การเลี้ยงไก่พื้นเมือง


748 ผู้ชม


การเลี้ยงไก่พื้นเมือง เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดี และยังได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง และยังช่วยพยุงเศรษฐกิจของเกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย   

การเลี้ยงไก่พื้นเมือง

          หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2552 ได้นำเสนอข่าวในคอลัมน์เกษตร ในหัวข้อข่าวว่า 425 ล้าน เลี้ยงไก่พื้นเมืองฟื้นฟูเศรษฐกิจผู้เลี้ยงสัตว์ปีก โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยจะมีการจัดทำฟาร์มสาธิตประจำอำเภอทุกตำบล ควบคู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีก ซึ่งจะใช้งบประมาณ 425,078,840 บาท ดำเนินงาน เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก ฉะนั้นเราควรหันมาศึกษาวิธีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองกันดีกว่า
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานเกษตร) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือช่วงชั้นที่ 3 เรื่องการเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้ได้ผลดี 
          ในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่จะให้ได้ผลผลิตดีนั้น มีสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ดังนี้ 
          * พันธุ์ดี * อาหารดี *โรงเรือนดี * การจัดการ (การเลี้ยงดู) ดี * การควบคุมป้องกันโรคดี
1. พันธุ์ดี
          ปัจจุบันไก่พื้นเมืองมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่แจ้ ไก่อู ไก่ตะเภา ไก่เบตง และไก่ชน ส่วนใหญ่และไก่พื้นเมืองจะเป็นสายพันธุ์ไก่ชนสังเกตได้จากแม่ไก่จะมีขนดำหน้าดำ และแข้งดำ หงอนหิน แต่จะมีแม่พันธุ์บางส่วนที่มีสีเทา สีทอง แต่หงอนก็ยังเป็นหงอนหิน ซึ่งเป็นลักษณะหงอนของไก่ชน เหตุที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไก่ชน เพราะว่าไก่ชนมีรูปร่างใหญ่และยาว เจริญเติบโตดี และแม่พันธุ์ก็ไข่ดก เนื่องจากนักผสมพันธุ์ไก่ชนได้คัดเลือกลักษณะดีเด่นไว้อย่างต่อเนื่องนับร้อยปีมาแล้วเกษตกร เพื่อนบ้านจะขอซื้อขอยืมหรือขอไปขยายพันธุ์มากกว่าไก่พันธุ์อื่นๆ กรมปศุสัตว์ได้ทำการวิจัยผสมพันธุ์คัดพันธุ์ไก่พื้นเมืองมาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2532 โดยเริ่มจากสายพันธุ์ไก่ชน จาก 17 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การปรับปรุงพันธุ์ไม่ได้เน้นในด้านการชนเก่ง แต่เน้นในด้านการเจริญเติบโต และไข่ดก เพื่อให้สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว สำหรับไก่ชนไทยแท้สีขนแยกได้หลากหลาย ถึง 17 สีขน เช่น เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ เหลืองเลา ประดู่เลา แสมดำ เป็นต้น


เอื้อเฟื้อภาพ สถานีวิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์บางประกง

2. อาหารดี
         อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่พื้นเมืองมีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ ข้าวเปลือก ปลายข้าว และรำ ซึ่งเป็นอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองอาจใช้ข้าวโพด ใบกระถินบดให้ละเอียด กากถั่วเหลือง และปลาป่น ฯลฯ
             โดยหลักการแล้ว ไก่พื้นเมืองต้องการอา หารที่ดีมีคุณภาพที่มีพร้องทั้งไขมัน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามิน ซึ่งมีพร้อมในอาหารสำเร็จรูป แต่การเลี้ยงไก่พื้นเมืองในชนบท จะเป็นการเลี้ยงเพื่อรับประทานในครัวเรือน โดยปล่อยให้ไก่พื้นเมืองหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ จะมีการให้อาหารเสริมบ้าง เช่น ปลายข้าวหรือข้าวเปลือกโปรยให้กินก่อนไก่พื้นเมืองเข้าโรงเรือน แต่สำหรับผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองที่ต้องการให้ไก่พื้นเมืองเจริญเติบโตเร็ว ขายได้ราคาดี ควรให้อาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนตามที่ไก่พื้นเมืองต้องการ อาจใช้หัวอาหารผสมกับปลายข้าวและรำ ในอัตราส่วน 1 : 2 : 2 (หัวอาหาร 1 ส่วน ปลายข้าว 2 ส่วน รำ 2 ส่วน) หรืออาจใช้สูตรอาหารต่อไปนี้
สูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกไก่พื้นเมือง
แรกเกิด จนถึงอายุ 2  เดือน 
     1. หัวอาหารอัดเม็ดสำหรับไก่ระยะแรก 8  กิโลกรัม
     2. รำรวม 8  กิโลกรัม
     3. ปลายข้าว 10  กิโลกรัม 
สูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่พื้นเมืองอายุ 2 เดือนขึ้นไป
     1. รำรวม 38  กิโลกรัม
     2. ปลายข้าว 60  กิโลกรัม
     3. เปลือกหอยป่น 2  กิโลกรัม


เอื้อเฟื้อภาพโดย กรมปศุสัตว์


3. โรงเรือนดี
           โรงเรือนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองนั้น ไม่มีรูปแบบที่ตายตัวแน่นอน โรงเรือนอาจจะทำเป็นเพิงหมาแหงนกลาย แบบหน้าจั่วและอื่น ๆ การที่จะเลือกแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการเลี้ยง วัสดุอุปกรณ์ ต้นทุน ผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองส่วนใหญ่ในชนบทจะเลี้ยงไก่พื้นเมืองในบริเวณบ้านและทำโรงเรือนไว้ใต้ถุนบ้าน หรือใต้ยุ้งฉางการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบนี้จะหวังผลแน่นอนไม่ได้ ไก่พื้นเมืองบางรุ่นรอดตายมาก บางรุ่นอาจตายหมด มีจำนวนน้อยรายมากที่ทำโรงเรือนแยกต่างหากจากบริเวณบ้านพัก ดังนั้น เพื่อให้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยพักหลับนอนในตอนกลางคืนด้วยโรงเรือนไก่พื้นเมืองมีความสำคัญมาก สภาพของโรงเรืองไก่พื้นเมืองที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
         1. สามารถป้องกันแดดกันฝนได้ดี
         2. ภายในโรงเรือนควรโปร่ง ไม่อับทึบ ไม่ชื้น และระบายอากาศดีแต่ไม่ถึงกับมีลมโกรก
         3. ควรสร้างโรงเรือนแบบประหยัด ใช้สิ่งก่อสร้างที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น รักษาความสะอาดง่าย ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคได้ทั่วถึง
         4. ป้องกันศัตรูต่าง ๆ ได้ดี เช่น สุนัข แมว นก และหนู
         5. ห่างจากที่พักพอสมควร สะดวกต่อการเข้าปฏิบัติงานดูแลไก่พื้นเมือง มีที่ให้อาหารและน้ำ
4. การจัดการ (การเลี้ยงดู) ดี
           เมื่อลูกไก่พื้นเมืองออกจากไข่หมดแล้ว ควรให้แม่ไก่พื้นเมืองเลี้ยงลูกเอง โดยย้ายแม่ไก่พื้นเมืองและลูกไก่พื้นเมืองลงมาขังในสุ่มหรือในกรงในระยะนี้ควรมีถาดอาหารสำหรับใส่รำ ปลายข้าว หรือเศษข้าวสุกให้ลูกไก่พื้นเมืองกินและมีถ้วยหรืออ่างน้ำตื้น ๆ ใส่น้ำสะอาดให้กินตลอดเวลาเมื่อลูกไก่พื้นเมืองอายุประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกไก่พื้นเมืองแข็งแรงดีแล้ว จึงเปิดสุ่มหรือกรงให้ลูกไก่พื้นเมืองไปหากินกับแม่ไก่พื้นเมืองได้โดยธรรมชาติแม่ไก่พื้นเมืองจะเลี้ยงลูกประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้แยกลูกไก่พื้นเมืองออกจากแม่ไก่พื้นเมือง โดยนำไปเลี้ยงในกรงหรือแยกเลี้ยงต่างหาก เพื่อให้แม่ไก่พื้นเมืองฟักตัวเตรียมไข่ในรุ่นต่อไป

            ลูกไก่พื้นเมืองอายุ 2 สัปดาห์ที่แยกออกจากแม่ไก่พื้นเมืองใหม่ ๆ ยังหาอาหารไม่เก่งและยัง ป้องกันตัวเองไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเลี้ยงต่างหากในกรงเพื่อให้แข็งแรงปราดเปรียว และเมื่อมีอายุได้ 1 -2 เดือนจึงปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติในระยะนี้ลูกไก่พื้นเมืองจะมีการตายมากที่สุดผู้ที่เลี้ยงควรเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดในเรื่องน้ำ อาหาร และการป้องกันโรค 


เอื้อเฟื้อภาพโดย สำนักงานประถมศึกษาอำเภอแม่เมาะ

5. การควบคุมป้องกันโรคดี
          ในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ผู้ที่เลี้ยงควรยึดหลัก "กันไว้ดีกว่าแก้" เพราะปัญหาโรคเป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองไม่ประสบผลสำเร็จ ในปีหนึ่ง ๆ จะสูญเสียไก่พื้นเมืองจึงต้องมีการสุขาภิบาลที่ดี และการให้วัคซีนป้องกันโรค ดังนี้
การสุขาภิบาลการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่ดี ควรปฏิบัติดังนี้
        1. ต้องดูแลทำความสะอาดโรงเรือนและภาชนะต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค พยายามอย่าปล่อยให้โรงเรือนชื้นแฉะ
        2. สร้างโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
        3. กำจัดแหล่งน้ำสกปรก รอบ ๆ บริเวณโรงเรือนและบริเวณใกล้เคียง
        4. อาหารไก่ต้องมีคุณภาพ อาหารที่กินไม่หมดให้ทิ้ง อย่าปล่อยให้เน่าบูดเสีย
        5. มีน้ำสะอาดให้ไก่กินตลอดเวลา
        6. ถ้ามีไก่พื้นเมืองป่วยไม่มากนักให้กำจัดเสีย และจัดการเผาหรือฝังให้เรียบร้อย จะช่วยป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี
        7. อย่าทิ้งซากไก่พื้นเมืองที่เป็นโรคลงแหล่งน้ำเป็นอันขาดเพราะเชื้อโรคจะแพร่ระบาดได้
        8. ไก่พื้นเมืองที่ซื้อมาใหม่ ควรแยกเลี้ยงไว้ต่างหาก โดยกักขังไว้ประมาณ 15 วัน หากไม่เป็นโรคจึงนำมาเลี้ยงในบริเวณเดียวกันได้
        9. เมื่อมีโรคระบาดไก่พื้นเมืองเกิดขึ้น ผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองไม่สามารถจะดูแลหรือป้องกันรักษาเองได้ ควรปรึกษาผู้รู้
การให้วัคซีนป้องกันโรคระบาดไก่พื้นเมือง ควรปฏิบัติดังนี้
         การเลี้ยงไก่พื้นเมือง แม้ว่าจะมีการสุขาภิบาลที่ดี แต่โดยปกติสิ่งแวดล้อมจะมีเชื้อโรคอยู่ ซึ่งสามารถทำให้ไก่พื้นเมืองเป็นโรคได้ทุกเวลา ดังนั้น ผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองจึงต้องสร้างความต้านทานโรคโดยการให้วัคซีนป้องกันโรค ซึ่งควรให้ตั้งแต่ไก่พื้นเมืองอายุยังน้อยและสม่ำเสมอตามตารางที่กำหนด การให้วัคซีนจะให้ผลดีที่สุดต่อเมื่อ
        - สุขภาพของไก่พื้นเมืองแข็งแรง ไม่เป็นโรค
        - วัคซีนที่ใช้มีคุณภาพดี
        - เครื่องมือที่ใช้กับวัคซีนสะอาด และผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคแล้ว
       - ให้วัคซีนไก่พื้นเมืองครบตามขนาดที่กำหนด
       - ให้วัคซีนอย่างสม่ำเสมอและพยายามให้วัคซีนไก่พื้นเมืองที่มีสุขภาพดีทุกตัวในฝูงเดียวกัน
       - การให้วัคซีนแต่ละชนิดควรเว้นระยะห่างกันประมาณ 5-7 วัน


ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
        1.การเลี้ยงสัตว์ปีกมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราอย่างไร
        2.การเลี้ยงสัตว์ปีกไว้บริโภคเองกับซื้อสัตว์ปีกชำแหละจากท้องตลาดมาจำหน่าย อย่างไหนจะได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยกว่ากัน

กิจกรรมเสนอแนะ
       - ศึกษาค้าคว้าเกี่ยวกับ การเลี้ยงสัตว์ปีกชนิดอื่นเพิ่มเติม และทำรายงานส่งคนละ 1 เรื่อง
       - การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
        สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของสัตว์ปีก

ที่มา
https://www.thairath.co.th/content/edu/33489  
https://www.dld.go.th/service/webeggs/nativmai.html  
https://dnfe5.nfe.go.th/ilp/occupation/45209/4520905.html   
https://www.kaichon.com/meumai.htm  

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1609

อัพเดทล่าสุด