พ.ศ. 2554 มีอุปราคาทั้งหมด 6 ครั้ง มาดูกันค่ะว่า 6 ครั้งนี้ จะเกิดขึ้นตอนไหนกันบ้าง จะได้เตรียมตัวและวิธีในการสังเกตดูอุปราคากันค่ะ
อุปราคาในปี 2554
พ.ศ. 2554 มีอุปราคาทั้งหมด 6 ครั้ง เป็นสุริยุปราคา 4 ครั้ง กับจันทรุปราคา 2 ครั้ง สุริยุปราคาเกิดในวันเดือนดับ ดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เงาดวงจันทร์พาดลงมาบนผิวโลก คนที่อยู่ใต้เงาจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บัง สังเกตได้โดยดูผ่านแผ่นกรองแสงเพื่อลดความสว่างของดวงอาทิตย์
จันทรุปราคาเกิดในวันเพ็ญ ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าสู่เงาโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหรือมืดสลัวไปเนื่องจากเงาของโลกบังดวงจันทร์ สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากทุกสถานที่ที่อยู่ในด้านกลางคืนของโลกซึ่งหัน เข้าหาดวงจันทร์
เงาที่ต้นกำเนิดแสงเป็นดวงอาทิตย์ มีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ เงามืดและเงามัว ในกรณีของสุริยุปราคา คนที่อยู่ใต้เงามัวจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังบางส่วน ใต้เงามืดจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังหมดทั้งดวง ในสุริยุปราคาครั้งหนึ่งๆ หากมีแต่เงามัวของดวงจันทร์เท่านั้นที่สัมผัสผิวโลก จะเรียกสุริยุปราคาครั้งนั้นว่าสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งปีนี้สุริยุปราคาทั้ง 4 ครั้ง ล้วนเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ประเทศไทยไม่อยู่ในพื้นที่ที่เห็นสุริยุปราคาทั้ง 4 ครั้ง
ในกรณีของจันทรุปราคา หากดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง เรียกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ไม่มืดสนิด แต่จะกลายเป็นสีแดงอิฐ หรือสีส้ม เนื่องจากแสงอาทิตย์หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปที่ดวงจันทร์ ปีนี้ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้ทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนและธันวาคม
เมื่อเกิดอุปราคาขึ้นในวันใด อีก 6585.32 วัน (18 ปี กับ 10 หรือ 11 วัน) ถัดไปหรือก่อนหน้านั้น จะมีอุปราคาเกิดขึ้นด้วย เรียกคาบเวลานี้ว่าซารอส (Saros) แบ่งเป็นชุด (series) กำหนดลำดับชุดด้วยตัวเลข
1. สุริยุปราคาบางส่วน 4 มกราคม 2554
ย่างเข้าปีใหม่ไม่ถึงสัปดาห์ก็เกิดอุปราคาครั้งแรกของปี เป็นสุริยุปราคาบางส่วนวันที่ 4 มกราคม 2554 สุริยุปราคาเริ่มเวลา 13:40 น. เมื่อเงามัวของดวงจันทร์แตะผิวโลกที่ตอนกลางของประเทศแอลจีเรีย ตำแหน่งที่เห็นดวงอาทิตย์ถูกบังลึกที่สุดอยู่ทางเหนือของสวีเดน ใกล้ชายฝั่งทะเลด้านที่ติดกับอ่าวบอทเนีย เกิดขึ้นเวลา 15:51 น. ด้วยความลึก 86% ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงอาทิตย์ (ตรงกับเวลา 09:51 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสวีเดน) สุริยุปราคาสิ้นสุดเวลา 18:01 น. เมื่อเงามัวหลุดออกจากผิวโลกทางตะวันออกของคาซัคสถาน
บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้คือส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป ตอนเหนือของแอฟริกา และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชีย สุริยุปราคาดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ขึ้นเมื่อสังเกตจากยุโรปตะวันตก และดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ตกเมื่อสังเกตจากตอนกลางของรัสเซียคาซัคสถาน และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 14 ใน 72 ครั้งของชุดซารอสที่ 151 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1776 สิ้นสุดในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 3056 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 18 ครั้ง วงแหวน 6 ครั้ง ผสม 1 ครั้ง เต็มดวง 39 ครั้ง และบางส่วน 8 ครั้ง ตามลำดับ ซารอสนี้เริ่มบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ สิ้นสุดบริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดคือ 2 นาที 44 วินาที จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2101 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดคือ 5 นาที 41 วินาที จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2840
2. สุริยุปราคาบางส่วน 2 มิถุนายน 2554
สุริยุปราคาวันที่ 2 มิถุนายน 2554 เริ่มเวลา 02:25 น. ขณะนั้นเงามัวของดวงจันทร์แตะผิวโลกทางตะวันออกของรัสเซีย ใกล้ชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น จุดที่เห็นดวงอาทิตย์ถูกบังลึกที่สุดอยู่ทางเหนือของรัสเซีย ติดทะเลแบเรนต์ส เกิดขึ้นเวลา 04:16 น. ด้วยความลึก 60% ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงอาทิตย์ (ตรงกับกลางดึกตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดอาทิตย์เที่ยงคืน) สุริยุปราคาสิ้นสุดเวลา 06:06 น. เมื่อเงามัวหลุดออกจากผิวโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้เกาะนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้คือบางส่วนของรัสเซีย บางส่วนของสแกนดิเนเวีย กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ ทางเหนือของเอเชียตะวันออก บางส่วนของแคนาดา และทางเหนือของรัฐอะแลสกา บริเวณอื่นที่เห็นสุริยุปราคาขณะเกิดอาทิตย์เที่ยงคืนอีก ได้แก่ ตอนเหนือสุดของนอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์
สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 68 ใน 72 ครั้งของชุดซารอสที่ 118 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 803 สิ้นสุดในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2083 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 8 ครั้ง เต็มดวง 40 ครั้ง ผสม 2 ครั้ง วงแหวน 15 ครั้ง และบางส่วน 7 ครั้ง ตามลำดับ ซารอสนี้เริ่มบริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ สิ้นสุดบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดคือ 6 นาที 59 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1398 สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดคือ 1 นาที 58 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1849
3. จันทรุปราคาเต็มดวง 16 มิถุนายน 2554
จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เกิดในเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2554 (เฝ้ารอสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่คืนวันพุธที่ 15 มิถุนายน) ดวงจันทร์เริ่มแหว่งเวลา 01:23 น. ขณะนั้นที่ประเทศไทยเห็นดวงจันทร์อยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันตก ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดทั้งดวงตั้งแต่เวลา 02:22 น. ถึง 04:03 น. แต่ดวงจันทร์ไม่มืดสนิท เห็นเป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เพราะแสงอาทิตย์หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปที่ดวงจันทร์ จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดเวลา 05:02 น. เวลานั้นที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์มีมุมเงย 11° พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมประเทศไทยคือทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 16 มิถุนายน 2554
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 00:24:34 น.
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 01:22:55 น.
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 02:22:29 น.
4. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ 03:12:36 น.
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 04:02:42 น.
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 05:02:15 น.
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 06:00:44 น.
จันทรุปราคาครั้งนี้มีระยะเวลาเต็มดวงยาวนานถึง 1 ชั่วโมง 40.2 นาที นานที่สุดนับตั้งแต่จันทรุปราคา 16 กรกฎาคม 2543 ซึ่งยาวนาน 1 ชั่วโมง 46.4 นาที (ครั้งนั้นก็สามารถเห็นได้ในประเทศไทย แต่สภาพท้องฟ้าไม่อำนวย) หลังจากปี 2554 จันทรุปราคาเต็มดวงที่มีระยะเวลามืดเต็มดวงนานเกิน 100 นาที จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งสามารถเห็นได้ในประเทศไทยอีกเช่นกัน
ขณะบังเต็มที่เวลา 03:12 น. ศูนย์กลางเงาโลกจะอยู่ค่อนไปทางทิศใต้ของดวงจันทร์ ทำให้คาดหมายได้ว่าพื้นที่ด้านทิศเหนือของดวงจันทร์ซึ่งอยู่ทางขวามือเมื่อ มองขึ้นไปบนฟ้าน่าจะสว่างกว่าทิศใต้ นอกจากนี้หากไม่มีเมฆมากนัก ผู้ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองมีโอกาสเห็นทางช้างเผือกในคืนวันเพ็ญขณะที่ดวง จันทร์ถูกเงาโลกบดบังทั้งดวง
จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาครั้งที่ 34 ใน 71 ครั้ง ของชุดซารอสที่ 130 ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1416 - 2678 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยจันทรุปราคาเงามัว 8 ครั้ง บางส่วน 20 ครั้ง เต็มดวง 14 ครั้ง บางส่วน 22 ครั้ง และเงามัว 7 ครั้ง ตามลำดับ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2029 นาน 1 ชั่วโมง 41.9 นาที (นานกว่าครั้งที่เกิดในปีนี้เพียงไม่ถึง 2 นาที)
4. สุริยุปราคาบางส่วน 1 กรกฎาคม 2554
สุริยุปราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เริ่มเวลา 14:54 น. สิ้นสุดเวลา 16:23 น. จุดที่เห็นดวงอาทิตย์ถูกบังลึกที่สุดอยู่ในมหาสมุทรใต้ ใกล้ทวีปแอนตาร์กติกา เกิดขึ้นเวลา 15:38 น. ด้วยความลึกเพียง 10% ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงอาทิตย์ บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในมหาสมุทร และอาจไม่มีใครได้เห็น เนื่องจากบริเวณนั้นไม่มีเกาะอยู่เลย
สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งแรกใน 69 ครั้งของชุดซารอสที่ 156 ซึ่งเริ่มในปีนี้แล้วสิ้นสุดในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 3237 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 8 ครั้ง วงแหวน 52 ครั้ง และบางส่วน 9 ครั้ง ตามลำดับ ซารอสนี้เริ่มบริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ สิ้นสุดใกล้ขั้วโลกเหนือ สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้คือ 8 นาที 28 วินาที จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2516
5. สุริยุปราคาบางส่วน 25 พฤศจิกายน 2554
สุริยุปราคาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 เริ่มเวลา 11:23 น. สิ้นสุดเวลา 15:17 น. จุดที่เห็นดวงอาทิตย์ถูกบังลึกที่สุดอยู่ในมหาสมุทรใต้ ใกล้ชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา เกิดขึ้นเวลา 13:20 น. ด้วยความลึก 90% ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงอาทิตย์ นับเป็นสุริยุปราคาที่กินลึกที่สุดในปีนี้ ศูนย์กลางเงาดวงจันทร์คลาดผิวโลกไปราว 330 กิโลเมตร บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้คือตอนใต้ของแอฟริกาใต้ ทวีปแอนตาร์กติกา มหาสมุทรใต้ รัฐแทสมาเนียของออสเตรเลีย และเกือบทั้งหมดของนิวซีแลนด์ ยกเว้นด้านเหนือ
สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 53 ใน 70 ครั้งของชุดซารอสที่ 123 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1074 สิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2318 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 6 ครั้ง วงแหวน 27 ครั้ง ผสม 3 ครั้ง เต็มดวง 14 ครั้ง และบางส่วน 20 ครั้ง ตามลำดับ ซารอสนี้เริ่มบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ สิ้นสุดบริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดคือ 3 นาที 27 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1813 สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดคือ 8 นาที 7 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1398
6. จันทรุปราคาเต็มดวง 10 ธันวาคม 2554
อุปราคาครั้งสุดท้ายของปีเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้ในประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ของปี เกิดขึ้นในคืนวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2554 ตรงกับวันระลึกการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ดวงจันทร์เริ่มแหว่งเวลา 19:46 น. ขณะนั้นประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกด้วยมุมเงยประมาณ 30° ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดทั้งดวงตั้งแต่เวลา 21:06 น. ถึง 21:57 น. จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดเวลา 23:18 น. พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมประเทศไทย คือ ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ยุโรป เอเชีย ฮาวาย มหาสมุทรแปซิฟิก และเกือบทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 10 ธันวาคม 2554
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 18:33:33 น.
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 19:45:42 น.
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 21:06:16 น.
4. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ 21:31:49 น.
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 21:57:24 น.
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 23:17:59 น.
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 00:30:00 น.
จันทรุปราคาครั้งนี้มีระยะเวลาเต็มดวงยาวนาน 51 นาทีเศษ ขณะบังเต็มที่เวลา 21:32 น. ศูนย์กลางเงาโลกอยู่ห่างไปทางทิศเหนือของดวงจันทร์ ทำให้คาดหมายได้ว่าขณะนั้นพื้นที่ด้านทิศใต้ของดวงจันทร์ซึ่งอยู่ทางขวามือ เมื่อมองขึ้นไปบนฟ้าน่าจะสว่างกว่าส่วนอื่น
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เคยเกิดจันทรุปราคาเห็นได้ในประเทศไทยที่ตรงกับวันระลึกการพระราชทานรัฐ ธรรมนูญมาแล้วครั้งหนึ่งในเช้ามืดวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ปีนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่ง อยู่ในฤดูที่โดยมากไม่ค่อยมีเมฆเป็นอุปสรรค และประเทศไทยตรงกับช่วงเวลาที่มีผู้สนใจมากที่สุด (prime time) หลังจากปีนี้ จันทรุปราคาในวันรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2619 (ไม่นับรวมจันทรุปราคาเงามัวใน พ.ศ. 2573 ซึ่งสังเกตได้ยาก)
จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาครั้งที่ 23 ใน 71 ครั้ง ของชุดซารอสที่ 135 ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1615 - 2877 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยจันทรุปราคาเงามัว 9 ครั้ง บางส่วน 10 ครั้ง เต็มดวง 23 ครั้ง บางส่วน 7 ครั้ง และเงามัว 22 ครั้ง ตามลำดับ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้จะเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2264 นาน 1 ชั่วโมง 46.2 นาที
พ.ศ. 2555
สุริยุปราคาวงแหวน 21 พฤษภาคม 2555 - แนวคราสวงแหวนผ่านจีน ญี่ปุ่น ทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ มีโอกาสเห็นสุริยุปราคาบางส่วนขณะดวงอาทิตย์ขึ้น แต่ดวงอาทิตย์แหว่งเพียงเล็กน้อยและสิ้นสุดปรากฏการณ์ไม่นานหลังดวงอาทิตย์ ขึ้น
จันทรุปราคาบางส่วน 4 มิถุนายน 2555 - ประเทศไทยเห็นได้ในเวลาพลบค่ำขณะดวงจันทร์ขึ้น
สุริยุปราคาเต็มดวง 14 พฤศจิกายน 2555 - แนวคราสเต็มดวงผ่านทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียและทางใต้ของมหาสมุทร แปซิฟิก ประเทศไทยไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้
จันทรุปราคาเงามัว 28 พฤศจิกายน 2555 - ประเทศไทยเห็นได้ แต่ดวงจันทร์ลดความสว่างลงน้อยมาก ยากที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างสมาคมดาราศาสตร์ไทยและวิชาการดอทคอม