การใช้ภาษาแสดงออกทางความคิดที่เป็นประโยชน์ทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน ถ่ายถอดความคิด และภูมิรู้ของผู้เขียน
งานเขียนมีคุณค่า ใช้ภาษาอย่างภูมิใจ
ถอดเสื้อแดงซะ
ภาพจาก : https://i.ytimg.com
ถ้าใครถามว่าปีนี้ คำคำไหนมีการพูดและใช้มากที่สุด คงต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
เป็นคำว่า “ปรองดอง” ล่าสุดก็กลับมาอยู่ในปากของนักการเมืองอีกครั้ง
หลังเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน มี.ค.-พ.ค. คำว่า “ปรองดอง”
ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ “คลี่คลายสถานการณ์”
หลังจากยุติปัญหา มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
มีผลวิจัยที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เรียกว่า “อีสานโพล” เปิดเผยผล
“เสียงสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลของชาวอีสานพบว่า จากการสำรวจทั้ง ๔ ครั้งที่ผ่านมา
คือ ครั้งที่ ๑ ต้นเดือน พ.ค. ครั้งที่ ๒ ปลายเดือน พ.ค. ครั้งที่ ๓ ปลายเดือน มิ.ย. และครั้งที่ ๔
ปลายเดือน ส.ค. พบว่า ในภาพรวมของรัฐบาลมีความสนับสนุนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะที่
ภาพการเมืองในปลายเดือน พ.ค. ความสนับสนุนของรัฐบาลลดลงต่ำแค่ ๓๔% จากนั้น
ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับจนถึงปลายเดือน ส.ค. อยู่ที่ ๔๕%
แม้ไม่ถึงครึ่งแต่ก็ต้องถือว่าน่าใจหายที่คะแนนรัฐบาลพุ่งขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ
ใช้วิธีการ กระบวนการ แบบเดิม ๆ นั้นแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ถึงวันนี้พูดได้เลยว่า
ที่เข้าใจว่าเป็นเสียง “ส่วนใหญ่”นั้นไม่ใช่ซะแล้ว เพราะนับวันจะกลายเป็น “ส่วนน้อย”
ลงไปเรื่อย ๆ
คนหน้าสาม
ข่าวจาก : https://www.dailynews.co.th วันพฤหัสบดี ที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑:๐๖ น
จากข่าวข้างต้น จะเห็นตัวอย่างการเขียนแสดงแนวคิด ที่นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ
เนื้อหาการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว ของนักการเมือง ผู้เขียนได้ที่มา
ของแนวคิดข้อสนับสนุนแนวคิด นั่นคือผลการวิจัย และมีข้อสรุป ซึ่งเป็นตัวอย่างการเขียน
แสดงทรรศนะ เป็นการใช้ภาษาแสดงออกทางความคิดที่เป็นประโยชน์ทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน ถ่ายถอดความคิด และภูมิรู้ของผู้เขียน
ภาพคุณหนูดีจาก: https://www.upluz.com
ประเด็นการศึกษา การเขียนแสดงทรรศนะ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖
การเขียนแสดงทรรศนะ
ทรรศนะ หรือ ทัศนะ หมายถึง ความคิดเห็นที่ประกอบด้วยเหตุผล ซึ่งแม้จะแตกต่าง
หรือขัดแย้งกันก็นับว่ามีประโยชน์ เพราะจะเป็นแนวทางให้ผู้อื่นได้มีโอกาสใช้ดุลพินิจตัดสินใจ
เลือกวิถีทางแก้ปัญหาได้หลายทางด้วยความสุขุมรอบคอบขึ้น
ภาพจาก : https://gotoknow.org
โครงสร้างของการแสดงทรรศนะ
๑. ที่มา หมายถึงเหตุที่ทำให้เกิดการแสดงทรรศนะ
๒. ข้อสนับสนุน หมายถึงเหตุผล ซึ่งอาจจะเป็นข้อเท็จจริง หลักการ ทรรศนะ
หรือมติของผู้อื่นที่นำมาสนับสนุน
๓. ข้อสรุป อาจจะเป็นข้อเสนอแนะ ข้อวินิจฉัย ข้อสันนิษฐาน การประเมินค่า
ภาพจาก:https://hilight.kapook.com
ประเภทของทรรศนะ
๑. ทรรศนะเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง
การแสดงทรรศนะประเภทนี้มักเป็นเพียงการสันนิษฐาน จะน่าเชื่อถือเพียงใดขึ้นอยู่กับ
ข้อสนับสนุน
๒. ทรรศนะเกี่ยวกับคุณค่าหรือค่านิยม ประเมินว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่างไร
๓. ทรรศนะเกี่ยวกับนโยบาย บ่งชี้ว่าควรจะทำอย่างไร ทำอะไรต่อไปหรือควรแก้ไข
ปรับปรุงสิ่งใดไปในทางใด อย่างไร
วิธีใช้ภาษาในการแสดงทรรศนะ
ต้องใช้ถ้อยคำกะทัดรัด มีความหมายแจ่มชัด ไม่วกวน ภาษาที่ใช้แสดงทรรศนะ
ที่ควรสังเกตคือ
๑. การใช้คำสรรพนามบุรุษที่ ๑ ประกอบคำกริยาหรือกลุ่มคำกริยาที่ชี้ชัดว่า
เป็นการแสดงทรรศนะ เช่น “ดิฉันขอสรุปว่า....“ “ข้าพเจ้าขอเสนอแนะว่า....“ เป็นต้น
๒. การใช้คำหรือกลุ่มคำที่ชี้ชัดว่าเป็นการแสดงทรรศนะ เช่น คง ควร พึง คงจะ
ควรจะ น่าจะ เป็นต้น
การใช้ภาษานับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการแสดงทรรศนะ หากใช้ผิดจะทำให้
ผู้รับสารเข้าใจว่าสารที่ส่งนั้นไม่ใช่ทรรศนะ เป็นการเสนอข้อเท็จจริง หรือเป็นการบอกกล่าว
เท่านั้น การใช้ภาษาจึงควรมีความแจ่มแจ้งชัดเจน ตรงตามจุดประสงค์ที่ต้องการและเหมาะสม
กับระดับการสื่อสาร
ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
๑. การเขียนแสดงทรรศนะมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอย่างไร
๒. ให้เขียนแสดงทรรศนะเพียง ๑ เรื่อง ( ๒ คนต่อ ๑ เรื่อง)
การแต่งกายของนักเรียน
นโยบายเรียนฟรีของกระทรวงศึกษาธิการ
นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค
การมุ่งเรียนติว ของนักเรียนในปัจจุบัน
การแข่งขันเขัาเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
กิจกรรมเสนอแนะ
๑. ประกวดการเขียนแสดงทรรศนะเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาแสดงออกทางความคิด
๒. แต่งเพลง เกี่ยวกับการเขียนแสดงทรรศนะ
คุณลักษณะที่ปลูกฝัง
๑. ใฝ่เรียนรู้
๒. รักความเป็นไทย
กิจกรรมบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่อง การพูด
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เรื่อง คุณธรรมของการพูดและเขียน
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
ขอบคุณ พรทิพย์ แฟงสุด. เตรียมภาษาไทยเอนทรานซ์. กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, ๒๕๔๐.
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3156