ปรากฏการณ์ปะการังเปลี่ยนสี


656 ผู้ชม


ปะการัง เป็นสัตว์ทะเลพวกหนึ่ง มีขนาดเล็ก เคลื่อนที่เองไม่ได้ แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล มีโครงสร้างเป็นหินปูนห่อหุ้มตัวอันอ่อนนุ่มของปะการังไว้เป็นชั้นนอก ซึ่งโครงสร้างหินปูนนี้เกิดจากชีวิตเล็กๆ ของปะการังได้สร้างขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ เป็นแผ่น เ   

ปรากฏการณ์ปะการังเปลี่ยนสี

 

 


ปะการัง เป็นสัตว์ทะเลพวกหนึ่ง มีขนาดเล็ก เคลื่อนที่เองไม่ได้ แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล มีโครงสร้างเป็นหินปูนห่อหุ้มตัวอันอ่อนนุ่มของปะการังไว้เป็นชั้นนอก ซึ่งโครงสร้างหินปูนนี้เกิดจากชีวิตเล็กๆ ของปะการังได้สร้างขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ เป็นแผ่น เป็นก้อนหรือมีกิ่งก้าน รูปร่างของปะการังมีหลายแบบ เช่น ปะการังสมอง ปะการังเขากวาง ปะการัง ดอกเห็ด เป็นต้น
ปะการังตัวหนึ่งๆ เมื่อเติบโตเต็มที่จะขยายพันธุ์โดยให้กำเนิดลูกปะการังเล็กๆ ล่องลอยไปตามกระแสน้ำซึ่งสามารถล่องลอยไปกับกระแสน้ำได้ในระยะไกลแสนไกลตราบเท่าที่มันยังไม่ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ทะเลอื่นและไปเกาะจับบริเวณที่เป็นส่วนแข็งของท้องทะเล เช่น ก้อนหิน ปะการังจะเริ่มสร้างโครงสร้างแข็งที่เป็นหินปูนขึ้นห่อหุ้มตัวไว้ และขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนเติบโตเป็นกลุ่มก้อนรูปทรงต่างๆ และเมื่อชีวิตเล็กๆ ของปะการังเกิดขึ้นใหม่ก็จะสร้างโครงแข็งจากโครงร่างเดิมแตกเป็นกิ่งก้านออกไปอยู่ตลอดเวลา ทำให้แนวปะการังค่อยๆ แผ่ขยายออกไปเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ภายใต้น่านน้ำแห่งท้องทะเล ในปีหนึ่งๆ กลุ่มปะการังจะสามารถสร้างโครงสร้างหินปูนได้เพียง 6-7 มิลลิเมตรเท่านั้น กิ่งก้านสาขาของปะการังที่เราเห็นจะเติบโตได้ 10 เซนติเมตรนั้น ก็ต้องใช้เวลาสร้างนาน 10-15 ปี
แนวปะการังมีความเร้นลับซับซ้อนทางกายภาพ เนื่องจากทุกๆ รูและซอกโพรงนั้นจะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่น ได้แก่ ปลา และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทางทะเล เป็นที่อาศัยและค้ำจุนชีวิตของสัตว์น้ำมากกว่า 3,000 ชนิด ชุมชนของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง มีก๊าซไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่สำคัญส่วนหนึ่งผลิตขึ้นโดยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (
blue-green algae) อีกส่วนหนึ่งจะผลิตโดยแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในตะตอนดินในแนวปะการัง ในหญ้าทะเลและในป่าชายเลน
เมื่อไม่นานมานี้ระบบนิเวศแนวปะการังถูกกระทบกระเทือน เนื่องจากปะการังที่เคยมีสีสันสวยงามถูกทำให้มีสีซีดจางลง โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ปรากฏการณ์ปะการังเปลี่ยนสี หรือ ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) โดยในครั้งแรกเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตใน พ.ศ.2522 ซึ่ง ต่อมาได้ขยายไปอย่าง กว้างขวางใน พ.ศ.2534 และปรากฏการณ์นี้ ได้แผ่ขยายไปมากขึ้นในปี พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า เป็นผลกระทบมาจากปรากฏการณ์ เอลนินโญ่ ซึ่งทำให้อุณหภูมิของ โลกและน้ำทะเล สูงขึ้น จนทำให้ปะการัง และสัตว์อื่นในบริเวณ แนวปะการังได้แก่ ดอกไม้ทะเล ถ้วยทะเล และปะการังอ่อน เปลี่ยนจากสีต่างๆ เป็นสีขาวและค่อยๆ ตายไป จากการสำรวจ พบว่า ขณะนี้ปะการังในอ่าวไทยเปลี่ยนสีไปแล้วประมาณ 60-80% 

(ซ้าย) ปะการังที่เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนสี และ (ขวา) ปะการังในสภาวะปกติที่มีสาหร่ายเซลล์เดียวเกาะอยู่


ตามปกติในเนื้อเยื่อชั้นใน (endodermes) ของปะการังมีสาหร่ายเซลล์เดียว เรียกว่า ซูซานเทลลี (zooxanthellae) อาศัยอยู่ สาหร่ายชนิดนี้จะสังเคราะห์แสงให้พลังงานแก่ปะการัง เป็นการอยู่ร่วมกัน แบบภาวะพึ่งพา (mutualismปรากฏการณ์ปะการังเปลี่ยนสีเกิดขึ้นเนื่องจากปะการังและสัตว์ทะเลอื่นๆ ในบริเวณนั้นได้ขับสาหร่ายซูซานเทลลีที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกไป จึงทำให้ปะการังและสัตว์ทะเลเหล่านั้นขาดพลังงานในการดำรงชีวิตจึงค่อยๆ ตายไป เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำทะเลซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ที่ทำให้น้ำทะเลในฝั่งอันดามันเย็นลงแต่ทำให้น้ำทะเลในอ่าวไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนสีของ ปะการังด้วย เช่น การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลในช่วงฤดูฝน จึงเป็นที่วิตกกันว่า ปรากฏการณ์ลานินญา ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำ ให้มีฝนตกมากกว่าปกติจะเป็นเหตุให้มีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลปริมาณมาก การทับถมของตะกอนลงไปในทะเลก็ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญของปะการัง การใช้ทะเลจนทำให้เกิดมลพิษต่างๆ แสงจากดวงอาทิตย์ และการเกิดน้ำขึ้นน้ำลง ล้วนเป็นผลให้ปะการังเกิดการเปลี่ยนสี สิ่งที่น่าตระหนักสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับทะเลก็คือ ควรระวังอย่าให้ท้องทะเลเกิดมลพิษจากวัสดุและสารเคมีต่าง เพราะน้ำทะเลที่สกปรกมีมลพิษจะทำลายปะการัง และไม่ส่งเสริมการทำลายปะการังจากแหล่งธรรมชาติ โดยการนำไปเป็นของที่ระลึก ควรสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการอนุรักษ์แหล่งที่มีปะการังไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง 
สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังเปลี่ยนสี
 
 
 
  • การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิของน้ำทะเล
  • การเพิ่มขึ้นของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ ที่มีลต่อการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายที่เกาะอยู่บนปะการัง
  • การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นกรด
  • การขาดอาหาร เนื่องจากพวกซูโอแพลงก์ตอนลดลง
  • มีการตกตะกอนทับถมมากขึ้น
  • มีการติดเชื้อโรค
  • มีการเปลี่ยนแปลงความเค็ม
  • กระแสลม
  • การสัมผัสกับอากาศในขณะที่เกิดน้ำลง
นักวิชาการจากกรมประมง พบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นกว่าภาวะปกติ 1-3 องศาเซลเซียส เป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังเปลี่ยนสี (coral bleaching) โดยจะทำให้ปะการังขับสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ข้างใน ซึ่งมีหน้าที่สังเคราะห์แสงให้พลังงานแก่ปะการังออกจากตัวปะการังไป ปะการังจึงอ่อนแอและตายลง
ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากหน่วยงานต่างๆ ได้ติดตามทำการศึกษาปะการังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า เกิดจากสาเหตุหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นผิดปกติ อาจเป็นตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อปะการัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นการยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้

 


ที่มาข้อมูล : https://www.gbrmpa.gov.au
https://www.school.net.th
https://www.marinepcd.org
https://en.wikipedia.org/wiki/Coral_bleaching

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1617

อัพเดทล่าสุด