เรื่องน่ารู้ ศัพท์บัญญัติ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ตอนที่ 2)


1,137 ผู้ชม

ว่าด้วยเรื่อง “ศัพท์บัญญัติ” กันต่อ.....ขอเท้าความไปว่า เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผู้เขียนนำวารสารข่าว “ช่างพูด”ฉบับที่ 4 ประจำเดือนมิถุนายน 2548 ไปให้เพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์สอนคณะวิศวฯ ต่างสถาบันคนหนึ่งอ่าน


เรื่องน่ารู้ ศัพท์บัญญัติ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ตอนที่ 2)

ว่าด้วยเรื่อง “ศัพท์บัญญัติ” กันต่อ.....ขอเท้าความไปว่า เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผู้เขียนนำวารสารข่าว “ช่างพูด”ฉบับที่ 4 ประจำเดือนมิถุนายน 2548 ไปให้เพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์สอนคณะวิศวฯ ต่างสถาบันคนหนึ่งอ่าน เนื่องจากมีบทความที่ผู้เขียนเขียนเรื่องเกี่ยวกับเทพแห่งวิศวกรรมลงใน วารสาร “ช่างพูด”ฉบับนั้นด้วย เมื่อเพื่อนคนนี้ได้เหลือบสายตาไปพบคำว่า “ภินทนคณิตศาสตร์” ที่พิมพ์อยู่บนสันตำราซึ่งเป็นภาพประกอบหน้าปก “ช่างพูด” ฉบับนั้น ก็ถามผู้เขียนว่า “ภินทนคณิตศาสตร์” คืออะไร?

ในตอนนั้นผู้เขียนยังไม่ทราบรายละเอียดว่าคณิตศาสตร์ที่ว่านี้เป็นอย่าง ไร จึงตอบเพื่อนไปว่า ทราบแต่เพียงว่าวิชานี้ ก็คือวิชา “Discrete Mathematics” นั่นเอง พร้อมทั้งใช้ความรู้ด้านภาษาบาลีสันสกฤตที่ตนพอมีอยู่บ้าง อธิบายเพิ่มเติมไปว่า คำว่า “discrete” ในภาษาอังกฤษ แปลว่า แยกกัน ไม่ประติดประต่อกัน หรือ ไม่ต่อเนื่องกัน และคำว่า “ภินทน-” (อ่านว่า พิน-ทะ-นะ) ก็แปลว่า การแตก การแตกหัก การแตกแยก การทำลาย ซึ่งอาจจะมีความหมายในทำนองเดียวกัน จึงมีผู้คิดชื่อวิชาที่ค่อนข้างใหม่คือ “Discrete Mathematics” นี้ เป็นภาษาไทยว่า “ภินทนคณิตศาสตร์”

ผู้เขียนทราบต่อมาภายหลังว่า เมื่อปี พ.ศ. 2545 ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาเห็นว่า นัยความหมายของคำว่า “ภินทน-” (ในคำว่า “ภินทนคณิตศาสตร์”) นั้น ไม่ตรงกับนัยความหมายของคำว่า “discrete” เท่าใดนัก กล่าวคือ “discrete” มาจากคำละตินว่า “discrētus” หมายถึง “แยกออกเป็นส่วนย่อยๆ” แต่ “ภินทน-” มาจากคำบาลีสันสกฤตว่า “ภินฺทน” มีนัยความหมายว่า “แตก” “แตกแยก” “แตกหัก” ซึ่งความหมายมีนัยไปในทางที่ไม่ดี ดังนั้น ราชบัณฑิตยสถานจึงได้คิดหาคำที่เหมาะสมเพื่อใช้แทนคำว่า “discrete” มติที่ได้คือ คำว่า “วิยุต” เป็นคำบาลีสันสกฤต มีความหมายว่า “แยกออกจากกัน” หรือ “ไม่เกี่ยวเนื่องกัน” ตัวอย่างเช่น “discrete time” ก็ใช้ว่า “เวลาวิยุต” หรือ “discrete variable” ก็จะใช้ว่า “ตัวแปรวิยุต” และวิชา “Discrete Mathematics*” ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ก็ได้ชื่อบัญญัติว่า “วิยุตคณิต”

เหตุไฉนจึงไม่ใช่ว่า “คณิตศาสตร์ไม่ต่อเนื่อง”อย่างที่มีบางคนใช้กันเล่า?

เหตุผลประการหนึ่งก็เพราะคำว่า “ไม่ต่อเนื่อง” นั้นราชบัณฑิตยสถานใช้แทนคำว่า “discontinuous” ไปแล้ว เมื่อพบคำว่า “discrete” อีก ก็จึงพยายามหาคำอื่นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำไทยคำเดียวกันสำหรับศัพท์ต่างประเทศคำต่างกัน อีกทั้งนัยความหมายของคำว่า “discrete” นั้นก็หมายถึง “แยกออกเป็นส่วนย่อยๆ” มากกว่าที่จะหมายถึง “ไม่ต่อเนื่อง”

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือด้านความสละสลวย ทั้งนี้ เนื่องจากคำว่า “คณิตศาสตร์” เป็นคำบาลีสันสกฤต แต่คำว่า “ไม่ต่อเนื่อง” เป็นคำไทยแท้ เมื่อรวมกันเป็น “คณิตศาสตร์ไม่ต่อเนื่อง” ซึ่งถ้าหากจะใช้คำๆนี้เป็นชื่อวิชาแล้ว ก็อาจจะมองดูเป็นคำประเภทหัวมังกุท้ายมังกร ไม่สละสลวย ดังนั้น “Discrete Mathematics” จึงใช้ว่า “วิยุตคณิต”

พูดถึงความสละสลวย หรือความ “วิลิศมาหรา”ของชื่อวิชา.....ผู้เขียนเคยได้ยินท่านราชบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร.มงคล เดชนครินทร์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ ของคณะวิศวฯ เรา เล่าให้ฟังว่า มีข้อสังเกตว่าชื่อวิชาต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษนั้น มักเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก-ละติน ซึ่งถือเป็นภาษาเก่าหรือภาษาชั้นสูงของฝ่ายตะวันตก ดังนั้น เมื่อจะบัญญัติศัพท์เหล่านี้เป็นภาษาไทย(ซึ่งจะต้องเป็นศัพท์ที่กะทัดรัด ไม่ยืดยาวเหมือนเป็นการอธิบายคำศัพท์) ท่านผู้รู้ในราชบัณฑิตยสถานก็มักจะพยายามหาคำในภาษาเก่าแก่ซึ่งถือเป็นภาษา ชั้นสูงของฝ่ายไทยเรา ก็คือคำบาลี-สันสกฤต แทนคำกรีก-ละตินเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องให้มีความหมายตรงกันด้วย เช่น Axiology อัคฆวิทยา, Epistemology ญาณวิทยา, Ichthyology มีนวิทยา, Ornithology ปักษีวิทยา, Anesthesiology วิสัญญีวิทยา, Obstetrics สูติศาสตร์, Aesthetics สุนทรียศาสตร์, Ergonomics การยศาสตร์, Thermodynamics อุณหพลศาสตร์, Cryogenics อติสีตศาสตร์ ดังนี้ เป็นต้น

* “Discrete Mathematics” เป็นคณิตศาสตร์ที่ศึกษาส่วนพื้นฐานหรือองค์ประกอบย่อย เช่น ทฤษฎีว่าด้วยเซต ว่าด้วยสมาชิกย่อยของเซต ว่าด้วยจำนวน ว่าด้วยการนับ ฯลฯ ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้จะนำมาใช้ในหัวข้อขั้นสูงต่อไป เช่น ทฤษฎีการคำนวณ ทฤษฎีกราฟ ทฤษฎีเกม ทฤษฎีคิว (queuing theory) การเข้ารหัสลับ (cryptography) คอมบิเนทอริกส์ (combinatorics) การวิเคราะห์เสียงดนตรี เป็นต้น

โปรดติดตาม “ศัพท์บัญญัติ” ตอนต่อไปในฉบับหน้า

ท่านสามารถสอบถามผู้เขียน หรือแสดงความคิดเห็นต่อคอลัมน์นี้ ได้ที่ [email protected]

ผู้เขียน

อ. ดร.ชนินทร์ วิศวินธานนท์

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

กรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมไฟฟ้า ราชบัณฑิตยสถาน

เรื่องน่ารู้ ศัพท์บัญญัติ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ตอนที่ 2)

ที่มา

อัพเดทล่าสุด