ปลูกไม้กฤษณาคุ้มค่าจริงหรือ


930 ผู้ชม


การปลูกไม้กฤษณาเพื่อการค้าหรือส่งโรงงานของเกษตรกร สามารถสร้างรายได้หรือผลกำไรแก่เกษตรกรผู้ปลูกได้หรือไม่   

ปลูกไม้กฤษณาคุ้มค่าจริงหรือ

          หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ การปลูกไม้กฤษณาของเกษตรกรจังหวัดตราดว่า นายแก่นเพชร ช่วงรังสี ผวจ.ตราด เปิดเผยว่า ปัจจุบันไม้กฤษณามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของ จ.ตราด เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงงานถึง 30 แห่ง มีการลงทุนสูงถึง 69,346,875 บาท มีพื้นที่ปลูกป่าประมาณ 3,000–5,000 ไร่ คิดเป็นผลิตภัณฑ์รวมต่อปีสูงถึง 150-200 ล้านบาท โดยสามารถปลูกแซมในสวนผลไม้ได้ และเป็นอาชีพใหม่ของชาวตราด สำหรับปัญหาอุปสรรคที่พบใน ขณะนี้ คือ เกษตรกรและผู้ประกอบการยังไม่มีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง การผลิตยังไม่มีมาตรฐาน และปัญหาข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ และการปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตส ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สำรวจจำนวนเกษตรกร และความคุ้มค่าเกี่ยวกับไม้กฤษณา

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานเกษตร) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือช่วงชั้นที่ 3 เรื่องการปลูกไม้ยืนต้น

ไม้กฤษณาคืออะไร
          คำว่า กฤษณา หมายถึง ไม้กฤษณา หรือกฤษณา หรือต้นไม้หอม ไม้กฤษณาที่ยังเป็นต้นไม้อยู่ (ตอนที่ยังไม่เกิดบาดแผล) จะมีเนื้อไม้สีขาว แต่เมื่อเกิดบาดแผลแล้วก็จะมีน้ำมันสีดำเกิดขึ้น และขยายวงกว้าง
ออกไป สำหรับไม้กฤษณาที่เกรดดี ๆ ที่มีราคาหลายหมื่นบาท ก็จะต้องทิ้งไว้หลายปี จนเป็นสีดำสนิท หรือสีน้ำตาล มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบ สีเทาอมขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มล. มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริเป็นร่องเล็กๆ เมื่อมีอายุมากๆส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง

ปลูกไม้กฤษณาคุ้มค่าจริงหรือ

เอื้อเฟื้อภาพโดยเอื้อยอ้ายคำหอม

ชื่อพื้นเมือง
          กฤษณา(ภาคตะวันออก)กายูการู กายูกาฮู(ปัตตานี มาเลเซีย) ไม้หอม(ภาคตะวันออก ภาคใต้) อครุ ตคร(บาลี) ติ่มเฮียง(ไม้หอมที่จมน้ำ)(จีน) Egle Wood, Lignum Aloes, Agarwood, Aloe Wood, Calambac, Aglia ,Akyaw(อังกฤษ)
ชื่อวิทยาศาสตร์
          ในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ Aquilaria crassna Pierre, A.malaccensis Lamk.(ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง A.agallocha Roxb.)และชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ โดย Dr.Ding Hau คือ Subintegra Ding Hau
ชื่อวงศ์ Thymelaeaceae
ลักษณะของใบ  เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียงสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 7-9 ซม. ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม
ลักษณะของดอก  สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็กๆมีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือ Terminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออก
ดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ในประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
ลักษณะของผล  เป็นแบบ Capsule รูปไข่กลับค่อนข้างแบน ส่วนที่ติดกับขั้วเล็ก เปลือกแข็ง มีขนสีเทา ผลยาวประมาณ 2.5 ซม.กว้างประมาณ 1.5-2 ซม. ในเดือนสิงหาคม ผลเริ่มแก่และแตกอ้ามีเมล็ด 1 หรือ 2 
เมล็ด แบบ Ovoid ขนาดของเมล็ดยาว 5-6 ซม. มีหางเมล็ดสีแดงหรือ ส้ม ปกคลุมด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล
ลักษณะของเนื้อไม้ ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างตั้งแต่สมัยโบราณ ดังกล่าวถึงในมหาชาติคำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น 
พ.ศ.2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว(เสตครู) และกฤษณาดำ(ตระคัร) ซึ่งมีเนื้อไม้หอม เนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ๆต่อมาเปลี่ยนเป็นสีนำตาลอ่อน เสี่ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำจะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ในการผึ่งมักจะปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี
          ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่างๆของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมี ของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา 
ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว(Resin) อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b.Agarofuran, a-Agarofuran,Agarospirolและ Agarol


ลักษณะทั่วไป
          กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21 เมตร ขึ้นไป วัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำๆ หรือรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง

การขยายพันธุ์
      ชาวบ้านทั่วไปมักจะใช้การเพาะเมล็ด เมล็ดของกฤษณามาจากดอกที่จะออกดอกช่วงผลัดใบ ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน หรือช่วงหลังปีใหม่ ถ้าฝนแล้งก็จะมีดอกช่วงเดือนมีนาคม โดยจะมีดอก 2 ชุดคือ 
ชุดเล็กและชุดใหญ่ (บางครั้งจะมี 1 ชุด) ผลจะแก่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก็จะทยอยร่วงหล่น ผลมีเมล็ด 2 แบบคือ เมล็ดแก่จะมีสีเขียว และถ้าเมล็ดแก่มาก ๆ จะมีสีน้ำตาล และแตกออก ทำให้สามารถเก็บไปเพาะพันธุ์ต่อได้
      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการเพาะเมล็ดพันธุ์กฤษณา แต่เป็นวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งใช้เวลานาน จึงต้องใช้พันธุ์ที่ดีจึงจะคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป และการใช้วิธีแบบนี้จะให้ผลผลิตที่ดีมาก ถ้าได้พันธุ์ที่
ไม่ดี จะทำให้เกิดกฤษณาพันธุ์ที่ไม่ดีหลายหมื่นต้น ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองต้นทุน 
การขายพันธุ์ มีวิธีต่างๆ ดังนี้
     1. การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
     2. การขยายพันธุ์โดยการเพาะชำ
     3. การขยายพันธุ์โดยการเพาะเนื้อเยื่อ
การอนุบาลต้นกล้าก่อนลงปลูกและการขนย้าย
     1. การขนย้ายต้นกล้าต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยจับต้นกล้าบริเวณถุงเพาะ แล้ววางลงในตะกร้า หรือถาดเพื่อขนย้าย ห้ามรวบหรือดึงต้นกล้าเด็ดขาด
     2. หากเคลื่อนย้ายโดยที่ไม่มีหลังคา ให้เตรียมตาข่ายสำหรับคลุมต้นกล้า
     3. ก่อนการขนย้ายงดให้น้ำ 1 วัน
     4. เตรียมพื้นที่สำหรับพักต้นกล้าให้ใกล้กับแปลงปลูกที่สุด มีความแข็งแรง แสงแดดสามารถผ่านได้ประมาณ 30% สามารถป้องกันลมแต่ระบายอากาศได้ดี ให้น้ำได้อย่างทั่วถึง
     5.เมื่อมีการขนย้ายต้นกล้าลงในโรงเก็บควรปล่อยให้รับอากาศก่อนสักพัก เพื่อปรับสภาพแล้วจึงรดน้ำ หรือพ่นฮอร์โมนกระตุ้น โดยปกติจะพักต้นกล้าไว้ประมาณ 7-15 วัน แล้วแต่ระยะทางในการขนย้ายและความ
บอบช้ำของต้นกล้า

ปลูกไม้กฤษณาคุ้มค่าจริงหรือ
เอื้อเฟื้อภาพโดยเอื้อยอ้ายคำหอม

ราคาต้นกล้า
      ที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ต้นกล้าสูงประมาณ 1 ฟุต ขาย 10 บาท แต่ถ้าสูง 5-6 เซนติเมตร ขาย 4-5 บาท
การเพาะปลูก
          สำหรับไม้กฤษณาสามารถขึ้นได้ทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าจะให้ดีควรมีการจัดสรรที่ที่เหมาะสม สภาพดินต้องมีความชุ่มชื้น ไม่ควรเป็นดินทรายจัด ดินลูกรัง หินดาน หรือที่แห้งแล้งจนเกินไป ฝนตกไม่ต่ำกว่า 5 เดือน และต้องตัดแต่งกิ่งให้ดีด้วย จะต้องมีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 3.3 ตารางเมตร เมื่อปลูกได้แล้ว หลังจาก 5 ปี ควรจะวัดเส้นรอบวงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร โดยวัดสูงจากพื้นดิน 1 เมตร

ปลูกไม้กฤษณาคุ้มค่าจริงหรือ
เอื้อเฟื้อภาพโดยเอื้อยอ้ายคำหอม
         


วิธีทำให้เกิดการสร้างสารกฤษณา
         การทำให้เกิดการสร้างสารกฤษณาหรือเกิดการลงสารในเนื้อไม้กฤษณานั้นไม่มีวิธีที่แน่นอนตายตัวแต่จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้ของผู้ปลูก  ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นวิธีการจึงอาจแตกต่างกันไปในเกษตรกรแต่ละรายแต่เท่าที่ทำการศึกษาพบว่าวิธีการต่าง ๆ  ดังนี้
         1.การสับหรือถาก วิธีการนี้จะใช้ขวานหรือมีดสับถากบริเวณลำต้นหรือกิ่งของไม้กฤษณา ความลึกของบาดแผลขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้นหรือกิ่ง  จำนวนบาดแผลไม่แน่นอน  จะใช้วีการสับเปลี่ยนตำแหน่งที่ทำแผลไปเรื่อย ๆวิธีการนี้จะเห็นสารกฤษณาปรากฏในระยะเวลา  3-4  เดือน แต่จะให้กลิ่นของสารที่อ่อนมากมีคุณภาพเพียงไม้เกรด 4 เท่านั้น  แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้   2-3 ปีมีการสะสมสารกฤษณามากขึ้น  บริเวณขอบของบาดแผลจะเข้มขึ้น  เนื่องจากการสะสมาของน้ำมันในเซลล์เพิ่มมากขึ้นจะเป็นไม้เกรด 3  เรียกว่า ไม้ปากขวาน หลังจากทำแผลทิ้งไว้ก็จะเก็บเอาเฉพาะเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณาไปขาย  วิธีการนี้สามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก  แต่ข้อเสียคือ  จะได้สารกฤษณาที่มีปริมาณน้อยยังไม่คุ้มกับระยะเวลาที่เสียไปจากการปลูกไม้กฤษณา
          2.การใช้ตะปูเจาะลำต้น จากหลักการที่ว่า  การสร้างบาดแผลทำให้ต้นกฤษณาเกิดความเครียด ลักษณะของบาดแผลจะเป็นส่วนกำหนดปริมาณและระยะเวลาการเกิดสารกฤษณา การตอกตะปูเป็นลักษณะที่ทำให้ต้นกฤษณาเกิดความเครียดสูง  เนื่องจากเนื้อไม้รอบ ๆ ตะปูมีแรงกดบีบมาก  เมื่อตอกตะปูประมาณ 45  องศา กับลำต้นจะมีแรง
ต้านภายในเนื้อไม้ ต้านแรงที่ตอกลงบนตะปูในแนวขนานกับตัวตะปูและแรงต้านที่ตั้งฉากกับตัวตะปูเนื้อไม้มีการหดตัวทำให้ต้นกฤษณาเกิดความเครียดสูง   การสร้างบาดแผลโดยการตอกตะปู  สามารถสร้างสารกฤษณาในเนื้อไม้ได้ไม้เกรด 1-3 เพราะมีการสะสมของสารกฤษณาภายในเซลล์มาก บริเวณเซลล์ที่มีสารกฤษณานี้จะอยู่ใกล้กับบริเวณตะปูที่ตอกลงไปในเนื้อไม้จะพบเซลล์ที่ผิดปกติทุก ๆ เซลล์ เป็น ไม้เกรด 1 หรือ 2 ส่วนไม้เกรด 3 จะพบลักษณะเป็นแถบสีดำของสารกฤษณาอยู่บริเวณรอบนอก และล้อมรอบบริเวณที่มีการสะสมสารกฤษณาปริมาณน้อยเอาไว้  เกิดขึ้นรอบ ๆ ตะปู  การสะสมสารกฤษณาเป็นไม้เกรดใดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการสะสมสารกฤษณา  
           3.การเจาะรูโดยใส่สารกระตุ้น ของคุณอาจินต์ กิตติพล ได้ทำการทดลองการเกิดการลงสารในเนื้อไม้กฤษณาโดยใช้สารบางชนิดที่ไม่เปิดเผยสูตร ปรากฏว่าเกิดการลงสารเป็นบริเวณกว้างทำให้เกิดเป็นเนื้อที่เรียกว่าไม้ตะเคียน (ไม้กฤษณาที่มีสี
เหมือนไม้ตะเคียน)     ภายในเวลาเพียง 1 เดือนและเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้สีดำภายในระยะเวลา 6 – 12 เดือน

ทราบได้อย่างไรว่าเกิดกฤษณาขึ้น 
      1. นำไม้ที่ต้องการตรวจไปลอยน้ำ ถ้าลอยน้ำแสดงว่าเกิดกฤษณาน้อย หรือไม่มี แต่ถ้าจมน้ำแสดงว่าเกิดกฤษณามาก และไม้มีสีดำ
      2. นำไม้ที่ต้องการตรวจไปเผาไฟ ถ้ามีกฤษณาก็จะมีกลิ่นหอม
      3. ตรวจดูจากแผลที่เกิด ถ้ามีกฤษณาก็จะมีสีน้ำตาล หรือดำ และขยายวงกว้างออกไป
การกลั่นน้ำมัน
      นำเนื้อไม้ที่ได้ไปบดให้ละเอียด ส่วนใหญ่ใช้เกรดที่ต่ำที่สุด แล้วนำไปแช่น้ำ 5 วัน สัดส่วนน้ำต่อเนื้อไม้ 50:50 เมื่อครบ 5 วัน ก็นำไปต้มในหม้อความดัน เป็นเตาแก๊สหรือเตาถ่านก็ได้ ก็จะเกิดน้ำมันออกมา และก็นำไปแบ่งออกตามเกรด ราคาน้ำมัน 4,000-8,000 บาท ต่อ 1 solar (12 กรัม)

ปลูกไม้กฤษณาคุ้มค่าจริงหรือ
เอื้อเฟื้อภาพโดยเอื้อยอ้ายคำหอม

ความต้องการของตลาด
      ส่วนใหญ่จะนำไปประกอบพิธีทางศาสนา สมุนไพร และมักใส่ในน้ำหอม ทำให้ติดทนนาน ในแถบตะวันออกกลาง มักจุดใช้ในครัวเรือนทำให้มีกลิ่นหอม เป็นเครื่องแสดงฐานะ
ควรจะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจหรือไม่
      ในปัจจุบันคนเริ่มมีความสนใจและปลูกกันมากขึ้น เพราะเห็นว่ามีช่องทางที่จะทำเป็นการค้าขายได้ แต่ความเป็นจริงยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ถึงเรื่องของปริมาณจำนวนแผลที่จะเกิดขึ้นต่อต้นเป็นเท่าไร และจะ
เกิดผลผลิตเท่าไร ทั้งนี้จะต้องอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดด้วย คือยังไม่สามารถที่จะคาดการณ์ถึงผลกำไรว่าจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ในแง่ของการส่งเสริมคิดว่าไม่แนะนำให้ปลูก เพราะว่าดูแลยาก จะต้องดูถึงสภาพดินและพันธุ์ไม้ด้วย อาจจะไม่คุ้มกับทุน แต่ถ้าจะปลูกแบบแซมกับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ปลูกรอบสวน ปลูกบังลม แล้วปล่อยให้โตเองโดยที่ไม่ต้องดูแลมาก แต่อาจจะทำให้เกิดแผลไปเรื่อย ๆ ไม่ควรปลูกโดยใช้พื้นที่จำนวนมากหรือเป็นป่า เพราะผลผลิตอาจเกิดน้อย ส่วนใหญ่มักนำเนื้อไม้ไปทำพวกกล่องเพชร ลูกประคำ คันธนู ฯลฯ แต่คุณค่าจริง ๆ อยู่ที่น้ำมันกฤษณา จึงต้องใช้เวลานานในการปลูก เพราะฉะนั้นจึงจะต้องมีทุนจำนวนมากและมีพื้นที่
ข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรผู้สนใจ
      1. สำหรับเกษตรกรที่มีทุนมาก และสามารถรอได้ จะปลูกเป็นผืนป่าก็ได้
      2. สำหรับเกษตรกรที่มีทุนน้อย ควรจะปลูกแบบรอบ ๆ สวนมากกว่า

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
        1.ไม้ยืนต้นหรือไม้โตเร็วที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีไม้อะไรบ้าง
        2.จงบอกข้อดีของการปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้โตเร็วในพื้นที่ดินของนักเรียน
กิจกรรมเสนอแนะ
       - ศึกษาค้าคว้าเกี่ยวกับ การปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่น และทำรายงานส่งคนละ 1 เรื่อง

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
        สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการสารกฤษณาซึ่งเป็นสารที่มีกลกิ่นหอมที่เกิดกับต้นพืช
ที่มา
https://www.thairath.co.th/content/edu/43151  
https://www.ku.ac.th/e-magazine/march48/agri/agalloch.html 
https://maipradabgarden.is.in.th/?md=webboard&ma=showtopic&id=74 
https://www.agarwoodsiam.com/?name=knowledge 
https://www.thaidreamweb.com/show.php?mem_id=27&block_de_id=135&ser=block 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1746 

อัพเดทล่าสุด