วันสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม ฝังลึกอยู่ในชีวิตของคน โดยคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย
วันสงกรานต์ไทยในแต่ละภาค
วันสงกรานต์ไทยในแต่ละภาค
วันสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม ฝังลึกอยู่ในชีวิตของคน โดยคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย แต่ความหมายที่คนไทยทั่วไปใช้ หมายเฉพาะวันและเวลา ที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะถือว่า วันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี แต่จริง ๆ แล้วตามแต่ละภาค แต่ละจังหวัด หรือแต่ละพื้นที่ กลับมีการประเพณีวันสงกรานต์ไม่พร้อม และไม่เหมือนกัน ดังนี้...
สงกรานต์ภาคกลาง
สงกรานต์ ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน "มหาสงกรานต์" วันที่ 14 เป็น "วันกลาง" หรือ "วันเนา" วันที่ 15 เป็นวัน "วันเถลิงศก" ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย
ขณะเดียวกัน ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลาง มีความหลากหลายแตกต่างกัน แต่ถ้าจะพูดถึงประเพณีสงกรานต์ของภาคกลาง หลาย ๆ คนคงนึกถึง สงกรานต์ที่พระประแดง เพราะ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้อย่างครบครัน เพราะพวกเขาถือว่าเป็นเวลาที่คนมอญ จะต้องแสดงความกตัญญต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ
ซึ่งประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญพระประแดง หรือชาวมอญปากลัด จะตรงกับวันสงกรานต์ของชาวไทย นั่นคือวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายนของทุกปี โดยรุ่งเช้าของวันที่ 13 เมษยาน ทุกครัวเรือนจะรวมตัวกันที่บ้านงาน เพื่อเตรียมข้าวปลาอาหารไว้สำหรับจัดเป็น "ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์" จาก นั้นตอนสาย ๆ จะไปร่วมทำบุญกันที่วัด เพราะถือว่าวันที่ 13 เมษายน เป็น "วันตรุษ" คือวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และตอนบ่ายจะรวมตัวกันเพื่อเตรียมแห่ "หงส์ – ธงตะขาบ" กันตามประเพณี ตกค่ำก็จะเป็นการเล่นสะบ้าของพวกหนุ่มสาวชาวมอญ ตลอดจนในวันที่ 14 - 15 เมษายน จะเป็นประเพณีทำบุญให้ทานกันตามธรรมเนียม เหมือนกับชาวพุทธโดยทั่ว ๆ ไป
รวมไปถึง "ประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน" ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า "งานทำบุญวันไหล" การ ที่ประชุมในหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องในวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย โดยการนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขตตำบลแสนสุข มาประกอบพิธีสงฆ์ หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ การละเล่นไทย และกีฬาพื้นบ้าน
"ประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ" ณ เกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี ภายในงานมีกิจกรรมเช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง รดน้ำดำหัว การก่อพระเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือกระทะ เรือชักกะเย่อ มวยตับจาก ปาลูกดอก แข่งขันตะกร้อลอดบ่วง การแสดงดนตรี และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ
"ประเพณีกองข้าว" อำเภอศรีราชา เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของชาวเมืองชลบุรี ซึ่งปัจจุบันอำเภอศรีราชายังคงรักษาประเพณีนี้อยู่ โดยจัดให้มีขึ้นเป็นประจำ ในวันที่ 19 - 21 เมษายนของทุกปี สถานที่จัดอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลศรีราชา และที่บริเวณเกาะลอยศรีราชา โดยกิจกรรมของงานจะประกอบไปด้วย การจัดขบวนแห่ที่นำโดยกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งกายด้วยชุดไทยประจำบ้านเข้าร่วมขบวน พิธีบวงสรวงและเซ่นสังเวยผี การสาธิตประเพณีกองข้าว การละเล่นพื้นบ้าน การสาธิตและจำหน่าย ขนมพื้นบ้าน และอาหารพื้นเมือง
"เทศกาลวันไหล" คือวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเลในช่วงวันสงกรานต์ โดยภาคตะวันออกนั้น จะแตกต่างจากที่อื่นคือ จะเริ่มเล่นสาดน้ำกันประมาณวันที่ 16 หรือ 17-18-19 เมษายน โดยเรียกกันว่า "วันไหล" โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีรดน้ำดำหัว ขบวนแห่วันไหล การสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานของประชาชน และ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ การทำบุญตักบาตร สรงน้ำ ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ และกีฬาพื้นบ้าน
สงกรานต์ภาคเหนือ
สงกรานต์ล้านนา หรือ "ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ "วันสังขารล่อง" (13 เมษายน) หมายความว่า วันนี้สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนจุดประทัดกันแต่เช้าตรู่ โดยการยิงปืนและการจุดประทัด มีความเชื่อถือกันแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้ล่องไปพร้อมกับสังขาร จากนั้น ชาวบ้านจะกวาดขยะมูลฝอยตามลานบ้าน ไปกองไว้แล้วจุดไฟเผา และทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เก็บเสื้อผ้า มุ้ง หมอน ผ้าปูที่นอนไปซัก ส่วนอุปกรณ์ที่ซักไม่ได้ก็นำออกไปผึ่งแดด เสร็จแล้วก็ชำระร่างกายสระผม (ดำหัว) ให้สะอาด และมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล
ถัดมาคือ "วันเนา" หรือ "วันเน่า" (14 เมษายน) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้าย เพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี โดยในวันนี้ตามประเพณี ถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นมงคลแก่ชีวิต จะได้ประสบแต่ความดีงามตลอดปี จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล เช่น ด่า ทอ หรือทะเลาะวิวาทกัน ตอนเช้าต่างก็จะไปตลาด เพื่อจะจัดซื้ออาหารและข้าวของมาทำบุญ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันดา" (คือ วันสุขดิบทางใต้) ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด โดยขนจากแม่น้ำปิง แล้วนำไปยังวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ที่ก่อขึ้นจะตบแต่งด้วยธงทิวสีต่าง ๆ ธงสีนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ตุง" ทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปร่างต่าง ๆ ติดปลายไม้ อีกชนิดหนึ่งตัดเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ ติดปลายไม้เรียกว่า "ช่อ"
การทาน หรือถวายตุง หรือช่อนี้ ถือกันว่าเมื่อตาย (สำหรับผู้ที่มีบาปหนักถึงตกนรก) จะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยช่อและตุงนี้ ส่วนการขนทรายเข้าวัด ถือว่าเป็นการทดแทนที่เมื่อตนเดินผ่านหรือเข้าออกวัด ทรายในวัดย่อมจะติดเท้าออกไปนอกวัด ซึ่งเป็นบาปกรรม ทางวัดจะได้ใช้ทรายเพื่อประโยชน์ในการสร้าง หรือถมลานวัด เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น และจะมีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย ทั้งนี้ ในวันขนทราย จะมีการเล่นรดน้ำกัน และเป็นการเล่นอย่างสนุกสนานที่สุดวันหนึ่ง ผู้หญิงจะแต่งกายพื้นเมือง จะนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนยาว ทัดดอกเอื้องที่มวยผม ส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมือง คล้องคอด้วยดอกมะลิ ถือขันหรือโอคนละใบ ใส่น้ำเพื่อรดกันอย่างสนุกสนาน และขนทรายเข้าวัดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทุก ๆ คน
วันที่สาม "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" (15 เมษายน) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไป "รดน้ำดำหัว" ขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวเมืองเหนือ คือ การนำลูกหลานญาติพี่น้องไปขอขมาลาโทษ (สูมาคาระวะ) ต่อผู้ใหญ่ในตอนเย็น
วันที่สี่ "วันปากปี" (16 เมษายน) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ เพื่อขอขมาคารวะ โดยตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวบ้านจะจัดอาหารหวานคาวใส่สำรับไปถวายพระที่วัด เป็นการถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกันว่า ทานขันข้าว เป็นการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับ รวมทั้งถวายเจดีย์ทราย ถวายจ่อตุง เพราะถือว่าเป็นอานิสงส์ และวันที่ 5 "วันปากเดือน" (17 เมษายน) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไปจากตัว เพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา
ทั้ง นี้ ประเพณีดำหัว สำหรับชาวล้านนาหมายถึง "การสระผม" เพื่อเป็นการชำระสะสางเอาสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสไป โดยการใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ ซึ่งการดำหัวของชาวล้านนามี 3 ลักษณะ...
ลักษณะที่ 1 ดำหัวตนเอง คือ ทำพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นศิริมงคล "สัพพทุกขา สัพพภย สัพพโรคา วินาสันตุ" แล้วลูบหัวด้วยน้ำส้มป่อย
ลักษณะที่ 2 ดำหัวผู้อาวุโสที่เราเคารพนับถือ เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ พระเถระ ผู้นำฯ
ลักษณะที่ 3 ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน คือการใช้น้ำส้มป่อยลูบศรีษะภรรยา บุตร หลาน
สงกรานต์ภาคอีสาน
ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ "ตรุษสงกรานต์" และ จะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 โดยจะมีพิธีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ ด้วยการนำเอาน้ำอบ น้ำหอมไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ มูลเหตุที่ทำเพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จะปรารถนาสิ่งใดขอให้ได้สมหวัง เช่น ขอน้ำขอฝน ขอให้ตกต้องตามฤดูกาล และให้ข้าว น้ำ ปลา อุดมสมบูรณ์ และในเดือนนี้ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสาน โดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันเริ่มต้นทำบุญ
ซึ่งการทำ "บุญเดือนห้า" จะเริ่มเวลาประมาณ 15.00 น. โดยพระสงฆ์จะตีกลองใบใหญ่ในวัด เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ญาติโยมในหมู่บ้าน ออกมารวมกันที่วัดและนำพระพุทธรูปลงมาประดิษฐานไว้ในศาลาโรงธรรม จากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านก็จะมาร่วมกันจัดน้ำอบ น้ำหอม ธูป เทียน ดอกไม้ มาพร้อมกัน แล้วกล่าวคำบูชาอธิษฐาน ขอให้ฟ้าฝนตก ในบ้านเมือง อยู่ร่มเย็น แล้วก็สรงน้ำอบ น้ำหอมให้แก่พระพุทธรูปทั้งหมดที่มีอยู่ในวัด จากนั้นก็สรงน้ำให้แก่พระสงฆ์ อันเป็นเคารพสักการะบูชาของชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการเคารพท่านจะได้ให้ศีลให้พร ให้เรามีความสุข ความเจริญ และเป็นการต่ออายุของเรา
และหลังจากกลับมาถึงบ้าน จะมีการสรงน้ำให้คนเฒ่า คนแก่ ซึ่งเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือครูบา อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่อันควรในการเคารพสักการะของเรา เอาน้ำอบ น้ำหอม ไปสรงท่าน ซึ่งเป็นการสักการะนับคือถึงบุญคุณของท่าน ต่อมาก็จะเล่นสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน ขณะที่ตอนเย็นจะมีการก่อพระทราย โดยชาวบ้านจะนำทรายจากที่ใดที่หนึ่ง นำมาก่อพระทรายที่ลานวัด จะมีการประดับประดาพระเจดีย์ทราย ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านที่มาทำบุญ จะมีการปล่อยสัตว์เพื่อเป็นบุญกุศล
ทั้งนี้ ณ อำเภอเมือง และ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม จะมีงานสงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย-ลาว โดยในงานจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย
สงกรานต์ภาคใต้
สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เมษายน) เป็น "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" หรือ "วันเจ้าเมืองเก่า" โดยเชื่อกันว่าในวันนี้ เจ้าเมืองหรือเทพยดาประจำปีผู้ทำหน้าที่รักษาดวงชะตาของบ้านเมือง จำเป็นต้องละทิ้งบ้านเมืองที่ตนรักษาไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้ชาวบ้านจึงทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและร่างกาย บางทีก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยทำพิธีลอยเคราะห์ลงในแม่น้ำ เพื่อฝากเคราะห์กรรมซึ่งตนประสบไปกับเจ้าเมืองเก่า และอธิษฐานขอให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่
ส่วนวันที่ 14 เมษายน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วันว่าง" จะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป ทั้งนี้ ที่เรียกว่า "วันว่าง" เพราะเชื่อกันว่าวันนี้เจ้าเมืองก็ยังสถิตอยู่บนสวรรค์ ในเมืองจึงไม่มีเจ้าเมืองประจำอยู่ กิจการงานอาชีพทุกอย่างจึงต้องหยุด เพราะเกรงว่าหากประกอบกิจการจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากไม่มีเจ้าเมืองคุ้มครองรักษา สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จึงถูกเก็บไว้ มิได้นำมาใช้เป็นการชั่วคราวประมาณสามวัน ประชาชนส่วนใหญ่พากันไปทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วก็นำอาหารและเครื่องบูชา ไปเคารพผู้อาวุโส และพระสงฆ์ที่เคารพ โดยถือโอกาสขอพรรดน้ำ เพื่อแสดงออกถึงความเคารพความกตัญญูด้วย
จากนั้นเมื่อทำบุญที่วัดและรดน้ำผู้อาวุโสแล้ว ต่างก็มาชุมนุมกัน โดยในการนี้ได้จัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน ซึ่งมหรสพและการละเล่นที่นิยมกันมากคือ มโนห์รา, หนังตะลุง, มอญซ่อนผ้า, อุบลูกไก่, ชักเยิ่อ, สะบ้า, จระเข้ฟากหาง (หรือบางแห่งเรียกว่าฟาดทิง), ยับสาก, เตย, ปิดตา, ลักซ่อน, วัวชนและเชื้อยาหงส์ ฯลฯ โดยการละเล่นทั้งหลายนี้ร่วมเรียกว่า "เล่นว่าง"
และวันสุดท้ายเป็นวัน "เจ้าเมืองใหม่" หรือ "วันรับเจ้าเมืองใหม่" (15 เมษายน) เชื่อว่าวันนี้เจ้าเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คุ้มครองเมืองต่าง ๆ อันอาจจะไม่ใช่เมืองที่ตนเคยประจำอยู่แต่เดิมในปีที่แล้ว จะลงมาประจำเมือง ซึ่งตนต้องรับหน้าที่คุ้มครองตลอดปีใหม่ ชาวเมืองจึงเตรียมการต้อนรับเทวดาเจ้าเมืองคนใหม่ด้วยความยินดี โดยในวันนี้ผู้คนก็จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อนำอาหาไปถวายพระที่วัด จากนั้นก็ไปรดน้ำผู้อาวุโสที่ยังตกค้างไม่ได้ไปรดน้ำใน "วันว่าง" สำหรับในบางตระกูลที่มีวงศาคณาญาติมากมาย ก็จะจัดพิธีเบญจาในวันนี้ด้วย
"พิธีเบญจา" หรือ "พิธีบิญจา" เป็น ประเพณีรดน้ำผู้อาวุโส โดยจัดโรงพิธีแบบจตุรมุข (คือมีมุขสี่ด้านตรงกลางมียอดแหลม) ตั้งแท่นกลางโรงพิธี ครั้นถึงเวลารดน้ำก็เชิญผู้อาวุโสนั่งบนแท่น ลูกหลานก็เข้ามารดน้ำพระพุทธมนต์ที่ผสมกับเครื่องหอมหลายชนิด ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็จะสวดชยันโตให้พรไปด้วย รดน้ำแล้วประพรมเครื่องหอม และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้แก่ผู้อาวุโส เป็นเสร็จพิธีขึ้นเบญจา
อย่าง ไรก็ตาม หากปีใดเป็นปีที่มีเดือนแปด 2 ครั้ง ให้ถือว่าวันว่าง (วันเนา) มีสองวัน ดังนั้น วันที่ 13 เมษายน จึงเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันส่งเจ้าเมืองเก่า วันที่ 14 - 15 เมษายน เป็นวันว่าง และวันที่ 16 เมษายน เป็นวันเถลิงศกหรือวันรับเจ้าเมืองใหม่
ทั้งนี้ ณ สวนศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมี "สงกรานต์นางดาน" หรือ "เทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช" จัดขึ้นทุกปี สำหรับกิจกรรมภายในเทศกาลสงกรานต์เมืองนครนี้ จะมีมหกรรมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง กิจกรรมนั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องลิกอร์ นั่งสามล้มโบราณชมเมืองเก่า พิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 6 แหล่ง จตุคามรุ่นสรงน้ำ 50 เป็นต้น
วันสงกรานต์ , วันสงกรานต์ไทย , วันสงกรานต์ในแต่ละภาค , วันสงกรานต์ทั่วประเทศ , เล่นสงกรานต์ , สงกรานต์ทั่วไทย , สงกรานต์ล้านนา , ตรุษสงกรานต์ , วันสงกรานต์วันเจ้าเมืองเก่า
ที่มา กระปุกดอทคอม