คณะโบราณคดี สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและออกแบบ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ
การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ในฐานะที่เป็นการศึกษา หลักฐานทางโบราณคดี
โดย รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
มุมมองของคนจบจากคณะโบราณคดีย่อมคิดว่า วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะคือส่วนหนึ่งของวิชาโบราณคดี หรือ วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็คือโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์นั่นเอง มุมมองนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง และคิดว่าถูกต้อง (แต่ผู้ที่เรียนจากแหล่งการศึกษาอื่นก็อาจจะมองต่างออกไปก็ได้) การเรียนของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างที่ทราบกันดีก็คือ เรียนทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก และประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก แต่ในที่นี้จะเขียนถึงเฉพาะการเรียนในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก โดยเฉพาะของไทยเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับวงการโบราณคดีของบ้านเรา เรียกได้ว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในสมัยประวัติศาสตร์ ก็คือการเรียนเกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม การเรียนในปัจจุบันมุ่งเน้นทางด้านรูปแบบ และประติมานวิทยา เพื่อให้ทราบที่มาที่ไป การกำหนดอายุ และให้ทราบคติความเชื่อที่แฝงเร้นอยู่ของโบราณวัตถุสถานเหล่านั้น การศึกษาแต่ละรายวิชาอาจารย์ผู้สอนมักจะฝึกให้นักศึกษาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ จนบางครั้งอาจถูกมองว่าละเลยที่จะพูดถึงสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องไป ความเป็นจริงแล้วประวัติศาสตร์ศิลปะไม่สามารถแยกออกจากศาสตร์ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีได้เลย การที่จะสรุปผลการศึกษาได้ ผู้ที่ศึกษาจะต้องเชื่อมโยงหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี หรือหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้องมาตอบคำถามต่างๆ จำเป็นจะต้องใช้เอกสารพงศาวดารมาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อให้รู้ปีที่สร้างโบราณสถานนั้นๆ แล้วจึงตรวจสอบว่าหลักฐานที่พบในปัจจุบันสอดคล้องกับเอกสารพงศาวดารหรือไม่ หากสอดคล้องก็สามารถใช้โบราณสถานนั้นๆแขวนไว้กับศักราชที่ระบุไว้ในเอกสารพงศาวดาร เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับโบราณสถานอื่นๆต่อไป เมื่อได้ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจะสามารถเห็นภาพของโบราณสถานในแต่ละช่วงเวลา ในทางกลับกันสามารถทราบได้ว่าโบราณสถานแห่งใดที่หลักฐานไม่ตรงกันกับที่ปรากฏในเอกสารพงศาวดาร ซึ่งเป็นการตรวจสอบหลักฐานทางด้านเอกสารไปด้วยในตัว ผลการศึกษาที่ได้จากการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะย่อมสามารถนำมาไขปัญหาของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ หากผู้ที่ทำการศึกษาศาสตร์นั้นๆนำผลการศึกษาที่ได้ไปปรับใช้กับศาสตร์ของตน ภาพรวมของประวัติศาสตร์ผืนแผ่นดินไทยน่าจะชัดเจนมากกว่านี้ ปัจจุบันผู้ที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างแท้จริงในประเทศไทยมีอยู่น้อยมาก จนดูเหมือนเป็นศาสตร์ที่อ่อนล้ากว่าศาสตร์ใดๆ หากสังเกตงานของท่านเหล่านั้นจะพบว่าได้นำข้อมูลต่างๆของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้เพื่อหาคำตอบ แต่ผลการศึกษามักจะตอบปัญหาเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่เชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์และผู้คนที่สร้างงาน จึงดูเหมือนว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นศาสตร์ที่ด้านและตาย ไม่เห็นภาพเคลื่อนไหวของคน จะมองเช่นนี้ก็อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากมองในมุมกลับจะพบว่าผลการศึกษาเหล่านี้ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาของตน เพื่อสร้างภาพรวมของคนต่อไปได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และศาสตร์อื่นๆ ย่อมมีความเกี่ยวข้องกัน หากต้องการผลการศึกษาที่ถูกต้องย่อมจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบกับศาสตร์อื่นๆ สมกับคำว่า "โบราณคดีคือสหวิทยาการ" |
แหล่งที่มา : vcharkarn.com