การอยู่ไฟ สำคัญไฉน อยู่ไฟหลังคลอด อยู่ไฟด้วยตัวเอง การอยู่ไฟหลังคลอด ผ่าคลอดอยู่ไฟได้ไหม


821 ผู้ชม


การอยู่ไฟ สำคัญไฉน อยู่ไฟหลังคลอด อยู่ไฟด้วยตัวเอง การอยู่ไฟหลังคลอด ผ่าคลอดอยู่ไฟได้ไหม

 
อยู่ไฟ

 พวกเราคงเคยไปเยี่ยมหนูน้อยเกิดใหม่มาหลายคนแล้วนะคะ จำได้ไหม คุณแม่หลายคนอยู่โรงพยาบาลในห้องพิเศษ ติดแอร์เย็น สะอาด สบายเหมือนอยู่บ้าน ตัวคุณแม่เองเมื่อลุกได้ หมออนุญาตให้เดินเธอก็ลุกเดินไม่นอนอยู่เฉยๆ หน้าตาสดใส ใส่เสื้อผ้านิ่มๆไม่ต้องสวมชุดคนไข้ มีลูกน้อยนอนหลับปุ๋ยอยู่ด้วยในห้อง สี่วันหมอก็ให้กลับบ้านถ้าสุขภาพแข็งแรงดี ดูก็ไม่เห็นยากเย็นอะไร บางคนผ่าตัดก่อนเจ็บท้อง เลยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาการเจ็บท้องเป็นยังไง เจ็บแต่แผลไม่กี่วันก็หาย
อย่างหนึ่งที่คุณแม่ยุคใหม่รอดพ้นไปได้เด็ดขาด ก็คือ "อยู่ไฟ"
แต่ย้อนกลับไปสมัยคุณทวดของคุณแม่ยังสาวเหล่านี้ละก็ ผู้หญิงไทยทุกคนรู้จักกิจกรรมทนทุกข์ทรมานหลังจากคลอดลูกแต่ละครั้งนี้ดี เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดคำเปรียบเทียบว่า "ผู้หญิงออกลูก เท่ากับผู้ชายออกศึก" หนักกันถึงขนาดนั้นแน่ะค่ะ
ใน ขุนช้างขุนแผน พูดถึงตัวผู้หญิงคลอดลูกว่าต้องอยู่ไฟหลังจากคลอดแล้วทุกคน รวมทั้งแม่ๆของขุนช้างและขุนแผนด้วย
นางเทพทองเห็นหน้าขุนช้างลูกชายว่าอัปลักษณ์ก็ผิดหวัง จึงด่าเข้าให้แทนการต้อนรับ แล้วก็ไปอยู่ไฟตามธรรมเนียม


ด่าแล้วจึงเข้าไปนอนไฟ แม่นมข้าไทให้รักษา
อาบน้ำป้อนข้าวทุกเวลา ไกวเปลเห่ช้ามาทุกวัน


ส่วนนางทองพระศรีแม่ของขุนแผน ลูกชายออกมาน่ารัก ญาติพี่น้องก็ชื่นชมยินดี


เอาขึ้นใส่อู่แล้วแกว่งไกว แม่เข้านอนไฟให้ร้อนทั่ว
เดือนหนึ่งออกไฟไม่หมองมัว ขมิ้นแป้งแต่งตัวน่าเอ็นดู


ทำไมถึงทรมานหรือคะ? ลองวาดภาพตามไปก็ได้
การอยู่ไฟต้องมีอุปกรณ์คือแคร่หรือกระดานอยู่ไฟ (ราชาศัพท์เรียกว่าพระกระดานเพลิง ส่วนการอยู่ไฟเรียกว่าผทมเพลิง) ใช้ไม้กระดานแผ่นยาวประมาณหนึ่งเมตร มาปูทับกระดานเรือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วนำอีกสี่แผ่นมาทำขอบสี่ด้าน ตัดต้นกล้วยเป็นท่อน ผ่าสองวางเรียงใต้แคร่ เอาดินเกลี่ยข้างบนแล้วจุดไฟให้ร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา วงรอบแคร่ด้วยสายสิญจน์ ปิดยันต์สี่ทิศ ในเมื่อบ้านไทยโบราณมีใต้ถุนสูง บ้านไหนมีแม่ลูกอ่อนอยู่ไฟ ก็ต้องเอาหนามชนิดต่างๆ มาสะไว้ กันผีกระสือลอดใต้ถุนขึ้นมา มากินเลือดเนื้อของสดคาวจากแม่และเด็ก เชื่อกันว่ามันกลัวหนามเกี่ยวไส้ พ่อแม่ญาติพี่น้องก็ต้องป้องกันเอาไว้ก่อน
ก็ในสภาพเหมือนย่างไฟรุมๆตลอดนี่ละค่ะ แม่ลูกอ่อนต้องนอนอยู่ไฟ นุ่งผ้าเตี่ยวเพื่อให้ประคบแผลจากการคลอดบุตรได้ง่าย มีขมิ้นกับปูนแดงพอกผสมเหล้า ปิดสะดือไว้ไม่ให้ร้อน นอนทนร้อนระอุไปประมาณสิบห้าวันถึงหนึ่งเดือน หิวน้ำยังไงก็ต้องทน อาหารก็กินได้แต่ของแห้งๆอย่างข้าวกับปลาแห้ง ห้ามกินของสดคาวถือว่าแสลง เว้นที่นิยมคือแกงเลียง เชื่อว่าช่วยให้มีน้ำนมออกมามาก
คนโบราณเชื่อผลดีของการอยู่ไฟ ถือว่าทำให้แผลแห้งเร็ว มดลูกเข้าอู่ได้ง่าย สุขภาพจะดีมีลูกได้อีก ขนาดผู้หญิงคนไหนคลอดลูกแล้วร่างกายทรุดโทรมไม่แข็งแรง ก็พูดกันว่าเป็นเพราะ "อยู่ไฟไม่ได้" แต่ถ้าคนไหนสุขภาพดีฟื้นตัวเร็ว ก็พูดว่า "เพราะอยู่ไฟได้" ทั้งที่ในความเป็นจริง การอยู่ไฟเป็นตัวเร่งให้แม่ลูกอ่อนจำนวนมากต้องตายไปก็มี เนื่องจากคลอดลูกแล้วเป็นเกิดมีอาการไข้ จะเพราะติดเชื้ออักเสบจากแผล หรือเป็นไข้เพราะอะไรก็ตาม พอถูกไฟรุมได้ไอร้อนเข้าอีกไข้ก็ขึ้นสูงมากขึ้น จนอาการทรุดหนักเสียชีวิตไปหลังคลอด แต่คนก็ยังเชื่อเรื่องการอยู่ไฟอยู่นั่นเอง
โชคดีอยู่อย่างที่การแพทย์แผนตะวันตกแพร่เข้ามาในไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จึงล้มล้างความเชื่อเรื่องการอยู่ไฟลงไปได้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นเจ้านายสตรีพระองค์แรก ที่ทรงเห็นด้วยกับการเลิกอยู่ไฟ เมื่อครั้งประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เพราะหลังประสูติแล้วประชวรไข้ จึงโปรดเกล้าฯให้หมอฝรั่ง ชื่อหมอเคาแวน พยาบาลตามแบบการแพทย์ตะวันตก ก็ทรงพบว่าพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรงดีกว่าการอยู่ไฟอย่างเดิมเสียอีก จึงทรงเลิกธรรมเนียมนี้ พวกสตรีบรรดาศักดิ์ข้างนอกวังก็เจริญรอยตามพระราชนิยม การอยู่ไฟก็ค่อยๆน้อยลงไปทุกที จนเหลือแต่ในชนบทห่างไกลที่ยังนิยมกันอยู่ จนมาถึงปัจจุบันคิดว่าน่าจะหมดไปแล้ว จะเหลือก็แต่การเข้ากระโจม และอยู่ชุด ซึ่งเป็นคนละแบบกับการอยู่ไฟ
ไม่งั้น สาวๆยุคสองพัน คงได้มีรูปขณะบาร์บิคิวตัวเองหลังคลอด สภาพไม่แพ้นางเทพทองกับนางทองประศรีกันบ้างละ จะเหลือใครยอมมีลูกสักกี่คนนะ สงสัยจริงๆ 

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด