โรคเริมติดต่ออย่างไร โรคเริมที่ตา ยยากินแก้โรคเริม
การใช้ยาในโรคเริม
โรคเริม
โรคเริม (herpes simplex หรือ cold sore) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในเมืองไทย และมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อ เฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (herpes simplex virus, ชื่อย่อ HSV) ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการสัมผัสกับน้ำเหลืองของผู้ป่วยผ่านทางเยื่อบุหรือผิวหนังถลอกเป็นแผลเปิดของผู้รับเชื้อ เช่น การจูบ ร่วมเพศ หรือการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย หลอดดูดกาแฟ ช้อนส้อม แก้วน้ำ เป็นต้น
ชนิดของโรคเริม
ในทางการแพทย์สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริมนี้เป็น ๒ ชนิด คือ
๑. เฮอร์ปีส์ ชนิดที่ ๑ (herpes simplex virus type I ชื่อย่อ HSV-I) ซึ่งมักเป็นบ่อยบริเวณริมฝีปาก หรือในช่องปากเป็นส่วนใหญ่
๒. เฮอร์ปีส์ ชนิดที่ ๒ (herpes simplex virus type II ชื่อย่อ HSV-II) ซึ่งมักทำให้เกิดโรคเริมที่บริเวณอวัยวะเพศของทั้งเพศชายและเพศหญิง
เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างทั้ง ๒ ชนิด พบว่า โรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๑ จะมีอาการแสดงออกที่รุนแรงน้อยกว่าโรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๒ รวมถึงในเรื่องการกลับมาเป็นใหม่ของโรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๑ จะมีระยะเวลาในการกลับมามีอาการอีกได้นานกว่า หรือมีความถี่ในการเป็นน้อยกว่า โดยเฉลี่ยปีละ ๑-๒ ครั้ง หรือทุก ๖-๑๒ เดือน ในขณะที่โรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๒ มักมีการกลับมาเป็นได้บ่อยกว่า โดยเฉลี่ยปีละ ๓-๔ ครั้ง และในบางรายอาจกลับมามีอาการทุกเดือนก็เป็นได้
อาการของโรคเริม
หลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ ๑ สัปดาห์ จะเริ่มต้นแสดงอาการ คันๆ เจ็บๆ หรือปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง แล้วต่อมาจะเริ่มมีอาการอักเสบของผิวหนัง เกิดอาการบวม แดง ร้อน และเริ่มพองเป็นตุ่ม น้ำใส เรียงตัวเกาะกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ ๒-๑๐ เม็ด ลักษณะคล้ายไข่ปลาหรือพวงองุ่น ต่อมาตุ่มน้ำใสเหล่านี้ ก็จะพองโตและแตกออกกลายเป็นแผลเปิดชนิดแผลตื้นๆ หลายแผลติดๆ กัน คล้ายแผลร้อนในภายในช่องปาก และมักจะหายได้เอง ภายใน ๑-๓ สัปดาห์ ในกรณีที่มีอาการของโรคเริมครั้งแรก ในบางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ต่ำๆ คล้ายกับอาการของไข้หวัดร่วมด้วย
การกลับมาเป็นใหม่ของโรคเริม
เชื้อโรคชนิดนี้เมื่อออกมาแสดงอาการและแผลหายดีแล้ว เชื้อไวรัสจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท ซึ่งยาไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายได้ เป็นระยะพักหรือ หลบซ่อนตัวของเชื้อไวรัสโดยที่ไม่แสดงอาการออกมา รอเวลาจนกว่าสภาวะความแข็งแรงของร่างกายลดต่ำลง เช่น ตอนอ่อนเพลีย ภูมิต้านทานของร่างกาย ลดต่ำลง สตรีที่กำลังมีประจำเดือน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในภาวะที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อยเกินไป อารมณ์เครียด คิดมาก กำลังเจ็บป่วย อากาศร้อนและแสงแดดจัด เมื่อใดก็ตามที่สภาวะของร่างกายอ่อนแอ โรคนี้ก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่ ณ ตำแหน่งที่เดิมหรือใกล้เคียง ดังนั้น จึงควรป้องกันไม่ให้โรคเริมกลับมาอีก ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ระดับความรุนแรงของโรคเริม
ในการเป็นโรคเริมครั้งแรกมักจะมีอาการที่รุนแรงกว่าเมื่อกลับมาเป็นใหม่ และในผู้ที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก หรือเกิดจากเชื้อเฮอร์ปีส์ชนิดที่ ๑ มักมีระดับความรุนแรงของโรคน้อยกว่าผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ หรือโรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ชนิดที่ ๒
การรักษาโรคเริม
เนื่องจากโรคเริมเกิดจากเชื้อไวรัสและหายได้เอง จึงแนะนำให้รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เมื่อมีอาการปวด หรือมีไข้ และอาจจะประคบเย็นให้กับแผล เช่น การทำ wet dressing (การนำผ้าก๊อซมาชุบน้ำเกลือหมาดๆ วางลงด้านบนของแผล) เพื่อให้ความเย็น รู้สึกสบายแก่แผล และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และในกรณีที่แผลแตกเป็นแผลอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนอง อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย การใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งในปัจจุบันมี ๓ ชนิด คือ อะไซโคลเวียร์ (acyclovir), แฟมไซโคลเวียร์ (famciclovir), และวาลาไซโคลเวียร์ (valaciclovir) ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ในการใช้ยากลุ่มนี้ ควรใช้ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ไวรัสจะหยุดการเพิ่มจำนวน จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ในทางปฏิบัติเมื่อตุ่มน้ำใสแตกออกเป็นแผลแล้วจะไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เพราะเป็นระยะที่ไวรัสหยุดการเพิ่มจำนวนแล้ว ในรายที่เป็นครั้งแรก ควรใช้ยาเม็ด เช่น อะไซโคลเวียร์ ขนาด ๒๐๐ มก./เม็ด วันละ ๕ ครั้ง (ทุก ๔ ชั่วโมง) เป็นระยะเวลาติดต่อกัน ๕ วัน เหมือนดังคำถามข้างต้นที่ได้รับมาทั้งสิ้น ๒๐ เม็ด ในรายที่กลับมาเป็นใหม่ (recurrent attack) อาจรักษาตามอาการ หรือใช้ยาทาอะไซโคลเวียร์ ซึ่งควรใช้ทันทีที่เริ่มมีอาการ อาจช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และควรใช้ยาทาชนิดนี้ วันละ ๕ ครั้ง ทุก ๓-๔ ชั่วโมง ในรายที่มีการกลับมาเป็นโรคเริมได้บ่อยๆ เช่น เป็นโรคเริมทุกเดือน ในกรณีนี้อาจใช้ยาในขนาดป้องกัน การเกิดโรคเริม ด้วยการกินยาเม็ดอะไซโคลเวียร์ ขนาด ๒๐๐ มก./เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จะช่วยลดการกลับมาเป็นใหม่ได้ดี
ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโรคเริม
๑.งดการสัมผัส หรือมีเพศสัมพันธ์กับรอยแผลของโรคเริม จนกระทั่งแผลหายดีแล้ว พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบริเวณที่เป็นแผล เพราะอาจจะแพร่ไปสู่คนใกล้ชิด หรือบริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ ถ้าจำเป็นควรใช้เครื่องป้องกัน เช่น สวมถุงยางอนามัย เป็นต้น
๒. ควรเลือกใช้เครื่องแต่งกายที่ขนาดพอดีตัว ไม่คับเกินไป อาจเลือกชุดที่ทำด้วยฝ้าย
๓.สตรีที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจภายในเดือนละ ๑-๒ ครั้ง
๔.ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่
นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยได้บันทึกและมีการสืบทอดถึงสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งชื่อ พญายอ หรือ เสลดพังพอน ซึ่งมีการพัฒนาในรูปแบบยาครีมสำหรับรักษาโรคเริม ซึ่งให้ผลในการรักษาได้ใกล้เคียงกับการใช้ยาทาอะไซโคลเวียร์ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคเริม
แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันดีกว่ารักษาจึงควรพยายามรักษาสุขลักษณะที่ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมโดยตรง การล้างมือบ่อยๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อที่ได้ผลดี และในกรณีที่เป็นโรคนี้ก็ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้กลับมามีอาการอีก แต่ถ้ามีอาการขึ้นมาก็ควรรักษาสุขลักษณะที่ดี เพื่อให้แผลหายไวและลดการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น
สุดท้ายนี้คงได้คำตอบแล้วว่า ยาที่ได้ใช้รักษาโรคเริมโดยตรง แต่เมื่อหายดีแล้ว อาจกลับมาเป็นใหม่ได้ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ
แหล่งที่มา : doctor.or.th