การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุก ๆ ด้าน
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุก ๆ ด้าน และทำให้เกิดภาวะปกติแบบใหม่ หรือ นิวนอร์มอล (New Normal) จากการที่เราต้องหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน การอยู่ในพื้นที่แออัด รวมถึงระมัดระวังการสัมผัสพื้นผิว หรือสิ่งของสาธารณะต่าง ๆ ร่วมกับคนอื่น
ที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาด เมื่อเราต้องการใช้เงิน เราก็จะไปทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม แต่ปัจจุบันการสัมผัสหน้าจอตู้เอทีเอ็ม หรือแม้กระทั่งการกดปุ่มเมื่อขึ้นลิฟต์โดยสาร กลายเป็นสิ่งที่หลายคนหลีกเลี่ยง เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้จากการสัมผัสร่วมกันของคนจำนวนมาก นี่จึงเป็นเพียงตัวอย่างของพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในทุกวันนี้
แต่โชคดีที่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตโดยไร้การสัมผัสให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เราจะเห็นว่า มีเทคโนโลยีดั้งเดิมที่รองรับพฤติกรรมไร้สัมผัสอยู่แล้ว เช่น ก๊อกน้ำ หรือชักโครกอัตโนมัติในห้องน้ำสาธารณะ การสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดูเมนูร้านอาหารแทนการสัมผัสเมนูที่เป็นแบบรูปเล่ม ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็มีส่วนในการตอบสนองและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มากขึ้น โดยนิตยสาร Strategy+business ของ PwC ได้แนะนำ 3 เทคโนโลยีไร้สัมผัส ที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราหลังการระบาดของไวรัส ได้แก่ เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (Speech recognition) เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial recognition) และสกุลเงินดิจิทัล (Digital money) ซึ่งแม้ว่าเทคโนโลยีทั้ง 3 ประเภทนี้จะไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ แต่ที่ผ่านมาได้กลับกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตในภาวะปกติใหม่ โดยช่วยทำให้เราหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิว หรือ สิ่งของร่วมกับคนอื่น ๆ ได้
1. เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (Speech recognition)
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับอุปกรณ์ที่ใช้การสั่งงานด้วยเสียง เช่น โปรแกรม Siri บนไอโฟน หรือ Alexa ซึ่งเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน แต่ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2505 แต่การพัฒนาเป็นไปอย่างช้า ๆ จนปี 2553 ที่มีเทคโนโลยีอื่น ๆ ทั้งด้านซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก และคลาวด์ ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถตีความคำสั่งเสียงได้โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากศูนย์กลาง เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูดในปัจจุบันจึงสามารถเข้าใจคำสั่งได้ซับซ้อนมากขึ้น เราจึงเริ่มได้เห็นลิฟต์อัจฉริยะ ที่สามารถสั่งการด้วยเสียงแทนการกดปุ่ม หรือเครื่องขายของอัตโนมัติที่ซื้อสินค้าด้วยเสียง
2. เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial recognition)
ความพยายามสร้างเทคโนโลยีนี้ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 2503 แต่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมการอ่านข้อมูลในตอนนั้นยังไม่ฉลาดเพียงพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สำเร็จได้ จนในปี 2560 Apple ได้ออกสมาร์ทโฟน ที่มีระบบตรวจสอบใบหน้าเพื่อปลดล็อคโทรศัพท์แทนการใส่รหัส ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามากขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19 บริษัทในจีนมีการพัฒนาระบบการจดจำใบหน้าให้สามารถใช้งานคู่กับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อระบุตัวตนและตรวจวัดไข้ได้ในระยะ 15 ฟุต (4.57 เมตร) ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้มีความน่าเชื่อถือสูง และสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีสนามบินหลายแห่ง เช่น ที่สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในการตรวจคนเข้าเมือง แทนการสแกนลายนิ้วมือ และในอนาคตกำลังจะมีตู้เอทีเอ็มที่ใช้การตรวจสอบใบหน้าแทนการกดรหัส ประตูบ้าน หรือรถยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยด้วยการตรวจสอบใบหน้าแทนการใช้กุญแจ และเปิดอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องสัมผัส
3. เงินดิจิทัล (Digital money)
เราเริ่มรู้จักเงินดิจิทัลตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล การรูดบัตรเครดิตหรือเดบิตผ่านระบบออนไลน์ และการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับระบบจ่ายเงิน เช่น Apple pay, Google pay, Ali pay ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการใช้จ่ายออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น มีผู้ใช้งานระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลทั่วโลกกว่า 1.3 พันล้านคน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนจึงมีทางเลือกในการใช้จ่ายโดยไม่ต้องสัมผัสอะไรนอกจากโทรศัพท์ของตนเอง ไม่ต้องจับเงินที่คนอื่นเคยสัมผัสมาก่อน หรือยื่นบัตรเครดิตให้กับพนักงานเมื่อซื้อสินค้า ร้านค้าเองก็มีทางเลือกเพื่อช่วยรักษาสุขอนามัยของทั้งพนักงานและลูกค้าเช่นกัน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- จับตา “10 เทคโนโลยี” พลิกโฉมธุรกิจในยุคนิวนอร์มัล
- เช็คโควิด-19 อาการเบื้องต้นง่ายๆ ติด-ไม่ติด ต้องอ่าน!
- เผยอาหาร 10 อย่าง ห้ามกินเด็ดขาด เสี่ยงติดโควิด-19 มากที่สุด
- ความลับ ป้องกันโรคต่อมลูกหมาก เริ่มลองคืนนี้!
- ไวรัส RSV คืออะไร สังเกตอาการลูกน้อยอย่างไร ป้องการและรักษาอย่างไร
- สรุปขั้นตอนการอบรมใบขับขี่ออนไลน์ แบบเข้าใจง่าย