คำซ้อน ความหมาย คำซ้อน เพื่อความหมาย คำซ้อนเพื่อเสียง


4,316 ผู้ชม


คำซ้อน    คือคำที่เกิดจากคำมูลตั้งแต่  2  คำขึ้นไปซึ่งมีความหมายเหมือนกันหรือไปในทำนองเดียวกันหรือมีความหมายต่างกันในลักษณะตรงข้าม มารวมกันทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นมา
คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นนาม  กริยา  หรือวิเศษณ์ก็ได้  คำมูลเหล่านี้ต้องประกอบกับคำชนิดเดียวกัน คือเป็นคำนามด้วยกัน หรือกริยาด้วยกัน และทำหน้าที่ได้ต่างๆ เช่นเดียวกับชนิดของคำมูลที่นำมาซ้อนกันเช่น
นามกับนาม  เช่น เนื้อตัว  เรือแพ  ลูกหลาน  เสื่อสาด  หูตา   
กริยากับกริยา เช่น ทดแทน ชมเชย เรียกร้อง ว่ากล่าว สั่งสอน
วิเศษณ์กับวิเศษณ์ เช่น เข้มงวด แข็งแกร่ง ฉับพลัน  ซีดเซียว  เด็ดขาด
คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นคำมาจากภาษาใดก็ได้  อาจเป็นคำไทยกับคำไทย  คำไทยกับคำที่มาจากภาษาอื่น หรือเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นทั้งหมด เช่น
คำไทยกับคำไทย   เช่น  ผักปลา  เลียบเคียง  อ่อนนุ่ม   อ้อนวอน
คำไทยกับคำเขมร  เช่น  แบบฉบับ  พงไพร  หัวสมอง  แจ่มจรัส
คำไทยกับคำบาลีสันสกฤต เช่น  เขตแดน โชคลาง  พรรคพวก ศรีสง่า หมู่คณะ
คำเขมรกับคำเขมร เช่น ขจัดขจาย  เฉลิมฉลอง
คำบาลีสันสกฤตกับคำบาลีสันสกฤต เช่น  สรงสนาน  ตรัสประภาษ  เสบียงอาหาร
คำมูลที่นำมาซ้อนกัน  ส่วนมากเป็นคำมูล  2  คำ  ถ้ามากกว่านั้นมักเป็นคำมูล  4  คำ หรือ  6คำ
คำมูล  2  คำ  เช่น ข้าวปลา  นิ่มนวล  ปากคอ  ฟ้าฝน  หน้าตา
คำมูล  4 คำ  อาจมีสัมผัสกลางหรือซ้ำเสียง เช่น ได้หน้าลืมหลัง   กู้หนี้ยืมสิน  ยากดีมีจนมากหมอมากความ ไปวัดไปวา  ต้อนรับขับสู้
คำมูล  6  คำ  มักมีสัมผัสระหว่างกลาง เช่น  คดในข้องดในกระดูก  จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน

   คำซ้อนเพื่อเสียง ส่วนมากเกิดจากพยางค์สองพยางค์ซึ่งมีเสียงพยัญชนะต้นอย่างเดียวกัน เสียงสระหรือเสียงพยัญชนะสะกดอาจเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้  พยางค์ที่นำมาประกอบกันอาจไม่มีความหมายหรือมีความหมายเพียงคำเดียว  อีกคำหนึ่งอาจเป็นคำโบราณหรือคำภาษาถิ่น  แต่เมื่อประกอบกันเป็นคำซ้อนต้องมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
ลักษณะของคำซ้อนเพื่อเสียง มีดังนี้

    1.แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงสระ เช่นเกะกะ   ขรุขระ   คู่คี่  เงอะงะ   ซู่ซ่า
    2.แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นและพยัญชนะสะกดเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงสระ  เช่น เก้งก้าง  ขลุกขลิก  คึกคัก จริงจัง โผงผาง
    3.แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นและเสียงสระเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงพยัญชนะสะกด เช่น แจกแจง  เพลิดเพลิน  ทาบทาม  ยอกย้อน สอดส่อง
    4..  แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน  ต่างกันทั้งเสียงสระและพยัญชนะสะกด โดยมีพยัญชนะสะกดหรือไม่มีก็ได้  เช่น  กงการ  ขบขัน  งงงวย  ฟุ่มเฟือย  เจือจาน

 

อัพเดทล่าสุด