บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ผิดหวังกับ “บัญชี” เพราะตัวเลขจากงบการเงิน ที่ได้มาตลอดปีแสดงผลงานที่ดี มีกำไร แต่พอผู้สอบบัญชีตรวจสอบประจำปีกลับต้องผิดหวัง เพราะตัวเลขในงบการเงินต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่เนื่องจากไม่เป็นไปตาม มาตรฐานการบัญชี ที่ถูกต้อง ผลการดำเนินงานพลิกกลับจากกำไรเป็นขาดทุน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุผลหลายประการ เช่น นักบัญชีของกิจการไม่รู้หรือไม่เข้าใจในมาตรฐานการบัญชีหรือเปล่า ถ้าใช่ก็คงต้องแก้ไขที่ตัวนักบัญชีเพราะเป็นอาชีพและความรับผิดชอบเบื้องต้นที่ต้องทำบัญชีให้ถูกต้อง ไม่ควรใช้มาตรฐานการบัญชีผิดทำให้ผู้บริหารเข้าใจสถานการณ์ผิดคลาดเคลื่อนไปก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก แต่ถ้าไม่ใช่ความผิดของนักบัญชี หากเป็นเพราะผู้บริหารไม่ยอมปฏิบัติตามเนื่องจากไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่คุยกับผู้สอบบัญชีไม่ได้หรือผู้บริหารไม่ยอมรับในมาตรฐานการบัญชี ก็จำเป็นต้องปรับความเข้าใจกับผู้บริหารใหม่ให้ทราบถึงข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำบัญชี มาตรฐานการบัญชีในปัจจุบันมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายบัญชีมาก ตัวเลขในงบการเงินจึงต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีเสมอ ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการที่ผู้บริหารได้ดำเนินมาในรอบปีบัญชีหนึ่งจะต้องถือตามเกณฑ์นี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผลการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของผู้บริหารจะปรากฏออกมาในรูปของบัญชี และงบการเงินตามกติกาที่เรียกว่า มาตรฐานการบัญชีนั่นเอง
ผู้บริหารที่มิใช่นักบัญชี หากเข้าใจบัญชีจะสามารถใช้บัญชีนำการดำเนินกิจกรรมธุรกิจ เพื่อให้ได้ผลมิเพียงแต่ด้านกิจกรรมธุรกิจเท่านั้น แต่รวมไปถึงตัวเลขในงบการเงินตามกติกาทางบัญชีด้วย ผู้บริหารจึงควรใส่ใจและหาความรู้เกี่ยวกับบัญชีในการทำธุรกิจ หากสามารถทำได้ดังนี้ก็จะไม่ต้องผิดหวังในตัวเลขที่ปรากฏในงบการเงินเมื่อผู้สอบบัญชีตรวจสอบหลังวันสิ้นปี
“บัญชี” ชี้นำการดำเนินกิจกรรมธุรกิจ
ในการดำเนินธุรกิจแต่ละกิจกรรมทางธุรกิจมีกติกาทางบัญชีที่ต้องยึดถือ และใช้เป็นหลักในการบันทึกผลการดำเนินกิจกรรมนั้น ผู้บริหารต้องเข้าใจมาตรฐานการบัญชีและรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ผลงานที่ผู้บริหารคาดหวังก็จะได้ดังที่ตั้งใจไว้ หากมิใช่เช่นนั้นตัวเลขที่ปรากฏทางบัญชีก็จะแปรเปลี่ยนไป
บัญชีก็ต้องเป็นบัญชี ผิดกติกาหรือมาตรฐานการบัญชีไม่ได้ แม้จะขัดกับความรู้สึกผู้บริหาร ซึ่งก็น่าเห็นใจที่อุตส่าห์เร่งสุดตัว ขายได้แล้วแต่ตัวเลขกลับแสดงผลงานในงบการเงินปีนี้ไม่ได้ ตามมาตรฐานการบัญชี รายการขายจะบันทึกรับรู้ได้ในบัญชีก็ต่อเมื่อได้ขายและส่งมอบสินค้าแล้ว เชื่อแน่ว่าผู้บริหารจะมีวิธีจัดการที่จะให้รายการขายที่จะต้องได้ยอดทันสิ้นปีมีคุณสมบัติตามกติการทางบัญชี และบันทึกบัญชีขายได้อย่างถูกต้อง
บัญชีที่จะใช้เพื่อชี้นำการดำเนินกิจกรรมธุรกิจให้ได้ผลงานตามเป้าหมายนั้น จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วยโดยจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเศรษฐกิจในยามปกติหรือยามรุ่งเรือง หรือยามถดถอย นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงนโยบายในการบริหารด้วยว่าจะเป็นการบริหารในเชิงรุกหรือตั้งรับ ฝ่ายบัญชีต้องเพิ่มบทบาทช่วยผู้บริหารในการจัดการและดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจมากขึ้น ในหลายกรณีจะต้องช่วยในด้านการควบคุมและการบริหารความเสี่ยงเพื่อมิให้เกิดความเสียหายในการดำเนินธุรกิจด้วย ที่สำคัญจะต้องช่วยให้ผู้บริหารทราบถึงมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง และผลที่จะปรากฏในงบการเงินเมื่อมีการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจภายใต้กติกาทางบัญชีนั้น หากมีปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ก็จะต้องช่วยผู้บริหารแก้ไขให้ถูกทาง ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องรู้และเข้าใจในมาตรฐานทางบัญชีว่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจอย่างไร เพื่อให้สามารถใช้บัญชีเป็นกระจกเงาชี้นำการดำเนินกิจกรรมธุรกิจ จะได้ไม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไขในภายหลัง ผลงานที่ออกมาในหน้างบการเงินจะได้เป็นไปอย่างที่ผู้บริหารคาดหวังไว้
“บัญชี”กับความไม่แน่นอน
ในการดำเนินธุรกิจ มีความไม่แน่นอนหลายอย่างที่กิจการจะต้องเผชิญ ซึ่งมีทั้งความไม่แน่นอนในการสูญเสียสินทรัพย์ หรือเกิดหนี้สินและค่าใช้จ่ายขึ้นโดนมิได้คาดหมายมาก่อน ความไม่แน่นอนเหล่านี้ บางอย่างพอคาดการณ์ได้ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไร ช้าเร็วแค่ไหนซึ่งก็ดียังมีความไม่แน่นอนหลายอย่างที่คาดหมายไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และมีผลเป็นอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องให้ความสนใจและบริหารความไม่แน่นอนด้วยความระมัดระวังรอบ ความไม่แน่นอนนั้นสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นได้ในงบการเงินที่ผู้บริหารจัดทำขึ้น เพราะมาตรฐานทางการบัญชีมีข้อกำหนดและวิธีการที่จะเปิดเผยให้ทราบถึงความไม่แน่นอนที่มีอยู่ หรือรับรู้ผลของความไม่แน่นอนเหล่านั้นในบัญชีและงบการเงิน ดังนั้น หากผู้บริหารซึ่งเป็นผู้จัดทำงบการเงินและผู้ใช้งบการเงินต่าง ๆ เข้าใจในหลักการบัญชีดังกล่าว ก็จะสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและถูกทาง
โดยหลักการทั่วไปของ “บัญชี” นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวังอยู่แล้ว กล่าวคือ มาตรฐานการบัญชีต่าง ๆ มักจะกำหนดมิให้งบการเงินแสดงตัวเลขในเชิงบวกจนเกินไป แต่จะต้องมีการเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องมีการตั้งสำรองในบัญชีเอาไว้เสมอ เผื่อมีเหตุการณ์ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายแก่กิจการ ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดคดีฟ้องร้องกันขึ้น หากคาดได้ว่าบริษัทจะแพ้และมีการสูญเสียที่สามารถประมาณค่าเสียหายได้ มาตรฐานการบัญชีจะกำหนดให้รับรู้ค่าใช้จ่ายนี้ไว้ล่วงหน้าแม้คดีจะยังไม่สิ้นสุดก็ตาม แต่ในกรณีกลับกัน หากคาดการณ์ว่าผลของคดีซึ่งยังไม่แน่นอนจะเป็นคุณต่อกิจการทำให้ได้รับค่าชดใช้ค่าเสียหายหรือได้รับค่าชมเชย มาตรฐานการบัญชีจะกำหนดให้ชะลอการรับรู้นั้นไว้ก่อนจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จและเกิดรายได้จากการได้รับชดใช้หรือชดเชยแล้วจริง ๆ เท่านั้นหลักความระมัดระวังทางบัญชีข้างต้นอาจมีผู้บริหารที่มีความคิดไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้ผลงานที่ปรากฏในงบการเงินเกิดความไม่เสมอภาคกัน อันเนื่องจากในสถานภาพเดียวกันของความไม่แน่นอน มาตรฐานการบัญชีกำหนดให้รับรู้ค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายด้านเดียว แต่หากมีการรับรายได้บ้างกลับยังบันทึกบัญชีไม่ได้จนกว่าจะได้รับจริง อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนตามตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น หากไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร หรือไม่อาจประมาณจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายได้ มาตรฐานการบัญชีก็มีข้อกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลนี้ไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินได้ทราบ โดยถือเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้องและเพียงพอ
การรับรู้หรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่มีผลกระทบต่องบการเงินอยู่ที่ความจริงใจและความโปร่งใสของผู้บริหาร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน หากไม่ปกปิดและดำเนินการตามข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชีอย่างตรงไปตรงมา งบการเงินก็ย่อมสะท้อนให้เห็นความไม่แน่นอนที่กิจการเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจน ตลอดจนแนวโน้มหรือสถานภาพของความไม่แน่นอนต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในแต่ละงวดบัญชี เกิดผลดีต่อผู้ใช้งบการเงินและผู้มีส่วนได้เสียในกิจการนั้นที่ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเที่ยงแท้สามารถประเมินผลกระทบหรือขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับความไม่แน่นอนนั้นได้ เสียงบ่นเรื่องรายการนอกงบการเงินหรือความไม่โปร่งใสของผู้บริหารก็จะเบาบางลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย
มาตรฐานบัญชี
เป็นที่ทราบกันดีว่าในการขายสินค้านั้น กำไรเกิดจากราคาขายหักด้วยต้นทุนของสินค้า แต่สินค้าที่ซื้อมาเพื่อขายมิได้มีราคาเดียวกันตลอดไป เพราะต้องมีการซื้อหลายครั้ง และในแต่ละครั้งราคาสินค้าก็จะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในท้องตลาด ดังนั้น ในทาง “บัญชี” จึงมีการกำหนดมาตรฐานการบัญชีขึ้นมาใช้ในการคำนวณราคาต้นทุนของสินค้าที่ขายและต้องให้สอดคล้องกับความเป็นไปในตลาดด้วย
ตามมาตรฐานการบัญชีนั้น ราคาต้นทุนของสินค้าจะคำนวณตามข้อสมมติฐานในการหมุนเวียนของสินค้า ซึ่งมีอยู่ 3 วิธีการหลัก คือ
- วิธีเข้าก่อนออกก่อน วิธีนี้ถือว่าสินค้าชิ้นใดซื้อมาก่อนจะเป็นชิ้นที่ถูกขายไปก่อน ต้นทุนของสินค้าที่ขายได้จึงเป็นของสินค้าที่ซื้อมาก่อนชิ้นอื่นในขณะนั้น
- วิธีเข้าหลังออกก่อน วิธีนี้ถือว่าสินค้าชิ้นใดซื้อมาหลังสุดจะเป็นชิ้นที่ขายไปก่อน ต้นทุนของสินค้าที่ขายได้จึงเป็นของชิ้นที่ซื้อมาหลังสุด
- วิธีถัวเฉลี่ย วิธีนี้จะไม่คำนึงว่าสินค้าชิ้นใดซื้อมาก่อนหรือซื้อมาทีหลัง แต่จะนำต้นทุนสินค้าที่มีอยู่มาถัวเฉลี่ยเป็นราคาเดียว แล้วถือราคานั้นเป็นต้นทุนสินค้าที่ขายออกไป
จะเห็นได้ว่าทั้งสามวิธีการข้างต้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่จะเลือกใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ทางธุรกิจของกิจการที่ประกอบการอยู่กลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะถ้าเลือกวิธีที่ไม่เหมาะสมก็จะมีผลให้กำไรขาดทุนจากการขายสินค้าที่ปรากฏในงบการเงินนั้นเกิดความแตกต่างกัน และผลการดำเนินงานจะไม่เป็นไปดังที่ผู้บริหารคาดหวัง ซึ่งในบางกรณีอาจทำให้กำไรน้อยหรือถึงกับขาดทุนเลยก็ได้ ดังนั้น การเลือกวิธีการบัญชีที่เหมาะสมในการคำนวณต้นทุนสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ อันจะทำให้ผลการดำเนินงานตามงบกำไรขาดทุนเป็นคุณต่อกิจการ
ประเด็นอยู่ที่ว่า ผู้บริหารต้องการดำเนินกลยุทธ์ในการทำธุรกิจอย่างไร ถ้าต้องการแสดงผลงานที่ดีมีกำไรเร็ว ก็ต้องเลือกใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อน แต่หากต้องการตรงกันข้าม ก็ต้องเลือกใช้วิธีเข้าหลังออกก่อน อย่างไรก็ดี ผู้บริหารอาจเลือกเดินสายกลาง โดยเลือกใช้วิธีถัวเฉลี่ย ซึ่งราคาต้นทุนของสินค้าที่ขายจะถูกเฉลี่ยให้เท่ากันหมด กำไรขาดทุนจากการขายสินค้าดังกล่าวจะมีจำนวนเงินเท่ากันตลอดช่วงเวลาที่ราคาขายของสินค้าเหล่านี้มิได้เปลี่ยนแปลง
ดังนั้นการเลือกใช้วิธีการบัญชีสามารถช่วยผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ได้ กล่าวคือหากผู้บริหารไม่ต้องการให้มีปัญหาต้นทุนสินค้าที่แตกต่างกันตามราคาขึ้นลงในตลาด ผู้บริหารก็สามารถเลือกใช้วิธีตีราคาสินค้าตามวิธีการถัวเฉลี่ย จะทำให้ผลการดำเนินงานออกมาไม่หวือหวาและไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงเหมือนการใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อน หรือวิธีเข้าหลังออกก่อน แต่ถ้าผู้บริหารมีความจำเป็นต้องแสดง ผลงานที่สร้างความเชื่อมั่นในตัวกิจการก่อนก็ต้องเลือกใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อนในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่แนวโน้มของราคาสินค้ามีแต่จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นสภาวะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลงก็จะต้องใช้วิธีเข้าหลังออกก่อนจึงจะได้ผลการดำเนินงานที่ดีตามที่ประสงค์
การเลือกใช้วิธีการบัญชีนี้ เมื่อได้เลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งไปแล้ว หากต้องการจะเปลี่ยนไปเลือกใช้วิธีการบัญชีอีกวิธีการหนึ่ง จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางบัญชีด้วย
กล่าวโดยสรุป ผู้บริหารที่มีความรู้เรื่องมาตรฐานการบัญชีและเข้าใจถึงผลที่จะกระทบต่องบการเงินเนื่องจากการเลือกใช้วิธีการบัญชีที่แตกต่างกัน ย่อมได้เปรียบและจะสามารถดำเนินกิจกรรมและบริหารธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เลือกใช้ อันจะส่งผลให้งบการเงิน หรือกระจกเงาของการดำเนินธุรกิจสามารถสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานได้ตามที่ผู้บริหารคาดหมายไว้
สรุปประเด็น
ตามมาตรฐานการบัญชีนั้น ราคาต้นทุนของสินค้าจะคำนวณตามข้อสมมติฐานในการหมุนเวียนของสินค้า ซึ่งมีอยู่ 3 วิธีการหลัก คือ
1. วิธีเข้าก่อนออกก่อน วิธีนี้ถือว่าสินค้าชิ้นใดซื้อมาก่อนจะเป็นชิ้นที่ถูกขายไปก่อน ต้นทุนของสินค้าที่ขายได้จึงเป็นของสินค้าที่ซื้อมาก่อนชิ้นอื่นในขณะนั้น
2. วิธีเข้าหลังออกก่อน วิธีนี้ถือว่าสินค้าชิ้นใดซื้อมาหลังสุดจะเป็นชิ้นที่ขายไปก่อน ต้นทุนของสินค้าที่ขายได้จึงเป็นของชิ้นที่ซื้อมาหลังสุด
3. วิธีถัวเฉลี่ย วิธีนี้จะไม่คำนึงว่าสินค้าชิ้นใดซื้อมาก่อนหรือซื้อมาทีหลัง แต่จะนำต้นทุนสินค้าที่มีอยู่มาถัวเฉลี่ยเป็นราคาเดียว แล้วถือราคานั้นเป็นต้นทุนสินค้าที่ขายออกไป
กรณีศึกษา
บริษัท ไทยเบตเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด
accasa.com/sme/0025.php
จากรุ่นเตี่ยที่เป็นพ่อค้าพืชไร่ในภาคใต้และค้าขายกับมาเลเซียรุ่นเสี่ยได้อาศัยช่องทางตลาดที่เตี่ยบุกเบิกไว้มาขยาย โอกาส จนกลายเป็นโรงงานทำเส้นหมี่ที่ทันสมัย ส่งขายห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศทั้งแม็คโคร โลตัส ท๊อปส์ และ ห้างอื่นอีก หลายแห่งในไทย ตลอดจนส่งออกไปขายต่างประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ย้อนหลังไปใน ปี 2500 โรงงานเส้นหมี่สมัยเตี่ย การทำเส้นหมี่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนในกระบวนการผลิต ใน ขั้นตอนนวดแป้งก็จะมีเหงื่อไคลของคนงานปะปนอยู่ ไม่สะอาดและมีปัญหาการผลิตไม่ทัน รุ่นเสี่ยที่มารับช่วงกิจการ เห็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพของสินค้า โดยปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัย สามารถผลิตเส้นหมี่ที่ถูกสุขลักษณะไม่ใส่สารฟอกสีไม่มีกลิ่นและรสเหม็นเปรี้ยวอีกต่อไป
รุ่นเสี่ยคนนี้ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาตนเอง ได้ขวนขวายเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่เส้นหมี่ แต่ยัง พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากข้าวอีกมากมาย เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวแครอท ผัดไทยกึ่งสำเร็จรูป และตั้งเป้าหมาย ไว้ว่า จะเป็นผู้ผลิตเส้นหมี่รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และจะเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นจากข้าว"คิดถึงผลิตภัณฑ์ข้าวไทย คิดถึงไทยเบตเตอร์ฟู๊ดส์"
ต้องการบินสูง จึงต้องเตรียมพร้อม
เดิมไทยเบตเตอร์ฟู๊ดส์ คือโรงงานซุ่นจือบ้านโป่ง ตั้งขึ้นเมื่อ 43 ปีก่อน คุณวัฒนาได้เข้ามาช่วยดูแลตั้งแต่ปี 2523 และพัฒนาจนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตให้ทันสมัย โดยนำเข้าเครื่องจักรมาจากต่างประเทศพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบและรักษาคุณภาพให้ดีอย่างสม่ำเสมอ สร้างห้องทดลองเพื่อเช็คคุณภาพสินค้าทุกชั่วโมง ขยายตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกโดยตรงแล้ว ยังเป็นผู้ผลิตให้กับบริษัท ชั้นนำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักภายใต้ยี่ห้อที่ลูกค้าต้องการทั้งในและต่างประเทศ
ปี 2529 ยอดขาย 18 ล้านบาท คนงาน 70 คน
ปี 2543 ยอดขาย 360 ล้านบาท คนงาน 700 คน
"การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปจำหน่ายในต่างประเทศจะต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพเป็นพิเศษและถ้าผิดพลาดไปแล้ว ลูกค้าจะไม่เชื่อถือ" คุณวัฒนาเห็นความสำคัญข้อนี้ จึงยื่นขอการรับรองมาตรฐาน ISO และลงทุนสร้างห้องทดลองเพื่อตรวจสอบคุณ ภาพสินค้า ใช้เทคโนโลยีมาช่วยคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้มาตรฐานโลก พร้อมด้วยการบริหารจัดการที่มีระบบ พัฒนาโดยไม่หยุดนิ่ง ผลิตภัณฑ์ข้าวไทยของเบตเตอร์ฟู๊ดส์ ล้วนเกิดขึ้นจากการรู้จักแสวงหาช่องว่างทางการตลาด และมุ่งมั่นสร้างสรรค์ สินค้าด้วยคุณภาพ ในเร็วๆ นี้ เราก็จะได้พบผลิตภัณฑ์ใหม่ของไทยเบตเตอร์ฟู๊ดส์ เช่น ขนมจีนอบแห้ง แผ่นแป้งห่อแหนมเนือง ฯลฯ ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทยให้ก้าวหน้าขึ้น
จะเห็นได้ว่าทั้งสามวิธีการข้างต้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่จะเลือกใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ทางธุรกิจของกิจการที่ประกอบการอยู่กลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะถ้าเลือกวิธีที่ไม่เหมาะสมก็จะมีผลให้กำไรขาดทุนจากการขายสินค้าที่ปรากฏในงบการเงินนั้นเกิดความแตกต่างกัน และผลการดำเนินงานจะไม่เป็นไปดังที่ผู้บริหารคาดหวัง ซึ่งในบางกรณีอาจทำให้กำไรน้อยหรือถึงกับขาดทุนเลยก็ได้ ดังนั้น การเลือกวิธีการบัญชีที่เหมาะสมในการคำนวณต้นทุนสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ อันจะทำให้ผลการดำเนินงานตามงบกำไรขาดทุนเป็นคุณต่อกิจการ
การเลือกใช้วิธีการบัญชีนี้ เมื่อได้เลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งไปแล้ว หากต้องการจะเปลี่ยนไปเลือกใช้วิธีการบัญชีอีกวิธีการหนึ่ง จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางบัญชีด้วย
กล่าวโดยสรุป ผู้บริหารที่มีความรู้เรื่องมาตรฐานการบัญชีและเข้าใจถึงผลที่จะกระทบต่องบการเงินเนื่องจากการเลือกใช้วิธีการบัญชีที่แตกต่างกัน ย่อมได้เปรียบและจะสามารถดำเนินกิจกรรมและบริหารธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เลือกใช้ อันจะส่งผลให้งบการเงิน หรือกระจกเงาของการดำเนินธุรกิจสามารถสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานได้ตามที่ผู้บริหารคาดหมายไว้
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=3943