การจัดการเรียนการสอนอย่างมีระบบ


685 ผู้ชม


งานสอนหรือที่ในยุคใหม่นิยมใช้คำว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่หลายคนเคยคิดว่าใครๆก็ทำได้ เพียงแต่ให้มีความรู้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจริงๆเท่านั้นก็จะสามารถเป็นครู   

การจัดการเรียนการสอนอย่างมีระบบ

                งานสอนหรือที่ในยุคใหม่นิยมใช้คำว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้  เป็นสิ่งที่หลายคนเคยคิดว่า

ใครๆก็ทำได้  เพียงแต่ให้มีความรู้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจริงๆเท่านั้นก็จะสามารถเป็นครู หรือผู้สอนได้แล้ว

เรื่องนี้ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด  ที่ง่ายที่สุดคือลองถามตัวท่านเองด้วยคำถาม

ง่ายๆข้างล่างนี้และลองคิดดูว่าจะมีคำตอบเป็นอย่างไร

                1.  เท่าที่ผ่านมาท่านเคยพบคนเก่งที่สอนไม่รู้เรื่องบ้างไหม 

             2.  มีครูในอดีตที่เคยสอนท่านมาได้สร้างความทุกข์ในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆแก่ท่านบ้างหรือไม่               

                3.  ท่านเคยเกลียดบางวิชาเพราะไม่ชอบวิธีการสอนและผู้สอนบ้างหรือไม่

                4.  เคยมีไหมที่เรียนสนุกมาก  แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเลย

                5.  มีครูบางคนไหม ที่สอนให้ท่านรู้อะไรมากเหลือเกิน  แต่ท่านก็ยังทำอะไรไม่ค่อยเป็น

                ยังจะมีคำถามได้อีกมากมายเพื่อจะให้ได้มาซึ่งคำตอบโดยรวมว่า  แท้จริงแล้วงานสอนหรือการ

จัดกระบวนการเรียนรู้  หรือโดยย่อที่สุดคือ "อาชีพครู" นั้นเป็นวิชาชีพชั้นสูงไม่ใช่ว่าใครๆก็ทำได้  โดยเฉพาะ

อย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงผลลัพท์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์ที่จะเกิดขึ้นในตัวผู้เรียน  เพราะผลดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงความรู้  ความจำ  หรือความเข้าใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยแยกเป็นส่วนๆเท่านั้น  แต่หมายรวมถึงความ

สามารถในการบูรณาการ  ผสมผสาน  เชื่อมโยงองค์ความรู้ทั้งหลายเข้าด้วยกันจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์

แก้ปัญหาในชีวิตของตนได้จริงๆ  และที่สำคัญจะต้องควบคู่ไปกับการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้ง ทางกาย  จิตใจ

สังคม  สติปัญญา และทักษะชีวิต  ดังบทกวีอมตะของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ที่ว่า ..

                                                       ใครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้      ใช่อยู่ที่ ปริญญา มหาศาล

                                                 ใช่อยู่ที่ เรียกว่า ครูอาจารย์      ใช่อยูนาน สอนนาน ในโรงเรียน

                                                      ครูคือผู้ ผู้ชี้นำ ทางความคิด     ให้รู้ถูก รู้ผิด คิดอ่านเขียน

                                                  ให้รู้ทุกข์ รู้ยาก รู้พากเพียร      ให้รู้เปลี่ยน แปลงสู้ รู้สร้างงาน

                                                       ครูคือผู้ ยกระดับ วิญญาณมนุษย์   ให้สูงสุด กว่าสัตว์ เดรัจฉาน

                                                  ปลุกสำนึก สั่งสม อุดมการณ์     มีดวงมาน เพื่อมวลชน ใช่ตนเอง

                                                       ครูจึงเป็น นักสร้าง ผู้ยิ่งใหญ่   สร้างคนจริง สร้างคนกล้า สร้างคนเก่ง

                                                  สร้างคนให้ ได้เป็นตัว ของตัวเอง    ขอมอบเพลง นี้มา บูชาครู .

                อ่านทบทวนบทกวีนี้หลายๆครั้ง และคิดตามไปด้วยว่าจะทำได้อย่างไร  คงไม่ง่ายอย่างที่ใครๆคิด

เหตุสำคัญประการหนึ่งเพราะงานครู  เป็นการกระทำกับมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต และจิตวิญญาณ  และมนุษย์

ทุกคนล้วนมีความแตกต่างกันในทุกๆด้าน  การจัดการเรียนการสอนไม่ว่าระดับใดจึงต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์  และความละเอียดรอบคอบ  กอร์ปด้วยใจรักและเมตตาเป็นพื้นฐานสำคัญ  จึงจะทำงานได้สำเร็จ

และที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ  มีการตรวจสอบ  วัดและประเมิน

ผลการดำเนินงาน  เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไป 

ความหมายของระบบ

                ระบบ คือ ภาพส่วนรวมของโครงสร้างหรือของกระบวนการบางอย่าง ที่มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันอยู่ในโครงสร้างหรือกระบวนการนั้น

                ระบบเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ใช้ในการวางแผนและดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุผล

ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

                วิธีระบบ ( System Approach)  มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ

                                1. ข้อมูลวัตถุดิบหรือตัวป้อน ( Input )

                                2. กระบวนการ ( Process)

                                3. ผลผลิต ( Output )

                                4. การตรวจผลย้อนกลับ ( Feedback)

    องค์ประกอบทั้ง 4 ส่วนนี้ จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ดังภาพ

                1. สิ่งที่ป้อนเข้าไป ( Input )

    หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการหรือโครงการต่างๆ เช่น   ในระบบการเรียนการสอนในชั้นเรียน อาจได้แก่ ครู นักเรียน ชั้นเรียน หลักสูตร  ตารางสอน วิธีการสอน เป็นต้น ถ้าในเรื่องระบบหายใจ อาจได้แก่ จมูก ปอด กระบังลม   อากาศ เป็นต้น

2. กระบวนการหรือการดำเนินงาน ( Process)

     หมายถึง การนำเอาสิ่งที่ป้อนเข้าไป มาจัดกระทำให้เกิดผลบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ    เช่น การสอนของครู หรือการให้นักเรียนทำกิจกรรม เป็นต้น

3. ผลผลิต หรือการประเมินผล (Output)     หมายถึง ผลที่ได้จากการกระทำในขั้นที่สอง ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน   หรือผลงานของนักเรียน เป็นต้น

4. การวิเคราะห์ระบบ เป็นวิธีการนำเอาผลที่ได้ ซึ่งเรียกว่า ข้อมูลย้อนกลับ (Feed Back)    จากผลผลิตหรือการประเมินผลมาพิจารณาปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วิธีระบบที่ดี ต้องเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้อย่างประหยัดและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์   เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้  ถ้าระบบใดมีผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพมากกว่า ข้อมูลหรือวัตถุดิบที่ป้อนเข้าไป ก็ถือได้ว่าเป็นระบบที่มีคุณภาพ  ในทางตรงข้ามถ้าระบบใดมีผลผลิตที่ต่ำกว่าข้อมูลหรือวัตถุดิบที่ไปใช้   ก็ถือว่าระบบนั้นมีประสิทธิภาพต่ำ

          ลักษณะสำคัญของวิธีระบบ

1. เป็นการทำงานร่วมกันเป็นคณะของบุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบนั้น ๆ

2. เป็นการแก้ปัญหาโดยการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์

3. เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม

4. เป็นการแก้ปัญหาใหญ่ โดยแบ่งออกเป็นปัญหาย่อย ๆ เพื่อสะดวกในการแก้ปัญหา

                      อันจะเป็นผลให้แก้ปัญหาใหญ่ได้สำเร็จ

5. มุ่งใช้การทดลองให้เห็นจริง

6. เลือกแก้ปัญหาที่พอจะแก้ไขได้และเป็นปัญหาเร่งด่วนก่อน

 การวิเคราะห์ระบบ ( System Analysis )

คือการกระทำหลังจากผลที่ได้ออกมาแล้ว เป็นการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้วยการนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลมาใช้แก้ไขข้อบกพร่องในส่วนต่าง ๆ    การนำข้อมูลย้อนกลับมาใช้ในการวิเคราะห์ระบบ    เป็นส่วนสำคัญของวิธีระบบ ( System Approach) ซึ่งจะขาดองค์ประกอบนี้ไม่ได้  เพราะจะทำให้ขาดการปรับปรุง พัฒนาระบบให้มีมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนของการวิเคราะห์ระบบ

                 1.  กำหนดปัญหา (Identify Problem)

 2.  กำหนดจุดมุ่งหมาย (Objectives)

 3.  ศึกษาข้อจำกัดต่าง ๆ (Constraints)

 4.  สร้างทางเลือก (Alternatives)

 5.  พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม (Selection)

 6.  ทดลองปฏิบัติ (Implementation)

 7.  ประเมินผล (Evaluation)

 8.  ปรับปรุงแก้ไข (Modification)

 ขั้นที่ 1   ขั้นตั้งปัญหาหรือกำหนดปัญหา ในขั้นนี้ต้องศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่าอะไรคือปัญหา ที่ควรแก้ไข

ขั้นที่ 2   ขั้นกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ว่าจะให้ได้ผลในทางใด   มีปริมาณและคุณภาพเพียงใดซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์นี้ควรคำนึงถึง    ความสามารถในการปฏิบัติได้จริงเป็นสำคัญ

ขั้นที่ 3   ขั้นสร้างเครื่องมือวัดผล    การสร้างเครื่องมือนี้จะสร้างหลังจากกำหนดวัตถุประสงค์แล้ว    และต้องสร้างก่อนการทดลองเพื่อจะได้ใช้เครื่องมือนี้ วัดผลได้ตรงตามเวลาและเป็นไปทุกระยะ

ขั้นที่ 4   ค้นหาและเลือกวิธีการต่างๆ ที่จะใช้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้   ควรมองด้วยใจกว้าง  และเป็นธรรม หลาย ๆแง่ หลาย ๆ มุม พิจารณาข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดต่าง ๆที่มีอยู่ให้เห็นชัด

ขั้นที่ 5   เลือกเอาวิธีที่ดีที่สุดจากขั้นที่ 4 เพื่อนำไปทดลองในขั้นต่อไป

ขั้นที่ 6   ขั้นการทดลอง เมื่อเลือกวิธีการใดแล้วก็ลงมือปฏิบัติตามวิธีการนั้น   การทดลองนี้ควรกระทำกับกลุ่มเล็กๆ ก่อนถ้าได้ผลดีจึงค่อยขยายการปฏิบัติงาน ให้กว้างขวางออกไป จะได้ไม่เสียแรงงาน เวลาและเงินทองมากเกินจำเป็น

ขั้นที่ 7   ขั้นการวัดผลและประเมินผล   เมื่อทำการทดลองแล้วก็นำเอาเครื่องมือวัดผลที่สร้างไว้     ในขั้นที่ 3 มาวัดผลเพื่อนำผลไปประเมินดูว่า ปฏิบัติงานสำเร็จตามเป้าหมายเพียงใด      ยังมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข

ขั้นที่ 8   ขั้นการปรับปรุงและขยายการปฏิบัติงาน จากการวัดผลและประเมินผลในขั้นที่ 7      ก็จะทำให้เราทราบว่า การดำเนินงานตามวิธีการที่แล้วมานั้นได้ผลตามวัตถุประสงค์    หรือไม่ เพียงใด จะได้นำมาแก้ไข ปรับปรุงจนกว่าจะได้ผลดีจึงจะขยายการปฏิบัติ   หรือยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป

 ลักษณะของระบบที่ดี

ระบบที่ดีต้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ( efficiency) และมีความยั่งยืน (sustainable) ซึ่งต้องมีลักษณะ 4 ประการคือ

1.  มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ( interact with environment )

2.  มีจุดหมายหรือเป้าประสงค์ ( purpose)

3.  มีการรักษาสภาพตนเอง (self-regulation)

4.  มีการแก้ไขตนเอง ( self-correction )

      ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ( interact with environment ) ระบบทุก ๆ ระบบจะมีปฏิสัมพันธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับโลกรอบ ๆตัว ของระบบ โลกรอบ ๆตัวนี้ เรียกว่า "สิ่งแวดล้อม" การที่ระบบมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนี้เอง  ทำให้ระบบดังกล่าวกลายเป็น ระบบเปิด ( Open system ) กล่าวคือ ระบบจะรับปัจจัยนำเข้า (inputs ) จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นพลังงาน อาหาร ข้อมูล ฯลฯ ระบบจะจัดกระทำเปลี่ยนแปลงปัจจัยนำเข้านี้ให้เป็นผลผลิต ( output ) แล้วส่งกลับไปให้สิ่งแวดล้อมอีกทีหนึ่ง

มีจุดหมายหรือเป้าประสงค์ ( purpose)  ระบบจะต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนแน่นอนสำหรับตัวของมันเอง ระบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นก็มีจุดมุ่งหมายสำหรับตัวของระบบเองอย่างชัดเจนว่า  "เพื่อรักษาสภาพการมีชีวิตไว้ให้ได้ให้ดีที่สุด"   จุดหม่งุหมายนี้ดูออกจะไม่เด่นชัดสำหรับเรานักเพราะเราไม่ใช่ผู้คิดสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาเอง

มีการรักษาสภาพตนเอง (self-regulation)  ลักษณะที่สามของระบบ คือ การที่ระบบสามารถรักษาสภาพของตัวเองให้อยู่ในลักษณะที่คงที่อยู่เสมอ  การรักษาสภาพตนเองทำได้โดยการแลกเปลี่ยนอินพุทและเอาท์พุทกันระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆของระบบหรือระบบย่อย ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ระบบย่อยอาหารของร่างกายมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย องค์ประกอบย่อย ๆ หรือระบบย่อยต่างๆ เช่น ปาก น้ำย่อย น้ำดี หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ฯลฯ

มีการแก้ไขตนเอง ( self-correction ) ลักษณะที่ดีของระบบ คือ มีการแก้ไขและปรับตัวเอง ในการที่ระบบมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมบางครั้งปฏิสัมพันธ์นั้นก็จะทำให้ระบบการรักษาสภาพตัวเอง ต้องย่ำแย่ไป   ระบบก็ต้องมีการแก้ไขและปรับตัวเองเสียใหม่ ตัวอย่างเช่น    การปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับ

อากาศหนาว (สภาพแวดล้อม) อาจจะทำให้เกิดอาการหวัดขึ้นได้ ในสถานการณ์นี้ ถ้าระบบร่างกายไม่สามารถที่จะรักษาสภาพตัวเองได้อย่างดี ร่างกายก็จะต้องสามารถปรับตัวเองเพื่อที่จะต่อสู้กับอาการหวัดนั้นโดยการผลิตภูมิคุ้มกันออกมาต้านหวัด เป็นต้น

                วิธีระบบกับการเรียนการสอน

ตัวป้อน ( Input ) หรือ ปัจจัยนำเข้าระบบ คือ ส่วนประกอบต่างๆ ที่นำเข้าสู่ระบบได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน หลักสูตร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 

ผู้สอน หรือครู เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณลักษณะหลายประการได้แก่คุณลักษณะด้านพุทธิพิสัย เช่น ความรู้ ความสามารถ   ความรู้จำแนกเป็นความรู้ในเนื้อหาสาระที่สอน และความรู้ในเทคนิคการสอนต่างๆ

ผู้เรียน  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในระบบการเรียนการสอน ซึ่งจะบรรลุผลสำเร็จได้ย่อมขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของผู้เรียนหลายประการ เช่น ความถนัด ความรู้พื้นฐานเดิม ความพร้อม  ความสนใจและความพากเพียรในการเรียน  ทักษะในการเรียนรู้ ฯลฯ

หลักสูตร เป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้   หลักสูตรประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการคือ

- วัตถุประสงค์การเรียนรู้

- เนื้อหาสาระที่เรียน

- กิจกรรมการเรียนการสอน (รวมวิธีสอนและสื่อการเรียนการสอน) และ

- การประเมินผล

 สิ่งอำนวยความสะดวก อาจเรียกอีกอย่างว่า "สิ่งแวดล้อมการเรียน" เช่น ห้องเรียน สถานที่เรียน ซึ่งประกอบด้วยโต๊ะ เก้าอี้ แสงสว่าง ฯลฯ

                กระบวนการ ( Process ) ในระบบการเรียนการสอนก็คือ การดำเนินการสอนซึ่งเป็นการนำเอาตัวป้อน เป็นวัตถุดิบในระบบมาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลผลิตตามที่ต้องการ ในการดำเนินการสอน อาจมีกิจกรรมต่างๆ หลายกิจกรรม ได้แก่   การตรวจสอบและเสริมพื้นฐาน   การสร้างความพร้อมในการเรียน  การใช้เทคนิคการสอนต่าง ๆและอาจใช้กิจกรรมเสริม         การตรวจสอบและเสริมพื้นฐาน เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้สอนรู้จักผู้เรียนและได้ข้อสนเทศที่นำมาใช้ ช่วยเหลือผู้เรียนที่ยังขาดพื้นฐานที่จำเป็นก่อนเรียน ให้ได้มีพื้นฐานที่พร้อมที่จะเรียนโดยไม่มีปัญหาใด ๆ  การสร้างความพร้อมในการเรียน เมื่อเริ่มชั่วโมงเรียน โดยทั่วไปแล้ว  จะมีผู้เรียนที่ยังไม่พร้อมที่จะเรียน เช่น พูดคุยกัน  หรือ คิดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน  ถ้าผู้สอนเริ่มบรรยายไปเรื่อยๆ อาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการโดยเฉพาะในช่วงต้นชั่วโมง จึงควรดึงความสนใจของผู้เรียนให้เข้าสู่การเรียนโดยเร็ว ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ใช้คำถาม ใช้สื่อโสตทัศนูปกรณ์ช่วยเร้าความสนใจ หรือยกเรื่องที่เกี่ยวข้องมาเล่าให้ผู้เรียนฟัง

การใช้เทคนิคการสอนต่างๆ ควรทำการสอนโดยใช้เทคนิค วิธีการ และกิจกรรมต่าง ๆ หลาย ๆวิธี

การใช้กิจกรรมเสริม วิธีสอนแต่ละวิธีหรือรูปแบบการสอนแต่ละรูปแบบจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไป ผู้สอนควรพิจารณากิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเสริมกับวิธีสอน เช่น การให้ทำแบบฝึกหัด การให้การเสริมแรง  การใช้คำถามชนิดต่าง ๆ  และการทบทวนสรุป เป็นต้น

                ผลผลิต ( Output ) ผลผลิต คือ ผลที่เกิดขึ้นในระบบ   ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของระบบ สำหรับระบบการเรียนการสอน   ผลผลิตที่ต้องการก็คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนไปในทางที่พึงประสงค์ เป็นการพัฒนาที่ดีในด้าน ต่างๆ  3  ด้านคือ

- พุทธิพิสัย ( Cognitive )

- จิตพิสัย ( Affective ) และ

- ทักษะพิสัย ( Psychomotor )

การติดตามผล ประเมินผล และปรับปรุง เพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สอนจะต้องพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆทั้งหมดในระบบ โดยพิจารณาผลผลิตว่าได้ผล ตามที่มุ่งหวังไว้หรือไม่    มีจุดบกพร่องในส่วนใดที่จะต้องแก้ไข ปรับปรุงบ้าง

                ถ้าหากการจัดการเรียนการสอน  ไม่ว่าในระดับชั้นใด  ดำเนินไปโดยปราศจากการคิดในเชิงระบบ

หรือไม่ได้นำเอาวิธีระบบเข้าไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ก็นับว่าน่าเป็นห่วง  เพราะจะเป็น

การทำงานอย่างไร้เป้าหมายที่ชัดเจน  อันจะนำไปสู่การสูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากร โดยผลที่ได้จะไม่คุ้ม

กับการลงทุน  การตรวจสอบเพื่อพัฒนางานก็จะทำได้ยาก  ที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นการกระทำที่มีผลกระทบ

ต่อชีวิตของผลผลิตของระบบการศึกษา  คือคนไทยที่เป็นผู้เรียนอยู่ในสถานศึกษาทุกระดับชั้น  การกำหนด

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผลผลิต  เพื่อให้ออกไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ  แม้จะกำหนดไว้สวยหรู

เพียงใดก็ตาม  ถ้าปราศจากการจัดการเรียนการสอนที่เป็นระบบ  ก็ยากนักที่จะทำได้สำเร็จ.

 .......................................................................

แหล่งข้อมูล
           มหาวิทยาลัยบูรพา. เอกสารการสอน
           
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1726

อัพเดทล่าสุด