสภาพภูมิอากาศที่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้
การแบ่งเขตภูมิอากาศโดยใช้มวลอากาศและแนวปะทะมวลอากาศ การแบ่งเขตภูมิอากาศประเภทนี้จะใช้แหล่งกำเนิดและแนวปะทะของมวลอากาศเป็นเกณฑ์ โดยจะนำเอาจุดกำเนิดการเคลื่อนที่และแนวปะทะของมวลอากาศเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่ได้คำนึงว่าที่ตั้งแหล่งกำเนิดว่าจะอยู่บนภาคพื้นดินหรือพื้นน้ำ แหล่งกำเนิดของมวลอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศ ความชื้น และลม โดยจำแนกเขตภูมิอากาศออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ภูมิอากาศในเขตละติจูดต่ำ เป็นแหล่งกำเนิดของมวลอากาศเขตร้อนและร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตร บริเวณละติจูดที่ 23 องศาเหนือ ถึง 23 องศาใต้ อยู่ภายใต้อิทธิพลของเขตความกดอากาศสูงกึ่งโซนร้อนแถบละติจูดม้าเป็นมวลอากาศอุ่นลักษณะอากาศจมตัว และมีมวลอากาศขั้วโลกซึ่งเป็นมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมเป็นครั้งคราว ภูมิอากาศในเขตละติจูดกลาง เป็นเขตที่มีการปะทะกันของมวลอากาศอุ่นเขต ร้อนและมวลอากาศเย็นขั้วโลก ทำให้เกิดแนวปะทะมวลอากาศขึ้นตลอด ทำให้เขตนี้มักเกิดพายุซึ่งมีทิศทางการเคลื่อนที่ไปยังทิศตะวันออกตามอิทธพลของลมประจำฝ่ายตะวันตก และยังก่อให้เกิดพายุไซโคลนด้วย ภูมิอากาศในเขตละติจูดสูง เป็นเขตที่เกิดจากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นแถบ ขั้วโลก และมวลอากาศอาร์กติก โดยมวลอากาศขั้วโลกมีจุดกำเนิดอยู่ที่ ตอนกลางของประเทศแคนาดาและไซบีเรีย แต่จะไม่ปรากฏทางซีกโลกใต้ เนื่องจากซีกโลกใต้ไม่มีพื้นดิน และจะเกิดแนวปะทะอากาศตามแนวละติจูดที่ 60 – 70 องศาเหนือ และใต้ เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่เคลื่อนที่มาจากขั้วโลก และมวลอากาศอุ่นที่เคลื่อนที่ขึ้นหรือลงมาจากตำแหน่งละติจูดที่ต่ำกว่า จึงทำให้เกิดแนวปะทะมวลอากาศอาร์กติก หรือ แนวปะทะมวลอากาศแอนตาร์กติก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในแนวละติจูดที่ 60–70 องศาเหนือ และใต้ เป็นแนวความกดอากาศต่ำกึ่งขั้วโลกเกิดขึ้น จากเขตภูมิอากาศทั้งสามแบบข้างต้น สามารถแบ่งย่อยออกเป็นอีก 14 เขตภูมิอากาศ คือ เขตภูมิอากาศชื้นแถบศูนย์สูตร เขตภูมิอากาศชายฝั่งทะเลที่ลมสินค้าพัดเข้าฝั่ง เขตภูมิอากาศทะเลทรายเขตร้อน เขตภูมิอากาศทะเลทรายชายฝั่งตะวันตก เขตภูมิอากาศร้อนที่มีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้ง เขตภูมิอากาศอบอุ่นชื้น เขตภูมิอากาศชายฝั่งตะวันตก เขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน เขตภูมิอากาศทะเลทรายและสเต็ปป์ในเขตละติจูดกลาง เขตภูมิอากาศชุ่มชื้นภาคพื้นทวีป เขตภูมิอากาศภาคพื้นทวีปกึ่งขั้วโลก เขตภูมิอากาศชายฝั่งกึ่งขั้วโลก เขตภูมิอากาศแบบทรุนดรา และเขตภูมิอากาศแบบทุ่งน้ำแข็ง
ที่มา rmutphysics.com