พิธีกรรม ความเชื่อศรัทธา สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
การเลี้ยงดง พิธีโบราณล้านนา
เทศบาลต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ร่วมกับชาวบ้านได้จัดงานประเพณีสืบสานตำนาน "การเลี้ยงดง" ซึ่งเป็นพิธีกรรมบูชายัญด้วยกระบือ บวงสรวง ดวงวิญญาณของ ปู่แสะ - ย่าแสะ ผู้ปกป้องดอยคำ และเมืองเชียงใหม่ (ที่มา หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ ที่ 8 มิ.ย. 52 )
จากข่าวสู่การศึกษาเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวล้านนา ที่หลายคนยังไม่ทราบ ประเพณีความเชื่อ ศรัทธา ของจิตใจ เรามาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเปิดโลกทัศน์ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภายใต้หัวใจคนไทยด้วยกัน
สาระการเรียนรู้
พิธีกรรมความเชื่อทางศิลปวัฒนธรรม (พิธีกรรมการเลี้ยงดง บูชาสังเวยผีปู่แสะ ย่าแสะ)
ร่างทรง ปู่แสะ (ที่มาภาพ)
ความเป็นมา และความสำคัญ ของพิธีกรรมเลี้ยงดง
สำหรับพิธีกรรมเลี้ยงดง ของชาวเชียงใหม่นั้นจัดขึ้นติดต่อกัน 100 กว่าปีแล้ว โดยตำนานปู่แสะย่าแสะ ในอดีตมีเมืองหนึ่งชื่อ บุพพนคร เป็นเมืองชนเผ่าลัวะ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง ชาวบ้านแห่งนี้อยู่กันแบบไม่เป็นสุขเพราะถูกยักษ์ 3 ตน ยักษ์พ่อแม่ลูก จับเอาชาวเมืองไปกินทุกวันๆ จนชาวเมืองต้องหนีออกจากเมืองเนื่องจากกลัวยักษ์ ต่อมาพระพุทธเจ้า รับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมืองลัวะ จึงได้เสด็จมาโปรดและแสดงอภินิหาร แสดงธรรม
ให้ยักษ์สามตนได้เห็น จนยักษ์สามตนนั้นเกิดความเลื่อมใส และให้ยักษ์ทั้งสามตนสมาทานศีลห้าสืบไป ต่อมายักษ์ทั้งสามตนนึกได้ว่าพวกตนเป็นยักษ์ต้องประทังชีวิตด้วยการกินเนื้อ จึงได้ขอพระพุทธเจ้ากินควายปีละ 1 ตัว พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ยักษ์ทั้งสามตนจึงได้ไปขอกับเจ้าเมืองลัวะ ซึ่งทางเจ้าเมืองก็ได้นำควายมาถวายให้ปีละ 1 ตัว และยักษ์ก็จะดูแลชาวบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป ซึ่งยักษ์ตัวพ่อชื่อปู่แสะ ยักษ์ตัวแม่ชื่อย่าแสะ หลังสิ้นสมัยปู่แสะย่าแสะ
แล้วชาวบ้านชาวเมืองก็ยังเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์อยู่และหวังให้ปู่แสะย่าแสะ ช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา พร้อมช่วยกันดูแลชาวบ้านชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงได้มีพิธีเซ่นดวงวิญญานที่เรียกกันว่า เลี้ยงดง ตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
(ที่มาข้อมูล https://chiangmainews.co.th )
และอีกตำนานกล่าวไว้ว่า เป็นตำนานที่ปฏิบัติ ด้วยแรงศรัทธาและความเชื่อ พิธีบวงสรวงปู่แสะ ย่าแสะ หรือ ประเพณีเลี้ยงดงการกินเลือดและเนื้อควายสดๆ ของร่างทรงปู่แสะ เป็นพิธีที่ชาว ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สืบทอดกันมาหลายร้อยปี โดยพิธีบวงสรวงปู่แสะ ย่าแสะ หรือประเพณีเลี้ยงดงนั้น จะจัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี
อัญเชิญพระบฏ (ที่มาภาพ)
โดยพิธีกรรมเริ่มขึ้นที่ศาลปู่และย่าแสะ ที่เชิงเขาวัดดอยคำ เพื่ออัญเชิญพระบฏหรือ ภาพเขียนพระพุทธเจ้าและดวงวิญญาณปู่แสะย่าแสะผ่านร่างทรงที่เรียกว่า "ม้าขี่" ไปยังสถานที่จัดพิธีเลี้ยงดง บริเวณป่าเชิงเขาทางทิศตะวันออกของวัดพระธาตุดอยคำ
สำหรับเรื่องราวของปู่แสะ ย่าแสะนั้น เล่าสืบต่อกันมาว่า ปู่แสะย่าแสะคือยักษ์ 2 ตนที่อยู่ในตำนาน เป็นยักษ์นิสัยดุร้าย ชอบกินเนื้อคนและสัตว์เป็นอาหาร เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดสัตว์ ทราบความเข้าจึงห้ามยักษ์สองตนไม่ให้กินคน ยักษ์จึงต่อรองขอกินสัตว์หูยาวแทนและเมื่อละเว้นการฆ่าคนได้ พระพุทธเจ้าจึงให้ยักษ์ 2 ตน เป็นผู้ดูแลรักษาดอยคำและ ดอยสุเทพให้ผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่บนดอยนั้นอยู่เย็นเป็นสุข
ต่อมาในสมัยของพระเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทุกข์เข็ญอย่างมาก จึงเชื่อกันว่าเพราะเจ้าเมืองไม่มีการทำพิธีเซ่นไหว้ปู่แสะ ย่าแสะ
(ที่มาภาพ)
ร่างทรงปู่แสะ ซดเลือดและเนื้อสดๆ ที่มาภาพ
กระทั่งในสมัยของเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ในราวปี พ.ศ.2452-2482 จึงได้มีการฟื้นฟูประเพณีเลี้ยงดงหรือ พิธีบวงสรวงปู่แสะย่าแสะ ขึ้นอีกครั้งทำให้บ้านเมืองมีความเจริญ และปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน พิธีดังกล่าว จะใช้เครื่องเซ่นไหว้ คือ ควายรุ่น เขาเพียงหู กีบเท้าสีน้ำผึ้ง กล่าวคือยังไม่เคยลงไถคราดดิน มาชำแหละเอาเครื่องในออกและนำตัวมานอนแผ่ไว้ในคอก โดยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มขึ้นเมื่อดึงผ้าพระบฏหรือภาพวาดพระพุทธเจ้าที่มีอายุกว่าร้อยปีขึ้นสู่ต้นไม้และแกว่งไปมา
ที่มาภาพ
ทั้งนี้มาจากตำนานที่เล่าไว้ว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้กับยักษ์ปู่แสะย่าแสะว่า ตราบใดที่เราตถาคตยังเคลื่อนไหวอยู่ ห้ามยักษ์นั้นกินเนื้อมนุษย์และทำร้ายมนุษย์ จากนั้นเมื่อปู่แสะลงร่างทรง ร่างทรงปู่แสะก็จะลงมากินเนื้อควายสดๆ และดื่มเลือดควายอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมเดินไปรอบๆ เนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบเลือดและเศษเนื้อควาย นอกจากนี้ยังพูดคุยเสียงดังด้วยภาษาพื้นเมือง ซึ่งใจความว่า มนุษย์พวกนั้น ที่มันอยู่ที่นี่ แล้วเอาที่ไปขายกิน มันจงพินาศฉิบหาย กูจะไปกินมัน นอกจากนั้นร่างทรงปู่แสะ ยังสั่งสอนเตือนสติชาวบ้านให้ประกอบแต่กรรมดีและรู้จักรักและหวงแหนผืนป่า
ร่างทรงดืมเครื่องเซ่นสังเวย (ที่มาภาพ)
นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกอบต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดงานปีนี้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของพิธีบวงสรวงปู่แสะย่าแสะว่า ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้อายุ 41 ปี ก็ได้เห็นพิธีกรรมดังกล่าวมาโดยตลอด
"พิธีกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชาวบ้าน ไม่แตกต่างจากพิธีกรรมอื่นๆ แต่ที่ดูแปลกและเป็นที่พูดถึงกันมาก
คงเป็นเรื่องของเครื่องเซ่นไหว้ที่เป็นเนื้อควายสด เลือดควายสด" อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงหัวใจของพิธีก็เพื่อให้ผู้มาร่วมพิธีกรรมและทุกคนประกอบแต่กรรมดี และรู้สึกสำนึกรักษ์ป่าและผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัย
(ที่มาข้อมูล )
<ที่มาภาพ>
ขั้นตอนพิธีกรรม
เริ่มจากการเตรียมจัดหาร่างทรง และกระบือดำ หรือควายและจัดซื้อข้าวของสำหรับใช้ในการประกอบพิธีกรรมใน ประเพณีเลี้ยงดง โดยมีเครื่องสักการะ ได้แก่ หม้อดินเผา 4 ใบ สุรา กล้วย 4 หวี มะพร้าว 2 คู่เสื้อผ้าหมากพลู ข้าวตอกดอกไม้ ซึ่งประเพณีเลี้ยงดงนี้เป็นประเพณีที่ชาวบ้านต้องฆ่าควายเพื่อถวายให้ผียักษ์ 2 ตน คือ" ผีปู่แสะ"และ"ย่าแสะ" เพราะเชื่อกันว่าเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล หากปีไหนไม่ฆ่าควายเซ่นผี เชื่อว่าจะทำให้เกิดโรคระบาดและเกิดทุกข์ภัยขึ้นได้
ร่างทรง ย่าแสะ (ที่มาภาพ)
จากนั้น ขั้นตอนของพิธีเริ่มจากการนำควายดำตัวผู้ ที่มีลักษณะเขายาวเท่าหู จะถูกพามาเชือดที่บริเวณลานโล่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดง จากนั้นจะมีการแห่พระบฏ (ผ้าซึ่งเป็นภาพของพระพุทธเจ้า ปางห้ามญาติ อายุเก่าแก่ประมาณ 100 ปี) เข้ามาที่ดง เพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า
จากนั้นจะมีผู้เฒ่าผู้แก่เชิญวิญญาณผีปู่แสะย่าแสะ และเหล่าบรรดาลูกๆ อีก 32 ตนมาเข้าร่างทรงซึ่งไม่เปิดเผยชื่อสลับกับเสียงพระสวด โดยเริ่มจากผีปู่แสะก่อน เมื่อผีเข้าร่างทรงก็จะเข้ามากัดกินเนื้อควายดิบ และของเซ่นอื่นๆ
ที่มาภาพ
คำถามชวนคิด
- วัฒนธรรมประเพณีมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างไร
- ยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่ต้องการศึกษาอะไรอีกบ้าง
- เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม
บูรณาการสาระการเรียนรู้
ภาษาไทย การใช้ภาษา
วิทยาศาสตร์ กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์
สุขศึกษาฯ สุขภาพอนามัย
สังคมฯ วัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์
กิจกรรมสานต่อ
- ศึกษาแนวคิดที่ปลูกฝังทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา
- นำเข้าศึกษาจากพิธีกรรมจริงหากมีโอกาสความเหมาะสม
- อธิบายประสบการณ์การร่วมวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ
- ร่วมแสดงความคิดเห็น ตามแนวความคิดอย่างสร้างสรรค์
ศึกษาข้อมูล เพิ่มเติม
www.amulet1.com
www.human.cmu.ac.th
อ้างอิง
https://chiangmainews.co.th
www.human.cmu.ac.th
www.statelessperson.com
www.human.cmu.ac.th
www.pantip.com
www.oknation.net
https://2.bp.blogspot.com
www.amulet1.com
www.chiangmainews.com
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=658