เนื้อหาชนิดและหน้าที่ของคำในภาษาไทย แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ ชั้น ป.6 ชนิดและหน้าที่ของคำในภาษษไทย


1,749 ผู้ชม


เนื้อหาชนิดและหน้าที่ของคำในภาษาไทย แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ ชั้น ป.6 ชนิดและหน้าที่ของคำในภาษษไทย

 

คำในภาษาไทย

คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ อาคาร สภาพ และลักษณะทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม
และนามธรรม คำนามแบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ
1.สามานยนาม คือ คำนามสามัญที่ใช้เป็นชื่อทั่วไป หรือเป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไป ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น คน , รถ , หนังสือ, กล้วย เป็นต้น สามานยนามบางคำมีคำย่อยเพื่อบอกชนิดย่อยๆของสิ่งต่างๆ เรียกว่า สามานยนามย่อย เช่น คนไทย , รถจักรายาน , หนังสือแบบเรียน , กล้วยหอม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ดอกไม้อยู่ในแจกัน แมวชอบกินปลา
2.วิสามานยนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สถานที่ หรือเป็นคำเรียกบุคคล สถานที่เพื่อเจาะจงว่าเป็นคนไหน สิ่งใด เช่น ธรรมศาสตร์ , วัดมหาธาตุ , รามเกียรติ์ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น นิดและน้อยเป็นพี่น้องกัน อิเหนาได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละคร
3.ลักษณนาม คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประกอบนามอื่น เพื่อบอกรูปร่าง ลักษณะ ขนาดหรือปริมาณของนามนั้นให้ชัดเจนขึ้น เช่น รูป , องค์ , กระบอก เป็นต้น ตัวอย่างเช่น คน 6 คน นั่งรถ 2 คน ผ้า 20 ผืน เรียกว่า 1 กุลี
4.สมุหนาม คือ คำนามบอกหมวดหมู่ของสามานยนาม และวิสามานยนามที่รวมกันมากๆ เช่น ฝูงผึ้ง , โขลงช้าง , กองทหาร เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
กองยุวกาชาดมาตั้งค่ายอยู่ที่นี่ พวกเราไปต้อนรับคณะรัฐมนตรี
5.อาการนาม คือ คำเรียกสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีขนาด จะมีคำว่า "การ" และ "ความ" นำหน้า เช่น การกิน , กรานอน , การเรียน , ความสวย , ความคิด , ความดี เป็นต้น ตัวอย่างเช่น การวิ่งเพื่อสุขภาพไม่ต้องใช้ความเร็ว การเรียนช่วยให้มีความรู้
ข้อสังเกต คำว่า "การ" และ "ความ" ถ้านำหน้าคำชนิดอื่นที่ไม่ใช่คำกริยา หรือวิเศษณ์จะไม่นับว่าเป็นอาการนาม เช่น การรถไฟ , การประปา , ความแพ่ง เป็นต้น คำเหล่านี้จัดเป็นสามานยนาม

หน้าที่ของคำนาม

1.ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น
น้องร้องเพลง
ครูชมนักเรียน
นกบิน
2.ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น
แมวกินปลา
ตำรวจจับผู้ร้าย
น้องทำการบ้าน
3.ทำหน้าที่เป็นส่วยขยายคำอื่น เช่น
สัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า
ตุ๊กตาหยกตัวนี้สวยมาก
นายสมควรยามรักษาการเป็นคนเคร่งครัดต่อหน้าที่มาก
4.ทำหน้าที่ขยายคำกริยา เช่น
แม่ไปตลาด
น้องอยู่บ้าน
เธออ่านหนังสือเวลาเช้า
5.ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มของคำกริยาบางคำ เช่น
เขาเหมือนพ่อ
เธอคล้ายพี่
วนิดาเป็นครู
เธอคือนางสาวไทย
มานะสูงเท่ากับคุณพ่อ
6.ทำหน้าที่ตามหลังบุพบท เช่น
เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว
พ่อนอนบนเตียง
ปู่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล
7.ทำหน้าที่เป็นคำเรียกขาน เช่น
คุณครูคะหนูยังไม่เข้าใจเลขข้อนี้ค่ะ
คุณหมอลูกดิฉันจะหายป่วยไหม
นายช่างครับผมขอลากิจ 3 วัน

คำสรรพนาม

คือ คำที่ใช้แทนนามในประโยคสื่อสาร เราใช้คำสรรพนามเพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำๆ
1) ชนิดของคำสรรพนาม แบ่งเป็น 7 ประเภท ดังนี้
1.1) สรรพนามที่ใช้ในการพูด (บุรุษสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้ในการพูดจา สื่อสารกัน ระหว่างผู้ส่งสาร (ผู้พูด) ผู้รับสาร (ผู้ฟัง) และผู้ที่เรากล่าวถึง มี 3 ชนิด ดังนี้
(1) สรรพนามบุรุษที่ 1 ใช้แทนผู้ส่งสาร (ผู้พูด) เช่น ฉัน ดิฉัน ผม ข้าพเจ้า เรา หนู เป็นต้น
(2) สรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้แทนผู้รับสาร (ผู้ที่พูดด้วย) เช่น ท่าน คุณ เธอ แก ใต้เท้า เป็นต้น
(3) สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เช่น ท่าน เขา มัน เธอ แก เป็นต้น
1.2) สรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค (ประพันธสรรพนาม)สรรพนามนี้ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าและต้องการ
จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้เชื่อมประโยคสองประโยคเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
บ้านที่ทาสีขาวเป็นบ้านของเธอ(ที่แทนบ้าน เชื่อมประโยคที่ 1บ้านทาสีขาว กับ ประโยคที่ 2 บ้านของเธอ)
1.3) สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ (วิภาคสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนนามที่อยู่ข้างหน้า เมื่อต้องการเอ่ยซ้ำ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยนามนั้นซ้ำอีก และเพื่อแสดงความหมายแยกออกเป็นส่วนๆ ได้แก่คำว่า บ้าง ต่าง กัน ตัวอย่างเช่น
นักศึกษาต่างแสดงความคิดเห็น
สตรีกลุ่มนั้นทักทายกัน
นักกีฬาตัวน้อยบ้างก็วิ่งบ้างก็กระโดดด้วยความสนุกสนาน
1.4) สรรพนามชี้เฉพาะ (นิยมสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงที่อยู่ เพื่อระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น โน้น ตัวอย่างเช่น
นี่เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนี้
นั่นรถจักรายานยนต์ของเธอ
1.5) สรรพนามบอกความไม่เจาะจง (อนิยมสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามที่กล่าวถึงโดยไม่ต้องการคำตอบ
ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ที่ไหน ผู้ใด สิ่งใด ใครๆ อะไรๆๆ ใดๆ ตัวอย่างเช่น
ใครๆก็พูดเช่นนั้น
ใครก็ได้ช่วยชงกาแฟให้หน่อย
ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง
ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้
1.6) สรรพนามที่เป็นคำถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามเป็นการถามที่ต้องการคำตอบ ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ไหน ผู้ใด ตัวอย่างเช่น
ใครหยิบหนังสือบนโต๊ะไป
อะไรวางอยู่บนเก้าอี้
ไหนปากกาของฉัน
ผู้ใดเป็นคนรับโทรศัพท์
1.7) สรรพนามที่เน้นตามความรู้สึกของผู้พูด สรรพนามชนิดนี้ใช้หลักคำนามเพื่อบอกความรู้สึกของผู้พูดที่มีต่อบุคคลที่กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น
คุณพ่อท่านเป็นคนอารมณ์ดี (บอกความรู้สึกยกย่อง)
คุณจิตติมาเธอเป็นคนอย่างงี้แหละ (บอกความรู้สึกธรรมดา)

2) หน้าที่ของคำสรรพนาม


2.1) ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น ใครมา แกมาจากไหน นั่นของฉันนะ เป็นต้น
2.2) ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น เธอดูนี่สิ สวยไหม เป็นต้น
2.3) ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็ม เช่น เสื้อของฉันคือนี่ สีฟ้าใสเห็นไหม เป็นต้น
2.4) ทำหน้าที่ตามหลังบุพบท เช่น เธอเรียนที่ไหน เป็นต้น


คำกริยา

คือ คำที่แสดงอาการ สภาพ หรือการกระทำของคำนาม และคำสรรพนามในประโยค คำกริยาบางคำอาจมี
ความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง บางคำต้องมีคำอื่นมาประกอบ และบางคำต้องไปประกอบคำอื่นเพื่อขยายความ
1) ชนิดของคำกริยา คำกริยาแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้
1.1) กริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับ (อกรรมกริยา) เป็นกริยาที่มีความหมายสมบูรณ์ ชัดเจนในตัวเอง เช่น
ครูยืน
น้องนั่งบนเก้าอี้
ฝนตกหนัก
เด็กๆหัวเราะ
คุณลุงกำลังนอน
1.2) กริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ (สกรรมกริยา) เป็นกริยาที่ต้องมีกรรมมารับจึงจะได้ใจความสมบูรณ์ เช่น   แม่ค้าขายผลไม้
น้องตัดกระดาษ
ฉันเห็นงูเห่า
พ่อซื้อของเล่นมาให้น้อง
1.3) กริยาที่ต้องมีคำมารับ คำที่มารับไม่ใช่กรรมแต่เป็นส่วนเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา) คือ คำกริยานั้นต้องมี
คำนามหรือสรรพนามมาช่วยขยายความหมายให้สมบูรณ์ เช่นคำว่า เป็น เหมือน คล้าย เท่าคือ เสมือน ดุจ เช่น   พี่ชายของฉันเป็นตำรวจ
เธอคือนักแสดงที่ยิ่งใหญ่
ลูกดุจแก้วตาของพ่อแม่
แมวคล้ายเสือ
1.4) กริยาช่วย (กริยานุเคราะห์) เป็นคำที่เติมหน้าคำกริยาหลักในประโยคเพื่อช่วยขยายความหมายของคำกริยาสำคัญ
ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นคำว่า กำลัง จะ ได้ แล้ว ต้อง อย่า จง โปรด ช่วย ควร คงจะ อาจจะ เป็นต้น เช่น
เขาไปแล้ว
โปรดฟังทางนี้
เธออาจจะถูกตำหนิ
ลูกควรเตรียมตัวให้พร้อม
เขาคงจะมา
จงแก้ไขงานให้เรียบร้อย
ข้อสังเกต กริยาคำว่า ถูก ตามปกติจะใช้กับกริยาที่มีความหมายไปในทางไม่ดี เช่น ถูกตี ถูกดุ ถูกตำหนิ ถ้าความหมายในทางดีอาจใช้คำว่า ได้รับ เช่น ได้รับคำชมเชย ได้รับเชิญ เป็นต้น
1.5) กริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม (กริยาสภาวมาลา) เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายกับคำนาม อาจเป็นประธาน เป็นกรรม หรือบทขยายของประโยคก็ได้ เช่น
เขาชอบออกกำลังกาย (ออกกำลังกายเป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม เป็นกรรมของประโยค)
กินมากทำให้อ้วน (กินมากเป็นกริยาที่ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)
นอนเป็นการพักผ่อนที่ดี (นอนเป็นกริยาทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)
2) หน้าที่ของคำกริยา มีดังนี้
2.1) ทำหน้าที่เป็นกริยาสำคัญของประโยค เช่น คนกินข้าว นกบินมาเป็นฝูง เป็นต้น
2.2) ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น กินมากทำให้อ้วน เป็นต้น
2.3) ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น ฉันชอบเต้นแอร์โรบิกตอนเช้า เป็นต้น
2.4) ทำหน้าที่ช่วยขยายกริยาสำคัญให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น พี่คงจะกลับบ้านเย็นนี้ เป็นต้น
2.5) ทำหน้าที่ช่วยขยายคำนามให้เข้าใจเด่นชัดขึ้น เช่น ฉันชอบกินก๋วยเตี๋ยวผัด น้องชายชอบบะหมี่แห้ง เป็นต้น

คำวิเศษณ์

คือ คำที่ใช้ขยายคำอื่น ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ ให้มีความหมายชัดเจนขึ้น
คำวิเศษณ์ แบ่งออกเป็น 9 ชนิด คือ
1. สักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะ ชนิด ขนาด สี เสียง กลิ่น รส อาการ เป็นต้น เช่น
ดอกจำปีมีกลิ่นหอม
เจี๊ยบมีรถยนต์คันใหม่
น้อยหน่ามีดอกไม้สีแดง
แมวตัวนี้มีขนนุ่ม
ในสังคมมีทั้งคนดีและคนชั่ว แจ๊คชอบทานอาหารเผ็ด
2. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต เช้า สาย บ่าย ค่ำ เป็นต้น เช่น
เงาะจะดูละครบ่ายนี้
ครั้นเวลาค่ำลมก็พัดแรง
คนโบราณชอบดูหนังตะลุง
วันสอบนักเรียนมักจะมาเช้า
3. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่หรือระยะทาง ได้แก่คำว่า ใกล้ ไกล เหนือ ใต้ ขวา ซ้าย หน้า บน หลัง เป็นต้น เช่น
โรงเรียนอยู่ไกล
เขาอาศัยอยู่ชั้นล่าง
บอยเดินไปทางทิศเหนือ
ไก่เป็นสัตว์บก
4. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกจำนวนหรือปริมาณ ได้แก่คำว่า มาก น้อย หมด หนึ่ง สอง หลาย ทั้งหมด จุ เป็นต้น เช่น
สุนัขที่เลี้ยงไว้กินจุทั้งสิ้น
มาโนชมีเรือหลายลำ
เขาไม่มีโรงเรียนหลายวัน
คุณดื่มเบียร์มากไปไม่ดีนะ
5. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะแน่นอน ได้แก่คำว่า นี่ โน่น นั่น นี้ นั้น โน้น แน่ เอง ทั้งนี้ ทั้งนั้น อย่างนี้ เป็นต้น เช่น
กระเป๋านี้ฉันทำเอง
พริกเองเป็นคนเล่าให้เพื่อนฟัง
แก้วนี้ต้องทำความสะอาดอย่างนี้
ตึกนี้มีคนขายแล้ว
6. อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ ไม่แน่นอน ได้แก่คำว่า อันใด อื่น ใด ไย ไหน อะไร เช่นไร เป็นต้น เช่น
คนไหนอาบน้ำก่อนก็ได้
ซื้อขนมอะไรมาโฟกัสกินได้ทั้งสิน
ตี่จะหัวเราะทำไมก็ช่างเขาเถอะ
คนอื่นๆกลับบ้านไปหมดแล้ว
7. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเนื้อความเป็นคำถามหรือความสงสัย ได้แก่คำว่า ใด อะไร ไหน ทำไม เป็นต้น เช่น
ผลไม้อะไรที่แน็คซื้อมาให้ฉัน
สุนัขใครน่ารักจัง
นักร้องคนไหนไม่ชอบร้องเพลง
การเล่นฟุตบอลมีกติกาอย่างไร
8. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงถึงการขานรับในการเจรจาโต้ตอบกัน ได้แก่คำว่า จ๋า ค่ะ ครับ ขอรับ ขา วะ จ๊ะ เป็นต้น เช่น
หนูจ๊ะรถทัวร์จะออกเดี๋ยวนี้แล้ว
คุณตัดเสื้อเองหรือค่ะ
คุณแม่ขาหนูทำจานแตกค่ะ
ผมจะไปพบท่านขอรับ
9. ประติวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความปฏิเสธไม่ยอมรับ ได้แก่คำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ บ่ เป็นต้น เช่น
เขาตามหาหล่อนแต่ไม่พบ
พี่ไม่ได้แกล้งน้องนะ
ความรู้มิใช่ของหาง่ายนะเธอ
เธอไม่ปลูกต้นไม้เลย

หน้าที่ของคำวิเศษณ์

มักจะทำหน้าที่เป็นส่วยขยายในประโยค
1. ขยายนาม เช่น เด็กดีมีวาจาไพเราะ ห้องเก่าทาสีใหม่ เป็นต้น
2. ขยายคำสรรพนาน เช่น ท่านทั้งหลายกรุณาพร้อมใจไปเลือกตั้ง เป็นต้น
3. ขยายคำกริยา เช่น อ๊อฟกินอาหารมากเกินไป โอเล่พูดเพราะมาก เป็นต้น
4. ขยายคำวิเศษณ์ เช่น เขาทำงานหนักมาก ฉันทำเองจริงๆ เป็นต้น
5. เป็นคำอกรรมกริยา หรือกริยาที่ไม่ต้องการกรรมได้ด้วย เช่น น้อยหน่าสวยแต่โฟกัสฉลาด เด็กคนนั้นผอมจัง เป็นต้น

คำบุพบท

คือ คำที่เชื่อมคำหรือกลุ่มคำให้สัมพันธ์กันและเมื่อเชื่อมแล้วทำให้ทราบว่า คำ หรือกลุ่มคำที่เชื่อมกันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ได้แก่ ใน แก่ จน ของ ด้วย โดย ฯลฯ
หน้าที่ในการแสดงความสัมพันธ์ของคำบุพบท
1. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานที่ เช่น คนในเมือง
2. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา เช่น เขาเปิดไฟจนสว่าง
3. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของ เช่น แหวนวงนี้เป็นของฉัน
4. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเจตนาหรือสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น เขาทำเพื่อลูก
5. แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับอาการ เช่น เราเดินไปตามถนน
หลักการใช้คำบุพบทบางคำ
" กับ" ใช้แสดงอาการกระชับ อาการร่วม อาการกำกับกัน อาการเทียบกัน และแสดงระดับ เช่น ฉันเห็นกับตา
"แก่" ใช้นำหน้าคำที่เป็นฝ่ายรับอาการ เช่น ครูให้รางวัลแก่นักเรียน
"แด่" ใช้แทนตำว่า "แก่" ในที่เคารพ เช่น นักเรียนมอบพวงมาลัยแด่อาจารย์
"แต่" ใช้ในความหมายว่า จาก ตั้งแต่ เฉพาะ เช่น เขามาแต่บ้าน
"ต่อ" ใช้นำหน้าแสดงความเกี่ยวข้องกัน ติดต่อกัน เฉพาะหน้าถัดไป เทียบจำนวน เป็นต้น เช่น เขายื่นคำร้องต่อศาล

ชนิดของคำบุพบท

คำบุพบทแบ่งเป็น 2 ชนิด
1.คำบุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำต่อคำ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคำนามกับคำนาม คำนามกับคำสรรพนาม คำนามกับคำกริยา คำสรรพนามกับคำสรรพนาม คำสรรพนามกับคำกริยาคำกริยากับคำนาม คำกริยากับคำสรรพนาม คำกริยากับคำกริยา เพื่อบอกสถานการณ์ให้ชัดเจนดังต่อไปนี้
- บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของ
ฉันซื้อสวนของนายฉลอง ( นามกับนาม )
บ้านของเขาใหญ่โตแท้ๆ ( นามกับสรรพนาม )
อะไรของเธออยู่ในถุงนี้ ( สรรพนามกับสรรพนาม )
-บอกความเกี่ยวข้อง
เธอต้องการมะม่วงในจาน ( นามกับนาม )
พ่อเห็นแก่แม่ ( กริยากับนาม )
ฉันไปกับเขา ( กริยากับสรรพนาม )
- บอกการให้และบอกความประสงค์
แกงหม้อนี้เป็นของสำหรับใส่บาตร ( นามกับกริยา )
พ่อให้รางวัลแก่ฉัน ( นามกับสรรพนาม )
- บอกเวลา
เขามาตั้งแต่เช้า ( กริยากับนาม )
เขาอยู่เมืองนอกเมื่อปีที่แล้ว ( นามกับนาม )
- บอกสถานที่
เธอมาจากหัวเมือง ( กริยากับนาม )
- บอกความเปรียบเทียบ
เขาหนักกว่าฉัน ( กริยากับนาม )
เขาสูงกว่าพ่อ ( กริยากับนาม )
2. คำบุพบทที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคำอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค ใช้เป็นการทักทาย มักใช้ในคำประพันธ์ เช่น
ดูกร ดูก้อน ดูราช้าแต่ คำเหล่านี้ใช้นำหน้าคำนามหรือสรรพนาม
ดูกร ท่านพราหมณ์ ท่าจงสาธยายมนต์บูชาพระผู้เป็นเจ้าด้วย
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย การเจริญวิปัสสนาเป็นการปฏิบัติธรรมของท่าน
ดูรา สหายเอ๋ย ท่านจงทำตามคำที่เราบอกท่านเถิด
ช้าแต่ ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายินดีมากที่ท่านมาร่วมงานในวันนี้

ข้อสังเกตการใช้คำบุพบท

1. คำบุพบทต้องนำหน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยาสภาวมาลา เช่น
เขามุ่งหน้าสู่เรือน
ป้ากินข้าวด้วยมือ
ทุกคนควรซื่อสัตย์ต่อหน้าที่
2. คำบุพบทสามารถละได้ และความหมายยังคงเดิม เช่น
เขาเป็นลูกฉัน ( เขาเป็นลูกของฉัน )
แม่ให้เงินลูก ( แม่ให้เงินแก่ลูก )
ครูคนนี้เชี่ยวชาญภาษาไทยมาก ( ครูคนนี้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยมาก )
3. ถ้าไม่มีคำนาม หรือคำสรรพนามตามหลัง คำนั้นจะเป็นคำวิเศษณ์ เช่น
เธออยู่ใน พ่อยืนอยู่ริม
เขานั่งหน้า ใครมาก่อน
ฉันอยู่ใกล้แค่นี้เอง
ตำแหน่งของคำบุพบท
ตำแหน่งของคำบุพบท เป็นคำที่ใช้นำหน้าคำอื่นหรือประโยค เพื่อให้รู้ว่าคำ หรือประโยคที่อยู่หลังคำบุพบท มีความสัมพันธ์กับคำหรือประโยคข้างหน้า ดังนั้นคำบุพบทจะอยู่หน้าคำต่างๆ ดังนี้
1. นำหน้าคำนาม
เขาเขียนจดหมายด้วยปากกา
เขาอยู่ที่บ้านของฉัน
2. นำหน้าคำสรรพนาม
เขาอยู่กับฉันตลอดเวลา
เขาพูดกับท่านเมื่อคืนนี้แล้ว
3. นำหน้าคำกริยา
เขาเห็นแก่กิน
โต๊ะตัวนี้จัดสำหรับอภิปรายคืนนี้
4. นำหน้าคำวิเศษณ์
เขาวิ่งมาโดยเร็ว
เธอกล่าวโดยซื่อ


คำสันธาน

คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ เชื่อมประโยคกับประโยค เชื่อมข้อความกับข้อความ หรือข้อความให้สละสลวย
คำสันธานมี 4 ชนิด คือ
1.เชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า กับ และ , ทั้ง…และ , ทั้ง…ก็ , ครั้น…ก็ , ครั้น…จึง , พอ…ก็ ตัวอย่างเช่น
พออ่านหนังสือเสร็จก็เข้านอน
พ่อและแม่ทำงานเพื่อลูก
ฉันชอบทั้งทะเลและน้ำตก
ครั้นได้เวลาเธอจึงไปขึ้นเครื่องบิน
2.เชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ , แต่ว่า , ถึง…ก็ , กว่า…ก็ ตัวอย่างเช่น
กว่าตำรวจจะมาคนร้ายก็หนีไปแล้ว
เขาอยากมีเงินแต่ไม่ทำงาน
ถึงเขาจะโกรธแต่ฉันก็ไม่กลัว
เธอไม่สวยแต่ว่านิสัยดี
3.เชื่อมใจความเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า จึง , เพราะ…จึง , เพราะฉะนั้น…จึง ตัวอย่างเช่น
เขาวิ่งเร็วจึงหกล้ม ฉันกลัวรถติดเพราะฉะนั้นฉันจึงออกจากบ้านแต่เช้า
เพราะเธอเรียนดีครูจึงรัก เขาไว้ใจเราให้ทำงานนี้เพราะฉะนั้นเราจะ
เหลวไหลไม่ได้
4.เชื่อมใจความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ หรือไม่ก็ , ไม่เช่นนั้น , มิฉะนั้น ตัวอย่างเช่น
เธอต้องทำงานมิฉะนั้นเธอจะถูกไล่ออก
ไม่เธอก็ฉันต้องกวาดบ้าน
นักเรียนจะทำการบ้านหรือไม่ก็อ่านหนังสือ
คุณจะทานข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว

หน้าที่ของคำสันธาน

1.เชื่อมคำกับคำ เช่น
ฉันเลี้ยงแมวและสุนัข นิดกับหน่อยไปโรงเรียน
2.เชื่อมข้อความ เช่น
คนเราต้องการปัจจัย 4 ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อ
3.เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น
พี่สาวสวยแต่น้องฉลาด เพราะเขาขยันจึงสอบได้
4.เชื่อมความให้สละสลวย เช่น
เขาก็เป็นคนดีคนหนึ่งเหมือนกัน คนเราก็มีเจ็บป่วยบ้างเป็นธรรมดา

คำอุทาน

คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด มักจะเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แต่เน้นความรู้สึก และอารมณ์ของผู้พูด เสียนงที่เปล่งออกมาเป็นคำอุทานนี้ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ
1. เป็นคำ เช่น โอ๊ย ว้าย แหม โถ เป็นต้น
2. เป็นวลี เช่น พุทโธ่เอ๋ย คุณพระช่วย ตายละว้า เป็นต้น
3. เป็นประโยค เช่น ไฟไหมเจ้าข้า ป้าถูกรถชน เป็นต้น

คำอุทานแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

1. อุทานบอกอาการ ใช้เปล่งเสียงเพื่อบอกอาการและความรู้สึกต่างๆของผู้พูด เช่น
- ร้องเรียก หรือบอกเพื่อให้รู้สึกตัว เช่น แน่น เฮ้ โว้ย เป็นต้น
- โกรธเคือง เช่น ชิชะ ดูดู๋ เป็นต้น
- ตกใจ เช่น ตายจริง ว้าย เป็นต้น
- สงสาร เช่น อนิจจา โถ เป็นต้น
- โล่งใจ เช่น เฮ้อ เฮอ เป็นต้น
- ขุ่นเคือง เช่น อุวะ แล้วกัน เป็นต้น
- ทักท้วง เช่น ฮ้า ไฮ้ เป็นต้น
- เยาะเย้ย เช่น หนอย ชะ เป็นต้น
- ประหม่า เช่น เอ้อ อ้า เป็นต้น
- ชักชวน เช่น นะ น่า เป็นต้น
2. อุทานเสริมบท คือ คำพูดเสริมขึ้นมาโดยไม่มีความหมาย อาจอยู่หน้าคำ หลังคำหรือแทรกกลางคำ เพื่อเน้นความหมายของคำที่จะพูดให้ชัดเจนขึ้น เช่น อาบน้ำอาบท่า ลืมหูลืมตา กินน้ำกินท่า ถ้าเนื้อความมีความหมายในทางเดียวกัน เช่น ไม่ดูไม่แล ร้องรำทำเพลง เราเรียกคำเหล่านี้ว่า คำซ้อน
 


แหล่งที่มา : skoolbuz.com

อัพเดทล่าสุด