สหพันธ์ผู้บริโภคสากล เผยจัดอันดับ 5บริษัทยอดแย่ของโลก 2551 "เทสโก-โตโยต้า-ซัมซุง" พิจารณาจากพฤติกรรมที่มีต่อผู้บริโภคช่วง 12เดือนที่ผ่านมา
ในการจัดอันดับเป็นปีที่ 2 สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (ซีไอ) ระบุว่า รางวัลบริษัทยอดแย่ ที่จัดขึ้นจากการนำเสนอขององค์กรสมาชิก 220 แห่ง จาก 115 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มบุคคลทั่วไป เน้นให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ปราศจากความรับผิดชอบของแบรนด์ชั้นนำระดับโลก และต้องการดึงดูดความสนใจให้ผู้คนได้เห็นถึงพฤติกรรมในการละเมิดสิทธิผู้บริโภคช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ซีไอจัดให้เทสโก เป็นเจ้าของบริษัทยอดแย่ในด้านการจัดการปิดกั้นเสียงวิจารณ์ โดยระบุว่า ถึงแม้จะเป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่สุดในโลก แต่ดูเหมือนว่าเทสโกจะตั้งใจที่จะปิดเงียบทุกเสียงวิจารณ์ที่มีต่อแผนขยายกิจการระดับโลกของบริษัท แม้จะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ ก็ตาม
ในปี 2551 ยักษ์ค้าปลีกสัญชาติอังกฤษ ได้ยื่นฟ้องสื่อมวลชนไทย 3 ราย เรียกค่าเสียหายรวม 34.32 ล้านดอลลาร์ หลังออกมาวิจารณ์ถึงผลกระทบในการขยายกิจการของเทสโกที่มีต่อธุรกิจ และผู้บริโภคท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังมอบรางวัลบริษัทยอดแย่ให้กับเคลลอกก์ และเลโก ในฐานะที่เมินเฉยต่ออันตรายที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการผลิตลูกอมเป็นรูปบล็อกต่อ ซึ่งซีไอระบุว่า ตัวต่อพลาสติกของเลโกขึ้นชื่อว่าเป็นของเล่นยอดนิยมมากสุดในโลก และการที่เคลลอกก์ ผลิตลูกอมที่มีลักษณะคล้ายกับของเล่นชนิดนี้อย่างมาก ทำให้บรรดาผู้ปกครองพากันเกิดความกังวลว่าเด็กเล็กๆ อาจไม่เข้าใจความแตกต่าง และอาจหยิบตัวต่อของเลโกเข้าปากจนเกิดอันตรายได้
ขณะที่อีไล ลิลลี ได้รับรางวัลบริษัทยอดแย่เพราะการทำตลาดที่มากเกินไปสำหรับตัวยา เซียลิส เพื่อแก้ไขอาการเสื่อมสมรรถนะทางเพศ ที่โดนร้องเรียนถึงการละเมิดกฎข้อบังคับด้านการทำตลาดหลายครั้ง
ยาตัวนี้มียอดขายในปี 2550 ถึง 1,100 ล้านดอลลาร์ เป็นยาที่ขายดีที่สุดของอีไล ซึ่งซีไอชี้ว่า ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด หากพิจารณาจากการใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมการขาย ที่เวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่รายนี้ทุ่มไปถึง 152 ล้านดอลลาร์ เฉพาะในตลาดสหรัฐเพียงตลาดเดียวเท่านั้น
ส่วนซัมซุง หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมสินค้าอิเลคทรอนิคส์โลก หลุดเข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัทยอดแย่ เพราะพยายามขายรถถัง ไปพร้อมๆ กับโทรทัศน์ด้วย แต่ไม่มีการให้ข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนกับผู้บริโภคว่า บริษัทมีการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย เพราะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ในเรื่องนี้ และบางรายอาจใช้เป็นปัจจัยในการที่จะพิจารณาเลือกซื้อสินค้ายี่ห้อนี้ หรือไม่
บริษัทยอดแย่รายสุดท้ายในปีนี้ คือ โตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถยนต์หมายเลข 1 จากญี่ปุ่น ที่ซีไอระบุว่า สร้างภาพเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะบริษัทยังเดินหน้าใช้สโลแกนที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด และตรงกันข้ามกับแนวทางการทำตลาดของบริษัทอย่างสิ้นเชิง
โตโยต้าโฆษณาว่ารถยนต์ลูกผสมน้ำมัน-ไฟฟ้า อย่างพริอุส ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ พร้อมชูประเด็นว่าเป็นบริษัทรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้ว ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ผลิตรถยนต์ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 170 กรัมต่อกิโลเมตร พร้อมโฆษณาว่ารุ่นนี้ คือรถที่ธรรมชาติก็อยากเป็นเจ้าของ
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=274