ความดันโลหิตสูง


640 ผู้ชม


โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคแรงดันเลือดสูง ภาษาอังกฤษเรียก Hypertension ภาษาชาวบ้านเรียกง่ายๆว่า “โรคความดัน” ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักกันมาก โรคหนึ่ง   

ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคแรงดันเลือดสูง ภาษาอังกฤษเรียก Hypertension ภาษาชาวบ้านเรียกง่ายๆว่า “โรคความดัน” ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักกันมาก โรคหนึ่ง แต่เชื่อไหมครับ จากการศึกษาพบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 68.4 เท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองมี ความดันโลหิตสูง และมีเพียงร้อยละ 53.6 ที่รับการรักษา และในกลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 27.4 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี นั่นเป็นสถิติต่างประเทศ สำหรับบ้านเรายังล้าหลังเรื่องข้อมูลพวกนี้อยู่มาก ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจ และ เห็นความสำคัญของการรักษาความดันโลหิตสูงมากขึ้น

ความดันโลหิตคืออะไร

ลองนึกภาพสายยางรดน้ำต้นไม้ มีน้ำไหลเป็นจังหวะการปิดเปิดของก๊อก เมื่อเปิดน้ำเต็มที่ น้ำไหลผ่านสายยาง ย่อมทำให้เกิดแรง ดันน้ำขึ้นในสายยางนั้น และเมื่อปิดหรือหรี่ก๊อก น้ำไหลน้อยลง แรงดันในสายยางก็ลดลงด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ก็เป็น ระบบไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย โดยมีหัวใจ ทำหน้าที่คล้ายก๊อก หรือ ปั๊มน้ำ คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เลือดไหลแรงดี ความดันก็ดี หากหัวใจบีบตัวไม่ดี เลือดไหลอ่อน ความดันก็ลดลง นอกจาก นั้นแล้วความดันในหลอดเลือดยังขึ้นกับสภาพของ หลอดเลือดด้วย หากหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี จะปรับความดันได้ดี ไม่ให้สูงเกินไป แต่หาก หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น หรือ แข็งตัว ก็จะทำให้ความดันเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ค่าความดันโลหิตจะมีสองค่าเสมอ เรียกว่า “ตัวบน” และ “ตัวล่าง” ค่าแรกเป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะที่หัวใจ บีบตัว ไล่เลือดออก จากหัวใจ ส่วนตัวล่างคือความดันของเลือดที่ยังค้างอยู่ในหลอดเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว ผู้ป่วยความดัน โลหิตสูงควรจำค่าทั้งสองไว้ เพราะมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ความดันโลหิตเท่าไรเรียกว่าปกติ

ปัจจุบันความดันโลหิตที่เรียกว่า “เหมาะสม” ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้นๆว่า 120/80 ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ ต่ำกว่า 130/85 มม.ปรอท ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท จะเรียกได้ว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท อย่างไรก็ตามก่อน ที่จะเรียกว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงได้นั้น แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลายๆครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และที่สำคัญเทคนิค การวัดต้องถูกต้องด้วย

การวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

เครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิตที่เป็นมาตราฐานคือผ้าที่มีถุงลมพันที่แขน และ ใช้ปรอท ในขณะวัดความดันโลหิตผู้ถูกวัดความดัน โลหิตควรจะอยู่ ในท่านั่งสบายๆ วัดหลังจากนั่งพักแล้ว 5 นาที ไม่วัดหลังจากดื่มกาแฟ หรือ สูบบุหรี่ ขนาดของผ้าพันแขนก็ต้อง เหมาะสมกับแขนผู้ถูกวัดด้วย หากอ้วนมากแล้วใช้ผ้าพันแขนขนาดปกติ ค่าที่ได้จะสูงกว่าความเป็นจริง การปล่อยลมออกจาก ที่พันแขนก็มีความสำคัญอย่างมาก และ เป็นที่ละเลย กันมากที่สุด คือจะต้องปล่อยลมออกช้าๆ ไม่ใช่ปล่อยพรวดพราดดังที่เห็น หลายๆแห่งทำอยู่ การทำเช่นนั้นทำให้ได้ค่าที่ผิดไปจากความเป็นจริงมาก เครื่องวัดความดันก็ต้องได้มาตราฐาน ไม่ใช่เครื่องเก่า มากหรือมีลมรั่ว เป็นต้น ตำแหน่งของเครื่องวัดก็ควรอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ และต้องวัดซ้ำๆ เพื่อหาค่าเฉลี่ย
ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ออกแบบมาให้วัดความดันโลหิตได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยผู้วัดไม่จำเป็นต้องมีความรู้เลย เพียงแค่ใส่ถ่าน พันแขนและกดปุ่ม เครื่องจะวัดให้เสร็จ อ่านค่าเป็นตัวเลข เครื่องแบบนี้มีขายตามศูนย์การค้าทั่วไป โดยทั่วไปแล้วใช้งานได้ดี (แบบพันแขน) แต่ก็ต้องนำเครื่องมา ตรวจสอบความถูกต้องเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องชนิดนี้ไว้วัดที่บ้านด้วย ในอนาคตเครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอทอาจจะเลิกใช้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลทางสิ่งแวดล้อม(ปรอทเป็นสารอันตราย) และ อีกเหตุผลหนึ่งคือใช้เทคนิคมากในการวัดให้ถูกต้อง

ความรู้ปัจจุบันพบว่าการวัดความดันโลหิตที่ดีที่สุดคือการวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหลับและตื่น เพื่อดูแบบแผน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และหาค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของช่วงกลางวันและกลางคืน ค่าที่ถือว่าปกติโดยการวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงนี้ คือ ขณะตื่นความดันโลหิตเฉลี่ยควร น้อยกว่า 135/85 มม.ปรอท และเมื่อหลับความดันโลหิตเฉลี่ยควรน้อยกว่า 120/75 มม.ปรอท

ข้อที่ควรทราบบางประการเกี่ยวกับความดันโลหิต

ประการแรกคือความดันโลหิตเป็นค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกวินาที จึงไม่แปลกที่วัดซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แล้วได้คนละค่า แต่ก็ไม่ควรจะแตกต่างกันนัก ความดันโลหิตยังขึ้นกับท่าของผู้ถูกวัดด้วย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน นอกจากนั้นแล้ว ยังขึ้นกับ สิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร บุหรี่ อากาศ กิจกรรมที่ทำอยู่ รวมทั้งจิตใจด้วย

ประการต่อมาคือภาวะความดันโลหิตสูงปลอม หมายความว่าจริงๆแล้วผู้ป่วยไม่ได้มีความดันโลหิตสูง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ เมื่อมาวัดความดันโลหิต ที่คลินิกแพทย์หรือโรงพยาบาล จะวัดได้สูงกว่าปกติทุกครั้ง แต่เมื่อวัดโดยเครื่องวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงหรือวัดด้วยเครื่องอิเลคโทรนิคเองที่บ้าน กลับพบว่าความดันปกติ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า White coat hypertension หรือ Isolated clinic hypertension กลุ่มนี้มีอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูงจริงๆ

ความดันโลหิตสูงเกิดจากอะไร และ มีอาการอย่างไร

จนถึงปัจจุบันนี้ความดันโลหิตสูงก็ยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารรสเค็ม เชื้อชาติ ส่วนน้อยเกิด (น้อยกว่าร้อยละ 5) จากความผิดปกติของหลอดเลือด ไตวาย หรือ เนื้องอกบางชนิด ความดันโลหิตสูงได้ชื่อว่าเป็นฆาตกรเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ทราบว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูง หรือ แม้จะทราบแต่ละเลยไม่สนใจรักษาเพราะรู้สึกปกติ สบายดี ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่างๆตามมาภายหลัง ผู้ป่วยส่วนน้อยที่มี อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ
ทำไมต้องลดความดันโลหิต

การที่ปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือด เลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต จึงทำให้หลอดเลือดสมองแตก หรือ ตีบตัน เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โรคหัวใจขาดเลือด ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายตามมา เห็นได้ว่า การละเลย ไม่สนใจรักษาก็จะมีโทษต่อตนเอง ในอนาคต เป็นที่น่าเสียดายที่ผลแทรกซ้อนต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมความดันโลหิต แม้จะไม่สามารถป้องกัน ได้ทั้งหมดก็ตาม ดังนั้นการรักษาความดันโลหิตสูงในวันนี้ ก็เพื่อที่จะลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคตลงให้มากที่สุดนั่นเอง

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ การรับประทานยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาตลอดไป หากหยุดยา ความดันโลหิตอาจกลับมาสูงอีกได้

เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แม้ความดันโลหิตจะสูงมากๆก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้อาการมาพิจารณาว่า วันนี้จะรับประทานยา หรือไม่ เช่น วันนี้สบายดีจะไม่รับประทานยาเช่นนั้นไม่ได้

การรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลาเป็นระยะเวลานาน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกทางสมอง หัวใจ ไต และหลอดเลือดได้

การรักษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การไม่ใช้ยา กับการใช้ยา การไม่ใช้ยาหมายถึงการลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่ และหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย อาจเริ่มการรักษาโดยไม่ใช้ยา แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคหัวใจอยู่ด้วยก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย

ปัจจุบันมียาลดความดันโลหิตอยู่หลายกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ราคาก็ต่างกันมาก ตั้งเม็ดละ 50 สตางค์ ถึง 50 บาท ยาลดความดัน โลหิตที่ดี ควรจะออกฤทธิ์ช้าๆ ไม่ทำให้ความดันโลหิตแกว่งขึ้นลงมากจนเกินไป สามารถควบคุมความดัน โลหิตได้ดีตลอด 24 ชั่วโมง โดยการรับประทาน เพียงวันละ 1 ครั้ง มีผลแทรกซ้อนน้อย แต่น่าเสียดายว่ายังไม่มียาใดที่วิเศษ ขนาดนั้น ยาทุกตัวล้วนก็มีข้อดี ข้อด้อย และ ผลแทรกซ้อนทั้งสิ้น อย่าลืมว่า การปล่อยให้ ความดันโลหิตสูงอยู่นานๆ ก็เป็นผลเสีย ร้ายแรงเช่นกัน จึงควรติดตามการรักษาโดยการวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หากมี ผลแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ท่านเดิมเพื่อปรับเปลี่ยนยา ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อยๆ เพราะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง

การรักษาความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยสูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นต้องรักษา แต่ต้องรักษาด้วยความระมัด ระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากหากลด ความดันโลหิตมากเกินไป ก็อาจเกิดผลเสียขึ้นได้

นอกจากการรับประทานยาแล้ว การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่องใส งดอาหารเค็ม ก็จะช่วยให้ ควบคุมความดันโลหิต ได้ดียิ่งขึ้น

โรคความดันโลหิตต่ำเป็นอย่างไร รักษาโดยดื่มเบียร์จริงหรือ

ความจริงแล้วไม่มี “โรคความดันต่ำ” มีแต่ภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายขาดสารน้ำ เช่น ท้องเสีย อาเจียน เสียเลือด อากาศร้อนจัด หรือจากยาบางชนิด ความดันโลหิตที่วัดได้ 90/60 มม.ปรอท ไม่ได้หมายความว่าเป็นความดันโลหิต ที่ต่ำกว่าปกติ คนจำนวนมากมีความดันโลหิตขนาดนี้ โดยไม่มีอาการผิดปกติ อาการหน้ามืด เวียนศีรษะบ่อยๆ ที่คนส่วนใหญ่ คิดว่าเป็นจาก "ความดันต่ำ" นั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ มักจะเกิดจากการ ขาดการออกกำลังกาย มากกว่าที่จะเกิดจากภาวะ ความดันโลหิตต่ำ การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ ต้องรักษาที่สาเหตุ ไม่ใช่การดื่มเบียร์อย่างที่เข้าใจกัน

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1015

อัพเดทล่าสุด