เรื่อน่าสนใจ เขื่อนกับการแก้ปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง


1,028 ผู้ชม

ปัจจุบัน ปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาน้ำที่แห้งขอดลงอย่างรวดเร็วในลุ่มน้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆส่งผลให้วิถี ชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจและส่งผลกระทบอย่างเด่นชัด



เขื่อนกับการแก้ปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำ
ผศ.ดร.อนุเทพ ภาสุระ
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี

          ปัจจุบันปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาน้ำที่แห้งขอดลงอย่างรวดเร็วในลุ่มน้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆส่งผลให้วิถี ชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจและส่งผลกระทบอย่างเด่นชัด ได้แก่ กรณีที่เกิดน้ำแห้งขอดในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่และไหลผ่านหลาย ประเทศ ซึ่งปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันมีผลกระทบโดยตรงต่อพันธุ์ปลา พรรณพืช และวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งสองฝั่งโขงด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์และกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างเพ่ง เล็งไปที่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีนว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ ปิดกั้นทางน้ำไม่ให้น้ำไหลผ่านไปยังลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จึงเห็นได้ว่าการสร้างเขื่อนเปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ด้านหนึ่งมองว่าเขื่อนมีความจำเป็นเพราะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ยามขาด แคลน รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่นทั้งการผลิตไฟฟ้าหรือใช้ในการชลประทาน ขณะที่อีกด้านหนึ่งมองว่าเขื่อนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ทั้งต่อคน สัตว์ และระบบนิเวศน์ในพื้นที่ จึงทำให้การสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำในปัจจุบันทำได้ยากมากขึ้น เนื่องจากกระแสคัดค้านในด้านลบดังกล่าว
          ในอดีตมีการสร้างเขื่อนกันทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเขื่อนหลายแห่งที่ไม่ได้มีการวางแผนอย่างรัดกุมและส่งผลเสียต่อสภาพ แวดล้อม บทเรียนจากการสร้างเขื่อนเสี่ยววานและเขื่อนจิงหงที่มีความสูงถึง 292 เมตรและขวางกั้นแม่น้ำโขงในบริเวณประเทศจีนเพื่อกักน้ำในปริมาณมากและเพียง พอให้สามารถเดินเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ในฤดูแล้งได้ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากๆดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวัฎจักรการขึ้นลงของน้ำใน แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป ระดับน้ำที่ขึ้นๆ ลงๆ ตามอิทธิพลของการใช้งานเขื่อนและการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ฝูงปลาที่อาศัยในแม่น้ำนั้นไม่สามารถว่ายน้ำขึ้นไปวางไข่บริเวณทางต้นน้ำได้ อย่างที่เคย รวมถึงยังทำให้ระบบนิเวศน์บริเวณนั้น ซึ่งเดิมเป็นระบบนิเวศน์บนบกที่รวมถึงป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ หุบเขาและสัตว์ป่าสูญหายไปทั้งหมดหรือบางส่วนอีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบ นิเวศน์ของแม่น้ำโขงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อพันธุ์ปลา พรรณพืช และวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งสองฝั่งโขงด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ต้นน้ำโดยไม่คำนึงถึงระบบ นิเวศน์เดิมส่งผลเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
          อย่างไรก็ตาม แง่ดีของการสร้างเขื่อนที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงพื้นที่ตั้ง ย่อมสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลต่อพื้นที่ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
          อันเป็นเขื่อนในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สืบเนื่องมาจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบริเวณลุ่มแม่ น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในช่วงฤดูร้อนที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึงการสร้างเขื่อน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเมื่อสร้างแล้วเสร็จพบว่า สามารถแก้ปัญหาทั้งกรณีของน้ำท่วมและและกรณีของน้ำแล้งได้ทั้งบริเวณลุ่มแม่ น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามวัตุประสงค์ของการ สร้างเขื่อน
          ท่านผู้ฟังคงจะเห็นแล้วนะครับว่า เขื่อนสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำทั้งในกรณี ที่มีน้ำมากเกินไปหรือในสภาวะที่เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราที่มีพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 130 ล้านไร่ แต่กลับมีพื้นที่ชลประทานเพียง 30 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าน้อยมาก ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาหาแนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมและเพียง พอ โดยมีการเก็บข้อมูลและมีการคำนวณถึงฤดูกาลที่น้ำมากและน้ำแล้ง โดยฤดูน้ำหลากควรคำนวณถึงการจัดเก็บว่าจะจัดเก็บน้ำในรูปแบบใด ทั้งน้ำที่ไหลจากลุ่มแม่น้ำและน้ำฝนในช่วงฤดูฝน โดยคำนวณถึงปริมาณการใช้แต่ละปีให้ครอบคลุมการสำรองน้ำไว้เพื่อใช้ในฤดูแล้ง ด้วย ดังนั้น การพิจารณาสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล อย่างรอบด้าน ทั้งผลดีและผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะการเข้าพูดคุยกับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อ การสร้างเขื่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะช่วยแก้ไขจุดบกพร่องในการศึกษาผลกระทบของโครงการและ นำไปสู่การเจรจาเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดและยุติธรรมต่อกลุ่มชาวบ้านผู้ ต้องรับผลกระทบ โดยเฉพาะการศึกษาถึงระบบนิเวศน์ว่าส่งผลให้เปลี่ยนแปลงไปเช่นไร
          ท่านผู้ฟังที่เคารพครับ การแก้ปัญหาวิกฤติทรัพยากรน้ำถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้มีการใช้ ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม หากประเทศไทยยังขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี ย่อมเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงและอาจกลายเป็นปัญหาบานปลายในอนาคต การสร้างเขื่อนอย่างรอบคอบและมีการวางแผนที่ดี จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องวิกฤติทรัพยากรน้ำของไทยได้ อย่างยั่งยืน
บรรณานุกรม
สุรวุฒิ ประดิษฐานนท์. (2552). การจัดการทรัพยากรน้ำ: กรณีศึกษาเขื่อนทดน้ำบางปะกง. วารสาร ราชบัณฑิตยสถาน. 34 (2), 450-458.
สำนักงานจังหวัดสระบุรี. (2542). การดำเนินงานทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริจังหวัดสระบุรี. สำนักงาน จังหวัดสระบุรี.

ที่มา www.uniserv.buu.ac.th

อัพเดทล่าสุด