ภาษาไทยน่ารู้ : คำซ้อน หมายถึงอะไร คำอธิบายพร้อมความหมายและตัวอย่าง


13,052 ผู้ชม

คำซ้อน  หมายถึง  คำที่เกิดจากการสร้างคำโดยนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน  คล้ายกัน  ตรงข้ามกัน  หรือมีความเกี่ยวข้อง


คำซ้อน

คำซ้อน
          คำซ้อน  หมายถึง  คำที่เกิดจากการสร้างคำโดยนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน  คล้ายกัน  ตรงข้ามกัน  หรือมีความเกี่ยวข้อง  สัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่งมาเขียนซ้อนกัน  ซึ่งอาจทำให้เกิดความหมายเฉพาะหรือความหมายใหม่ขึ้นมา  คำซ้อนสามารถจำแนกจุดประสงค์ของการซ้อนคำได้เป็น 2 ลักษณะ  ดังนี้

          1.  ซ้อนเพื่อความหมาย  เป็นการนำคำที่มีความหมายสมบูรณ์มาซ้อนกันตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป  ได้แก่
                    1.1  คำที่มีความหมายเหมือนกัน
                              กัก + ขัง                    กักขัง
                              ใหญ่ + โต                  ใหญ่โต
                              นุ่ม + นิ่ม                    นุ่มนิ่ม
                              กู้ + ยืม                      กู้ยืม
                    1.2  คำที่มีความหมายเป็นพวกเดียวกัน
                              บ้าน + เรือน                บ้านเรือน
                              แข้ง + ขา                   แข้งขา
                              ห้าง + ร้าน                  ห้างร้าน
                              เนื้อ + ตัว                    เนื้อตัว
                    1.3  คำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกัน
                              ลูก + หลาน                 ลูกหลาน
                              เหงือก + ฟัน                เหงือกฟัน
                              ข้าว + ปลา                  ข้าวปลา
                              พี่ + น้อง                     พี่น้อง
                    1.4  คำที่มีความหมายตรงข้ามกัน
                              ผิด + ชอบ                   ผิดชอบ
                              ได้ + เสีย                    ได้เสีย
                              เท็จ + จริง                   เท็จจริง
                              แพ้ + ชนะ                   แพ้ชนะ

          2.  ซ้อนเพื่อเสียง  เป็นการนำคำที่มีเสียงคล้ายกันมาซ้อนกัน  เพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้น  คำที่นำมาซ้อนนั้นอาจมีความหมายเพียงคำเดียว  หรือไม่มีความหมายทั้งสองคำก็ได้  วิธีการสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง  ได้แก่
                    2.1  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน  แต่เสียงสระต่างกันมาซ้อนกัน  เช่น  งุ่มง่าม  โด่งดัง  จริงจัง  ซุบซิบ  ตูมตาม  ซับซ้อน  ท้อแท้
                    2.2  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน  เสียงสระเดียวกัน  แต่เสียงตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน  เช่น  อัดอั้น  ลักลั่น  ออดอ้อน  รวบรวม
                    2.3  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นต่างกัน  แต่มีเสียงสระเดียวกันมาซ้อนกัน  เช่น  แร้นแค้น  รอมชอม  อ้างว้าง  ราบคาบ  จิ้มลิ้ม
                    2.4  นำคำที่ไม่มีความหมายมาซ้อนกับคำที่มีความหมาย  เพื่อให้สะดวกในการออกเสียง  มักใช้ในภาษาพูดเท่านั้น  เช่น  กระดูกกระเดี้ยว  อดเอิด  ตาเตอ  พยายงพยายาม
                    2.5  เพิ่มพยางค์ลงในคำซ้อนเพื่อให้มีเสียงสมดุล  พยางค์ที่แทรกมักเป็น  "กระ"  เช่น
                              ดุกดิก                    กระดุกกระดิก
                              จุ๋มจิ๋ม                    กระจุ๋มกระจิ๋ม
                              หนุงหนิง                กระหนุงกระหนิง
                              ตุ้งติ้ง                     กระตุ้งกระติ้ง
                    2.6  นำคำซ้อน 4-6  พยางค์ที่มีเสียงสัมผัสภายในคำมาซ้อนกัน  ข้าเก่าเต่าเลี้ยง  ถ้วยโถโอชาม  ประเจิดประเจ้อ  ทรัพย์ในดินสินในน้ำ

          3.  ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำซ้อน  เป็นคำซ้อนที่ซ้อนเพื่อความหมายและซ้อนเพื่อเสียง  มีข้อสังเกตที่สำคัญดังนี้
                    3.1  คำที่นำมาซ้อน  เป็นคำไทยซ้อนกับคำไทย  คำไทยซ้อนกับคำต่างประเทศ  หรือคำต่างประเทศซ้อนกับคำต่างประเทศก็ได้  เช่น
                              คำซ้อนที่มาจาก  ไทย + ไทย                                                             
                                        ชุก + ชุม                    ชุกชุม
                                        อ้วน + พี                     อ้วนพี
                                        ผี + สาง                      ผีสาง
                                        เจ้า + นาย                  เจ้านาย
                              คำซ้อนที่มาจาก  ไทย + ต่างประเทศ (ไทย + เขมร)                           
                                        งาม + ลออ                 งามลออ
                                        เงียบ + สงบ                เงียบสงบ
                                        แบบ + ฉบับ                แบบฉบับ
                                        โง่ + เขลา                   โง่เขลา
                              คำซ้อนที่มาจาก  ต่างประเทศ + ต่างประเทศ (บาลี + สันสกฤต)         
                                        อุดม + สมบูรณ์            อุดมสมบูรณ์
                                        เหตุ + การณ์                เหตุการณ์
                                        อิทธิ + ฤทธิ์                 อิทธิฤทธิ์
                                        มิตร + สหาย                มิตรสหาย
                              คำซ้อนที่มาจาก  ต่างประเทศ + ต่างประเทศ (เขมร + บาลี)                
                                        รูป + ทรง                    รูปทรง
                                        สุข + สงบ                   สุขสงบ
                                        พละ + กำลัง                พละกำลัง
                                        ภูมิ + ลำเนา                ภูมิลำเนา
                    3.2  จำนวนคำที่นำมาซ้อน  คำที่นำมาซ้อนอาจมีจำนวน 2 คำ 4 คำ  หรือ 6 คำ  คำซ้อนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  คำคู่  เช่น
                              คำซ้อน 2 คำ                    ยักษ์มาร  ข้าทาส  ศีลธรรม  ขับขี่  เคร่งครัด  งอแง
                              คำซ้อน 4 คำ                    กู้หนี้ยืมสิน  ชั่วดีถี่ห่าง  เจ้าบุญนายคุณ  ที่นอนหมอนมุ้ง
                              คำซ้อน 6 คำ                    อดตาหลับขับตานอน  นอนกลางดินกินกลางทราย
                    3.3  ความหมายของคำซ้อน  แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ  คือ
                              3.3.1  ความหมายคงเดิม  คำซ้อนบางคำมีความหมายคงตามความหมายของคำที่นำมาซ้อน  เช่น  แก่ชรา  ซากศพ  พัดวี  เสื่อสาด  เป็นต้น
                              3.3.2  ความหมายใหม่  คำซ้อนที่มีความหมายใหม่มีหลายลักษณะ  ดังนี้
                                        ความหมายแคบลง  คือ  มีความหมายที่เน้นคำใดคำหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นคำหน้าหรือคำหลังก็ได้  เช่น  ปากคอ  หัวหู  ท้องไส้  เป็นต้น
                                        ความหมายกว้างขึ้น  คือ  มีความหมายรวมไปถึงอย่างอื่นที่มีลักษณะร่วมกันหรือจำพวกเดียวกัน  เช่น
                                                  ถ้วยโถโอชาม  หมายถึง  ภาชนะใส่อาหารและสิ่งของอื่น ๆ
                                                  ปู่ย่าตายาย  หมายถึง  อวัยวะภายใน  ไม่เฉพาะตับ  ไต  และไส้  เท่านั้น
                                        ความหมายเชิงอุปมา  คือ  มีความหมายเปลี่ยนไป  เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ในเชิงอุปมา  เช่น
                                                  ข้าเก่าเต่าเลี้ยง                    หมายถึง                    คนที่เคยรับใช้
                                                  อยู่กิน                                   หมายถึง                    การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
                                                  เจ้าบุญนายคุณ                    หมายถึง                    ผู้ที่มีบุญคุณ
                                                  ไปลามาไหว้                        หมายถึง                     รู้จักกาลเทศะ
                                                  ขิงก็ราข่าก็แรง                     หมายถึง                     ร้ายพอ ๆ กันทั้งสองฝ่าย
                                                  ข้าวยากหมากแพง               หมายถึง                     ความเป็นอยู่ฝืดเคือง
                                                  หัวหายสะพายขาด               หมายถึง                     ไม่มีที่พึ่งพาอาศัย
                                                  ดูดดื่ม                                   หมายถึง                     ความซาบซึ้งใจ
                                                  ปากหอยปากปู                    หมายถึง                     ชอบนินทาเล็กนินทาน้อย
                    3.4  ความสัมพันธ์ของเสียงสระ  คำที่ซ้อนเพื่อเสียงจะมีความสัมพันธ์ระหว่างสระหลังกับสระหน้า  หรือสระอื่น ๆ กับสระอะ  สระอา  หรือสระเดียวกัน  เช่น
                              สระหลังกับสระหน้า  เช่น  ดุกดิก  จุกจิก  อู้อี้  ดู๋ดี๋  โอ้เอ้  โลเล  เหลาะแหละ  ก๊อกแก๊ก  อ้อแอ้
                              สระเดียวกัน  เช่น  เปิดเปิง  (เฉพาะข้อนี้ไม่ค่อยมีปรากฏ  จะมีมาระหว่างสระหลังกับสระหน้า)
                    3.5  ตำแหน่งและความหมาย  คำซ้อนบางคำ  ถ้าเปลี่ยนตำแหน่งของคำ  ความหมายจะเปลี่ยนไปจากเดิมและใช้ต่างกัน  แต่บางคำมีความหมายคงเดิม  เช่น
                              ความหมายเปลี่ยนแปลง     
                                     เหยียดยาว          ยืดตัวออกไปในท่านอน  ใช้กับคนหรือสัตว์  เช่น  น้องสาวนอนเหยียดยาวอยู่ใต้ต้นลีลาวดี
                                     ยาวเหยียด         มีความยาวมาก  เช่น  รถติดไฟแดงเป็นแถบยาวเหยียด
                              ความหมายคงเดิม                
                                     แจกจ่าย            แบ่งปันให้ไปทั่ว ๆ  เช่น  สภากาชาดมาแจกจ่ายสิ่งของให้กับผู้ประสบอุทกภัย
                                     จ่ายแจก             เอาออกใช้หรือให้  เช่น  คุณครูจ่ายแจกอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่นักเรียน


ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด