เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ นักเรียนนอกยุคแรก


888 ผู้ชม


เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ นักเรียนนอกยุคแรก

 

 นักเรียนนอกยุคแรก

 

เรามักจะเข้าใจว่านักเรียนไทยเริ่มไปเรียนเมืองนอกกันในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ เห็นได้จากพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ที่เสด็จไปศึกษาต่อในยุโรปในยุคนั้น แต่ในความเป็นจริง ยุคนักเรียนไทยไปเรียนเมืองนอก ถอยหลังย้อนกลับไปเก่ากว่านั้นมาก คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔
ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกแผ่เข้ามาคุกคามไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ และเห็นได้ชัดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็น ที่จะให้คนไทยเรียนรู้วัฒนธรรมของฝรั่ง จะได้รู้เท่าทันพวกเขา เพื่อแก้ไขปัญหาการรุกราน รักษาเอกราชไว้ได้ จึงทรงสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ภาษาและวิชาการตะวันตกอย่างมาก จนสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ตรัสเป็นข้อคิดไว้ว่า 
- เมื่อรัชกาลที่ 1 ใครรบทัพจับศึกได้แข็งแกร่งก็โปรด 
- ในรัชกาลที่ 2 ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด 
- ในรัชกาลที่ 3 ใครมีศรัทธาสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด 
- ในรัชกาลที่ 4 ใครรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด 

การเรียนภาษาอังกฤษเริ่มมาจากในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนขึ้น จ้างครูสตรีชาวอังกฤษชื่อแอนนา เลียวโนเวนส์มาถวายพระอักษรพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ก็โปรดฯให้เจ้าจอมหม่อมห้ามได้เรียนด้วย คนหนึ่งที่เรียนจนพูดภาษาอังกฤษได้คือเจ้าจอมมารดากลิ่นในกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (ต้นสกุล กฤดากร)
ล่วงมาถึงปลายรัชกาล คนไทยรุ่นแรกที่รู้ภาษาอังกฤษมากพอจะนำมาใช้ในราชการงานเมืองได้มีอยู่ 5 คน คือ 
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงศึกษากับครูสตรีและมิชชันนารีอื่นๆตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมาทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง จนทรงแปลเรื่อง The Sleeper and the Waker ของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตันเป็นไทยได้ ชื่อว่า " นิทราชาคริต" 
- กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ หรือพระนามเมื่อครั้งประสูติว่าพระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน) พระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบภาษาอังกฤษบ้างพอตรัสได้ และทรงถนัดเรื่องวิชาช่างเช่นเดียวกับพระชนกนาถ
- พระยาอรรคราชวราทร(หวาด บุนนาค)บุตรพระยาอภัยสงคราม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ฝากนายเรือรบอเมริกันไปเรียนวิชาทหารเรือ เรียนรู้ทางภาษากลับมารับราชการในกรมท่าและได้เป็นพระยาเมื่อชรา
- พระยาอรรคราชวราทร (เนตร) บุตรพระยาสมุทบุรานุรักษ์ ไปเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์จนใช้ได้ดี กลับมารับราชการได้เป็นขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ และหลวงศรีสยามกิจ ไวส์กงสุลสยามในเมืองสิงคโปร์ในรัชกาลที่ 4 ต่อมา ในรัชกาลที่ 5 ได้เป็นพระยาสมุทบุรานุรักษ์ตามอย่างบิดาและพระยาอรรคราชวราทรคนแรก
- เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นลูกหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ทางบ้านส่งไปเรียนที่อังกฤษอยู่ 3 ปี ต่อมาเดินทางกลับพร้อมกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เมื่อครั้งเป็นราชทูตไปฝรั่งเศส ได้เป็นล่าม กลับมารับราชการเป็นนายราชาณัตยานุหาร หุ้มแพรวิเศษ ในกรมอาลักษณ์ พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และเป็นราชเลขานุการภาษาอังกฤษตลอดรัชกาล 
สามัญชนที่เรียนวิชาความรู้จากฝรั่งคือนายจิตร อยู่กุฎีจีน เรียนวิชาถ่ายรูปกับบาทหลวงหลุยส์ ลานอดี ชาวฝรั่งเศส และนายทอมสันช่างถ่ายรูปชาวอังกฤษ จนตั้งห้างถ่ายรูปได้ ได้เป็นขุนฉายาทิศลักษณะ และหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมแกสหลวง
ในปลายรัชกาลนี้เอง ราชการได้เริ่มส่งนักเรียนไทยชุดแรกไปเรียนต่อที่ยุโรป 3 คน สองคนที่ไปเรียนในอังกฤษคือนายโต บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ กลับมารับราชการในบั้นปลายได้เป็นเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ และนายสุดใจ บุตรเจ้าพระยาภาณุวง์มหาโกษาธิบดี(ท้วม) กลับมารับราชการได้เป็นพระยาราชานุประพันธ์ ส่วนคนที่สามคือนายบิน บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ไปเรียนที่ฝรั่งเศส กลับมาได้เป็นหลวงดำรงสุรินทฤทธิ์
ส่วนในสยาม มีผู้เรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีแล้วเข้ารับราชการอีก 6 คน บางคนไปเรียนต่อต่างประเทศ บางคนก็เข้ารับราชการโดยตรง ส่วนใหญ่จะเจริญรุ่งเรืองในราชการอย่างดี
เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งชั้นเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่โรงทหารมหาดเล็ก จัดครูฝรั่งมาถวายพระอักษรบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้านายที่ได้รับราชการเป็นเสนาบดีในรัชกาลที่ 5 อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าเรียนภาษาและวัฒนธรรมอังกฤษแทบทุกพระองค์ จึงทรงเป็นกำลังสำคัญอย่างมากในการพัฒนาบ้านเมือง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังโปรดเกล้าฯให้คัดเลือกลูกผู้ดีไทยรวมทั้งเชื้อพระวงศ์ประมาณ 20 คน ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์อีกชุดหนึ่ง สามคนในจำนวนนี้ได้ไปเรียนที่อังกฤษอีกด้วย คือ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระยาไชยสุรินทร์ (ม.ร.ว. เทวหนึ่ง ศิริวงศ์) เป็นต้น คนไทยจำนวนน้อยนิดในรัชกาลที่ 3 และ 4 ที่รู้ภาษาตะวันตกเหล่านี้ เป็นผู้วางรากฐานความสำคัญของภาษาและวิทยาการตะวันตกให้เพิ่มพูนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกลายเป็นความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ขุนนางข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่จะส่งบุตรหลานของตนไปศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรป 
การเรียนรู้วิทยาการในประเทศตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ในหมู่นักเรียนไทยนี้เองมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความคิดอ่านที่จะมีส่วนในการปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตยที่นักเรียนไทยเหล่านั้นไปเห็นมาในหลายประเทศในยุโรป จนกระทั่งนำไปสู่เสรีภาพทางหนังสือพิมพ์ การเรียกร้องสิทธิ์ในการมีส่วนปกครองประเทศ และจบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475  


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด