โรคความดันโลหิตสูง การรักษา การป้องกัน เลี่ยง ความดันโลหิตสูง


842 ผู้ชม


 


โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง
รู้จักเลือก...รู้จักเลี่ยง ไม่เสี่ยงเป็น"ความดันโลหิตสูง"(เดลินิวส์)
           ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนี้ ต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต สร้างความบั่นทอนร่างกายและจิตใจให้ถดถอยลง ส่งผลให้ ความดันโลหิต ในร่างกายสูงตามไปด้วย
           โรคความดันโลหิตสูง นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคามโลก โดยในปัจจุบันมีประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเป็น โรคความดันโลหิตสูง และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน
           สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็น โรคความดันโลหิตสูง ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
           นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ ให้ความรู้ว่า ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันเลือดที่เกิดจากการ ที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งหัวใจคนเราจะเต้น 60-80 ครั้ง ความดันก็จะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัวและลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นอยู่กับท่าของผู้ถูกวัดด้วย โดยท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน นอกจากนั้นแล้ว ยังขึ้นกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหาร การนอนหลับ กิจกรรมที่ทำอยู่ รวมทั้งสภาพจิตใจด้วย
           โดยปกติคนจะมีระดับความดันโลหิต 120/80-139/89 มิลลิเมตรปรอท หากมีค่าความดันมากกว่านี้จัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็น โรคความดันโลหิตสูง ส่วนสาเหตุของ โรคความดันโลหิตสูง 90% ของผู้ที่มีภาวะดังกล่าวไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบมากในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากนั้น เกิดจากอาการป่วยบางอย่าง เช่น อาการป่วยเกี่ยวกับสมอง ต่อมหมวกไต และต่อมไร้ท่อบางประเภท
           "ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่ปรากฏอาการใดๆ จึงไม่ได้เข้ารับการรักษาและไม่มีการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ เหมาะสม ซึ่งในรายที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมากๆ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ ดังนั้นความดันโลหิตสูงจึงเปรียบเสมือนเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก ไปแบบไม่รู้ตัว"
           โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของโรคอัมพาตและยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โดยผู้ที่ไม่ได้รักษา โรคความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีโอกาสเกิดโรคหัวใจวายเพิ่มขึ้น 6 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตเพิ่มขึ้น 7 เท่า
           "ภาวะความดันโลหิตสูงจะค่อยๆ ทำให้หลอดเลือดภายในร่างกายค่อยๆ เสื่อมไป โดยเฉพาะ 3 อวัยวะสำคัญ คือ หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งไต ซึ่งเมื่อมีการตีบหรือแตกของหลอดเลือดในอวัยวะสำคัญเหล่านี้จะทำให้เสีย ชีวิตได้แบบเฉียบพลัน หรือทำให้เป็นอัมพาตได้ ดังนั้นแม้ในคนปกติ หรือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตสูงอยู่ อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากได้รับการรักษาหรือปรับการปฏิบัติตัวแต่เนิ่นๆ จะทำให้หลอดเลือดไม่ผิดปกติเร็วเกินไปนัก สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วนั้น หากมิได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้"
           ปัจจัยเสี่ยงต่อ โรคความดันโลหิตสูง นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ได้แก่ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม โดยมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ ได้ประมาณ 30- 40% รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียด รีบเร่งมีผลต่อการก่อ โรคความดันโลหิตสูง ได้เร็วขึ้น ด้าน อายุ มักพบในอายุตั้งแต่ 40-50 ปี ขึ้นไป เพศซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวัยหมดประจำเดือน รูปร่างพบมากในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนมากกว่าคนผอม ส่วนเชื้อชาติ พบมากที่สุดในคนอเมริกันเชื้อสายคนดำแอฟริกัน รวมไปถึงผู้ที่ทานเกลือสูงหรือชอบกินเค็มมีโอกาสเกิด โรคความดันโลหิตสูง ได้
           สำหรับการรักษา โรคความดันโลหิตสูง มี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ การใช้ยา และไม่ใช้ยา ในผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็น แพทย์จะสามารถรักษา โรคความดันโลหิตสูง  ได้โดยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แพทย์จะต้องให้ยาและพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ
           ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถตรวจวัดความดันโลหิตได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ได้ที่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ทราบระดับความ ดันโลหิตของตนเองตลอดเวลา หากมีระดับสูงผิดปกติก็สามารถรีบไปพบแพทย์หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะ สม อันจะนำไปสู่การควบคุมระดับความดันโลหิตที่ดีขึ้น ตลอดจนลดปัญหาจากการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ความดันโลหิตสูงเป็นเพชฌฆาตเงียบ เป็นแล้วไม่หายขาด ต้องดูแลรักษาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นจึงคุ้มที่จะป้องกันและรักษาก่อนที่จะสายเกินแก้
           ทุกคนสามารถป้องกันการเกิดภาวะ ความดันโลหิตสูง ได้ โดยการเลือกทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยง อาหารเค็มจัด เพราะเกลือทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาหารกลุ่มไขมัน ควรให้อยู่ในระดับกลางค่อนข้างต่ำ ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์และจำพวกกะทิ อีกทั้ง อาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลขัดขาวทุกชนิด เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวและระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
           นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง การสูบบุหรี่ และ แอลกอฮอล์ หรือดื่มได้ในปริมาณที่พอเหมาะ (วิสกี้ 2 ออนซ์หรือ ไวน์ 8 ออนซ์) รวมทั้งพยายามควบคุมน้ำหนักตัว เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคความดันโลหิตสูง  และออกกำลังกายให้พอควรและสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และมีการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
           "อยากให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของ โรคความดันโลหิตสูง ถ้าสามารถรักษาควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม อย่าละเลย อย่าประมาท ก็จะมีโอกาสลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ต่อหัวใจ สมอง และไตได้ แล้วคุณจะห่างไกลจาก โรคความดันโลหิตสูง " นพ. ธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย
        
           ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดูแลรักษาระดับของความดันโลหิต ไม่ให้เป็น โรคความดันโลหิตสูง ... เพียงแค่คุณใส่ใจ
ข้อมูลที่มา  /health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด