บทเรียนสำเร็จรูปภาษาไทยเรื่องชนิดและหน้าที่ของคำ ชนิดและหน้าที่ของคำชั้น ม.1 แบบฝึกหัดเรื่องชนิดและหน้าที่ของคำในภาษษไทย


1,148 ผู้ชม


บทเรียนสำเร็จรูปภาษาไทยเรื่องชนิดและหน้าที่ของคำ ชนิดและหน้าที่ของคำชั้น ม.1 แบบฝึกหัดเรื่องชนิดและหน้าที่ของคำในภาษษไทย

 

 

 

ลักษณะของภาษาไทย

ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ จึงเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ อัจฉริยลักษณะของภาษาไทยมี ความโดดเด่นเทียบเท่ากับภาษาสากลได้ ภาษาไทยมีลักษณะที่นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาไว้ พอเป็นสังเขปที่บอกถึงลักษณะของภาษาไทยได้ ๗ ลักษณะ  ดังนี้ 

                                   ๑. ภาษาคำโดด

                                   ๒. การเรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม

                                   ๓. ภาษาวรรณยุกต์

                                   ๔. เสียงสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์เป็นหน่วยภาษา

                                   ๕. การวางคำขยายไว้ข้างหลังคำหลัก

                                   ๖. การลงเสียงหนักเบาของคำ

                                   ๗. การไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำ

๑. ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด นักภาษาศาสตร์จัดให้ภาษาไทยอยู่ในภาษาตระกูลคำโดด คือภาษาที่อุดมไปด้วยคำพยางค์เดียวเช่น คำที่เกี่ยวกับญาติพี่น้อง ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ต่อมาเกิดการยืมคำจากภาษาต่างประเทศจึงมีคำหลายพยางค์ใช้ เช่น มารดา บิดา เสวย ดำเนิน ออกซิเจน คอมพิวเตอร์ ในที่สุดก็สร้างคำขึ้น ใช้เองจากคำพยางค์เดียว และคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ เป็นการเพิ่มคำขึ้นใช้ในภาษาเป็นคำหลายพยางค์ ได้แก่ คำซ้ำ คำซ้อน คำประสม คำสมาส เช่น เด็ก ๆ เท็จจริง ไข่ดาว วิทยาศาสตร์

     ลักษณะพิเศษของคำไทยซึ่งไม่มีในภาษาอื่น มีดังนี้

     ๑.ภาษาไทยมีคำลักษณนามที่ใช้บอกลักษณะของคำนาม เพื่อให้ทราบสัดส่วนรูปพรรณสัณฐาน เช่น ใช้ วง เป็นลักษณนามของ 
        แหวน นามวลีที่มี ลักษณนามอยู่ด้วย จะมีการเรียงคำแบบ นามหลัก + คำบอกจำนวน + คำลักษณนาม   เช่น แมว ๓ ตัว

     ๒.ภาษาไทยมีคำซ้ำ คำซ้อนที่เป็นการสร้างคำเพิ่มเพื่อใช้ในภาษา เช่น ใกล้ ๆ หยูกยา

     ๓.ภาษาไทยมีคำบอกท่าทีของผู้พูด เช่น ซิ ละ นะ เถอะ

     ๔.ภาษาไทยมีคำบอกสถานภาพของผู้พูดกับผู้ฟัง เช่น คะ ครับ จ๊ะ ฮะ
 

๒.การเรียงคำแบบ  ประธาน กริยา กรรม ภาษาไทยเรียงคำแบบประธาน กริยา กรรม เมื่อนำคำมาเรียงกันเป็นประโยค
ประโยคทั่ว ๆ ไปในภาษาจะมีลักษณะสามัญ จะมีการเรียงลำดับ ดังนี้  นาม กริยา นาม นามที่อยู่หน้ากริยา เป็นผู้ทำกริยา มักอยู่ต้นประโยค ทำหน้าที่เป็นประธาน ส่วนคำนามที่บอกผู้รับกริยา มักอยู่หลังคำกริยานั้นทำหน้าที่เป็นกรรม ด้วยเหตุนี้ประโยคสามัญในภาษาไทยจึงมักเรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม   ด้วยเหตุนี้ประโยคสามัญในภาษาไทยจึงมักเรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม
นักภาษาศาสตร์จึงจัดให้ภาษาไทยอยู่ในประเภทภาษาที่เรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม
      อย่างไรก็ดีมีประโยคในภาษาอยู่ไม่น้อยที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนลำดับคำได้โดยไม่เปลี่ยนความหมาย


 ตัวอย่าง
                  ๑. ก. เขาเป็นญาติกับตุ้ม             ข. ตุ้มเป็นญาติกับเขา
                  ๒. ก. แม่เอาน้ำใส่กระติก             ข. แม่เอากระติกใส่น้ำ  
                  ๓. ก. ดินเปื้อนกระโปรง              ข. กระโปรงเปื้อนดิน
                  ๔. ก. แดงและดำไปโรงเรียน        ข. ดำและแดงไปโรงเรียน
                  ๕. ก. ติ่งเหมือนต้อย                  ข. ต้อยเหมือนติ่ง  
 ประโยค ก ในตัวอย่าง มีความหมายไม่ต่างกับ ประโยค ข ทั้ง ๆ ที่ลำดับคำต่างกัน


         นอกจากนี้บางประโยคอาจเปลี่ยนลำดับคำได้หลากหลายโดยที่ความหมายยังคงเป็นเช่นเดิม
 ตัวอย่าง 
                 ๑. เขาน่าจะได้พบกับคุณเจตนาที่บ้านคุณพ่ออย่างช้าพรุ่งนี้
                 ๒. คุณเจตนาน่าจะได้พบเขาที่บ้านคุณพ่ออย่างช้าพรุ่งนี้
                 ๓. พรุ่งนี้อย่างช้าคุณเจตนาน่าจะได้พบเขาที่บ้านคุณพ่อ
                 ๔. อย่างช้าพรุ่งนี้เขาน่าจะได้พบกับคุณเจตนาที่บ้านคุณพ่อ
                 ๕. ที่บ้านคุณพ่อพรุ่งนี้อย่างช้าเขาน่าจะได้พบกับคุณเจตนา
 จะเห็นได้ว่าทุกประโยคสื่อความหมายอย่างเดียวกันไม่ว่าจะเป็นประโยค ใดก็บอกให้ทราบว่าผู้พบกัน คือ เขากับคุณเจตนา  สถานที่พบ คือ บ้านคุณพ่อ และเวลาที่พบ คือ พรุ่งนี้อย่างช้า สิ่งที่ต่างกันออกไปบ้างในประโยคทั้ง ๕ ประโยค คือ การเน้นผู้รับสาร จะรู้สึกได้ว่าคำที่อยู่ต้นหรือท้ายประโยคเป็นคำที่ผู้ส่งสารให้ความสำคัญมากกว่าคำที่อยู่กลาง ๆ ประโยค

๓. ภาษาวรรณยุกต์ ภาษาไทยเป็นภาษาวรรณยุกต์ ภาษาวรรณยุกต์เป็นภาษาที่มีการไล่เสียงของคำ ในภาษาไทยมีการไล่เสียงวรรณยุกต์ หรือการผันวรรณยุกต์ ได้ ๕ เสียง ได้แก่ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา การที่ภาษาไทยผันไล่เสียงได้นี้ ทำให้มีคำใช้มากขึ้น การไล่เสียงสูง ต่ำ ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปด้วย เช่น มา  ม้า  หมา มีความหมายแตกต่างกัน  ถ้าออกเสียง คำว่า ม้า เป็น หมา  ความหมายก็จะเปลี่ยนไปด้วย
         นอกจากนี้ยังทำให้คำในภาษาไทยมีความไพเราะ เพราะระดับเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ของคำทำให้เกิดเป็นเสียงอย่างเสียงของดนตรี โดยที่เสียงวรรณยุกต์มีการแปรเปลี่ยนความถี่ของเสียง ได้แก่ เสียงวรรณยุกต์สามัญมีระดับเสียงกลาง ๆ และจะคงอยู่ระดับนั้นจนกระทั่งปลาย ๆ พยางค์  เสียงวรรณยุกต์เอกจะมีต้นเสียงกลาง ๆ แล้วจะลดต่ำลงมาอย่างรวดเร็วแล้วคงอยู่ในระดับนี้จนปลายพยางค์ เสียงวรรณยุกต์โทมีต้นเสียงระดับเสียงสูงแล้วลดระดับเสียงลงต่ำอย่างรวดเร็ว ที่ปลายพยางค์ หรืออาจจะเปลี่ยนสูงขึ้นจากระดับต้นพยางค์นิดหน่อย ก่อนจะลดระดับเสียงลงอย่างรวดเร็วก็ได้ เสียงวรรณยุกต์ตรีมีลักษณะเด่นที่มีระดับเสียงสูงโดยจะค่อย ๆ สูงขึ้นทีละน้อยจากต้นพยางค์จนสิ้นสุดพยางค์  และเสียงวรรณยุกต์จัตวามีต้นเสียงระดับเสียงต่ำแล้วลดลงเล็กน้อยก่อนจะ เปลี่ยนเสียงขึ้นอย่างรวดเร็วที่ปลายพยางค์

      วรรณยุกต์ของไทยมีคุณค่า ดังในบทประพันธ์ของอัจฉรา ชีวพันธ์ ที่กล่าวถึงคุณสมบัติของภาษาวรรณยุกต์ที่เป็นภาษาดนตรีมีความไพเราะ ทำให้เกิดคำใหม่มีความหมายใหม่ และการใช้เสียงวรรณยุกต์เน้น ช่วยเน้นย้ำความรู้สึกต่าง ๆ ของ
การสื่อสารให้ชัดเจนมีชีวิตชีวามากขึ้น  ดังนี้

                             วรรณยุกต์ของไทยมีคุณค่า        ช่วยนำพาเสียงดนตรีดีไฉน
                     วรรณยุกต์ใช้เปลี่ยนปรับได้ฉับไว         ความหมายคำก็เปลี่ยนไปได้มากมาย 
                     ตัวอย่างปาใส่ไม้เอกเสกเป็นป่า           แปลงเป็นป้าใช้ไม้โทก็เหลือหลาย
                     เสกสรรสร้างเสือ เสื่อ เสื้อได้ง่ายดาย    แสนสบายแสนเสนาะเหมาะเจาะดี
                     วรรณยุกต์สูงต่ำนำความรู้สึก               ล้วนล้ำลึกย้ำไปได้ศักดิ์ศรี
                     เช่น ต้าย-ตาย ว้าน-หวาน อีก ดี๊-ดี       ฮิ้ว-หิว ก็บ่งชี้ไปได้ชัดเจน
 

๔. เสียงสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์เป็นหน่วยภาษา ภาษาไทยมีเสียงสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์เป็นหน่วยภาษา หน่วยเสียงที่ใช้ในภาษาไทยแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ หน่วยเสียงสระ หน่วยเสียงพยัญชนะ และหน่วยเสียงวรรณยุกต์ หน่วยเสียง เป็นเสียงสำคัญที่ใช้ในภาษาใดภาษาหนึ่ง เป็นเสียงซึ่งทำให้คำมีความหมายต่างกันได้ 

             นักภาษาศาสตร์จึงให้เสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์เป็นหน่วยภาษา เนื่องจากแต่ละเสียงเป็นเสียงสำคัญทำให้คำมีความหมายต่างกัน ทั้งหน่วยเสียงสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ เป็นหน่วยเสียงที่มีความสำคัญทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปได้

         หน่วยเสียงสระในภาษาไทยมี ๒๑ หน่วยเสียง เป็นสระเดี่ยว ๑๘ เสียง  แบ่งเป็นสระสั้น ๙ เสียง สระยาว ๙ เสียง และสระประสม ๓ เสียงเท่านั้น ไม่แบ่งเป็นสระสั้น สระยาว เนื่องจากการออกเสียงสระประสมสั้น หรือยาวไม่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ไม่ทำให้ความหมายของคำแตกต่างกัน เหมือนกับเสียงสระเดี่ยวที่แบ่งเป็นสระสั้น สระยาว การออกเสียงสระประสมสั้น หรือยาวก็ไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามในการเขียนได้กำหนดเป็นมาตรฐานว่าต้องเขียนคำบางคำด้วยสระสั้น คำบางคำต้องเขียนด้วยสระยาว เช่น เจี๊ยะ เพี๊ยะ ผัวะ เขียนรูปสระสั้น แต่ต้องเขียนคำ เช่น เสือ เกือก เมีย เสีย เลีย ด้วยสระยาวเท่านั้น

        หน่วยเสียงพยัญชนะไทย มี ๒๑ เสียง แต่มีรูปถึง ๔๔ รูป เสียงพยัญชนะที่ปรากฏมีทั้งพยัญชนะเดี่ยว และพยัญชนะควบกล้ำ (ซึ่งเสียงที่สองจะเป็น ร ล ว เท่านั้น) แต่ส่วนใหญ่จะใช้พยัญชนะเดี่ยวขึ้นต้นคำมากกว่า ส่วนพยัญชนะตัวสะกดไม่มีพยัญชนะควบกล้ำเลย

        หน่วยเสียงวรรณยุกต์ มี ๕ เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา แต่มีเครื่องหมายแทนเสียงวรรณยุกต์เพียง ๔ รูปเท่านั้น  คือ   ไม้เอก  ไม้โท ไม้ตรี และไม้จัตวา เครื่องหมายวรรณยุกต์ไม่ได้ใช้แทนเสียงวรรณยุกต์นั้น ๆ ตรงตัวเสมอไป เพราะ ต้องเปลี่ยนแปรไปตามกลุ่มของพยัญชนะว่าเป็น อักษรกลาง อักษรสูง หรืออักษรต่ำรวมทั้งคำเป็น คำตาย สระสั้น-สระยาว และกฎการผันวรรณยุกต์
 

๕. การวางคำขยายไว้ข้างหลังคำหลัก คำขยายในภาษาไทยจะวางไว้ข้างหลังคำหลักหรือคำที่ถูกขยายเสมอ  การวางคำขยายจะเกิดในกรณีที่ผู้พูดหรือผู้เขียนมีความต้องการจะบอกกล่าวข้อความเพิ่มเติมในประโยค ก็หาคำมาขยายโดยการวางคำขยายไว้ข้างหลัง คำที่ต้องการขยายความหมายมักจะเป็นคำนาม คำกริยา ดังนั้น คำขยายจึงอยู่หลังคำที่ถูกขยายหรือคำหลัก จะเรียงลำดับ ดังนี้

  ๑. คำนาม (คำหลัก) + คำขยาย เช่น บ้านเพื่อน แขนขวา (บ้าน แขน เป็นคำหลัก ส่วนเพื่อน ขวา เป็นคำขยาย)

  ๒. คำกริยา (คำหลัก) + คำขยาย เช่น กินจุ เดินเร็ว (กิน เดิน เป็นคำหลัก ส่วนจุ เร็ว เป็นคำขยาย)
      คำขยาย หรือคำที่ทำหน้าที่ขยาย แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ๑) คำที่ทำหน้าที่ขยายนาม เป็นคำชนิดต่าง ๆ เช่น คำนาม 
      คำสรรพนาม คำลักษณนาม คำบอกจำนวน เป็นต้น และเมื่อขยายแล้วจะเกิดเป็นกลุ่มคำนามหรือนามวลี เช่น ละครเพลง ร่มใน 
      ตะกร้า เรือ ๕ ลำ ๒) คำที่ทำหน้าที่ขยายกริยา เป็นคำชนิดต่าง ๆ เช่น คำกริยา คำช่วยหน้ากริยา คำบอกจำนวน คำลักษณนาม 
      เป็นต้น และเมื่อขยายแล้วจะเป็นกลุ่มคำกริยา หรือกริยาวลี เช่น หอมฟุ้ง หมุนติ้ว ประมาณ ๕ กิโลกรัม
      ถ้าคำหลัก หรือคำที่ถูกขยายเป็นคำนามที่ทำหน้าที่ประธาน หรือกรรม และเป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่กริยาของประโยคที่ต้องการ  
      เนื้อความเพิ่มขึ้นก็จะหาคำมาขยายโดยวางเรียงต่อจากคำหลัก
 
   จึงมีรูปแบบการเรียงคำ ดังนี้ คำหลัก (คำนาม,คำกริยา) + คำขยาย  
 

๖. การลงเสียงหนัก-เบาของคำ  ภาษาไทยมีการลงเสียงหนัก-เบาของคำ การลงเสียงหนัก เบาของคำในภาษาไทย จะมีการลงเสียงหนัก-เบาของคำในระดับคำซึ่งมีมากกว่าสองพยางค์ และการลงเสียงหนัก-เบาของคำในระดับประโยค โดยพิจารณาในแง่ของไวยากรณ์ และเจตนาของการสื่อสาร เมื่อพิจารณาในแง่ของไวยากรณ์การออกเสียงคำภาษาไทยมิได้ออกเสียงเสมอกันทุก พยางค์ กล่าวคือ ถ้าคำพยางค์เดียวอยู่ในประโยค คำบางคำก็อาจไม่ออกเสียงหนัก และถ้าถ้อยคำมีหลายพยางค์ แต่ละพยางค์ก็อาจออกเสียงหนักเบาไม่เท่ากัน นอกจากนี้หน้าที่และความหมายของคำในประโยคก็ทำให้ออกเสียงคำหนักเบาไม่เท่า กัน

การลงเสียงหนัก เบาของคำ
   การลงเสียงหนัก-เบาของคำสองพยางค์ขึ้น  มีดังนี้

    ๑.ถ้าเป็นคำสองพยางค์ จะลงเสียงหนักที่พยางค์ที่สอง เช่น คนเราต้องมีมานะ  (นะ เสียงหนักกว่า มา)
    ๒.ถ้าเป็นคำสามพยางค์ ลงเสียงหนักที่พยางค์ที่สาม และพยางค์ที่หนึ่ง หรือ พยางค์ที่สองด้วยถ้าพยางค์ที่หนึ่งและพยางค์ที่สองมี 
        สระยาวหรือมีเสียงพยัญชนะท้าย เช่น ปัจจุบันเขาเลิกกิจการไปแล้ว (ลงเสียงหนักที่ ปัจ,บัน,กิจ,การ)   
    ๓. ถ้าเป็นคำสี่พยางค์ขึ้นไป ลงเสียงหนักที่พยางค์สุดท้าย ส่วนพยางค์อื่น ๆ ก็ลงเสียงหนัก-เบาตามลักษณะส่วนประกอบของ    
        พยางค์ที่มีสระยาวหรือมีเสียงพยัญชนะท้าย เช่น ทรัพยากร (ลงเสียงหนักที่ ทรัพ, ยา, กร)


การลงเสียงหนัก เบาของคำ

   การลงเสียงหนัก-เบาตามหน้าที่และความหมายของคำในประโยค
   ๑.คำที่ทำหน้าที่เป็น ประธาน กริยา กรรม หรือคำขยาย จะออกเสียงหนัก
           เช่น น้องพูดเก่งมาก  (ออกเสียงเน้นหนักทุกพยางค์)

   ๒.ถ้าเป็นคำเชื่อมจะไม่เน้นเสียงหนัก
           เช่น  น้องพูดเก่งกว่าพี่  (ออกเสียงเน้นหนักทุกพยางค์ แต่ไม่ออกเสียงเน้นคำ กว่า)

   ๓.คำที่ประกอบด้วยสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์อย่างเดียวกัน ออกเสียงหนัก-เบา ต่างกันแล้วแต่ความหมายและหน้าที่ของคำนั้น
          เช่น  คุณแม่กะจะไปเชียงใหม่กะคุณพ่อ  (กะ คำแรก ออกเสียงหนัก เพราะถือเป็นคำสำคัญในประโยค  ส่วน กะ คำที่สอง  
      ออกเ สียงเบากว่า กะ คำแรก
 เพราะเป็นคำเชื่อม

   เมื่อพิจารณาในแง่ของเจตนาของการสื่อสาร การออกเสียงคำภาษาไทยมิได้ออกเสียงเสมอกันทุกคำ กล่าวคือ จะขึ้นอยู่กับผู้พูดว่าจะต้องการเน้นคำใด หรือต้องการแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างใดจึงเน้นคำ ๆ นั้นหนักกว่าคำอื่น

การออกเสียงหนัก - เบาของคำในระดับประโยค 

     ๑.ผู้พูดอาจเลือกเน้นคำบางคำในประโยคได้ต่าง ๆ กันเพื่อให้ผู้ฟังสนใจเป็นพิเศษ หรือเพื่อส่งสารบางอย่างเป็นพิเศษ
           เช่น  น้อยชอบนันท์ไม่ใช่ชอบนุช  (ออกเสียงเน้นหนักที่ นันท์)

     ๒.ผู้พูดอาจเลือกเน้นคำใดคำหนึ่งตามความรู้สึก อารมณ์ หรือความเชื่อที่เกิดขึ้นในขณะส่งสาร
           เช่น  แน่ละ  เขาดีกว่าฉันนี่ (ออกเสียงเน้นหนักที่ ดี แสดงว่าผู้พูดมิได้คิดว่า เขาดี เพียงแต่ต้องการประชด)

 

๗.การไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำ คำในภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเมื่อนำไปใช้ในประโยค เพื่อแสดงความสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยค และไม่ต้องเปลี่ยนรูปคำ เพื่อแสดงเพศ พจน์ หรือกาล ในเมื่อคำไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อบอกเพศ พจน์ หรือกาล  และบอกความสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยค  เราสามารถทราบความหมายของคำและความสัมพันธ์กับคำอื่นได้จากบริบท
บริบท หมายถึง ถ้อยคำที่ปรากฏร่วมกับคำที่เรากำลังพิจารณา หรือสถานการณ์แวดล้อมในขณะที่กล่าว หรือเขียนคำ ๆ นั้น

     วิธีการพิจารณาความหมายของคำจากบริบท
   ๑.พิจารณาจากคำที่ปรากฏร่วมกัน  เช่น น้องสาวถามพี่ว่าเพื่อนพี่คนสูง ๆ สวมแว่นตาคลอดหรือยัง (พี่ย่อมเข้าใจได้ว่าเพื่อนพี่ที่น้องถามถึงเป็นเพื่อนผู้หญิง เพราะคำกริยา คลอดใช้แก่ประธานที่เป็นเพศหญิงเท่านั้น)
   ๒.พิจารณาจากหน้าที่ของคำ เช่น  เด็กดีเรียนดี  (ดี คำแรกขยายคำนาม เด็ก ดี คำที่สอง ขยายกริยา เรียน เพราะคำขยายจะอยู่ข้างหลังคำหลัก หรือคำที่ถูกขยาย)

   ๓.พิจารณาความหมายของคำจากคำที่ปรากฏร่วมกัน เช่น ขัด มีความหมายว่า ติด  ขวางไว้ไม่ให้หลุดออก  เหน็บ  ไม่ทำตาม  ฝ่าฝืน  ขืนไว้  ถูให้เกลี้ยง  ถูให้องใส  ไม่ใคร่จะมี  ฝืดเคือง  ไม่คล่อง  ไม่ปกติ เมื่อ ขัด ปรากฏในประโยค เราก็จะทราบความหมายได้ว่า ขัด ในประโยค นั้น ๆ หมายความว่าอย่างไรโดยพิจารณาความหมายของคำจากคำที่ปรากฏร่วมกัน
    ดังนี้  เขาชอบขัดคำสั่งเจ้านาย  (ขัด หมายถึง ฝ่าฝืน) 
           เธอช่วยเอารองเท้าคู่ดำไปขัดให้หน่อย  (ขัด หมายถึง ถูให้เกลี้ยง ถูให้ผ่องใส)
           วันนี้ไม่รู้เป็นอย่างไรจะทำอะไรก็ขัดไปหมด  (ขัด หมายถึง ไม่คล่อง) 
   ที่เราทราบความหมายของคำว่า ขัด ได้ก็เพราะคำอื่น ๆ ที่ปรากฏร่วมกับคำว่า ขัด ในประโยค หรืออีกนัยหนึ่ง บริบทของคำว่า ขัด นั่นเอง

   ๔.พิจารณาจากเจตนาของผู้พูด เช่น สามีกล่าวให้ภรรยาฟังว่าเลขานุการของเขามีความสามารถในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง
                                              ภรรยาก็กล่าวว่า  แหม เก่งจริงนะ 
      สามีต้องอาศัยบริบท คือ สังเกตสีหน้าท่าทางของภรรยาว่า คำว่า เก่ง ของภรรยาหมายความว่าอย่างไร ภรรยาชมเลขานุการด้วยความจริงใจ หรือพูดประชดประชัน
                                             เด็กคนหนึ่งพูดว่า คุณแม่ ผู้ฟังรู้ว่า คุณแม่ หมายความว่าอย่างไร แต่จะไม่เข้าใจเลยว่า ผู้พูดพูดคำนั้นเพื่ออะไรนอกจากจะพิจารณาจากบริบท ผู้พูดอาจพูดว่า คุณแม่ เพื่อเตือนให้น้อง ๆ รู้ว่ามารดากำลังเดินมา หรือเพื่อเรียกมารดาของตน หรือเพื่อตอบคำถามของครูว่า ใครมาส่งที่โรงเรียน หรืออื่น ๆ ได้อีกมาก
                                             หัวหน้าสั่งลูกน้องว่า ช่วยหยิบแฟ้มมาให้ผมหน่อยครับ  เมื่อลูกน้องถือแฟ้มเข้ามา หัวหน้าเห็นเข้า ก็ร้องบอกว่า เอาอีกแฟ้มหนึ่งครับ เมื่อลูกน้องกลับออกไปถือแฟ้มเข้ามา ๒ แฟ้ม  หัวหน้าเห็นแต่ไกล ดุว่า ผมให้เอาอีกแฟ้มหนึ่ง
 จะเห็นว่า คำสั่งของหัวหน้ามีความกำกวม อาจหมายความอย่างที่หัวหน้าต้องการ หรืออย่างที่ลูกน้องเข้าใจก็ได้ แต่ถ้าหัวหน้ากล่าวให้มีบริบทว่า เอาอีกแฟ้มหนึ่ง ไม่ใช่แฟ้มนี้ คำพูดก็จะไม่กำกวม

แหล่งที่มา : thaigoodview.com

อัพเดทล่าสุด