วิธีแก้โรคหูอื้อข้างเดียว วิตามินรักษาโรคหูอื้อ โรคหูอื้อ


1,285 ผู้ชม


วิธีแก้โรคหูอื้อข้างเดียว วิตามินรักษาโรคหูอื้อ โรคหูอื้อ

               วิธีแก้โรคหูอื้อข้างเดียว

ข้อน่ารู้

1. หูชั้นกลาง เป็น ส่วนหนึ่งของช่องหูที่อยู่ระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นใน อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหูเข้าไปเป็นช่องที่บรรจุกระดูกอ่อน 3 ชิ้น (กระดูกค้อน ทั่ง และโกลน) ที่รับการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง หูชั้นกลางมีช่องทางติดต่อกับลำคอและโพรงจมูก ที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (eustachian tube)

2. เมื่อมีการติดเชื้อในลำคอเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด เป็นต้น เชื้อโรคสามารถลุกลามจากลำคอผ่านทอยูสเตเซียนเข้าไปในหูชั้นกลาง เกิดการอักเสบทำให้เยื่อบุผิวภายในหูชั้นกลางและท่อยูสเตเชียนบวม ท่อนี้จะอุดตัน ถ้าการอักเสบนั้นมีเชื้อแบคทีเรียเป็นต้นเหตุ ก็จะเกิดเป็นหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง คนไข้จะมีอาการไข้สูง ปวดหู และหูอื้อ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ปริมาณของหนองจะสะสมมากขึ้นจนเกิดแรงดันให้เยื่อแก้วหูเกิดรูทะลุได้ หนองที่ขังอยู่ภายในหูชั้นกลางก็จะไหลออกมา กลายเป็นหูน้ำหนวก พอถึงตอนนี้คนไข้จะหายปวดหู และไข้ลดลงโดยอัตโนมัติ จะเห็นได้ว่า หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในลำคอ มิได้เกิดจากน้ำเข้าหูดังที่เคยเข้าใจกัน ทั้งนี้เนื่องจากมีเยื่อแก้วหูบังไว้มิให้เชื้อในน้ำเข้าไปในหูชั้นกลางได้ แต่ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูเช่น ในรายที่เป็นหูน้ำหนวก ก็ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าหู

3. โรคนี้พบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบบ่อยในเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากท่อยูสเตเชียนในเด็กจะมีขนาดสั้นและตีบแคบกว่าของผู้ใหญ่ทำ ให้มีการติดเชื้ออักเสบในหูชั้นกลางได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

4. โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มักจะหายขาด แต่ถ้าปล่อยปละละเลยไม่รักษาอย่างจริงๆ จังๆ ก็อาจกลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง (หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง) เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูโหว่ ทำให้มีอาการหูอื้อ หูหนวกได้ บางรายอาจมีการลุกลามของเชื้อโรคเข้าไปในสมอง ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นฝีในสมอง เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ขาดอาหารหรือร่างกายอ่อนแอ อาจเป็นโรคแทรกเหล่านี้ได้ง่ายกว่าเด็กที่แข็งแรง ตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประถมศึกษาในชนบท และชุมชุนแออัด อาจพบเด็กที่เป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ดังนั้นครูและเจ้าหน้าที่อนามัยโรงเรียนจึงควรตรวจเช็กเด็กตามชั้นเรียน หากพบโรคนี้ก็ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพเด็กในภายหลัง

5. การป้องกัน โรคชั้นหูกลางอักเสบเฉียบพลันอยู่ที่ระวังอย่าให้เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ และฉีดวัคซีนป้องกันหัด ถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ก็ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ และถ้าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ก็ควรรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้กลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คน ที่เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดหู หูอื้อ มักมีไข้สูงร่วมด้วย ส่วนมากจะเป็นหลังจากเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ ออกหัด หรือโรคติดเชื้อในลำคอ เด็กเล็กอาจมีอาการไข้สูงร่วมกับร้องกวนดึก (เพราะเจ็บปวดในหู) และงอแง บางคนอาจเอานิ้วดึงที่ใบหู เด็กมีอาการไข้หวัด ปวดหู หูอื้อ อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น

1. มดหรือแมลงเข้าหู จะมีอาการปวดหูข้างเดียวรุนแรงเกิดขึ้นเฉียบพลัน (เช่น ขณะนอนอยู่เฉยๆ ก็มีอาการปวดหู) คนไข้จะรู้สึกว่ามีตัวอะไรอยู่ในหู หากสงสัยให้รีบเอาน้ำมันพืชหยอดหู แล้วพาไปพบแพทย์

2. หูชั้นนอกอักเสบ มีอาการปวดหู เวลาดึงใบหูจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น (หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เวลาดึงใบหูจะไม่เจ็บมากขึ้น) อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ มักเป็นหลังใช้ไม้แคะหู หากสงสัยควรไปพบแพทย์รวดเร็ว

3. โรคเชื้อราในช่องหู จะมีอาการหูอื้อ คันในช่องหูมาก บางครั้งมีอาการปวดหูร่วมด้วย เกิดจากมีเชื้อราขึ้นในช่องหู หากสงสัยให้ใช้ไม้พันสำลีซุบทิงเจอร์ใส่แผลสด (merthiolate) เช็ดหูวันละ 3-4 ครั้ง มักจะดีขึ้นใน 2-3 วัน หากไม่ทุเลา ควรไปพบแพทย์

4. ขี้หูอุดตันรูหู จะมีอาการหูอื้อ และอาจปวดหูร่วมด้วย มักเป็นทันทีหลังเล่นน้ำ สระผม น้ำเข้าหู เนื่องจากขึ้หูอุ้มน้ำพองจนอุดรูหู คนไข้จะรู้สึกว่าเหมือนมีน้ำเข้าหู แต่ไม่ยอมหายนานเป็นวันๆ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์


เมื่อไรควรไปพบแพทย์

1. คนที่มีอาการปวดหู หูอื้อ และเป็นไข้หรือสงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

2. คนที่มีอาการปวดหู หูอื้อ โดยไม่มีไข้ และไม่สงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 2-3 วัน เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด


แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์ จะใช้เครื่องส่องหู (otoscope) ตรวจดูภายในช่องหู ดูลักษณะของเยื่อแก้วหูว่า มีการอักเสบหรือเป็นรูทะลุหรือไม่ หากวินิจฉัยว่าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาลดไข้และยาปฎิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรมัยซิน) ถ้าดีขึ้นจะให้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลา 10 วัน ในรายที่ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้เข็มเจาะระบายเอาหนองออกจากเยื่อแก้วหูเพื่อลดการอักเสบ รูเจาะตรงเยื่อแก้วหูจะปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

ในรายที่มีเยื่อ แก้วหูทะลุจากการอักเสบ (อาจมีน้ำหนวกไหล) เมื่อให้ยาปฏิชีวนะแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจดูเป็นระยะจนกว่าจะแน่ใจว่ารูทะลุปิดสนิทได้เองตามธรรมชาติ ขณะที่มีรูทะลุที่เยื่อแก้วหู แพทย์จะแนะนำคนไข้ว่าอย่าเล่นน้ำ หรือระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เพราะอาจมีเชื้อโรคเข้าไปในหูชั้นกลางได้

ใน รายที่เยื่อแก้วหูมีรูโหว่มากปิดเองไม่ได้ แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซมเยื่อแก้วหูให้ปิดได้สนิท เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

โดยสรุป เมื่อมีอาการปวดหู หูอื้อ และมีไข้ ควรสงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยปละละเลย อาจทำให้เกิดโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง และมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้


การดูแลรักษาตนเอง

เมื่อ มีอาการปวดหู หูอื้อ มีไข้ เกิดขึ้นหลังเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิบอักเสบ ออกหัด หรือเป็นโรคติดเชื้อในลำคอ พึงสงสัยว่าจะเป็นหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ระหว่างที่รอพบแพทย์ อาจให้การรักษาขึ้นต้น ดังนี้

1. กินยาแก้ปวดลดไข้-พาราเซตามอล

2. กินยาปฏิชีวนะ ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ขนาด 250 มก. วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ผู้ใหญ่ครั้งละ 1-2 เม็ด เด็กโตครั้งละ 1 เม็ด เด็กเล็กใช้ชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ 1-2 ช้อนชา

              Link   https://doctor.or.th

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


                วิตามินรักษาโรคหูอื้อ

ยา Neurobion เป็นตัวยาที่มีส่วนประกอบคือ วิตามินบี ๑ ,วิตามินบี ๖ และวิตามินบี ๑๒ มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการปลายประสาทอักเสบ หรือบรรเทาอาการเหน็บชาของร่างกาย
 Methycobal เป็นตัวยาที่มีส่วนประกอบคือ mecobalamin มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคระบบประสาทส่วนปลาย
ตามที่มีผู้แนะนำมานั้น พอช่วยบรรเทาได้บ้าง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ลักษณะของเสียงที่เป็นผลต่อประสาทหู
   
มีทั้งเสียงที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายต่อประสาทหูแบ่งเป็นลักษณะของเสียง๔ ประเภท ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
   ประเภท ที่ ๑ Continuous Noise หรือ Steady-state Noise คือเสียงที่ดังติดต่อกันโดยความดังเปลี่ยน แปลงไม่เกิน ๕ dB. เช่น เสียงจากเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน และเสียงจากพัดลม เป็นต้น
ประเภทที่ ๒ Fluctuating Noise คือเสียงดังขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา โดยความดังเปลี่ยนแปลงมากกว่า ๕ dB. เช่น เสียงภายในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ประเภทที่ ๓ Impact Noise หรือ Impulse หรือ Impolsive Noise เป็นเสียงที่ช่วงความดังสูงสุดสั้นและหายไปอย่างรวดเร็วเป็นมิลลิวินาที เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน และเสียงจากการกระทบของวัตถุ ๒ ชิ้น
ประเภท ที่ ๔ Intermitent Noise เสียงที่ดังไม่ติดต่อกัน หูของคนสามารถรับเสียงได้ตั้งแต่ความถี่ ๒0-๒0,000 เฮิร์ต และความถี่ของเสียงในชีวิตประจำวันคือ ๑๒๕-๘,000 เฮิร์ต และความถี่ของเสียงพูดคือ ๕00-๒000 เฮิร์ต เช่น เสียงลูกตุ้มนาฬิกา เสียงตามท้องถนน เป็นต้น
อันตรายที่เกิดจากเสียงดัง (Noise trauma) ทำให้เกิดความผิดปกติของประสาทรับเสียงภายในหูชั้นในได้ ๒ ลักษณะ
๑. ลักษณะแรกประสาทหูพิการจากเสียงดังมาก เกิดทันทีทันใด ในเวลารวดเร็ว ประสาทหูเสียแบบถาวรเรียกว่า Acoustic trauma อาจมีเยื่อแก้วหูทะลุ อาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหู เป็นต้น
๒.ลักษณะที่สองเป็นโรคประสาทหู เสื่อมจากการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานานเรียกว่า Noise-induce hearing lossอาจเกิดจากเสียง Continuous noise หรือ Interrupted noise ก็ได้ โดยเสียงดังจะมากกว่า ๘๕ dBโดยจะเกิดอาการหูอื้ออยู่ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง ภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง อาการหูอื้อก็จะหายไป ถ้าเกินกว่านี้ควรไปพบแพทย์หูคอจมูก
 กรณีของผู้สอบถามควรแก่การปรับเข้ากับกรณีที่ ๒ ครับ

             Link    https://www.netithai.com

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                 โรคหูอื้อ

หูอื้อหมายถึงอะไร? มีกี่ชนิด? วินิจฉัยและรักษาอย่างไร?

หูอื้อ หรือเสียงในหู (Tinnitus) เป็นอาการ หรือ ภาวะที่ พบได้ทั่วไป ทั้งนี้ในสหรัฐ อเมริกามีคนป่วยเป็นโรคหูอื้อถึงสี่สิบล้านคน แต่มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่รู้สึกว่าหูอื้อเป็นปัญหาสำคัญ

ในด้านความหมาย อาการหูอื้อ หมายถึง การได้ยินลดลง หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหูอยู่ หรือรู้สึกมีเสียงดังในหู ซึ่งอาจเป็นเสียงแหลม วี๊ดๆ คล้ายมีแมลงบินในหู หรือเสียงหึ่งๆ หรือเสียงตุบๆคล้ายชีพจรเต้น หรือแม้แต้เสียงการกลืนอาหาร หรือเสียงลมหายใจ และไม่ใช่ทุกคนที่ได้ยินเสียงหูอื้อจะรู้สึกรำคาญจนทนไม่ได้ บางคนอาจไม่มีปัญหากับอาการหูอื้อ ทั้งนี้หูอื้อบางชนิดก็ไม่มีอันตราย บางชนิดก็มีอันตราย ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

  1. หูอื้อแบบมีเสียงแหลม วี๊ดๆ

    คล้ายมีแมลงในหูหรือเสียงหึ่งๆ ประเภทนี้มักเกิดจากมีความผิดปกติของหูชั้นใน หรือของเส้นประสาทหู มักเกิดร่วมกับอาการประสาทหูเสื่อมและการได้ยินลดลง อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการหูอื้อมักเกิดร่วมกับ อาการนอนไม่หลับ ซึ่งบ่อยครั้งผู้ป่วยมักเข้าใจว่าเสียงดังในหูทำให้นอนไม่หลับ เครียด หรือภาวะซึมเศร้า และภาวะทั้งหมดมีส่วนเสริมซึ่งกันและกันทำให้อาการยิ่งเป็นมากขึ้น

    สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้มีอาการหูอื้อชนิดนี้ มักเป็นปัจจัยเดียวกับที่ทำให้ประสาทหูเสื่อม เช่น การฟังเสียงดังๆ การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลข้างเคียงต่อประสาทหู การผ่าตัดรักษาโรคทางสมอง หรือทางหูบางโรคที่อาจกระทบกระเทือนประสาทหู ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งบางชนิด หรือการฉายรังสี (รังสีรักษา) บริเวณศีรษะเพื่อรักษาโรคมะเร็ง การใช้ยาขับปัสสาวะบางชนิด การใช้ยาลดการอักเสบกลุ่มแอสไพริน การที่มีอายุมากขึ้น (ผู้สูงอายุ) หูก็อาจเสื่อมเองได้ การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อซิฟิลิส หรือเชื้อไวรัสที่ทำให้หูชั้นในอักเสบ และโรคเนื้องอกบริเวณประสาทสมองคู่ที่แปด (Acoustic neuroma) เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดจากเนื้องอก มักเป็นอาการหูอื้อข้างเดียว ข้างที่เกิดโรค

    การวินิจฉัยหูอื้อชนิดนี้ สามารถทำได้โดยการซักประวัติทางการแพทย์ที่อาจเป็นสาเหตุตามที่กล่าวมาข้าง ต้น รวมทั้งการตรวจร่างกายภายในช่องหู ซึ่งหากพบความผิดปกติก็จะสามารถทำการรักษาให้ตรงกับสาเหตุได้

    นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคที่อาจซุกซ่อนอยู่ เช่น การตรวจ หาเชื้อซิฟิลิส การวัดระดับการได้ยิน (Audiometry) การวิเคราะห์การทำงานของเส้นประสาทหูส่วนก้านสมองเพื่อหาหลักฐานว่ามีเนื้อ งอกเส้นประสาทหูหรือไม่ (ABR, Audiotory brain stem response) หรือการทำการสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก/เอ็มอาร์ไอ (MRI, Magnetic resonance imaging) ก็จะทำให้เห็นเนื้องอกที่เส้นประสาท หรือในสมองได

    การดูแลรักษาหูอื้อชนิดนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า หูอื้อชนิดนี้ยากต่อการรักษาให้หายขาด เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาโรคของประสาทหูเสื่อม เช่น งดฟังเสียงดังจากแหล่งต่างๆ การให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท การให้ยาขยายหลอดเลือดในรายที่มีการตีบตันของหลอดเลือดหูชั้นใน เป็นต้น

    อย่างไรก็ตามบางครั้งการรักษาอาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะ หรือโรคอื่นอยู่ด้วย เช่น เครียด นอนไม่หลับ หรือมีโรคซึมเศร้า ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขภาวะ/โรคเหล่านี้ไปด้วยกัน เช่น การออกกำลังกาย การรักษาทางจิตวิทยา/จิตเวช และมีผู้ทดลองใช้อุปกรณ์ที่มีเสียงในลักษณะพิเศษมาช่วยกลบเสียงหูอื้อ เช่น การใช้วิทยุเปิดเบาๆ หรือการใช้เทปเสียง หรือซีดี หรือแพทย์อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง ซึ่งช่วยทำให้เสียงจากสิ่ง แวดล้อมดังขึ้นเพื่อช่วยกลบเสียงรบกวนจากหูอื้อได้ ปัจจุบันมีผู้คิดเครื่องสร้างเสียงดนตรีที่ไม่เป็นเพลงเพื่อช่วยดึงความสนใจ ออกไปจากภาวะหูอื้อ บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยสามารถปรับตัวให้อยู่กับเสียงในหู/หูอื้อได้ จนเป็นความคุ้นเคย และไม่รำคาญอีกต่อไป

  2. หูอื้อแบบรู้สึกตุบๆ

    กลุ่มนี้เกิดจากมีเนื้องอกใน ช่องหู (Glomus tumor) ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจอาจสามารถได้ยินเสียงอื้อนั้นด้วย การวินิจฉัยจะต้องทำการซักประวัติทางการ แพทย์ของผู้ป่วย ต้องทำการตรวจช่องหูชั้นกลาง อาจเห็นเนื้องอกเป็นสีแดงๆ หากพบเป็นเนื้องอก ต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่นเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อหาขอบเขตการลุกลามของเนื้องอก และให้รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งหูอื้อจากสาเหตุนี้ มักเกิดเพียงข้างเดียว คือข้างที่เกิดเนื้องอก
  3. หูอื้อแบบได้ยินเสียงภายในร่างกายชัดกว่าปกติ

    เช่น เสียงพูดของตัวเอง หรือเสียงลมหายใจ มักเกิดจากมีความผิดปกติของหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลาง บางครั้งเกิดจากโรคภูมิแพ้ ทำให้ท่อระบายอากาศของหู (Eustachian tube) บวมและถ่ายเทอากาศไม่ได้ ผู้ ป่วยอาจสังเกตได้ว่า อาการมักเป็นๆ หายๆ หรือเวลาขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำจะมีอาการปวดหู และมีหูอื้อ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะพบได้น้อย แต่อาจเกิดจากโรคมะเร็งโพรง หลังจมูกได้ โดย เฉพาะถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ โต คลำได้ ซึ่งถ้าเป็นหูอื้อจากมะเร็งมักเป็นหูอื้อเพียงข้างเดียว ข้างที่มีก้อนมะเร็งโตจนอุดกั้นท่อระบายอากาศของหู อนึ่ง โรคมะเร็งชนิดนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในบ้านเรา มักพบในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป โดย เฉพาะมีเชื้อสายจีน ดังนั้นถ้ามีอาการหูอื้อข้างเดียว จึงควรรีบพบแพทย์ หู คอ จมูก

การวินิจฉัยสาเหตุโรคนี้ ต้องซักประวัติโรคทางหูในอดีต หรืออาการภูมิแพ้ ต้องตรวจหาความผิดปกติของช่องหู เมื่อเจอสาเหตุมักสามารถรักษาให้หายได้ เช่น หากเป็นโรคภูมิแพ้ ก็ต้องรักษาโรคภูมิแพ้ หรือมีหูอักเสบก็ต้องรักษาภาวะหูอักเสบ เป็นต้น

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อ?

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อ คือ

  • ทำงาน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังโดยไม่มีเครื่องป้องกันหูที่ถูกต้อง
  • สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี
  • คนที่หูได้ยินลดลงเมื่ออายุมากขึ้น
  • เป็นชาวตะวันตก
  • มีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจจากการถูกทำร้ายร่างกาย (Post traumatic stress disorder) โดยผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อมีคนพูดเสียงดัง

เมื่อมีหูอื้อควรดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อมีอาการหูอื้อควรใช้การสังเกตว่า เป็นหูอื้อแบบไหน เป็นเวลาเป็นหวัดภูมิแพ้หรือเปล่า หรือมีอาการได้ยินลดลงซึ่งกรณีมีการได้ยินลดลงนี้ควรรีบพบแพทย์ด้านหู คอ จมูก เพราะอาจมีอาการประสาทหูเสื่อมได้

นอกจากนั้น คือ

  • ควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง หรือควรใส่เครื่องป้องกันหูจากเสียงดังเสมอ
  • เมื่อเกิดความรำคาญจากเสียงในหู อาจเปิดเพลงเบาๆ เพื่อกลบเสียงในหู
  • เปิดพัดลมที่มีเสียงเบาๆ อาจช่วยกลบเสียงในหูลงได้
  • รักษาสุขภาพจิต เพราะพบว่า การมีความเครียด จะรู้สึกว่าเสียงในหูดังขึ้น
  • งด/เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะมีรายงานว่า อาจทำให้อาการหูอื้อเลวลงได้
  • งด/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ได้ยินการไหลเวียนของเลือดในหูดังขึ้น/หูอื้อมากขึ้น
  • ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
  • ยอมรับ เข้าใจในอาการ และปรับตัว ลดความกังวล ลดความเครียด

อาการหูอื้อรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

หูอื้อมักมีอาการไม่รุนแรง แต่น่ารำคาญ บางรายนอนไม่หลับทำให้กระทบกับสุขภาพส่วนอื่น แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุด้วย ซึ่งถ้าเกิดจากเนื้องอกประสาท Glomus tumor หรือโรคมะเร็ง ก็จะเป็นโรคที่รุนแรงได้ แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยกว่าสาเหตุอื่นๆ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรพบแพทย์ เมื่อ

  • มีหูอื้อหลังจากเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือไซนัสอักเสบ ทั้งนี้โดยอาการหูอื้อไม่ดีขึ้น/ไม่หายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังอาการจากโรคต่างๆดังกล่าวหายแล้ว
  • มีหูอื้อที่ร่วมกับการได้ยินลดลง หรือมีอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน
  • มีหูอื้อที่เกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้/ไม่รู้สาเหตุ เพราะอาจเกิดจากเนื้องอกประสาท หรือโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกได้

ป้องกันอาการหูอื้อได้ไหม?

การป้องกันหูอื้อ ทำได้โดยการงด/หลีกเลี่ยงฟังเสียงดังๆ หรือถ้าต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง ต้องมีที่อุดหูป้องกัน หรือถ้าเป็นหวัด หรือภูมิแพ้ ต้องทำการรักษา และงดการดำน้ำในช่วงนั้น

นอกจากนั้น คือ การดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อแรก

บรรณานุกรม

  1. Cummings: Otolaryngology: Head & Neck Surgery, 4th ed.
  2. Tinnitus. https://www.mayoclinic.com/health/tinnitus/DS00365/DSECTION=risk-factors [2012, Feb 14].

           Link    https://haamor.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัพเดทล่าสุด