กฎหมายแรงงาน เวลาทํางาน กฎหมายแรงงาน hr กฎหมายแรงงานตามมาตรา 119(5)


1,196 ผู้ชม



--------

กฎหมายแรงงาน/เวลาพักของการทำล่วงเวลา
 
           ทำโอหลัง 2 ทุ่ม เราต้องทำชดเชยเวลาที่พักตอน 5 โมงด้วยหรอครับ คือที่บ.ไทยยามากิ เขาให้ทำอย่างเช่น ถ้าโอปกติเลิก 2 ทุ่มเราก้อต้องเลิกงาน 2 ทุ่ม 20 เขาบอกว่าทำชดเชยเวลาที่พัก 20นาที ตอน 5 โมงเย็น ยังงัยช่วยตรวจสอบให้ต้วยนะครับ บ.ไทยยามากิ ถ.มาลัยแมน ต.วังตะกู อ.เมือง จ.นครปฐม                           
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
ใน กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากการทำงานปกติ  ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง  นายจ้างต้องจัดให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่ายี่สิบนาทีก่อนที่ลูกจ้างเริ่มทำงาน ล่วงเวลา  ซึ่งในเวลาพักระหว่างการทำงานไม่ให้นับรวมเป็นเวลาทำงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 27  วรรคสามและวรรคสี่  ดังนั้น  เมื่อเวลาทำงานปกติของคุณเลิก 17.00 น.  แล้วนายจ้างและคุณตกลงทำงานล่วงเวลา  นายจ้างต้องจัดให้มีการพักไม่น้อยกว่า 20 นาทีก่อนเมื่อคุณเริ่มทำงานล่วงเวลา  นายจ้างต้องจัดให้มีการพัก 20 นาที  (คือเลิกงาน 17 นาฬิกา พัก 20 นาที)  เริ่มทำงาน 17.20 นาฬิกา  ตกลงทำงานล่วงเวลา 3 ชั่วโมง  การทำงานล่วงเวลา  จะครบ ณ เวลา 20.20 นาฬิกา  เพราะเวลาพักระหว่างการทำงานไม่ให้นับรวมเป็นเวลาทำงาน  การกระทำของนายจ้างถือว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

https://www.decha.com/main/showTopic.php?id=4736

เวลาทำงานปกติ

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปี 2551à

                 กฎหมายคุ้มครองแรงงานมุ่งประสงค์ให้ความคุ้มครองลูกจ้างในสองประการหลัก ได้แก่ คุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างประการหนึ่งและคุ้ม ครองรายได้ของลูกจ้างอีกประการหนึ่ง  ในส่วนการคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน  การกำหนดเวลาทำงานปกติ ในการทำงานของลูกจ้าง ตอบสนองความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เพราะยิ่งลูกจ้างทำงานมากเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการประสบอันตรายและเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานมากขึ้น เท่านั้น


               1.
การกำหนดเวลาทำงานปกติในอดีต

               แต่เดิมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 3 กำหนดเวลาทำงานปกติ โดยถือตามประเภทของอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่กำหนดเวลาทำงานต่อสัปดาห์ กล่าวคือ

  • งานอุตสาหกรรม ไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง
  • งานขนส่ง ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง
  • งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ไม่เกิน สัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง
  • งานพาณิชยกรรมและงานอื่นๆ ไม่เกินสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง

จะเห็นได้ว่า การกำหนดเวลาทำงานปกติโดยใช้เกณฑ์ต่อสัปดาห์อาจไม่คุ้มครองลูกจ้างตามความ เป็นจริงเพราะนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานต่อวันมีชั่วโมงการทำงานมากเกิน สมควรได้


               2. การกำหนดเวลาทำงานปกติในปัจจุบัน

               ต่อมาเมื่อออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้าง นอกจากใช้เกณฑ์ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์แล้ว ยังใช้เกณฑ์ชั่วโมงการทำงานต่อวันมาใช้ด้วย โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 23 กำหนดให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติ(regular working times) ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบ ถึงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวันของลูกจ้างได้ไม่เกินเวลา ทำงานของแต่ละประเภทงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง และสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งต่อมากระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ข้อ 1 กำหนดให้งานทุกประเภทมีเวลาทำงานปกติไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง

                 ผลจึงเป็นว่า โดยทั่วไปนายจ้างต้องประกาศกำหนดเวลาทำงานปกติ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน ในทุกประเภทงานวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง สัปดาห์หนึ่งรวมแล้วไม่เกิน 48 ชั่วโมง เช่น บริษัทเค็มสุด จำกัด อาจกำหนด เวลาทำงานปกติของบริษัทฯ ระหว่าง 8.30 นาฬิกา ถึง 17.30 นาฬิกา พักระหว่าง 12.30 นาฬิกา และ 13.30 นาฬิกาได้

                
                 สำหรับงานอื่นบางงานนอกจากนี้ มีข้อยกเว้นไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่

                 < งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง พระราช บัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 23 กำหนดให้นายจ้างจัดให้มี มีเวลาทำงานปกติ วันละไม่เกิน 7 ชั่วโมงและสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 42 ชั่วโมง งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับ 2 ข้อ 2 กำหนด

                 < งานขนส่งทางบก กฎ กระทรวง ฉบับที่ 12 ข้อ 2 กำหนดให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงานวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง ทั้งนี้กรณีลูกจ้างทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเริ่มต้นทำงานในวันถัดไปก่อนครบระยะ 10 ชั่วโมง หลังจากสิ้นสุดการทำงานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว

                < งานปีโตรเคมี ตามกฎหมายว่าด้วยปัโตรเลียม รวมทั้งงานซ่อมบำรุงและงานให้บริการเกี่ยวเนื่องกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ข้อ 1 (1) ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 ข้อ 1 กำหนดว่านายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกำหนดเวลาทำงานปกติเกินกว่าวันละ 12 ชั่วโมงได้ แต่สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง


                 ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงาน นายจ้างไม่อาจกำหนดเวลาทำงานปกติ คือกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในการทำงานแต่ละวันไม่ได้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 23 วรรคสอง ผ่อนปรนให้นายจ้างกำหนดเป็นชั่วโมงทำงานปกติ(regular working hour) โดยไม่ต้องกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน แต่กำหนดเป็นจำนวนชั่วโมงทำงานที่ลูกจ้างต้องทำงานเป็นปกติในแต่ละวันแทนก็ ได้ แต่การกำหนดชั่วโมงทำงานปกตินี้ก็ต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันและเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เช่นกัน


                 ตัวอย่างเช่น นายจ้างประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ ต้องรับสัตว์น้ำจากเรือประมงที่เข้าเทียบท่าในช่วงเช้ามืด ซึ่งเวลาเข้าเทียบท่าไม่แน่นอน จึงกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงานที่ชัดเจนไม่ได้ กรณีนี้นายจ้างอาจกำหนดเป็นชั่วโมงทำงานปกติในแต่ละวัน วันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง นับแต่เริ่มลงมือทำงาน และทำงานสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมงได้


                 อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีสถานประกอบการจำนวนหนึ่งที่ต้องการทำงานต่อวันเกินกว่า 8 ชั่วโมง แต่เมื่อรวมต่อสัปดาห์แล้วไม่เกิน 48 ชั่วโมง เช่น ในงานบริการ นายจ้างต้องการกำหนดให้ลูกจ้างทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 9 ชั่วโมง ถือว่าขัดต่อมาตรา 23 เพราะแม้ว่าจะมีเวลาทำงานปกติต่อสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมงก็ตาม แต่การทำงานต่อวันเกินกว่า 8 ชั่วโมงไม่ได้  


                 ต่อมากระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ข้อ 2 มายกเว้น โดยกำหนดให้งานที่ใช้วิชาชีพ วิชาการ งานด้านบริหารและงานจัดการ งานเสมียนพนักงาน งานอาชีพเกี่ยวกับการค้า งานอาชีพด้านบริการ งานที่เกี่ยวกับการผลิตหรืองานที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกำหนดเวลาทำงานปกติในวันหนึ่งๆเกินกว่า 8 ชั่วโมงได้ แต่เมื่อรวมเวลาทำงานปกติต่อสัปดาห์แล้ว ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่างานที่กำหนดในกฎกระทรวงครอบคลุมการทำงานแทบทุกประเภท จึงมีสถานประกอบการจำนวนหนึ่งที่กำหนดเวลาทำงานปกติเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง แต่เมื่อรวมต่อสัปดาห์แล้วไม่เกิน 48 ชั่วโมง


                 อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 ข้อ 2 ยังกำหนดให้นายจ้างที่กำหนดเวลาทำงานปกติเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง  นอกจากนายจ้างมีหน้าที่จ่าย ค่าจ้างสำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมงแล้ว ยังจะต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างปกติสำหรับชั่วโมงที่เกินกว่า 8 ชั่วโมงให้แก่ลูกจ้างที่ไม่ใช่รายเดือน เช่น ลูกจ้างรายชั่วโมง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามผลงาน เช่น นายจ้างงานบริการกำหนดเวลาทำงานดังกล่าวมาข้างต้น แม้นายจ้างสามารถกำหนดเวลาวันละ 9 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วันโดยอาศัยกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ข้อ 2 ได้ก็ตาม แต่สำหรับลูกจ้างที่มิใช่ลูกจ้างรายเดือน เช่น ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างปกติต่อชั่วโมง สำหรับการทำงานชั่วโมงที่ 9 ให้แก่ลูกจ้างประเภทนี้ด้วย แต่ถ้าเป็นลูกจ้างรายเดือน นายจ้างให้ทำงานวันละ 9 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วันได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน 1.5 เท่า สำหรับการทำงานชั่วโมงที่ 9 ได้

            
                3. การกำหนดเวลาทำงานปกติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่

               ในปี 2551 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดเวลาทำงานปกติแตกต่างไปจากเดิม โดยมาตรา 23 ใหม่กำหนดว่า


ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้าง ทราบ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันได้ไม่เกินเวลาทำงาน ของแต่ละประเภทงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมง ในกรณีที่เวลาทำงานวันใดน้อย กว่าแปดชั่วโมง นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือนั้นไปรวมกับเวลาทำ งานในวันทำงานปกติอื่นก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวันละเก้าชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนด ในกฎกระทรวง ต้องมีเวลาทำงานปกติวันหนึ่งไม่เกินเจ็ดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบสองชั่วโมง

ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่ เหลือไป รวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นตามวรรคหนึ่งเกินกว่าวันละแปดชั่วโมง ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อ ชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้างรายวันและลูกจ้างราย ชั่วโมงหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตาม จำนวนผลงานที่ทำได้ในชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผล งาน

ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจประกาศกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการ ทำงานแต่ละวันได้เนื่องจากลักษณะหรือสภาพของงาน ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดชั่วโมงทำงานแต่ละวันไม่เกินแปดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง


                 จะเห็นได้ว่า การกำหนดเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2551 เปลี่ยนหลักเกณฑ์ในเรื่องเวลาทำงานปกติไม่มากนัก กล่าวคือ กฎหมายปี 2551 ยังคงกำหนด เวลาทำงานปกติ  โดยนายจ้างจะต้องประกาศแจ้งเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน วันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมงและสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ต้องมีเวลาทำงานปกติวันหนึ่งไม่เกินเจ็ดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 42 ชั่วโมง หากนายจ้างไม่อาจประกาศกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน ได้เนื่องจากลักษณะหรือสภาพของงาน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันกำหนดชั่วโมงทำงานแต่ละวันไม่เกิน 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงเช่นเดียวกันกับกฎหมายปี 2541


                  ส่วนที่แตกต่างเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ก็คือ ในกรณีที่เวลาทำงานวันใด นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมง  นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือนั้นไปรวมกับเวลาทำ งานในวันทำงานปกติอื่นก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมง กระทรวงแรงงานได้ออกคำชี้แจงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ยกตัวอย่างไว้ว่า หากนายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติไว้วันละ 8 ชั่วโมง แต่เมื่อให้ลูกจ้างทำงานได้ 6 ชั่วโมง จะเริ่มทำงานชั่วโมงที่ 7 เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมไฟฟ้าดับ จนเป็นเหตุให้เครื่องจักรไม่สามารถทำงานต่อไปได้ กรณีเช่นนี้ นายจ้างอาจให้ลูกจ้างเลิกงานในวันนั้น(ทำงานในวันนั้นเพียง 6 ชั่วโมง) และอาจตกลงกับลูกจ้างให้นำชั่วโมงการทำงานที่เหลืออยู่อีก 2 ชั่วโมง ไปรวมกับเวลาทำงานปกติในวันรุ่งขึ้นได้อีก 1 ชั่วโมง และในวันทำงานปกติถัดไปได้อีก 1 ชั่วโมง

ในกรณีที่มีการนำเวลาส่วนที่เหลือไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่น นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนสำหรับชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 1.5 เท่าของค่าจ้างปกติ ให้แก่ลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง และลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน ทำนองเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับ 13 ข้อ 2 นั่นเอง กรณีนี้กระทรวงแรงงานได้ยกตัวอย่างไว้ในคำชี้แจงว่า


                   บริษัทหอยขม จำกัด นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่ 08.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เวลาพักระหว่าง 12.00 นาฬิกา ถึง 13.00 นาฬิกา ปรากฏว่าในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 เวลา 16.00 นาฬิกา เกิดเหตุฝนตกหนัก น้ำท่วม ไฟฟ้าดับ จนเป็นเหตุให้เครื่องจักรไม่สามารถทำงานได้ บริษัทฯจึงให้ลูกจ้างกลับบ้านทันที และหากนายจ้างตกลงกับลูกจ้างที่จะนำชั่วโมงการทำงานที่เหลืออีก 1 ชั่วโมง ไปรวมกับเวลาทำงานปกติของวันรุ่งขึ้น ดังนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานในชั่วโมงที่ 9 ของวันรุ่งขึ้น ไม่น้อยกว่าอัตรา 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงให้แก่ลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมงและลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน แต่ลูกจ้างรายเดือนไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้

                   4. บทสรุป

                   พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับ ที่ 2) พ.ศ. 2551 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป มีความวิตกกังวลค่อนข้างมากในหมู่ฝ่ายจัดการของสถานประกอบกิจการ ปัญหาใหญ่ที่สุด คือ ความชัดเจนของกฎหมายใหม่ เนื่องจากกฎหมายใหม่ยังมีถ้อยคำที่ต้องอาศัยการแปลความหรือตีความค่อนข้าง มาก กฎหมายลูก ได้แก่ กฎกระทรวงและประกาศกระทรวงแรงงาน ที่จะต้องออกตามความในมาตราที่มีการแก้ไขยังไม่ออกมาใช้บังคับ จึงยังมีความคลุมเครือในระดับหนึ่ง ผู้เขียนแนะนำให้ท่านฝ่ายจัดการลองอ่านคำชี้แจงของกระทรวงแรงงานหนาประมาณ 50 หน้าดูก่อน  จะได้เค้ารางของการแปลความกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ได้ไม่มากก็น้อย หากมีความชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อใด    ผู้เขียนขออาสาจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านรับทราบในโอกาสต่อไป




à พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8


:: พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตราที่ 118-122

:: หมวด 11 ค่าชดเชย
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่ง เลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบ หนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่ น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่า ค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปีให้ จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่ น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับ ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อย กว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของ การทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตาม มาตรา นี้ หมายความว่า การกระทำใดที่ นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะ เป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุ ที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะ เวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของ งานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนด การสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็น ต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวัน หยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา 120 ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ ไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตาม ปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่ น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับ ตาม มาตรา 118
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถาน ประกอบกิจการล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย พิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย สามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ด้วย
ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน พิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบ กิจการว่า เป็นกรณีที่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือลูกจ้าง มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตาม วรรคหนึ่งหรือไม่
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้เป็นที่สุด เว้นแต่นายจ้างหรือลูกจ้างจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ในกรณีที่นายจ้างเป็น ฝ่ายดำเนินคดีไปสู่ศาลนายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างที่ยื่นคำขอตามวรรคสาม จึงจะฟ้องคดีได้
การบอกเลิกสัญญาจ้างตาม มาตรา นี้ ลูกจ้างต้องใช้สิทธิภาย ในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ หรือ นับแต่วันที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานหรือ คำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด
มาตรา 121 ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุ ที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือ การบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลง เครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ห้าม มิให้นำ มาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้างแจ้งวันที่ จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงาน ตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า หกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง นอก จากจะได้รับค่าชดเชยตาม มาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่า ชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย หกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับ ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย
ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย
มาตรา 122 ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตาม มาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้าง จ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ไม่ น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการ ทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดย คำนวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยตาม มาตรา นี้รวมแล้วต้องไม่ เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้าง ของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้ รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ กรณีระยะ เวลาทำงานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมาก กว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

อัพเดทล่าสุด