ภาษาไทยน่ารู้ : การออกเสียงคำที่มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต พร้อมยกตัวอย่าง เข้าใจง่าย MUSLIMTHAIPOST

 

ภาษาไทยน่ารู้ : การออกเสียงคำที่มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต พร้อมยกตัวอย่าง เข้าใจง่าย


1,545 ผู้ชม

การออกเสียงคำที่มาจากภาษาบาลี  และสันสกฤต


การออกเสียงคำที่มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต

การออกเสียงคำที่มาจากภาษาบาลี  และสันสกฤต
          คำบาลีสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย  มีหลักในการออกเสียง  ดังนี้

          1.  การออกเสียงสระ  ออกเสียงตามรูปสระที่กำกับ  ถ้าไม่มีรูปสระจะออกเสียงเป็นเสียงสระอะ  เมื่อไทยรับมาใช้มักออกเสียงพยัญชนะตัวท้ายเป็นตัวสะกด  และออกเสียงสระโอะ  เมื่อไม่มีรูปสระกำกับ  เช่น
                              คำ                    ออกเสียงในภาษาบาลี สันสกฤต          ออกเสียงในภาษาไทย
                              กมล                              กะ-มะ-ละ                              กะ-มน
                              ชนก                              ชะ-นะ-กะ                              ชะ-นก
                              ผล                                 ผะ-ละ                                   ผน
                              ธรรม                              ทำ-มะ                                  ทำ
                              ปรากฏ                            ปรา-กะ-ตะ                          ปรา-กด
                              วรุณ                               วะ-รุ-นะ                                วะ-รุน
                              วิกาล                              วิ-กา-ละ                               วิ-กาน
                              วิชิต                                วิ-ชิ-ตะ                                วิ-ชิด
          ยกเว้น
                              ขนิษฐา                    ออกเสียง                    ขะ-นิด-ถา
                              สันนิษฐาน                ออกเสียง                    สัน-นิด-ถาน
                              เศรษฐี                     ออกเสียง                    เสด-ถี
                              อธิษฐาน                  ออกเสียง                    อะ-ทิด-ถาน
          ข้อสังเกต
                              1.  คำที่ตัวสะกดตัวตามเป็นเศษวรรค  คือ  ย ร ล ว ศ ษ ส ฬ  ไม่ออกเสียง อะ ตามหลังตัวสะกด  เช่น
                                        วิรุฬหก          ออกเสียง                    วิ-รุน-หก
                                        อาสาฬหบูชา   ออกเสียง                    อา-สาน-หะ-บู-ชา
                              2.  คำบาลีสันสกฤตที่มีพยัญชนะตัวตามเป็นพยัญชนะนาสิก  คือ  ง ญ น ณ ม  ออกเสียง อะ ตามหลังตัวสะกดกึ่งมาตรา  เช่น
                                        ลัคนา            ออกเสียง                     ลัก-คะ-นา
                                        อัคนี              ออกเสียง                     อัก-คะ-นี
                                        รัตนะ             ออกเสียง                     รัด-ตะ-นะ
                                        อาตมา           ออกเสียง                     อาด-ตะ-มา
                                        ปัทมา            ออกเสียง                     ปัท-ทะ-มา
                                        อาชญา          ออกเสียง                     อาด-ชะ-ยา
                                        ปรัชญา          ออกเสียง                     ปฺรัด-ชะ-ยา
                              3.  การออกเสียงสระ อิ อุ  ท้ายพยางค์คำบาลีสันสกฤต  ซึ่งเดิมเป็นคำ 2 พยางค์ขึ้นไป  พยางค์หลังมีสระ  อิ  อุ  กำกับ  ไทยใช้พยัญชนะต้นของพยางค์หลังเป็นตัวสะกด  ไม่ต้องออกเสียงสะ
                                        เกตุ               ออกเสียง                     เกด
                                        มาตุ               ออกเสียง                     มาด
                                        เมรุ                ออกเสียง                     เมน
                                        เหตุ               ออกเสียง                     เหด
                                        ชาติ               ออกเสียง                     ชาด
                                        ญาติ              ออกเสียง                     ยาด
                              4.  การออกเสียงคำบาลีสันสกฤตที่มีตัว ร ตาม  ไทยออกเสียงเหมือนมีสระออประสมอยู่ด้วย  เช่น
                                        ปรปักษ์           ไทยออกเสียง               ปอ-ระ-ปัก
                                        ธรณี               ไทยออกเสียง               ทะ-ระ-นี
                                        มรกต              ไทยออกเสียง               มอ-ระ-กต
                                        มรณา              ไทยออกเสียง               มอ-ระ-นา
                                        อรชุน              ไทยออกเสียง              ออ-ระ-ชุน
                              5.  คำที่พยัญชนะต้นใช้ บ แม้ไม่มี ร ตาม  แต่ไทยก็ออกเสียงเป็นเสียง ออ  เช่น
                                        บวร                ไทยออกเสียง               บอ-วอน
                                        บพิธ               ไทยออกเสียง               บอ-พิด
                                        บดี                 ไทยออกเสียง               บด-ดี


          2.  การออกเสียง  อะ  ตามหลังตัวสะกด  มีข้อสังเกตดังนี้
                              คำที่มีตัวสะกดตัวตามเป็นพยัญชนะวรรค  หรือ  ศ ษ ส ไม่ต้องออกเสียง  อะ  ตามหลังตัวสะกด  เช่น  มุกดา (มุก-ดา),  ทักษะ (ทัก-ษะ),  อัปสร (อับ-สอน)
                              คำที่มีตัวสะกดเป็นพยัญชนะวรรค  ตัวตามเป็น ย ร ล ว  มักออกเสียง  อะ  ไม่เต็มมาตราตามหลังตัวสะกด  เช่น  นิตยา (นิด-ตะ-ยา),  สัตวา (สัด-ตะ-วา),  ศากยะ (สาก-กะ-ยะ),  วัชระ (วัด-ชะ-ระ)
                              คำที่มีตัวสะกดเป็นพยัญชนะท้ายวรรค  คือ  พยัญชนะนาสิก  ง ญ น ณ ม ตัวตามเป็น ย ร ล ว  ไม่ต้องออกเสียง  อะ  ตามหลังตัวสะกด  เช่น  กันยายน (กัน-ยา-ยน),  ธันยา (ทัน-ยา),  ธันวาคม (ทัน-วา-คม),  ปุณยา (ปุน-ยา)
                              ตัวสะกดเป็น ย ร ล ว ศ ษ ส  ตัวตามเป็นพยัญชนะอื่นให้ออกเสียง  อะ  ตามหลังตัวสะกดกึ่งมาตรา  เช่น  ไอยรา (ไอ-ยะ-รา),  มารยาท (มา-ระ-ยาด),  กัลปาวสาน (กัน-ละ-ปา-วะ-สาน)
         
         
  

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด