ซอสามสาย


603 ผู้ชม


ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรไทยที่ให้ความไพเราะและเสียงโหยหวน   
ซอสามสาย

การใช้คันชักซอสามสาย
         ความ สำคัญของการบรรเลงซอสามสายให้ได้ดีนั้น การใช้คันชักเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากคุณภาพของเสียงซอ ที่ออกมาขณะที่สีซอสามสาย ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก และความเร็วของคันชัก มีข้อควรระวังในการสีซอสามสายก็คือต้องบังคับให้คันชัก อยู่ในแนวตรงขนานกับพื้นตลอดเวลา ห้ามเปลี่ยนแนวคันชัก หากจะเปลี่ยนจังหวะในการสีไปยังสายอื่น ก็ให้พลิกซอเพื่อเปลี่ยนสายไปหาคันชักนั้น 
การจับซอและการวางนิ้ว ในการสีซอสามสาย

การจับซอ ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายค้ำคันทวน เพื่อที่จะให้นิ้วมีกำลังที่จะบังคับซอให้พลิกหรือหมุนได้ ในระหว่างการบรรเลง โดยให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ซ้าย เป็นตัวบังคับซอได้

การวางนิ้ว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สายเอก สายเปล่า มีเสียง ซอล 
นิ้วชี้ มีเสียง ลา
นิ้วกลาง มีเสียง ที
นิ้วนาง มีเสียง โด
นิ้วก้อย มีเสียง เร (สูง)
นิ้วก้อย (รูด) มีเสียง มี (สูง)

หมายเหตุ ทุกนิ้วบนสายเอกของซอสามสาย ให้ใช้ปลายนิ้วแตะข้างสาย แล้วแทงขึ้น ไม่ใช้กดลงไปบน

สาย

สายกลาง สายเปล่า มีเสียง เร
(สายสอง) นิ้วชี้ มีเสียง มี
นิ้วกลาง มีเสียง ฟา
นิ้วนาง มีเสียง ซอล
ใช้ปลายนิ้วกดลงไปบนสาย
สายทุ้ม สายเปล่า มีเสียง ลา
(สายสาม) นิ้วชี้ มีเสียง ที
นิ้วกลาง มีเสียง โด
นิ้วนาง มีเสียง เร

วิธีแบ่งคันชักซอสามสาย

โดยปกติคันชักซอ ไม่ว่าจะเป็น ซอด้วง ซออู้ หรือ ซอสามสาย จะแบ่งคันชักออกได้เป็น 4 ส่วน การใช้คันชักจะมีชื่อเรียกดังนี้

1.       ใช้เต็มคันชัก เรียกว่า คันชักสี่ หมายความว่า เมื่อเริ่มต้นคันชักออกอยู่ในจังหวะฉิ่ง และเมื่อดันคันชักเข้าจะอยู่ในจังหวะฉับ

2.       ใช้ครึ่งคันชัก เรียกว่า คันชักสอง

3.       ใช้ ? คันชักเรียกว่า คันชักหนึ่ง

4.       ใช้ส่วนปลาย หรือ โคนคันชัก ร่วมกับคันชักสี่ เรียกว่า คันชัก หก

5.       ใช้เต็มคันชัก แต่กดนิ้วเป็นแปดเสียง เรียกว่าคันชักแปด

 หลักเกณฑ์การฝึกซอสามสาย

หลักการฝึกหัดซอ สามสายนั้น ท่านกล่าวไว้เป็นเชิงปริศนาว่า “สีซอให้เป็นทั้งสามท่า” หรือสามเพลง คำว่าท่า หมายความว่า มุ่งหมายถึงการสีแบบ ท่าพระ ท่านาง ท่ายักษ์ ส่วนคำว่าเพลง หมายถึงการสี แบบขับไม้ สีแบบไกวเปล และ สีแบบฉุยฉาย

การสีแบบขับไม้ มีหลักการสีที่สำคัญคือ ต้องพยายามสีเคล้าไปกับเสียงของคนขับลำนำ และผู้สีต้องใช้เสียงซอสนับสนุนให้สอดคล้องไปกับทำนองเพลง เพื่อเป็นการเสริมให้การขับร้อง หรือการขับลำนำนั้น มีชีวิตชีวา ผู้สีซอแบบขับไม้นี้ จะต้องเรียนรู้หลักการใช้คันชักด้วยว่า มีคันชักอะไรบ้าง เช่น คันชักสอง คันชักสี่ คันชักหก คันชักน้ำไหล คันชักงูเลื้อย เป็นต้น

การสีแบบไกวเปล เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการสีแบบลำลอง ผู้เริ่มหัดซอสามสายจะต้องฝึกหัดการสีแบบไกวเปลนี้เป็นเบื้องแรก ลักษณะของการสีเปรียบเสมือนกับการไกวของเปล ไป-มาให้สม่ำเสมอ ไม่ตะกุกตะกัก โดยสีไป-มาให้เท่าๆกัน ส่วนวิธีใช้คันสี ให้ใช้อัตรา 2-4 เป็นหลัก และต้องสีให้ซอมีเสียงดังทั้งต้นคันชัก และปลายคันชัก ทั้งไปและมาให้สม่ำเสมอมีเสียงเดียวกันตลอด

การสีแบบฉุยฉาย การสีแบบนี้ ผู้สีจะต้องบังคับเสียงซอ ให้มีความชัดเจนชัดถ้อยชัดคำ กับการขับร้องและบทร้องนั้น ทุกจังหวะทุกตอนและทุกกิริยา ผู้สีจะต้องสีและแสดงอารมณ์ ให้เหมือนกับการขับร้องทุกขั้นทุกตอน จนผู้ฟังไม่รู้ว่าอะไรเป็นเสียงซอ อะไรเป็นเสียงขับร้อง หากปฏิบัติได้ดังนี้ก็นับว่าเป็นผู้มีฝีมือคนหนึ่ง
นอกจากนั้นการฝึกซอสามสายให้ได้ดีนั้น จะต้องรู้จักนิ้วที่จะใช้ในเพลงด้วย เช่น นิ้วชุน นิ้ว แอ้ นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วประ นิ้วพรม และยังมีกลเม็ดอื่นๆอีก เช่น การเปิดซอ การชงักซอ ซึ่งจะต้องประกอบกับการใช้คันชักซอ ในการสีดังนี้ การใช้คันสีสายน้ำไหล เป็นการสีให้เสมือนประดุจสายน้ำที่ไหล โดยปราศจากเกาะแก่งไม่ขาดสาย ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า กระแสเสียงที่ออกไปไม่ขาดสาย ประดุจสายน้ำที่ไหลไปจนจบเพลง
การใช้คันสี งูเลื้อย เป็นการสีให้มีลักษณะเหมือนกับการเลื้อยของงู เนื่องด้วยงูนั้นยิ่งมีพิษร้าย จะมีลักษณะการเลื้อยที่เชื่องช้าน่าเกรงขาม ไม่หวั่นต่อศัตรู การสีแบบงูเลื้อยนี้ ลักษณะของเสียงซอที่ออกมา จะดังกังวานเป็นอย่างยิ่ง การใช้คันสีสะอึก การสีแบบนี้ผู้สีมีความประสงค์จะให้เสียงซอที่ออกมาขาดจังหวะ ทำให้ทำนองเพลงสะดุดหยุดลงในขณะนั้นอย่างเด็ดขาด เป็นช่วงๆ

การ ใช้คันสีผิด และคันสีถูก คันสีของซอสามสายนั้น เมื่อดึงออกมาเรียกว่า “คันสีเกิด”ซึ่งจะตรงกับจังหวะ ฉิ่ง เมื่อดันคันสีเข้าไป เรียกว่า “คันสีดับ” จะตรงกับจังหวะ ฉับ ผู้สีซอสามสายจะต้องคำนึง และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย

ที่มา  https://music_thai.igetweb.com/index.php?mo=3&art=503058
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3332

อัพเดทล่าสุด