สบายดี...ประเทศลาว


1,150 ผู้ชม


ประเทศลาวกับประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้านพี่เมืองน้องกัน มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ครั้งอดีตมีวัฒนธรรมคล้ายกับประเทศไทยมากที่สุด   

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม   ช่วงชั้นที่ 3 , 4  
        สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน     ได้ดำเนินการรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึก“คิดก่อนใช้พลังงาน” แก่ประชาชนและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง  โดย ได้จัดโครงการสัมมนาเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ เรื่อง    “พลังงานและการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า”   ให้กับกลุ่มอาจารย์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงาน สถานการณ์พลังงานประเทศ  และนโยบายด้านการกระจายเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า  รวมทั้งจัดประกวดแผนการเรียนและสื่อประกอบการเรียนรู้ เรื่อง “พลังงานและการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าและการกระจายเชื้อเพลิงของประเทศไทย”  

        ผลการประกวดและมอบรางวัล ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2552  โดยมีครูส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วประเทศ   และผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด  ได้รับสิทธิ์ไปทัศนศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าที่จังหวัดลำปาง – พิจิตร - พิษณุโลก - ขอนแก่น และ เขื่อนน้ำงึม เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาวรวมระยะเวลา 4 วัน 3 คืน   ในที่นี้จะขอนำเรื่องราวที่ได้ไปศึกษาดูงานที่ประทศลาวหรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  คณะที่เดินทางไปทัศนศึกษาครั้งนี้มีทั้งหมดรวมทั้งสื่อมวลชนประมาณ 70 ท่าน จากการติดต่อประสานงานงานโดยทีมงานจากบริษัทDY2   การเดินทางเริ่มข้ามไปยังประเทศลาวจากสะพานมิตรภาพที่จังหวัดหนองคาย

สบายดี...ประเทศลาวสบายดี...ประเทศลาว

                         ประตูเข้าสู่ประเทศลาว                                      สภาพการจราจรในนครเวียงจันทน์

สบายดี...ประเทศลาวสบายดี...ประเทศลาว

                          ร้านขายเครื่องย่อย หรือร้านขายของชำนั่นเอง  สินค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยของเรา

สบายดี...ประเทศลาวสบายดี...ประเทศลาว

เขื่อนน้ำงึม  เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่เราซื้อไฟฟ้าจากที่นี่มาใช้            คณะพวกเราที่มาดูงาน

สบายดี...ประเทศลาวสบายดี...ประเทศลาว

พระธาตุหลวงสัญลักษณ์ของเวียงจันทร์ชมศิลปะแบบล้านช้าง      ประตูชัยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะและอธิปไตย


        ประเทศลาวหรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People's Democratic Republic) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดจีนและพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก
ในภาษาอังกฤษ คำว่าลาว ที่หมายถึงประเทศสะกดว่า "Laos" และ ลาวที่หมายถึงคนลาว และภาษาลาวใช้ "Lao" ในบางครั้งจะเห็นมีการใช้คำว่า "Laotian" แทนเนื่องจากป้องกันการสับสนกับเชื้อชาติลาว ที่สะกด "Lao ethnic group"

สบายดี...ประเทศลาวสบายดี...ประเทศลาว

                                ธงชาติ                                                ตราแผ่นดิน


ลักษณะภูมิประเทศ
        ประเทศลาวเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างละติจูดที่ 14 - 23 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 100 - 108 องศาตะวันออก มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 236,800 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 230,800 ตารางกิโลเมตร ภาคพื้นน้ำ 6,000 km? โดยลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนื่องด้วยตลอดแนวชายแดนของประเทศลาว ซึ่งมีความยาวรวม 5,083 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ดังนี้ประเทศจีนทางด้านทิศเหนือ    ประเทศไทยทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก    ประเทศกัมพูชาทางด้านทิศใต้   ประเทศเวียดนามทางด้านทิศตะวันออก   ประเทศพม่าทางด้านทิศตะวันตก
ความยาวพื้นที่ประเทศลาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ยาวประมาณ 1,700 กว่ากิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดกว้าง 500 กิโลเมตร และที่แคบที่สุด 140 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมด 236,800 ตารางกิโลเมตร

ภูมิประเทศของลาวแบ่งได้ 3 เขต คือ
        1. เขตภูเขาสูง เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป พื้นที่นี้อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ 
        2. เขตที่ราบสูง คือพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,000 เมตร ปรากฏตั้งแต่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองพวนไปจนถึงชายแดนกัมพูชา เขตที่ราบสูงนี้มีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง), ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงบริเวณ (ภาคใต้) 
        3. เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่างๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเขตพื้นที่ทั้ง 3 เขต นับเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ แนวที่ราบลุ่มเหล่านี้เริ่มปรากฏตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำงึม เรียกว่า ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ผ่านที่ราบลุ่มสะหวันนะเขด ซึ่งอยู่ตอนใต้เซบั้งไฟและเซบั้งเหียง และที่ราบจำปาสักทางภาคใต้ของลาว ซึ่งปรากฏตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนจดชายแดนประเทศกัมพูชา 

แม่น้ำสายสำคัญ
        ประเทศลาวมีแม่น้ำสายสำคัญอยู่หลายสาย โดยแม่น้ำซึ่งเป็นสายหัวใจหลักของประเทศคือแม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศลาวเป็นระยะทาง 1,835 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสำคัญทั้งในด้านเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมจากลาวเหนือไปจนถึงลาวใต้ และการใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ แม่น้ำสายสำคัญของลาวแห่งอื่นๆ ยังได้แก่  แม่น้ำอู   แม่น้ำงึม   แม่น้ำเซบั้งเหียง   แม่น้ำทา   แม่น้ำเซกองแม่น้ำเซบั้งไฟ   แม่น้ำแบ่ง   แม่น้ำเซโดน   แม่น้ำเซละนอง    แม่น้ำกะดิ่ง   แม่น้ำคาน

ลักษณะภูมิอากาศ
        สปป. ลาวอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน มีลมมรสุมแต่ไม่มีลมพายุ สำหรับเขตภูเขาภาคเหนือ และ เขตเทือกเขา อากาศมีลักษณะกึ่งร้อนกึ่งหนาว อุณหภูมิสะสมเฉลี่ยประจำปีสูงถึง 15-30 องศาเซลเซียส และความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนมีประมาณ 10 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีของแต่เขตก็แตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น เขตเทือกเขาบริเวณทางใต้ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 300 เซนติเมตร ขณะที่บริเวณแขวงเซียงขวาง   แขวงหลวงพะบาง แขวงไซยะบุลี ได้รับเพียงแค่ 100 - 150 เซนติเมตร ส่วนแขวงเวียงจันและสะหวันนะเขดในช่วง 150 - 200 เซนติเมตร เช่นเดียวกับแขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้ว

ประวัติศาสตร์
        ประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของลาว เชื่อว่าอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรน่านเจ้ามีตำนานโดยขุนบรม และขุนลอ มีลูกสืบหลานต่อๆ กันมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มผู้รวบรวมอาณาจักรล้านช้างได้เป็นผลสำเร็จในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 และมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ ที่สำคัญ เช่นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช 
        ภายหลังเมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตแล้ว เชื้อพระวงศ์ลาวต่างก็แก่งแย่งราชสมบัติกัน จนอาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วนคือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และเพื่อชิงความเป็นใหญ่ต่างก็ขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น ไทย พม่า เพื่อขอกำลังมาสยบอาณาจักรลาวด้วยกันในลักษณะนี้ ในที่สุดอาณาจักรลาวทั้ง 3 แห่งนี้จะตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2321สยามได้ปกครองดินแดนลาวทั้งสามส่วนในฐานะประเทศราชรวม 114 ปี 
       ในปี พ.ศ. 2436 สยามได้เกิดข้อขัดแย้งกับฝรั่งเศสในเรื่องอำนาจเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศส ใช้เรือรบมาปิดอ่าวไทยเพื่อบังคับให้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ดินแดนลาวเกือบทั้งหมดก็เปลี่ยนไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสในปีนั้นและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาภายหลังดินแดนลาวส่วนอื่นที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็ตกเป็นของฝรั่งเศสอีกในปี พ.ศ. 2450
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้รุกเข้ามาในลาวและดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสเกิดขบวนการลาวอิสระเพื่อกู้เอกราชลาวในเวลานั้นประกาศเอกราชให้ประเทศลาวเป็นประเทศ ราชอาณาจักรลาว หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามามีอำนาจในอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากการที่เวียดมินห์ปลดปล่อยเวียดนามได้ ฝรั่งเศสยอมให้ลาวประกาศเอกราชบางส่วนในปี พ.ศ. 2492 และได้เอกราชสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2496 ภายหลังฝรั่งเศสรบแพ้เวียดนามที่เดียนเบียนฟู ผู้ที่มีบทบาทในการประกาศเอกราชคือ เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าเพชรราช และ เจ้าสุภานุวงศ์ โดยมีเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ามหาชีวิต (พระมหากษัตริย์) ได้รวมทั้ง 3 อาณาจักรคือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และ ล้านช้างจำปาศักดิ์ เข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรลาว
        พ.ศ. 2502 เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เสด็จสวรรคต เจ้าสว่างวัฒนาจึงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้ามหาชีวิตแทน เกิดเหตุการณ์เจ้าสุภานุวงศ์ ของคณะลาวอิสระประกาศตนว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นหัวหน้าขบวนการปะเทดลาว  ปี พ.ศ. 2504 ร้อยเอกกองแลทำการรัฐประหารรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา แต่ถูกกองทัพฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายรุมจนพ่ายแพ้ ร้อยเอกกองแลต้องลี้ภัยไปสหรัฐจนถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์ทางการเมืองในระยะเวลาต่อจากนั้นเกิดการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ มีการแทรกแซงจากชาติต่างๆ ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายโลกเสรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามเหนือ โดยการนำของเจ้าสุภานุวงศ์ ก็ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลประชาธิปไตย เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงยินยอมสละราชสมบัติ  ประกาศสถาปนาประเทศลาวเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 
       เมื่อเจ้าสุภานุวงศ์สละตำแหน่งจากประธาน ผู้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อจากเจ้าสุภานุวงศ์คือ ท่านไกสอน พมวิหาน และเมื่อท่านไกสอนถึงแก่กรรมกระทันหัน ท่าน หนูฮัก พูมสะหวัน ก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อมา ยุคนี้ลาวกับไทยเปิดสะพานมิตรภาพ ไทย - ลาว ในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาท่านหนูฮักสละตำแหน่ง ท่านคำไต สีพันดอนรับดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อ จนถึงปี พ.ศ. 2549 ท่านคำไตลงจากตำแหน่ง ท่านจูมมะลี ไซยะสอน จึงเป็นผู้ที่รับตำแหน่งประธานประเทศลาวคนปัจจุบัน
        สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือ พลโทจูมมะลี ไซยะสอน (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนายบัวสอน บุบผาวัน


การแบ่งเขตการปกครอง
         ลาวแบ่งเป็น 16 แขวง ในหนึ่งแขวงจะมีหลาย เมือง ซึ่งจะมีหนึ่งเมืองเป็นเมืองหลวงเรียกว่า เมืองเอก และมี 1 เขตปกครองพิเศษเรียกว่า นครหลวงเวียงจันทน์ 
1. แขวงอัดตะปือ        เมืองเอกคือ เมืองสามักคีไซ
2. แขวงบ่อแก้ว          เมืองเอกคือ เมืองห้วยซาย
3. แขวงบอลิคำไซ      เมืองเอกคือ เมืองปากซัน
4. แขวงจำปาสัก         เมืองเอกคือ เมืองปากเซ
5. แขวงหัวพัน             เมืองเอกคือ เมืองซำเหนือ
6. แขวงคำม่วน    เมืองเอกคือ เมืองท่าแขก
7. แขวงหลวงน้ำทา    เมืองเอกคือ เมืองหลวงน้ำทา
8. แขวงหลวงพระบาง   เมืองเอกคือ เมืองหลวงพระบาง
9. แขวงอุดมไซ    เมืองเอกคือ เมืองไซ
10. แขวงพงสาลี    เมืองเอกคือ เมืองพงสาลี
11. แขวงสาละวัน    เมืองเอกคือ เมืองสาละวัน
12. แขวงสะหวันนะเขด เมืองเอกคือ เมืองไกสอน พมวิหาน
13. แขวงเวียงจันทน์    เมืองเอกคือ เมืองโพนโฮง
14. แขวงไซยะบูลี    เมืองเอกคือ เมืองไซยะบูลี
15. แขวงเซกอง    เมืองละมาม
16. แขวงเชียงขวาง    เมืองโพนสะหวัน

นครหลวงเวียงจันทน์  เป็นเขตที่ตั้งของกรุงเวียงจันทน์เมืองหลวงของประเทศลาว ลักษณะการปกครองคล้ายกับกรุงเทพมหานคร อยู่ทางตอนกลางของประเทศลาว มีเมืองเอกคือจันทะบูลี มีเขตติดต่อเป็นชายแดนกับประเทศไทยระหว่างเวียงจันทน์กับหนองคายของประเทศไทย ทางสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 เขตปกครองนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2532 โดยแยกออกมาจากแขวงเวียงจันทน์ เดิมชื่อ "กำแพงนครเวียงจันทน์" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "นครหลวงเวียงจันทน์" ประกอบด้วย 7 เมืองคือเมืองจันทะบุรี  เมืองสีโคตรตะบอง  เมืองไชยเศรษฐา  เมืองสีสัตนาค  เมืองนาทรายทอง  เมืองไชยธานีและเมืองหาดทรายฟอง 

เศรษฐกิจ
       ภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ โดยในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาดเมื่อปี 2529 สปป.ลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2529 เป็น 491 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

สบายดี...ประเทศลาวสบายดี...ประเทศลาว

                    ร้านอาหารริมเขื่อนน้ำงึม                                                ร้านค้าปลอดภาษี

ทรัพยากรสำคัญของลาว ได้แก่ ไม้ ดีบุก ยิบซั่ม ตะกั่ว หินเกลือ เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำ อัญมณี หินอ่อน น้ำมัน และแหล่งน้ำผลิตไฟฟ้า
สินค้าส่งออกที่สำคัญของลาว ได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ และหนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ โดยส่งออกไปยังประเทศไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ส่วนการนำเข้าสินค้า ประเทศลาวได้นำเข้าสินค้าจากไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี โดยสินค้าที่สำคัญได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน อาหาร ผ้าผืน สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภค

ประชากร
        จากสถิติในปี พ.ศ. 2548 (ตามข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศของไทย) ประเทศลาวมีประชากรรวม 6,068,117 คน ประกอบด้วยชนชาติต่างๆ หลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งในภาษาลาวจะเรียกรวมกันว่า "ประชาชนบรรดาเผ่า" สามารถจำแนกได้เป็น 68 ชนเผ่าโดยประมาณ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนี้
         1.  ลาวลุ่ม หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบ ส่วนใหญ่ได้แก่คนเชื้อชาติลาว ภูไท ไทดำ ไทลื้อ ฯลฯ ใช้ภาษาลาวหรือภาษาตระกูลภาษาไทเป็นภาษาหลัก ประชาชนกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ 68 ของจำนวนประชากรทั้งหมดและอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นกลุ่มชาวลาวที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ 
         2.  ลาวเทิง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูง เช่น ชาวบรู มะกอง งวน ตะโอย ตาเลียง ละเม็ด ละเวน กะตัง ฯลฯ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ เช่น แขวงจำปาสัก แขวงเซกอง แขวงอัตตะปือ คิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 
        3.  ลาวสูง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง เช่น ชาวม้ง เย้า มูเซอ ผู้น้อย และชาวเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของลาว เช่น แขวงหลวงพระบาง แขวงเชียงขวาง และตามแนวตะเข็บชายแดนภาคเหนือ ชาวลาวกลุ่มนี้คิดเป็นจำนวนร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 
นอกจากนี้ยังมีชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ชาวลาวเชื้อสายจีน รวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆ ในลาวคิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรทั้งหมดด้วย

ภาษา
        ประเทศลาวใช้ภาษาลาวเป็นภาษาราชการทั้งในส่วนของภาษาพูดและระบบการเขียน ส่วนในกลุ่มชาวลาวเทิงและชาวลาวสูงยังคงมีการใช้ภาษาประจำเผ่าของตนควบคู่กับภาษาลาว ส่วนภาษาต่างประเทศอื่นที่มีการใช้ได้แก่ภาษาฝรั่งเศสซึ่งมีการใช้มาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ปัจจุบันยังคงใช้ในวงราชการและการติดต่อค้าขายบ้าง อีกภาษาหนึ่งที่สำคัญคือภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในการติดต่อกับต่างประเทศและการค้า ซึ่งนับวันการศึกษาภาษาอังกฤษก็ยิ่งจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

วัฒนธรรม
        ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท วัฒนธรรมลาว ปรากฏให้เห็นทั่วประเทศ ทั้งในด้านภาษา และศิลปะ วรรณคดี ศิลปะการแสดง ฯลฯ สำหรับดนตรีลาวนั้นยังมีอิทธิพลของแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ วงดนตรีของลาวก็คือวงหมอลำ มีหมอลำ และหมอแคน ท่วงทำนองของการขับลำจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทางภาคเหนือเรียกว่าขับ ภาคใต้จากบอลิคำไซลงไปเรียกว่าลำ เช่น ขับงึมเวียงจันทน์ ขับพวนเซียงขวง ลำสาละวันของแขวงสาละวัน ลำภูไท ลำตังหวาย ลำคอนสะหวัน ลำบ้านซอกของแขวงสะหวันนะเขต ขับโสม ลำสีพันดอนของแขวงจำปาสัก ลำมะหาไซของแขวงคำม่วน ขับทุ่มของแขวงหลวงพระบาง ขับลื้อของชาวลื้อ เป็นต้น
การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างหนึ่งของลาวคือผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น (ผ้าถุง)
อาหารของคนลาว ลาวจะทานข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารที่เป็นเอกลักษณ์คือ แจ่ว ส้มตำ ไก่ย่าง เป็นต้น
อารยธรรมเก่าแก่ของลาวนั้น มีปรากฏจากหลักฐานด้านโบราณคดียุคหินที่ทุ่งไหหินในแขวงเชียงขวาง

 สบายดี...ประเทศลาวสบายดี...ประเทศลาว

                     ศิลาจารึกที่หอพระแก้ว                                              วัดสีเมือง นครเวียงจันทน์

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
       1.  อธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 
       2.  อธิบายความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
       3.  ข้อเสนอแนะเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับลาวในปัจจุบัน

กิจกรรมเสนอแนะ
       1.  ค้นคว้าแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 
       2.  จัดป้ายนิเทศเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 
    

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
         สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องชื่อต่าง ๆในภาษาต่างประเทศ    วิทยาศาสตร์เรื่องเกี่ยวลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรต่างๆ  คณิตศาสตร์เรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา   ศิลปะเกี่ยวกับเรื่องทางสถาปัตยกรรม

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล  / ภาพประกอบ
https://th.wikipedia.org
https://cac.kku.ac.th/laos/index.php?option=com_content&task=view&id=166&Itemid=97

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2431

อัพเดทล่าสุด