ชาและกาแฟ เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก จากการวิจัยพบว่ามีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (สารต้านอนุมูลอิสระ ) ที่ช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจลงได้
มารู้จัก " สารฟลาโวนอยด์ " สารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในชาและกาแฟ กันค่ะ
นักวิจัยฮอลันดาพบว่า ชาและกาแฟมีสรรพคุณช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจลงได้ หากดื่มพอสัณฐานประมาณ
คอชาที่ดื่มชาวันละไม่ต่ำกว่า 6 ถ้วย จะทำให้ เสี่ยงกับโรคลดน้อยลงไปถึงร้อยละ 36 ยิ่งกว่าคนที่ดื่มเพียงวันละถ้วยเท่านั้น
และผู้ที่ดื่มชาวันละระหว่าง 3-6 ถ้วย ก็จะลดความใกล้ชิดกับโรคได้ร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มแค่วันละถ้วย
สำหรับคอกาแฟ ผู้ที่ดื่มมากปานกลาง วันละ 2-4 ถ้วย จะห่างจากโรค เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มไม่ถึง 2 ถ้วย หรือมากเกินกว่า
วันละ 4 ถ้วย ไปได้ถึงร้อยละ 20 สาเหตุของสรรพคุณของมันนั้น คงมาจากการมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์
แต่หลักฐานเกี่ยวกับการเสี่ยงกับโรคลมอัมพาต และความเสี่ยงกับการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจนั้นยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่นอน
( ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/life/91649)
ภาพชา และ กาแฟ
ฟลาโวนอยด์ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารนี้พบมากในใบชา องุ่น หัวหอม ถั่วเหลือง แอปเปิ้ล ผักต่าง ๆ และเครื่องดื่ม
ที่ได้จากพืช เช่น เหล้าองุ่น ชา โกโก้ น้ำผลไม้ ให้ประโยชน์ต่อร่างกายช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคเรื้อรัง
เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ต้อกระจก อาการอักเสบเรื้อรัง โรคไขข้ออักเสบ (arthritis) และโรคอัลไซเมอร์
(Alzheimer's disease) เป็นต้นค่ะ การดื่มชา กาแฟ ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากไม่น้อยเกินไปก็ทำให้เป็นประโยชน์ต่อ
ร่างกายจากสารฟลาโวนอยด์เหล่านี้ได้ค่ะ
ภาพต้นชาและกาแฟ
เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ทุกระดับชั้น และผู้สนใจทั่วไป
สาระที่ 3 สารและสมบัติของสาร
มาตรฐาน ว 3.1 เข้าใจสมบัติของสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค
มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์
มาตรฐาน ว 3.2 เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกิริยา
มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
เรื่อง ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) : สารประกอบฟีโนลิก(polyphenol)
สมบัติพิเศษ : สารต้านอนุมูลอิสระ
ภาพตัวอย่างโครงสร้างและโมเลกุลของสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เป็นสารกลุ่มที่รู้จักกันทั่วไปเกี่ยวกับความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
(สารประกอบที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชัน) พบในธรรมชาติ โดยเฉพาะในผลไม้ตระกูลส้ม
เบอรี่ หัวหอม ชา โดยเฉพาะชาขาวและชาเขียว ไวน์แดง เป็นต้น
ตัวอย่างสารฟลาโวนอยด์
สารฟลาโวนอยด์ที่น่าสนใจหลายกลุ่มที่มีบทบาทที่สำคัญ Anthocyanidins, Catechins, Flavones,
Isoflavones, Lignin, Tannins
สำหรับฟลาโวนอยด์หลายชนิดที่มีสี ที่จัดอยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์จะมีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีคุณสมบัติ
แตกต่างกันมาก อาจแบ่งฟลาโวนอยด์ออกเป็นกลุ่ม 3 กลุ่มคือ
1) แอนโธซานติน มีสีเหลืองนวล
2)แอนโธไซยานิน มีสีม่วงแดง
3) แทนนิน ไม่มีสี แต่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลได้ง่าย
กลุ่มสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)
เป็นสารที่มีอยู่ในกลุ่มโฟลีฟีนอล (สารประกอบฟีโนลิก)มีบทบาทในการช่วยชะลอความแก่ ต่อต้านการเกิดมะเร็ง และหัวใจได้
สมบัติเฉพาะของสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)
เป็นกลุ่มสารที่ให้สีสันแก่พืช รวมถึงสีสันสวยงามของกลีบดอกไม้ สารกลุ่มนี้สามารถดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเล็ท
ได้ดีและเปล่งออกมา เป็นแสงสีต่างๆของดอกไม้ พืชได้พัฒนากระบวนการสร้างฟลาโวนอยด์ขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายจาก
รังสีอุลตร้าไวโอเล็ท
ภาพเมล็ดกาแฟ
การทำงาน
สามารถทำงานร่วมกับวิตามินซี โดยสามารถเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีได้
นอกจากนี้ฟลาโวนอยด์ยังสัมพันธ์กับการควบคุมการสร้างไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ที่จำเป็นต่อการไหลเวียนโลหิต
รวมทั้งการส่งผ่านสารอาหารให้กับเซลล์ประสาทอีกด้วยโดยปกติธรรมชาติอาจพบอนุพันธุ์ฟลาโวนอยด์ในรูปของ
โพแอนโทไซยานิดิน (Proanthocyanidin) ในบิลเบอร์รี่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการทำลายหลอดเลือดในดวงตา รวมทั้ง
ยังช่วยส่งเสริมระบบไหลเวียนโลหิตอีกด้วย ขณะที่ในชาเขียวจะพบสารฟลาโวนอยด์ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกัน
การทำลายเซลล์จากปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน แอลดีแอล
การต้านอนุมูลอิสระ
สามารถป้องกันความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากอนุมูลอิสระที่ได้มาจากปฏิกริยา Oxidation โดย
สามารถเลือกทานผักและผลไม้สด ชา หัวหอม ถั่วเหลือง ไวน์แดง ซึ่งอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ หรืออาจรับประทาน
สารสกัด ฟลาโวนอยด์เสริมร่วมไปกับสารสกัดเมล็ดองุ่น,สารสกัดเปลือกสนฝรั่งเศส,ไลโคปีน หรือสารสกัดชาเขียว ก็ได้
ขนาดรับประทานที่แนะนำ สารฟลาโวนอยด์ 2-6 กรัมร่วมกับ สารสกัดเมล็ดองุ่นหรือสารสกัดเปลือกสนฝรั่งเศส 50 mg.
และน้ำชาเขียว 3 ถ้วยหรือชาเขียวสกัด 300-400 mg.ทุกวัน
ข้อมูลเพิ่มเติม
สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)
สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) คือ สารประกอบที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชัน
กระบวนการออกซิเดชัน
กระบวนการออกซิเดชันมีได้หลายรูปแบบ เช่น กระบวนการออกซิเดชั่นที่ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม ทำให้แอปเปิ้ล
เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือทำให้น้ำมันพืชเหม็นหืน หรือกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกิดในร่างกาย เช่น การย่อยสลายโปรตีนและ
ไขมันจากอาหารที่กินเข้าไป มลพิษทางอากาศ การหายใจ ควันบุหรี่ รังสียูวี ล้วนทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายของเรา
ซึ่งสร้างความเสียหายต่อร่างกายได้ ในความเป็นจริงไม่มีสารประกอบสารใดสารหนึ่งสามารถป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นได้
ทั้งหมด แต่ละกลไกอาจต้องใช้สารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันในการหยุดกระบวนการออกซิเดชัน ในอีกทางหนึ่ง
กระบวนการออกซิเดชันเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น เราใช้ออกซิเจนจากอากาศที่หายใจเข้าไปไปเผาผลาญ
อาหารที่ร่างกายได้รับให้เป็นพลังงานสำหรับการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ แต่ก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระเป็นผลพลอยได้
อนุมูลอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลที่สำคัญในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน ดีเอ็นเอ ทำให้เกิดความเสียหาย
ต่อโมเลกุลดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น เมื่ออนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับแอลดีแอล (LDL : low-density lipoprotein) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอล
ตัวการทำให้เกิดออกซิไดซ์แอลดีแอล (oxidized LDL) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่า ออกซิไดซ์แอลดีแอลเป็นสาเหตุของการเกิด
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจ
ภาพน้ำชา
อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายเนื่องจากมีมูลเหตุจากออกซิเจน(reactive) reactive oxygen species (ROS)
อนุมูลอิสระที่สำคัญ ได้แก่
ซูเปอร์ออกไซด์ แอนไอออน (superoxide anion) O2-l
ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide); H2O2
ไฮดรอกซิลแรดดิเคิล (hydroxyl radical); lOH
ความสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลายโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง
โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง (เช่น อัลไซเมอร์) เป็นต้น รวมทั้งช่วยชะลอกระบวนการบางขั้นตอนที่ทำให้เกิดความแก่
โดยปกติร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระก่อนที่มันจะทำอันตราย แต่ถ้ามีการสร้างอนุมูลอิสระเร็วหรือมากเกินกว่าร่างกาย
จะกำจัดทัน อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สารต้านอนุมูล
อิสระลดความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้ 2 ทาง คือ
1)ลดการสร้างอนุมูลอิสระในร่างกาย
2)ลดอันตรายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ
ตัวอย่างสารต้านอนุมูลอิสระ
วิตามินซี
วิตามินอี
ซีลีเนียม
บีตาแคโรทีน
วิตามินเอ
พฤกษาเคมีต่าง ๆ (phytochemicals) เช่น สารประกอบฟีโนลิก (polyphenol) ฟลาโวนอยด์ จากชาและสมุนไพร
บางชนิด
ไอโซฟลาโวน (isoflavones) จากถั่วเหลือง
ข้อปฏิบัติเพื่อสุขภาพดี
1. กินผัก ผลไม้ ถั่ว โดยเฉพาะถั่วเหลือง เช่น (เต้าหู้หลอด เต้าหู้แผ่น) และธัญพืชเป็นประจำ
2. ลดการกินไขมัน อย่าให้เกิน ร้อยละ ๓๐ ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน ลดไขมันจากสัตว์
หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มีกรดไขมันกลุ่มทรานส์แฟตตีแอซิด (trans fatty acid) เช่น
มาร์การีน เนยขาว โดนัต มันฝรั่งทอด เลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว
(monounsaturated fatty acid) สูง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันมะกอก
3. กินอาหารให้หลากหลาย กินปลา ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ ลดปริมาณเนื้อแดงที่บริโภคลง
4. ลดอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง ไม่ควรกินเกินวันละ ๓๐๐ มิลลิกรัม
5. เพิ่มการกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าว ธัญพืช มันฝรั่ง
6. ลดอาหารเค็ม ดื่มน้ำสะอาดวันละ ๑-๒ ลิตร
7. ดื่มนมพร่องไขมัน
8. รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
9. ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
10. งดสูบบุหรี่และลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์
11. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
ข้อมูลพิเศษ
ต้นชา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Camellia sinensis
อาณาจักร : Plantae
ส่วน : Magnoliophyta
ชั้น : Magnoliopsida
อันดับ : Ericales
วงศ์ : Theaceae
สกุล : Camellia
สปีชีส์ : C. sinensis
ภาพต้นชา
ชา
ชา เป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้าน ของต้นชา (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธี
แปรรูปหลายหลาย "ชา" ยังหมายรวมถึงเครื่องดื่มกลิ่นหอม ที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่าง ๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน
นอกจากนี้ ชา ยังเป็นเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า
ประเภทของชา
ชา สามารถแยกอย่างง่ายๆ ได้ 6 ประเภท ได้แก่ ชาขาว ชาเหลือง ชาเขียว ชาอูหลง ชาดำ และชาผูเอ่อร์
แต่ที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ชาขาว ชาเขียว ชาอูหลง และชาดำ ซึ่งชาทุกชนิดสามารถทำได้จากต้นชาต้นเดียวกัน
แต่ผ่านกรรมวิธีแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ชาขาวคุณภาพดี ต้องปลูกโดยวิธีพิเศษ ส่วนชาผูเอ่อร์ ซึ่งเป็นชาที่ได้รับ
การหมักบ่ม ยังใช้เป็นยาได้ด้วย
คำว่า "ชาสมุนไพร" นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากสมุนไพร ใบไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ ของพืชอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนผสมจากต้นชา
ส่วนคำว่า "ชาแดง" นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากชาดำ (ใช้เรียกกันในเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น) และ
น้ำที่ชงจากต้นรอยบอส (Rooibos) ของประเทศแอฟริกาใต้
เครื่องดื่มชาที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ได้แก่ ชาไทย ชานม ชามะนาว ชาไข่มุก และชาเขียว
กาแฟ
กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดซึ่งได้จากต้นกาแฟ หรือมักเรียกว่า เมล็ดกาแฟ คั่ว มีการปลูกต้นกาแฟในมากกว่า
70 ประเทศทั่วโลก กาแฟเขียว (กาแฟซึ่งยังไม่ผ่านการคั่ว) เป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรซึ่งมีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก
กาแฟมีส่วนประกอบของคาเฟอีน ทำให้มันมีสรรพคุณชูกำลังในมนุษย์ ปัจจุบัน กาแฟเป็นเครื่องดื่มซึ่งได้รับความนิยม
มากที่สุดในโลก
ภาพกาแฟและขนมปัง
ดังนั้นก็ได้รู้จักสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่อยู่ในพืชชนิดต่าง ๆ รวมทั้งใน ชาและ กาแฟ กันแล้ว
นะคะจะพบว่า ชา กาแฟ ถ้าบริโภคในประมาณที่เหมาะสมก็เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าบริโภคมากเกินไป
ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกันค่ะ
คำถาม VIP ชวนคิด
1. ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เป็นสารกลุ่มใด
2. ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีในพืชชนิดใดบ้าง
3. ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีสมบัติพิเศษอย่างไร
4. ยกตัวอย่างสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
5. ชา กาแฟ มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
1. ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเรื่องฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)เพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต
2. ให้นักเรียนค้นคว้าและนำเสนอประะโยชน์ของชาและกาแฟ และการบริโภคที่ถูกต้องและปลอดภัย
3. กิจกรรมสำรวจชนิดพืชที่มีสารฟลาโวนอยด์ จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
การบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยวกับประโยชน์ของสารฟลาโวนอยด์
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ นักเรียนสำรวจข้อมูล และสถิติในพืชชนิดใดพบสารฟลาโวนอยด์
อยู่มากที่สุด
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ฯ นักเรียนศึกษาสภาพภูมิประเทศที่เหมาะต่อการปลูกชา กาแฟ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา นักเรียนออกกำลังกายเล่นกีฬาเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี นักเรียนปลูกต้นชา และ กาแฟ และพืชที่มีสารฟลาโวนอยด์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ นักเรียนวาดภาพโครงสร้างของฟลาโวนอยด์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ นักเรียนเขียนชื่อภาษาอังกฤษของสารฟลาโวนอยด์
ภาพหนอนใบชา (ชิมเมโจได)
ขอขอบคุณ
แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพประกอบ ดังนี้
1. https://www.thairath.co.th/content/life/91649
2. https://www.enzo.co.nz/assets/chemistry/flavonoid%20structure.jpg
3. https://www.3dchem.com/molecules.asp?ID=445
4. https://www.doctor.or.th/node/1346
5. https://th.wikipedia.org/wiki/ชา
6. https://th.wikipedia.org/wiki/ต้นชา
7. https://th.wikipedia.org/wiki/กาแฟ
8. https://www.thaigoodview.com/files/u4232/ka.jpg
9. https://www.siamdara.com/Picture_Girl/200904208740680.jpg
10.https://www.healthcorners.com/2007/webboard/topic/1202521215_2830.jpg
11. https://i123.photobucket.com/albums/o301/monthly_album/1_resize.jpg
12. https://4.bp.blogspot.com/_Bl94xj5Ekw8/SfivRxKap8I/AAAAAAAAAUk/Hw_sn0xA22M/s320/green_tea%5B1%5D.jpg
13. https://4.bp.blogspot.com/_Bl94xj5Ekw8/SfivRxKap8I/AAAAAAAAAUk/Hw_sn0xA22M/s320/green_tea%5B1%5D.jpg
14. https://www.cgcraft.co.th/imagesn/up/fwd/275.jpg
15. https://kendo.212cafe.com/user_blog/kendo/picture/1169543361.jpg
16. https://www.pixprosranking.net/picture/display/8_5584_1258330672.jpg
17. https://www.skn.ac.th/skl/project/nevad59/t2.gif
18. https://learners.in.th/file/man_b25/11.jpg
19. https://www.healthcorners.com/2007/webboard/topic/1182390682_8590.jpg
20.https://www.bloggang.com/data/saihawi/picture/1122058547.jpg
21.https://www.oknation.net/blog/wankung/2009/10/01/entry-1
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2814