อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มีอะไรบ้าง ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์


1,675 ผู้ชม


อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มีอะไรบ้าง ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์

 

องค์ประกอบระบบคอมพิวเตอร์

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นั้นจะประกอบไปด้วยเทคโนโลยีหลัก 2 ด้าน คือ
ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) แต่การมีเครื่องคอมพิว
เตอร์เพียงอย่างเดียว จะยังไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหากจะให้คอมพิวเตอร์ ทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ควรจะประกอบไป
ด้วยองค์ประกอบ 5 ด้าน ที่ต้องทำงานประสานกัน คือ

- ฮาร์ดแวร์ (Hardware)
- ซอฟต์แวร์ (Software)
- บุคลากร (Peopleware)
- ข้อมูล (Data)
- กระบวนการทำงาน (Procedure)


ฮาร์ดแวร์ (Hardware)

ฮาร์ดแวร์เป็นองค์ประกอบของตัวเครื่องที่สามารถจับต้องได้ ได้แก่ วงจรไฟฟ้า ตัวเครื่อง จอภาพ เครื่องพิมพ์ คีย์บอร์ด เป็นต้น ซึ่งสามารถแบ่งส่วนพื้นฐานของฮาร์ดแวร์เป็น 4 หน่วยสำคัญ (ดังรูป 1.2) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.หน่วยรับข้อมูลหรืออินพุต (Input Unit) ทำหน้าที่รับข้อมูลและโปรแกรมสู่เครื่อง มีโครงสร้างดังรูป 1.3 ได้แก่ คีย์บอรดหรือแป้นพิมพ์ เมาส์ เครื่องสแกน เครื่องรูดบัตร Digitizer เป็นต้น

2.หน่วยประมวลผลกลางหรือซีพียู (CPU : Central Processing Unit) ทำหน้าที่ในการทำงานตามคำสั่งที่ปรากฏอยู่ในโปรแกรม หน่วยนี้จะประกอบไปด้วยหน่วยย่อยหลัก 2 หน่วย คือ หน่วยคำนวณเลขคณิตและตรรกวิทยา (ALU : Arithmetic and Logical Unit), หน่วยควบคุม (Control Unit) และรีจิสเตอร์ (Register) ซึ่งปัจจุบันซีพียูของเครื่องพีซี รู้จักกันในนามไมโครโปรเซสเซอร์ (Micro Processor) หรือ Chip เช่น ของบริษัท Intel คือ Pentium หรือ Celelon ส่วนของบริษัท AMD คือ K6, K7 (Athlon) เป็นต้น
3.หน่วยเก็บข้อมูล (Storage) ซึ่งสามารถแยกตามหน้าที่ได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
- หน่วยเก็บข้อมูลหรือความจำหลัก (Primary Storage หรือ Main Memory) ทำหน้าที่เก็บโปรแกรมหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากหน่วยรับข้อมูล เพื่อเตรียมส่งให้หน่วยประมวลผลกลางทำการประมวลผล และรับผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผล เพื่อส่งออกหน่วยแสดงข้อมูลต่อไป ซึ่งอาจแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ RAM (Random Access Memory) ที่สามารถอ่านและเขียนข้อมูลได้ในขณะที่เครื่องเปิดอยู่ แต่เมื่อปิดเครื่องข้อมูลใน RAM จะหายไป และ ROM (Read Only Memory) จะอ่านได้อย่างเดียว เช่น PROM (Programmable ROM) โปรแกรมฝังไว้ใช้ตอนสตาร์ตเครื่อง
- หน่วยเก็บข้อมูลสำรอง (Secondary Storage) เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูล หรือโปรแกรมที่จะป้อนเข้าสู่หน่วยความจำหลักภายในเคื่องก่อนทำการประมวลผลโดยซีพียู รวมทั้งเป็นที่เก็บผลลัพธ์จากการประมวลผลด้วย ปัจจุบันรู้จักในนาม ฮาร์ดิสก์ (Hard disk) หรือแผ่นฟล็อปปีดิสก์ ซึ่งเมื่อเปิดเครื่องข้อมูลจะยังคงเก็บอยู่
4.หน่วยแสดงข้อมูลหรือเอาต์พุต (Output Unit) ทำหน้าที่ในการแสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผล ได้แก่ จอภาพ และเครื่องพิมพ์ เป็นต้น ทั้ง 4 ส่วนจะเชื่อมต่อกันด้วยบัส (bus)

ซอฟต์แวร์ (Software)
ซอฟต์แวร์ หมายถึง โปรแกรม หรือชุดของคำสั่งที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงาน ซอฟต์แวร์นี้จะเป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่มีซอฟต์แวร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานได้เลย สำหรับประเภทของซอฟต์แวร์สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1.ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) หมายถึง ชุดคำสั่งที่เขียนไว้เป็นคำสั่งสำเร็จรูป ซึ่งจะทำงานใกล้ชิดกับเครื่องคอมพิวเตอร์มากที่สุด เพื่อควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ทุกอย่าง และคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ ในการใช้งานซอฟต์แวร์ระบบนี้สามารถแบ่งเป็นส่วนย่อยได้ ดังนี้
-โปรแกรมระบบปฏิบัติการ (OS : Operating System) เป็นโปรแกรมควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะดูแลทั้งตัวเครื่อง การจัดการข้อมูล คือ มีหน้าที่ควบคุมการประมวลภายใน จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ในระบบ และติดต่ออุปกรณ์ภายนอก ซึ่งเปรียบเสมือนผู้จัดการระบบที่อยู่ระหว่างผู้ใช้กับเครื่อง ซึ่งเครื่องทุกเครื่องต้องมี ปัจจุบันระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องพีซี คือ ดอส (DOS : Disk Operating System) ระบบ Windows รุ่น 3.11, 95, 98 ME หรือในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเน็ตเวิร์ค เช่น Windows NT, Windows 2000, Windows XP และ UNIX เป็นต้น
-โปรแกรมแปลภาษาคอมพิวเตอร์ (Translator Program) เป็นโปรแกรมแปลคำสั่งที่เขียนในภาษาระดับสูงแบบโครงสร้าง (Structure หรือ Procedural Language) เช่น ภาษา Pascal, Cobol, C เป็นต้น หรือแบบเชิงวัตถุ (Visual หรือ Object Oriented Programming) เช่น Visual Basic, Visual C หรือ Delphi เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมจะแปลให้เป็นภาษาเครื่องซึ่งจัดได้ว่าเป็นภาษาระดับต่ำที่เครื่องคอมพิวเตอร์รู้จัก ลักษณะเช่นนี้เป็นตัวแปลภาษาที่แปลโปรแกรมทีละโปรแกรม ซึ่งเรียกว่า คอมไพเลอร์ (Compiler) แต่ลักษณะดั้งเดิมที่แปลโปรแกรมทีละบรรทัด เช่น ภาษา Basic จะเรียกว่า “อินเตอร์พริเตอร์” (Interpreter)
- ยูทิลิตี้หรือโปรแกรมอรรถประโยชน์ (Utility Program) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ในการติดต่อกับคอมพิวเตอร์โดยจะช่วยลดขั้นตอนในการเขียนโปรแกรมที่ยุ่งยาก เช่น การตรวจหาแฟ้มข้อมูลที่ลบไปแล้ว ตัวอย่างในเครื่องพีซี เช่น Software Tools และ Norton’s Utilities

2.ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Package) เป็นซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมประยุกต์ที่มีผู้จัดทำไว้ เพื่อใช้ในการทำงานประเภทต่าง ๆ โดยที่ผู้ใช้คนอื่น ๆ สามารถนำโปรแกรมไปใช้กับข้อมูลของตนเองได้ แต่จะไม่สามารถทำการดัดแปลงหรือแก้ไขโปรแกรมภายในได้ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเองทั้งหมด ซึ่งประหยัดเวลาและแรงงาน เพียงแต่มาเรียนรู้วิธีใช้เท่านั้น บางครั้งจะเรียกซอฟต์แวร์ประเภทนี้ว่า (COTS : Commercial Off The Shelf) ตัวอย่างในเครื่องพีซี เช่น ชุดโปรแกรม Microsoft Office ซึ่งซอฟต์แวร์สำเร็จรูปนี้ประกอบด้วยซอฟต์แวร์จัดพิมพ์รายงานหรือเวิร์ดโปรเซสซิ่ง (Word Processing) , ซอฟต์แวร์ตารางคำนวณหรือสเปรดชีต (Spreadsheet Software) ซอฟต์แวร์ระบบการจัดการฐานข้อมูล (Database Management : DBMS) ซอฟต์แวร์สำหรับการนำเสนอ (Presentation Software) เป็นต้น

3.ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) คือ ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรม ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อการทำงานเฉพาะอย่างที่เราต้องการ บางครั้งเรียกว่า User Program หรือ Customized Software เช่น การสั่งให้พัฒนาโปรแกรมสินค้าคงคลัง (Inventory Control) เฉพาะตามที่ต้องการ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่สามารถหาทั่วไปในลักษณะ Package สำเร็จรูปได้ เนื่องจากเป็นระบบเฉพาะหรือในกรณีที่ต้องการดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติม (Modification) ให้ได้เอง เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งส่วนมากจะมีราคาแพงกว่าการซื้อ Package เพราะต้องใช้ทีมงานในการพัฒนาขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ

บุคลากร (Peopleware)
บุคลากรจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดถึงประสิทธิภาพถึงความสำเร็จและความคุ้มค่าในการใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแบ่งบุคลากรตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามลักษะงานได้ 6 ด้าน ดังนี้
- ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบ (System Analysis and Design) โดยจะรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพงานและความต้องการของผู้ใช้ เพื่อนำมาทำการวิเคราะห์และออกแบบภาพใหม่ หรือปรับปรุงคุณภาพงานเดิม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นโดยปกติ System Analysis ควรเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกับองค์กร มีความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และพื้นฐานการเขียนโปรแกรม และควรจะเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เพราะจะต้องมีหน้าที่ติดต่อกับคนหลายระดับและมีประสบการณทำงานพอสมควร
- โปรแกรมเมอร์ (Programmer) ได้แก่ บุคคลที่ทำหน้าที่เขียนโปรแกรมประยุกต์ (Application Program) ตามรายละเอียดและข้อกำหนดที่ System Analyst ได้ออกแบบไว้ เพื่อให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานประยุกต์ได้ ดังนั้น โปรแกรมเมอร์จึงควรเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี
- ผู้บริหารฐานข้อมูล (Database Administrator : DBA) สำหรับระบบหรือองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีการจัดการฐานข้อมูลที่สลับซับซ้อนจะต้องมี DBA เป็นผู้บริหารในการจัดการควบคุมจริง แก้ไข เปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลและให้สิทธิในการใช้ฐานข้อมูลแก่ผู้ใช้ทั่วไป
- ผู้ปฏิบัติการ (Operator) สำหรับระบบขนาดใหญ่ เช่น เมนเฟรม จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ที่คอยปิดและเปิดเครื่อง และเฝ้าดูจอภาพเมื่อมีปัญหาซึ่งอาจเกิดขัดข้อง จะต้องแจ้ง System Programmer ซึ่งเป็นผู้ดูแลตรวจสอบแก้ไขโปรแกรมระบบควบคุมเครื่อง (System Software) อีกทีหนึ่ง นอกจากนั้นยังต้องทำการแบ็คอัพข้อมูล (Backup) ไว้ในเทปหรือสิ่งอื่น ซึ่งหากเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ผู้ใช้ (User) จะเป็นผู้ปฏิบัติการไปในตัว
- ผู้ใช้ (User) เป็นผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นผู้ปฏิบัติหรือกำหนดความต้องการในการใช้ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานอะไรได้บ้าง และต้องเรียนรู้การใช้งานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-ผู้บริหาร (Manager) เป็นผู้ที่มีความหมายต่อการสำเร็จหรือล้มเหลวของการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากเป็นการนำระบบเข้ามาใช้ใหม่เพื่อทดแทนระบบหรือการปฏิบัติงานเดิม ซึ่งหากผู้บริหารไม่กำหนดทิศทางหรือกำกับดูแลที่ดีแล้วอาจทำให้การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้งานไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่คุ้มค่าต่อการใช้งานได้

ข้อมูล (Data)
ข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในระบบคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องบันทึกลงไปในคอมพิวเตอร์พร้อมกับโปรแกรมที่นักคอมพิวเตอร์ได้เขียนไปเพื่อผลลัพธ์ที่ต้องการออกมา ดังนั้น ข้อมูลต้องมีความถูกต้อง ข้อมูลที่จะนำเข้ามาจะมีหน่วยที่เล็กที่สุดได้แก่ ตัวอักขระ (Character) ซึ่งจะประกอบไปด้วยตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่าง ๆ เมื่อนำตัวอักขระเหล่านี้มาประกอบกัน จะทำให้ได้หน่วยข้อมูลที่ใหญ่ขึ้น คือ ฟิลด์ (Field) และการนำฟิลด์หลาย ๆ ฟิลด์มาประกอบกันจะเป็นไฟล์ (File) และหากนำหลาย ๆ ไฟล์มารวมกัน ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละไฟล์ด้วยจะกลายเป็นฐานข้อมูล (Database)

กระบวนการทำงาน (Procedure)
องค์ประกอบด้านนี้ หมายถึง กระบวนการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ในการทำงานกับคอมพิวเตอร์ผู้ใช้จำเป็นต้องทราบขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ได้งานที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะมีขั้นตอนสลับซับซ้อนหลายขั้นตอน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีคู่มือปฏิบัติงาน เช่น คู่มือผู้ใช้ (user manual) หรือคู่มือผู้ดูแลระบบ (operation manual) เป็นต้น


แหล่งที่มา : 202.143.168.214

อัพเดทล่าสุด