ภาวะโลกร้อน...เรื่องน่ากลัวจัง เรามาสร้างฝายชะลอน้ำลดโลกร้อนกันเถอะ
บทนำ
ทุกวันนี้ภาวะโลกร้อน(Global Warming) เป็นปัญหาที่คนทั้งโลกพากันตระหนักและตื่นกลัวกัน ภาวะโลกร้อน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์เราที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การเผาป่า การเผาขยะ
สิ่งที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้โลกของเราลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร กิจกรรมอันหนึ่งที่จะทำให้ผืนป่ามีความชุ่มชื้น ลดปัญหาไฟป่า ส่งผลที่ตามมาคือการดูดกลืนก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ลดอุณหภูมิอีกต่อหนึ่ง นั่นคือการสร้างฝายชะลอน้ำ
ที่มา : https://greenworld.igetweb.com
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ช่วงชั้นที่ 3 , 4
ฝายชะลอน้ำ (Check Dam)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้ทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า Check Dam หรือ ฝายชะลอน้ำนั่นเอง ฝายชะลอน้ำ คือการสร้างสิ่งขวางกั้นทางเดินของน้ำ ใช้กับลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวีธีการหนึ่ง
ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ กระทำได้ 3 รูปแบบ คือ
1. ฝายชะลอน้ำแบบท้องถิ่นเบื้องต้น เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้และท่อนไม้ล้มขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่าง ๆ ในลำห้วย ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบง่าย ก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำ ซึ่งสามารถดักตะกอนชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณรอบฝายได้เป็นอย่างดี การก่อสร้าง Check Dam แบบง่ายนี้สามารถทำ
2. ฝายชะลอน้ำแบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดีบางส่วน
3. ฝายชะลอน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างเฉลี่ยประมาณ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ขนาดของลำห้วยซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน 4 เมตร
ประโยชน์จาก ฝายชะลอน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
1. ลดการพังทลายของดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีมากขึ้น และแผ่ขยายกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำห้วย
2. กักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง คุณภาพของน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง
3. เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ จากการที่ความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น ความหนาแน่นของพันธุ์พืชก็ย่อมจะมีมากขึ้น
4. ผลทางอ้อมเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนนำไปใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย
ฝายชะลอน้ำจึงนับเป็นพระราชดำริที่เป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ที่ยังประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติทั้งมวล
ที่มา : https://www.nayokcity.com
ตัวอย่างการสร้างฝายชะลอน้ำที่ลำน้ำห้วยหก อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
รูปแบบและลักษณะของฝายชะลอน้ำนั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด ใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็ก ๆ เป็นระยะ ๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชี้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ
การดำเนินงานโดยทางอำเภอบ้านธิ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในอ.บ้านธิ เช่น เทศบาลต.บ้านธิ อบต.ห้วยยาบ โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยา อสม. สถานีตำตรวจภูธรบ้านธิ กำนันผู้ใหญ่บ้าน กศน. สภาเด็ก ลูกเสือชาวบ้าน พ่อค้าประชาชน โรงเรียนเทคโนโลยีหมู่ครูภาคเหนือ และมหาวิทยาลัยธนบุรี ชมรมจักรยาน ชมรมเอ็นดูโร่ลำพูน ต่างร่วมแรงร่วมใจเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (12 สิงหา 2552)
บุกป่าฝ่าดงกว่าจะไปถึงจุดหมาย
โรงเรียนป่าตาลบ้านธิพิทยาร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
1.ฝายชะลอน้ำลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร
2.ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ กระทำได้ 3 รูปแบบ อะไรบ้าง
3.ประโยชน์จากฝายชะลอน้ำมีอะไรบ้าง
กิจกรรมเสนอแนะ
1.สร้างองค์ความรู้ก่อนไปปฏิบัติจริง
2.ร่วมทำกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำ
3.ติดตามและประเมินผล
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
สามารถกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาพลศึกษา
อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล / ภาพประกอบ
https://greenworld.igetweb.com
https://www.nayokcity.com
https://www.lannabiketrip.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2270