เกลือ
.....
คน ไทยส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า เกลือ แล้ว จะนึกถึงรสเค็ม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามคำว่า“เกลือ” ว่า เป็นวัตถุที่มีรสเค็ม ใช้ประกอบอาหารเป็นต้น โดยทั่วไปได้มาจากนํ้าทะเล, เกลือสมุทร ก็เรียก ส่วนสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๓ อธิบายไว้ว่า เกลือ คือสารประกอบของโลหะกับอนุมูลกรด เช่น เกลือโซเดียมคาร์บอเนต เกลือโซเดียมไนเทรต เกลือแคลเซียมซัลเฟต แต่เกลือที่สามัญชนรู้จักและใช้บริโภคหมายถึงเกลือที่ใช้ในการปรุงกับข้าว ซึ่งเป็นสารประกอบของโซเดียมกับคลอรีน หรืออนุมูลกรดคลอไรด์ มีชื่อทางเคมีว่า “โซเดียมคลอไรด์” มีสูตรเคมี NaCl สารนี้ เมื่อบริสุทธิ์เป็นผงสีขาวละเอียดมีรสเค็ม เมื่อขยายดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นผลึกรูปลูกบาศก์ มีจุดหลอมตัว ๘๐๐ ํซ. ละลายในน้ำได้ดี มีอยู่ทั่วไปในโลก แหล่งที่มีมากที่สุดคือในทะเล รองลงมามีอยู่ในดินใต้พื้นโลกบางแห่ง เกลือที่ได้จากน้ำทะเลเรียก “เกลือสมุทร” ส่วนเกลือที่ได้จากใต้ดินเรียก “เกลือสินเธาว์”
นอกจากใช้ปรุงอาหารให้มีรสเค็มแล้ว เกลือยังมีประโยชน์อีกหลายอย่างคือ ใช้เป็นสารกันบูด ทำปลาเค็ม เนื้อเค็ม ในอุตสาหกรรมผักดอง ใช้ถนอมหนังสดก่อนฟอก เป็นสารสำหรับทำเคมีภัณฑ์บางชนิด เช่น โซเดียมคาร์บอเนตที่เรียกกันว่า โซดาซักผ้า คอสติกโซดา (โซดาไฟ) แก๊สคลอรีน กรดไฮโดรคลอริก ผงฟอกสี ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีสำนวนไทยว่าด้วยเรื่องเกลือ ดังนี้ กินเกลือกินกะปิ หมายถึง อดทนต่อความลำบากยากแค้น เช่น เขาเคยกินเกลือกินกะปิมาด้วยกัน เกลือเป็นหนอน หมายถึง ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้าน คิดคดทรยศ, ไส้เป็นหนอน ก็ว่า ใกล้เกลือกินด่าง เป็นสำนวนว่าด้วยกิริยาที่มองข้ามหรือไม่รู้ค่าของดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะ เป็นประโยชน์แก่ตนกลับไปแสวงหาสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า, อยู่ใกล้ผู้ใหญ่แต่กลับไม่ได้ดี เกลือจิ้มเกลือ หมายถึง ไม่ยอมเสียเปรียบกัน, แก้เผ็ดให้สาสมกัน เมื่อเป็นคำนามหมายถึง คนเค็มต่อคนเค็มมาพบกันค่ะ.
รัตติกาล ศรีอำไพ
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์