การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม


725 ผู้ชม


การโต้แย้ง ด้วยการวินิจฉัยถือเป็นการใช้ภาษาเพื่อแสดงออกทางความคิดได้อย่างเหมาะสม   

 โต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม
                                   การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม

                                                                   ภาพจาก : https://primus.co.th

นักฉวยโอกาส

           อีกไม่กี่วันจะครบรอบ ๔ ปีการก่อรัฐประหารที่ คปค.นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ
รัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
    
           ทางกลุ่มของคุณทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มเสื้อแดง ส.ส.พรรคเพื่อไทย หรือ
แนวร่วมต่าง ๆ  ที่ไม่เอารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เตรียมจัดกิจกรรม เพื่อกล่าวโทษว่า 
เกิดความล้มเหลวตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา
    
      โดยเฉพาะการทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก
    
      แต่ในข้อเท็จจริงคนที่กล่าวหาและคนที่ถูกกล่าวหา ล้วนแต่เป็นผู้ที่ทำให้บ้านเมืองแตกแยก 
หากพิจารณาอย่างแยบคาย ความแตกแยกไม่ได้เกิดจากประชาชนทะเลาะกัน แต่มีมูลเหตุมาจาก
ลิ่วล้อของทั้ง ๒ ฝ่ายจัดมวลชนมาตีรันฟันแทงเพื่อแย่งอำนาจไปทูนหัวให้ลูกพี่

                ที่มา :   ดินสอโดม  คอลัมน์ ฅนความคิด :  นักฉวยโอกาส   : เดลินิวส์ออนไลน์  
                            วันศุกร์ ที่  ๑๗ กันยายน  ๒๕๓๓ เวลา ๙:๓๓

       จากคอลัมน์  ฅนความคิด  เรื่องนักฉวยโอกาส ของคุณดินสอโดม  จะเห็นวิธีการใช้ภาษา
ที่สะท้อนมุมมอง แนวคิด  ระดับการเขียน เพื่อให้ข้อมูล และการโต้แย้ง ด้วยการวินิจฉัย
ถือเป็นการใช้ภาษาเพื่อแสดงออกทางความคิดได้อย่างเหมาะสม

 ประเด็นการศึกษา  การใช้ภาษาแสดงออกทางความคิด เรื่องการใช้ภาษาเพื่อโต้แย้ง
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย    ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖


การโต้แย้ง

ความหมายของการโต้แย้ง

การโต้แย้ง คือ การแสดงทรรศนะที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล ๒ ฝ่าย 
โดยแต่ละฝ่ายพยายามใช้ข้อมูล สถิติ หลักการ เหตุผล รวมทั้งการอ้างถึงทรรศนะของผู้รู้ 
เพื่อสนับสนุนทรรศนะของตน และคัดค้านทรรศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง
                           การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม
                                      ภาพจาก : https://www.innnews.co.th

โครงสร้างของการโต้แย้ง

        กระบวนการโต้แย้งต้องอาศัยเหตุผลเป็นสำคัญ โครงสร้างของการโต้แย้งคือ 
โครงสร้างของการแสดงเหตุผล ซึ่งประกอบด้วยเหตุผลและข้อสรุปนั่นเอง

                                     ทรรศนะที่ ๑

                                           l
                                           l
                                           l

          ข้อสนับสนุน     -----------------     ข้อสรุป

 
ตัวอย่าง

        โดยที่นักเรียนระดับมัธยมตอนปลายของโรงเรียนนี้ส่วนใหญ่ต้องการออกไป
ประกอบอาชีพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว (เหตุผล)

        ดังนั้น โรงเรียนของเราจึงควรเปิดรายวิชาเลือก วิชาพื้นฐานอาชีพเท่าที่มีอยู่
ในหลักสูตรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (ข้อสรุป, ข้อเสนอแนะ)

               การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม

                                             ภาพจาก : https://1.bp.blogspot.com


                                  ทรรศนะที่ ๒

                                       l
                                       l
                                       l

         ข้อสนับสนุน   --------------------------      ข้อสรุป

 
        เรายังไม่ได้สำรวจอย่างเป็นกิจลักษณะเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
นักเรียนของเราในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมุ่งหมายที่จะไปทำอะไรต่อไป จะมีก็เพียงแต่
การคาดคะเนเอาเองตามความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้น (เหตุผล)

        ฉะนั้นเราอาจประสบความล้มเหลวก็ได้ ถ้าเรามุ่งที่จะเปิดวิชาพื้นฐานอาชีพให้มากยิ่งขึ้น
กว่าที่ได้เคยเปิดมาแล้ว (ข้อสรุป, ข้อโต้แย้งทรรศนะที่ ๑)

        ประเด็นของการโต้แย้งคือ จริงหรือที่ว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนแห่งนี้
ต้องการออกไปประกอบอาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่า ทรรศนะที่ ๑ 
สนับสนุนประเด็นนี้ว่าเป็นจริง ทรรศนะที่ ๒ ไม่เชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นจริง แต่ละฝ่ายจึงต้อง
หาเหตุผลมาพิสูจน์กันจนเป็นที่ยอมรับ การคัดค้านข้อโต้แย้ง ปกติผู้ค้านจะคัดค้านเหตุผล 
หรือข้อสนับสนุนเป็นสำคัญ เมื่อค้านสำเร็จก็เท่ากับเป็นการหักล้างข้อเสนอหรือข้อสนับสนุน
ของอีกฝ่ายหนึ่งได้


             การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม
                                                           ภาพจาก : https://media.thaigov.go.th
หัวข้อและเนื้อหาของการโต้แย้ง

        การโต้แย้งแต่ละครั้ง ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่าจะโต้แย้งในหัวข้อใด 
และมีประเด็นใดบ้างที่จะนำมาพิจารณา เพื่อให้การโต้แย้งนั้นอยู่ในขอบเขตและตรงประเด็น 
ถ้าโต้แย้งกันนอกหัวข้อหรือนอกประเด็นจะหาจุดจบไม่ได้ และจะกลายเป็นการโต้เถียงในที่สุด

        ตัวอย่าง

        หัวข้อในการโต้แย้ง – การปลูกต้นไม้ในโรงเรียน

        ประเด็นในการโต้แย้ง – ควรปลูกไม้ยืนต้น ไม้สวยงาม หรือ ไม้ให้ร่มเงา


กระบวนการโต้แย้ง

                กระบวนการโต้แย้ง แบ่งได้เป็น ๔ ขั้น คือ
                ๑. การตั้งประเด็นในการโต้แย้ง
                ๒. การนิยามคำหรือกลุ่มคำสำคัญที่อยู่ในประเด็นของการโต้แย้ง
                ๓. การค้นหาและเรียบเรียงข้อสนับสนุนทรรศนะของตน
                ๔. การชี้ให้เห็นจุดอ่อนและความผิดพลาดของทรรศนะของฝ่ายตรงข้าม

        ๑. การตั้งประเด็นในการโต้แย้ง ประเด็นในการโต้แย้ง หมายถึง คำถามที่ก่อให้เกิดการ
โต้แย้งกัน ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของการโต้แย้ง เนื่องจากการโต้แย้งของมนุษย์เกิดจากการ
แสดงทรรศนะที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น การตั้งประเด็นการโต้แย้ง จะต้องรู้ว่าโต้แย้งกันเกี่ยวกับ
ทรรศนะประเภทใด แล้วตั้งประเด็นให้อยู่ในเรื่องที่กำลังโต้แย้งกัน ซึ่งอาจแบ่งได้ ๓ ประเภท คือ

                ๑.๑ การโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบายหรือข้อเสนอเพื่อให้เปลี่ยนแปลงสภาพเดิม

                การโต้แย้งประเภทนี้เริ่มจากมีผู้เสนอทรรศนะของตน เพื่อให้บุคคลอื่นพิจารณา
ยอมรับ ผู้เสนอทรรศนะก็จะหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อเสนอของตน ชี้ให้เห็นว่าหลักการเดิมนั้น
มีจุดอ่อน  จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แล้วเสนอหลักการใหม่ที่จะแก้ไขจุดอ่อนนั้นได้ และ
ชี้ให้เห็นผลดีที่ได้รับจากหลักการใหม่นั้น
                          การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม

                การโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบายหรือข้อเสนอเพื่อให้เปลี่ยนแปลงสถาพเดิมมีประเด็น คือ

                ประเด็นที่ ๑ สภาพเดิมที่เป็นอยู่นั้น มีข้อบกพร่องหรือไม่ อย่างไร

                ประเด็นที่ ๒ ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะแก้ไขข้อบกพร่องได้หรือไม่ เพียงใด

                ประเด็นที่ ๓ ผลดีที่เกิดจากข้อเสนอนั้นมีอย่างไร เพียงใด

                ๑.๒ การโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริง

                การโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริง มีประเด็นสำคัญคือ

                ประเด็นที่ ๑ ข้อเท็จจริงที่อ้างอิง มีหรือเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ อยู่ที่ไหน

                ประเด็นที่ ๒ การตรวจสอบสิ่งที่อ้างถึงนั้นทำได้หรือไม่ ด้วยวิธีใด

                ๑.๓ การโต้แย้งเกี่ยวกับคุณค่า

                การโต้แย้งประเภทนี้จะมีความรู้สึกส่วนตัวแทรกอยู่ด้วย
                        การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม
                                                    ภาพจาก : https://www.ki.ac.th

        ๒. การนิยามคำหรือกลุ่มคำสำคัญที่อยู่ในประเด็นของการโต้แย้ง

            การนิยามคำหรือกลุ่มคำสำคัญ หมายถึง การกำหนดความหมายของคำหรือกลุ่มคำ
สำคัญที่ใช้ในการโต้แย้งให้ชัดเจน เข้าใจตรงกัน ไม่ให้สับสน

           การนิยามคำหรือกลุ่มคำสำคัญทำได้หลายวิธี เช่น อาศัยพจนานุกรมหรือสารานุกรม 
คำอธิบายของผู้รู้ การเปรียบเทียบด้วยวิธีการยกตัวอย่าง

        ๓. การค้นหาและเรียบเรียงข้อสนับสนุนทรรศนะของตน

                ทรรศนะนั้นจะน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับข้อสนับสนุน ซึ่งมาจากหลักฐาน 
สถิติ ข้อเท็จจริงต่างๆ การเรียบเรียงข้อสนับสนุนทรรศนะจึงมีข้อควรคำนึงถึง คือ การเรียบเรียง
ข้อสนับสนุนจะต้องทำให้ผู้ฟังเข้าใจทรรศนะของเราชัดเจน และดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง 
ในการเรียบเรียงจะต้องมีอารัมภบทที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตามการแสดงทรรศนะนั้น 
เสนอสาระสำคัญของทรรศนะได้เป็นลำดับขั้นตอน ชี้ให้เห็นประเด็นชัดเจน แสดงข้อสนับสนุน
ที่หนักแน่นมีการอ้างที่มาของข้อมูลตามความเป็นจริง ทั้งควรมีการสรุปสาระสำคัญของทรรศนะ
ที่เสนอให้กะทัดรัด ชัดเจน   
        
๔. การชี้ให้เห็นจุดอ่อนและความผิดพลาดของทรรศนะของฝ่ายตรงกันข้าม

                การโต้แย้งจะต้องชี้ให้เห็นจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม คือ

                ๔.๑ จุดอ่อนในการนิยามคำสำคัญ

                         นิยามที่ดีจะต้องชัดเจน รัดกุม

                          นิยามที่ไม่ดี มีลักษณะดังนี้

                             ๑) นิยามวกวน ไม่ชัดเจน ฟังแล้วไม่เข้าใจ

                             ๒) นิยามที่ใช้ถ้อยคำยาก จึงไม่สื่อความหมาย

                             ๓) นิยามโดยอคติ มุ่งแต่ประโยชน์ฝ่ายตน และอาจบิดเบือนความหมาย

                ผู้โต้แย้งจะต้องชี้ให้เห็นว่าทรรศนะนั้นมีข้อมูลน้อยเกินไป มีข้อมูลที่ผิดพลาด 
ทำให้ทรรศนะนั้นไม่น่าเชื่อถือ

                ๔.๒ จุดอ่อนในด้านปริมาณและความถูกต้องของข้อมูล

                ผู้โต้แย้งจะต้องชี้ให้เห็นว่าทรรศนะนั้นมีข้อมูลน้อยเกินไป มีข้อมูลที่ผิดพลาด 
ทำให้ทรรศนะนั้นไม่น่าเชื่อถือ

                ๔.๓ จุดอ่อนในด้านสมมติฐานและวิธีการอนุมาน

                ถ้าชี้ให้เห็นว่าสมมติฐาน มีจุดอ่อน ไม่ควรค่าแก่การยอมรับ วิธีการอนุมานผิดพลาด
ก็จะทำให้ทรรศนะนั้นมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ
                       การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม
                                   ภาพจาก : https://planet.kapook.com

การวินิจฉัยเพื่อตัดสินข้อโต้แย้ง

        การวินิจฉัยตัดสินว่าทรรศนะของฝ่ายใดควรจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่นั้น
อาจทำได้ ๒ แบบคือ

        ๑. พิจารณาเฉพาะเนื้อหาสาระที่แต่ละฝ่ายได้นำมาโต้แย้งกัน ผู้วินิจฉัยจะไม่นำความรู้
และประสบการณ์ของตนเข้ามาใช้เลย การตัดสินตามแนวนี้มักใช้การโต้วาที การตัดสินของผู้
พิพากษาในคดีความ

        ๒. วินิจฉัยโดยใช้ดุลยพินิจของตนพร้อมกับพิจารณาคำโต้แย้งของทั้งสองฝ่าย
โดยละเอียด การพิจารณาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่บุคคลทั่วไปใช้อยู่แล้วเป็นปกติ เช่น การตัดสินใจ
เพื่อลงมติในที่ประชุมหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายโต้แย้งกัน ผู้ตัดสินย่อมใช้ดุลยพินิจของตน
โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์  ที่มีอยู่แล้วมาเป็นเครื่องช่วยตัดสิน มิใช่ตัดสินจากเนื้อหาของแต่ละฝ่ายเท่านั้น
                การโต้แย้งอย่างมีปัญญา สะท้อนบุคลิกสง่างาม
                                 ภาพจาก : https://static.truelife.com

ข้อควรระวังในการโต้แย้ง

        ๑. ผู้โต้แย้งควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ พยายามทำใจให้เป็นกลาง พิจารณาที่เหตุผลเป็น
สำคัญการแพ้ชนะกันก็ด้วยเหตุผล

        ๒. ผู้โต้แย้งควรมีมารยาทในการใช้ภาษา ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ในระหว่าง
ที่โต้แย้งกับบุคคลอื่น การใช้ภาษาต้องให้เหมาะสมแก่ระดับของบุคคลเหมาะแก่สถานที่ 
รวมทั้งเหมาะแก่เนื้อหาที่นำมาโต้แย้งกัน

        ๓. ผู้โต้แย้งควรรู้จักเลือกประเด็นที่จะโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่เลือกประเด็น
โต้แย้งที่จะทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่น อาจเป็นบุคคลหรือเป็นสิ่งที่บุคคล
จำนวนมากเคารพนับถือ ซึ่งอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยก ความเข้าใจผิด
ลุกลามต่อไปได้

สรุป  การใช้ภาษาเพื่อโต้แย้ง 
        โครงสร้างของการโต้แย้ง กระบวนการโต้แย้ง การวินิจฉัย เพื่อตัดสินจ้อโต้แย้ง 
จึงควรระวังในการโต้แย้ง 
        การโต้แย้ง คือ การแสดงทรรศนะที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล ๒ ฝ่าย
กระบวนการโต้แย้ง มี ๔ จำนวน คือ 
                 การตั้งประเด็น 
                 การนิยามคำหรือกลุ่มคำ 
                 ข้อสนับสนุนทรรศนะของตน 
                 ชี้จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม


     ข้อควรระวังการโต้แย้ง คือ การใช้อารมณ์ มีมารยาท เลือกประเด็นสร้างสรรค์ 
            ตัวอย่างคำถาม 
              ๑.  การโต้แย้ง คือ                     
              ๒.  ประเด็นในการโต้แย้ง หมายถึง
              ๓.  ข้อควรระวังในการโต้แย้ง ได้แก่


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
       ๑. การใช้ภาษาในการโต้แย้ง อย่างมีเหตุผล  เป็นผู้ดีต่อผู้พูดหรือผู้เขียนอย่างไร
       ๒. ให้เขียนเพื่อแสดงการใช้ภาษาในการโต้แย้ง คู่ละ  ๑ เรื่อง ( ๒ คนต่อ ๑ เรื่อง)
  
กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑. จัดแข่งขันโต้วาที โดยให้นักเรียนช่วยกันกำหนดยัติเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษา
ในการโต้แย้ง
 
  
คุณลักษณะที่ปลูกฝัง
       ๑. ใฝ่เรียนรู้
       ๒. รักความเป็นไทย

กิจกรรมบูรณาการ   
     
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  เรื่อง การเขียน   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เรื่อง คุณธรรมของการพูดและเขียน
     
      

           ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
           ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
           ขอบคุณ :  https://mc.ektra.ac.th , https://www2.srp.ac.th


 

                                 ภาพจาก : https://www.dailynews.co.th
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3172

อัพเดทล่าสุด