สต็อกยางพาราปี2554 ข่าวยางพารา ข่าวราคายางพารา


690 ผู้ชม


      บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหลังช่วงตรุษจีนราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยังมีโอกาสดีดตัวกลับขึ้นไปจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 110.29 บาท/กก.(ราคา ณ วันที่ 20 มกราคม 2554) เนื่องจากคาดว่าสต็อกยางของจีนจะเริ่มปรับลดลง และจีนจะเริ่มกลับเข้ามาเริ่มซื้อยางอีกครั้ง รวมทั้งทางรัฐบาลอาจมีมาตรการเข้ามาพยุงราคาช่วย เหลือเกษตรกร ขณะที่หากเศรษฐกิจจีนไม่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมามากนัก (ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาส 4 ปี 2554) ก็จะเป็นปัจจัยหนุนราคายาง อย่าง ไรก็ตาม อาจเป็นการยากที่ราคายางในปี 2555 จะกลับขึ้นไปอยู่ในระดับเท่ากับในปี 2554 ที่ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลาง อยู่ในระดับ 132.42 บาท/กก. เนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว และปริมาณผลผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ราคายางในปี 2555 ยังมีแนวโน้มผันผวน ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อปริมาณการผลิตและความต้องการยางในตลาดโลก โดยปัจจัยที่ต้องจับตา คือ  ความวิตกต่อวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งการเข้าซื้อหรือชะลอการซื้อยางของจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางอันดับ 1 ของโลก ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายาง นอกจากนี้ การปรับตัวของราคาน้ำมัน การเก็งกำไรของกองทุนโภคภัณฑ์ต่างๆในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า รวมถึงการดำเนินมาตรการของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงตลาดยาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพยุงราคายาง ก็ส่งผลกระทบต่อราคายางเช่นกัน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ยังคงส่งผลให้คาดการณ์ว่าราคายางในปี 2555 ยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่องจากในปี 2554 หลังจากที่ราคายางอยู่ในช่วงขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552
ในปี 2554 ราคายางผันผวนในช่วงที่เกิดภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญของโลก และช่วงเดือนเมษายนที่ทั่วโลกเกิดความวิตกว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนยาง เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนในแหล่งผลิตยางที่สำคัญ ทั้งไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นราคายางก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญคือ ความวิตกถึงผลกระทบของวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยูโรโซน และภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยางมีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วย รวมทั้งจีนมีชะลอการรับซื้อยาง เนื่องจากปริมาณสต็อกมีเพียงพอ และในช่วงเดือนตุลาคมราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมากจากข่าวการขายยางให้จีนในราคาเอฟโอบี 105 บาท/กก. ส่งผลกดดันให้ราคาขายยางในตลาดในประเทศปรับตัวลดลงอย่างมาก จากราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางท้องถิ่นที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 126 บาท/กก.ในเดือนกันยายน 2554 มาอยู่ที่ระดับ 111.99 บาท/กก.ในเดือนตุลาคม 2554 และณ วันที่ 20 มกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 110.29 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายชาวสวนยางถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยกระทรวงเกษตรฯเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)ในการประชุมวันที่ 17 มกราคม 2555 พิจารณาอนุมัติงบประมาณ 10,000 ล้านบาท มอบหมายให้องค์การสวนยาง และองค์กรเกษตรกร รับซื้อยางจากเกษตรกรจำนวน 2 00,000 ตันเก็บเข้าสต็อก โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถดึงราคายางในประเทศให้ขึ้นไปถึง 120 บาท/กก.ได้ภายใน 2 เดือน ซึ่งหลังจากกนย.อนุมัติจะเสนอที่ประชุมครม.วันที่ 24 มกราคม และหลังครม.อนุมัติก็จะสามารถใช้เงินดังกล่าวในการดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ข่าวการจะเข้าแทรกแซงตลาดยางของรัฐบาลโดยการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด โดยการเก็บสต็อกไว้ นับเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่จะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางราคายางในระยะต่อไป ได้แก่
1.ความต้องการยางในตลาดโลก เนื่องจากยางที่ผลิตได้ในประเทศทั้งหมด มีการใช้ในประเทศเพียงร้อยละ 14.0 เท่านั้น ส่วนที่เหลือส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้น(ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางคอมปาวน์ ฯลฯ) และผลิตภัณฑ์ยาง(ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง สายพานลำเลียงฯลฯ) กลุ่มศึกษายางระหว่างประเทศ (IRSG) คาดการณ์ความต้องการในตลาดโลกในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ไปแตะที่ระดับ 27.5 ล้านตัน โดยแยกเป็นความต้องการยางธรรมชาติ 11.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และความต้องการยางสังเคราะห์ 15.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางรวมในปี 2555 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ไปแตะที่ระดับ 27.2 ล้านตัน โดยแยกเป็นปริมาณการผลิตยางธรรมชาติ 11.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และปริมาณการผลิตยางสงเคราะห์ 15.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4
ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ในปี 2555 ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนกระทั่งมาอยู่ในระดับเดียวกับปริมาณความต้องการยางธรรมชาติ รวมทั้งอัตราการขยายตัวของปริมาณความต้องการยางก็มีระดับใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิต สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันด้านอุปทานในปีนี้ไม่มากนัก ส่วนปัญหาอุปทานตึงตัวน่าจะไม่รุนแรง นอกเหนือไปจากแรงหนุนจากการที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) ซึ่งผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังความเสี่ยงในเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยาง
ในขณะที่ในด้านความต้องการยางนั้นยังต้องจับตาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน และวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และส่งผลต่อการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และความต้องการยางเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงตามไปด้วย โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องจับตามอง คือ จีน  เนี่องจากเป็นตลาดส่งออกยางที่สำคัญของไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.9 ของมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ สมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนคาดว่าในปี 2555 ยอดขายรถยนต์ในจีนแม้จะยังคงขยายตัว แต่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากในปี 2554 โดยในปี 2554 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 ไปแตะที่ระดับ 18.5 ล้านคัน เมื่อเทียบกับในปี 2553 ที่มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 32.4 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้ ประเทศที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตและมีความต้องการนำเข้ายางเพิ่มขึ้นได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล  
2.ราคาน้ำมัน เนื่องจากยางสังเคราะห์ในตลาดโลกมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณความต้องการยางทั้งหมด โดยวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางสังเคราะห์ก็คือ ผลพลอยได้จากน้ำมัน ราคายางสังเคราะห์จึงเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน และเนื่องจากยางสังเคราะห์เป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติ ดังนั้น ราคายางธรรมชาติจึงมีทิศทางเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2555 ที่ระดับ 95-110 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ซึ่งเท่ากับว่าราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง
3.การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าของกองทุนโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ ยางถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งราคาซื้อขายยางในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้ามักจะเป็นราคาชี้นำตลาดยางในตลาดซื้อขายจริง โดยเฉพาะในตลาดโตเกียว(TOCOM) และตลาดสิงคโปร์(SICOM)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสังเกตคือ ในปี 2554 การปรับตัวของราคายางในประเทศมีแนวโน้มรุนแรงกว่าในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากมีการผนวกกับแรงเก็งกำไรของบรรดาพ่อค้ายางในตลาดท้องถิ่นด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2555 การเก็งกำไรในตลาดยางก็ยังมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
4.การดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดยางของรัฐบาล และบทบาทของบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ นโยบายรัฐบาลในการดำเนินการแทรกแซงตลาดยางเพื่อพยุงราคายาง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ นโยบายที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไทย และนโยบายที่ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ(ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) โดยปัจจุบันบทบาทในการพยุงราคายางของบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
สำหรับในส่วนของการดำเนินการแทรกแซงตลาดยางของไทย มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางราคายางทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก และราคาส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น 3 เอฟโอบีนับเป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลก ซึ่งล่าสุดการอนุมัติวงเงินเพื่อซื้อยางเก็บเข้าสต็อก(รอมติครม.เห็นชอบ) ก็หยุดภาวะราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 และราคายางกลับมาดีดตัวขึ้น ซึ่งมาตรการแทรกแซงตลาดยางของไทยนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่รายได้เกษตรกรผู้ปลูกยาง
5.การขยายพื้นที่ปลูกยาง เนื่องจากราคายางที่อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชเกษตรประเภทอื่นๆ จากความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆที่มีการขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ นับเป็นแรงจูงใจให้ประเทศต่างๆเร่งขยายพื้นที่ปลูกยาง เช่น ไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่ในปี 2546(ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเริ่มทยอยให้ผลผลิตแล้ว) และมีนโยบายจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 800,000 ไร่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2555 ส่วนอินโดนีเซีย และมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกก็ขยายพื้นที่ปลูกยางเช่นกัน ส่วนจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลกก็ลงทุนปลูกยางเพิ่มทั้งในประเทศ และนอกประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา พม่า และลาว เป็นต้น การขยายพื้นที่ปลูกยางส่งผลให้ปริมาณการผลิตยางในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหลังช่วงตรุษจีนราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยังมีโอกาสดีดตัวกลับขึ้นไปจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 110.29  บาท/กก.(ราคา ณ วันที่ 20 มกราคม 2554) เนื่องจากคาดว่าสต็อกยางของจีนจะเริ่มปรับลดลง และจีนจะเริ่มกลับเข้ามาเริ่มซื้อยางอีกครั้ง รวมทั้งทางรัฐบาลอาจมีมาตรการเข้ามาพยุงราคาช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่หากเศรษฐกิจจีนไม่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมามากนัก (ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาส 4 ปี 2554) ก็จะเป็นปัจจัยหนุนราคายาง อย่างไรก็ตาม อาจเป็นการยากที่ราคายางในปี 2555 จะกลับขึ้นไปอยู่ในระดับเท่ากับในปี 2554 ที่ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลาง อยู่ในระดับ 132.42 บาท/กก. เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว และปริมาณผลผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อัพเดทล่าสุด