นิยาย นวนิยาย ความหมายนวนิยาย องค์ประกอบ


2,896 ผู้ชม


นวนิยาย
ความหมายของนวนิยาย
        สุพรรณี วราทร (2519 : 1) กล่าวว่า คำว่านวนิยายในภาษาไทย เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ใช้เรียกวรรณกรรมประเภทเรื่องสมมุติหรือบันเทิงคดี (Fiction) ที่เป็นร้อยแก้วแบบพรรณาโวหาร ซึ่งในภาษาไทยแต่เดิมเรียกว่า เรื่องอ่านเล่นหรือเรื่องประโลมโลก
        นวนิยาย มาจากภาษาอังกฤษว่า Novel และ Novella ในภาษาอิตาเลียน คำนี้ใช้เป็นครั้งแรกเพื่อเรียกนวนิยายอย่างใหม่ของบอกาจิโอ (Boccaio) ที่แต่งเรื่อง เดคาเมรอน (Decameroa) ซึ่งแต่งขึ้นราว ค.ศ. 1338-1340 การที่เรื่องเดคาเมรอน ได้รับการกล่าวขวัญจากคนสมัยนั้นว่าเป็นนิยายแบบใหม่หรือนวนิยายนั้น เป็นเพราะบอกาจิโอ เริ่มใช้กลวิธีการเขียนตามแบบ นวนิยายในสมัยปัจจุบันกล่าวคือ เขียนเล่าเป็นเรื่องสั้น ๆ เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างสมจริง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเรื่องราวดังกล่าวในวรรณกรรมนั้นเป็นเรื่องสมมุติไม่ใช่เรื่องจริง นอกจากนี้ก็มีวิธีการเสนอเรื่องให้ยอกย้อนชวนติดตาม และมีแนวคิดกว้างขวาง มีลักษณะต่างไปจากการเขียนนิทานนิยายแต่เดิมที่มักสร้างเรื่องจากจินตนาการ และอุดมคติของผู้เขียน แต่ผู้เขียนกลับทำให้เรื่องที่อ่านนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องจริง โดยอาศัยการเล่าเรื่องให้เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์แล้วสะท้อนแนวคิดสำคัญของเรื่องให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของศาสนาเป็นต้น อย่างไรก็ตามเรื่องเดคาเมรอน ก็เป็นเรื่องต้นเค้าของการเขียนนวนิยายตะวันตกเท่านั้น ยังไม่ได้มีลักษณะเป็นนวนิยายอย่างในปัจจุบันอย่างแท้จริงนัก แต่ก็มีอิทธิพลต่อนักเขียนในยุคนั้นและยุคต่อมาด้วย เพราะหลังจากนี้เป็นต้นมา ก็มีการเขียนนวนิยายหรือเรื่องเล่าแบบใหม่ก็กลายเป็นรูปแบบวรรณกรรมอย่างใหม่ที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป         (สายทิพย์ นุกูลกิจ. 2537 : 171-172) นวนิยายตามแบบแผนเช่นปัจจุบันนี้เริ่มมีขึ้นเมื่อตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์นวนิยายที่แท้จริงคนแรกของอังกฤษ คือ แดเนียล เดอโฟ (Daniel Defoe) ซึ่งแต่งเรื่อง โรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe) เมื่อ ค.ศ. 1719
        วิภา กงกะนันทน์ (2540 : 3-4) กล่าวว่า นักวิชาการของตะวันตกที่กล่าวถึง นวนิยายในฐานะที่เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งมีอยู่หลายคนทั้งชาวยุโรปและอเมริกัน เช่น Georg Lukacs ใน The Theory of the Novel (Berlin,1920) E.M. Forster ใน Aspects of the Novel (Great Britain,1927) Thomas Wolfe ใน The Story of a Novel (New York, 1936) และ Ian Watt ใน The Rise of the Novel (Great Britain, 1957) แต่ผู้ที่อธิบายศาสตร์แห่งนวนิยายให้เข้าใจได้ดีกว่าผู้อื่น คือ E.M. Forster ซึ่งกล่าว ว่า นวนิยายเป็นบันเทิงคดีร้อยแก้วรูปแบบหนึ่งที่ควรจะมีความยาวไม่น้อยกว่า 50,000 คำ ซึ่งผู้แต่งใช้สร้างเรื่องราวที่สมมุติขึ้นให้ดูเป็นเรื่องจริง หรือเหมือนเรื่องจริง บทประพันธ์ที่ E.M. Forster ถือว่าเป็นนวนิยายชั้นครู คือ War and Peace ของ Leo Tolstoy , The Brothers Karamazov ของ Dostoyevsky และ A Ia recherche du temps perdu ของ Marcel Proust
        แอนโธนี ทรอลลอป (Anthony Trallope) อธิบายว่านวนิยายเป็นสิ่งที่แสดงภาพชีวิตคนสามัญซึ่งทำให้คล้ายชีวิตจริงด้วยการสอดแทรกอารมณ์ และทำให้น่าอ่านโดยแทรกเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ นวนิยายควรแสดงภาพชีวิตจริง ซึ่งมิใช่ภาพของบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักหรือเป็นบุคคลซึ่งผู้แต่งรู้จัก แต่เป็นตัวละครที่ผู้แต่งสร้างขึ้นโดยกำหนดให้มีลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์อันเป็นที่รู้จักกันดี (Shaw. 1972 : 257)
        ส่วน กิลเบร์ต ไฮเอท (Highet 1953 : 203) ได้อธิบายสั้น ๆ ว่า นวนิยายหมายถึงเรื่องร้อยแก้วแบบพรรณาโวหารหรือเรื่องเล่าที่สมมุติขึ้นซึ่งมีความยาวเกินกว่า 30,000 ถึง 40,000 คำ
และใน Cassell's Encyclopedia of World Literature (อ้างถึงใน ธวัช บุณโณทก. 2526 : 87) ได้ให้ความหมายว่า นวนิยายเป็นโครงเรื่องจำลองจากชีวิตจริง สามารถแสดงให้เห็นเหตุผลที่ปรุงแต่งชีวิตนั้นขึ้นจากหลักความจริงทั้งปวงและมีการวิเคราะห์เห็นพฤติกรรมตามหลักจิตวิทยา
สรุปได้ว่า นวนิยาย คือ วรรณกรรมร้อยแก้วที่แต่งขึ้นโดยมีความยาวพอประมาณ โดยโครงเรื่องและตัวละครได้จำลองจากชีวิตจริง
องค์ประกอบของนวนิยาย
จากการศึกษาวิธีการและทำนองแต่งนวนิยายของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ ท่าน สรุปได้ว่า สิ่งสำคัญของนวนิยายที่จะต้องมี 6 ประการ ดังนี้ คือ
        1) โครงเรื่อง (Plot) คือ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นเหตุผลต่อกัน โดยมีความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการต่อสู้ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างน่าสนใจและติดตาม โครงเรื่องของนวนิยายมี 2 ชนิด คือ โครงเรื่องใหญ่ (main plot) คือ แนวที่ผู้ประพันธ์ ต้องการให้เรื่องดำเนินไป ต้องมีการผูกปมเรื่องให้ซับซ้อนและคลี่คลายเงื่อนปมเหล่านี้ในตอนจบ และโครงเรื่องย่อย (sub plot) คือ เรื่องที่แทรกอยู่ในโครงเรื่องใหญ่มีความสำคัญน้อยกว่า แต่เป็นส่วนที่เพิ่มความสนุกสนานแก่เนื้อเรื่อง ฉะนั้นในนวนิยายเรื่องหนึ่งอาจมีโครงเรื่องย่อยได้หลายโครงเรื่อง
        2) ตัวละคร (Character) คือผู้ทำให้เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง หรือเป็นผู้แสดง พฤติกรรมต่าง ๆ ในเรื่อง ตัวละครนี้นับเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของนวนิยาย เพราะถ้าไม่มีตัวละครแล้ว เรื่องราวต่าง ๆ ในนวนิยายก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ตัวละครของนวนิยาย มี 2 ประเภท คือ ตัวละครเอก (the major character) คือตัวละครซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องโดยตลอด หรือ เป็นศูนย์กลางของเรื่อง และ ตัวละครประกอบหรือตัวละครย่อย (the minor character) คือตัวละครซึ่งมีบทบาทในฐานะเป็นส่วนประกอบของการดำเนินเรื่องเท่านั้น แต่ก็ต้องมีส่วนช่วยเสริมเนื้อเรื่องและตัวละครสำคัญให้เด่นขึ้นด้วย
        3) บทสนทนา (Dialogue) คือ การสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละครในนวนิยาย เป็นส่วนที่ทำให้นวนิยายมีลักษณะคล้ายความจริงมากที่สุด บทสนทนาที่ดีต้องเหมาะสมกับบุคลิกภาพของตัวละคร ต้องสอดคล้องกับบรรยากาศในเรื่องและที่สำคัญต้องมีลักษณะสมจริง คือ มีคำพูดที่เหมือนกับบุคคลในชีวิตจริงใช้พูดจากัน
        4) ฉาก (Setting) คือ เวลาและสถานที่รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ช่วยบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อใดที่ไหน ที่นั้นมีลักษณะอย่างไร นวนิยายโดยทั่วไปจะสร้างฉากให้เป็นส่วนประกอบของเรื่อง เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์และเวลาที่ทำหนดไว้ในเนื้อเรื่อง หรือช่วยกำหนดบุคลิกลักษณะของตัวละคร ช่วยสื่อความคิดของผู้แต่ง หรือช่วยให้เรื่องดำเนินไป
        5) ความคิดเห็นของผู้แต่ง (Point of View) คือ ความคิดเห็น ทัศนะ หรือปรัชญา ของผู้เขียน ซึ่งสอดแทรกอยู่ในพฤติกรรมของตัวละคร หรือ คำพูดของตัวละคร ในการเสนอความคิดเห็นหรือแนวคิดนี้ ผู้แต่งจะไม่เสนอออกมาโดยตรง มักจะสอดแทรกซ่อนเร้นอยู่ในพฤติกรรมของตัวละคร
        6) ทำนองแต่ง (Style) คือแบบแผนและลักษณะท่วงทำนองในการแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้ประพันธ์ เช่น การเลือกใช้คำ ท่วงทำนองโวหาร และน้ำเสียงของผู้แต่ง (แต่งแบบแสดงอารมณ์ขัน อ่อนโยน ล้อเลียน ) เป็นต้น
ประเภทของนวนิยาย
การแบ่งประเภทของนวนิยาย มี 2 ลักษณะ คือ
1. แบ่งตามแนวคิดในการเขียน ดังนี้ คือ
        1.1) คลาสสิค (Classicism) คือ เรื่องที่เขียนตามแนวคิดแบบเดิม โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากประวัติศาสตร์ หรือวรรณคดีของชาติต่าง ๆ เช่น กรีก โรมัน จีน อินเดีย นวนิยายของไทยที่เขียนตามแนวคลาสสิค มักจะเป็นเรื่องสมมุติไม่เสมือนชีวิตจริง นิยมใช้อภินิหารในการแก้ปมของเรื่อง ตลอดจนการดำเนินเรื่อง เช่น ฮวนนั้ง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และนวนิยายอิงพงศาวดาร ของหลวงวิจิตรวาทการ เช่น บัลลังก์เชียงรุ้ง ดอกฟ้าจำปาศักดิ์ กุหลาบเมาะลำเลิงฟากฟ้าสาละวิน เป็นต้น
        1.2) โรแมนติก หรือ จินตนิยม (Romanticism) คือ เรื่องที่มุ่งให้ความสำคัญของอารมณ์ (emotion) ความรู้สึก (sentiment) และญาณสังหรณ์ (intuition) มากกว่าคุณค่าทางปัญญา บางครั้งก็เรียกว่า "นวนิยายพาฝัน" เนื้อหามักเกี่ยวกับ รัก โลภ โกรธ หลง และความอิจฉาริษยาของมนุษย์ นวนิยายแนวนี้จึงได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัย เช่น เรื่องดอกฟ้า โดมผู้จองหอง บ้านทรายทอง พจมาน สว่างวงศ์ ของ ก.สุรางคนางค์ เรื่อง ค่าของคน ในฝัน คู่กรรม รักที่ต้องมนตรา คุณหญิงนอกทำเนียบ ของทมยันตี (และนามแฝงอื่น ๆ) เรื่อง นิทรา-สายัณห์ ธนูทอง ช้องนาง ดรรชนีนาง ของอิงอร เรื่องจำเลยรัก ตำรับรัก ของชูวงศ์ ฉายะจินดา เป็นต้น
        1.3) สัจนิยม หรือ อัตถนิยม (Realism) คือเรื่องที่เลียนแบบเหตุการณ์ จริง ๆ ในสังคมแล้วสอดแทรกจินตนาการของผู้เขียนลงไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตีแผ่แง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา โดยกล่าวถึงคนในลักษณะต่าง ๆ ในวงการอาชีพต่าง ๆ และคนในฐานะต่าง ๆ อย่างสมจริง เพื่อแสดงให้เห็นแก่นแท้ของชีวิตในสังคม ไม่เลือกว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นส่วนที่ดีงามหรือเป็นส่วนอัปลักษณ์ของชีวิต เช่น สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่องมนุษย์ ของกฤษณา อโสกสิน นี่แหละโลก ของดอกไม้สด หญิงคนชั่ว ของ ก.สุรางคนางค์ เช่าชื่อกานต์ ของ สุวรรณี สุคนธา เป็นต้น
        1.4) ธรรมชาตินิยม (Naturalism) คือเรื่องที่มุ่งแสดงความสำคัญของธรรมชาติว่ามีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ เรืองประเภทนี้จึงเสนอแนวคิดที่สมจริงเช่นเดียวกับเรื่องประเภทสัจนิยม ต่างกันตรงที่ประเภทธรรมชาตินิยมมีแนวโน้มที่จะกล่าวถึงธรรมชาติฝ่ายต่ำของมนุษย์มากกว่าธรรมชาติฝ่ายสูงของมนุษย์ คือมุ่งที่จะเสนอถึงชีวิตที่ถูกรังแก กดขี่ ความทุกข์ยาก แร้นแค้น ทรมานใจ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะตีแผ่แก่นแท้ของชีวิตมนุษย์อีกมุมหนึ่ง เช่น ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม จันดารา ของ อุษณา เพลิงธรรม รอยมลทิน ของ ทมยันตี เหยื่ออารมณ์ ของ ศิระ ส. และ คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ เป็นต้น
        1.5) เหนือธรรมชาติ (Surrealism) คือเรื่องที่แสดงความคิดเห็นของผู้แต่งในลักษณะฝันเฟื่อง โลดโผน หรือเกี่ยวกับภูตฝีปีศาจ ผีดิบคืนชีพ วิญญาณพยาบาท เวทมนตร์คาถา สิ่งลึกลับมหัศจรรย์ เช่น พระจันทร์แดง ทิพย์ ของ ทมยันตี วิมานมะพร้าว ของแก้วเก้า ภาพอาถรรพณ์ ของ ศรีทอง ลดาวัลย์ และ เคหาสน์ภูต ของ จินตวีร์ วิวัชน์ เป็นต้น
        1.6) สัจนิยมใหม่ (Neo-realism) คือเรื่องที่สะท้อนสภาพชีวิตในสังคมที่
แท้จริง มีรายละเอียดสอดคล้องกับเป้าหมายของการดำรงชีวิต พร้อมทั้งสอดแทรกแนวคิดในการพัฒนาสังคมอย่างมีอุดมการณ์ แนวคิดนี้พัฒนามาจากแนวคิดสัจนิยม ดังนั้นในการพัฒนานวนิยายสัจนิยมใหม่ย่อมเป็นไปตามสภาพของสังคมแต่ละท้องถิ่นแต่ละประเภท ซึ่งมีพื้นฐานทางสังคมแตกต่างกันไปตลอดจนมโนทัศน์ร่วมของสังคมย่อมแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามนวนิยายแบบสัจนิยมใหม่ได้เสนอให้เห็นถึงการยอมรับโลกทัศน์ของสังคมเป็นเกณฑ์ และนำมาเป็นแก่นของเรื่องมากกว่านิยมกลุ่มอื่น ๆ เช่น พิราบแดง ของสุวัฒน์ วรดิลก เมื่องเนรมิต ของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ และ ขบวนการเสรีจีน ของ สด กูรมะโรหิต เป็นต้น
        1.7) สัญลักษณ์นิยม (Symbolism) คือ เรื่องที่มีกลวิธีการเขียนในลักษณะเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นรูปธรรม แทนนามธรรม ไม่กล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะตรงไปตรงมา กลับใช้สัญลักษณ์แทนบางสิ่งบางอย่างที่ต้องการจะกล่าวถึง อาจใช้แทนบางส่วนหรือใช้เรื่องทั้งเรื่องเป็นสิ่งแทนก็ได้ เช่น บนราวแห่งความคับแค้นของ พิบูลศักดิ์ ละครพล ตะกวดกับคบผุ และตลิ่งสูงซุงหนัก ของนิยม รายยวา งู ของ วิมล ไทรนิ่มนวล และแม่เบี้ย ของ วานิช จรุงกิจอนันต์ เป็นต้น
2) แบ่งตามลักษณะของเนื้อเรื่อง แบ่งได้ดังนี้ คือ
        2.1) นวนิยายเชิงชีวประวัติ (Biographical Novel) ได้แก่ นวนิยายที่กล่าวถึงเรื่องราวของตัวละครเอก ซึ่งมักได้เค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องราวในชวิตจริงของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น ตะวันตกดิน ของ กฤษณา อโศกสิน พระจันทร์สีน้ำเงิน ของ สุวรรณี สุคนธา ผิวขาวผิวเหลือง ของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เป็นต้น
        2.2) นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ (Historical Novel) เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตยุคสมัยใดสมัยหนึ่ง เช่น สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ร่มฉัตร ของ ทมยันตี ผู้ชนะสิบทิศ ของ ยาขอบ รัตนโกสินทร์ ของ ว.วินิจฉัยกุล ดาบเหล็กน้ำพี้ ของ อายัณโฆษ ขุนศึก ของ ไม้เมืองเดิม และ ขุนศึกมหาราช ของ รพีพร เป็นต้น
        2.3) นวนิยายแสดงข้อคิด (Themetic Novel) ได้แก่นวนิยายที่เนื้อหามุ่งแสดงความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยให้ตัวละครเอกแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจต่าง ๆ เช่น ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ปักกิ่งนครแห่งความหลัง ของ สด กูรมะโรหิต และ บ่วงกรรม ของดวงใจ เป็นต้น
        2.4) นวนิยายล้อเลียน (Satires Novel) ได้แก่ นวนิยายที่เนื้อหามุ่งล้อเลียน เยาะเย้ย หรือเสียดสีประชดประชันความเลวร้ายและความยุ่งยากในสังคม เช่น เทพบุตรสุดแสบ ของ กนกเรขา เป็นต้น
        2.5) นวนิยายผจญภัย (Novel of Adventure) ได้แก่นวนิยายที่มีเนื้อหากล่าวถึงเรื่องการต่อสู้ผจญภัยของตัวละครเอกในรูปแบบต่าง ๆ จนได้รับความสำเร็จโดยไม่คาดหมาย แล้วมีเรื่องสตรีและความรักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์ เพชรพระอุมา ของ พนมเทียน เสือใบ ของ ป. อินทรปาลิต เป็นต้น
        2.6) นวนิยายมหัศจรรย์ หรือ จินตนิยม (Novel of Fantasy) คือ นวนิยายที่มีโครงเรื่องลึกลับ โดยผู้เขียนอาจจะจินตนาการเอาเอง หรือ ใช้ความฝันประเภทฟุ้งเฟ้อของผู้เขียน นำเรื่องราวเหล่านั้นมาผูกเป็นโครงเรื่อง โดยไม่มีเจตนาจะให้เป็นความจริง ผู้เขียนมีเป้าหมายให้เกิดความเพลิดเพลิน และจินตนาการแปลก ๆ แก่ผู้อ่านมากกว่าสาระอื่น ๆ เช่น นวนิยายภูตผีปีศาจ (Exorcism) ผู้เขียนพยายามเสนอความลึกลับเกี่ยวกับผูตผีและความมหัศจรรย์ของไสยศาสตร์ อันได้แก่ เวทมนตร์ คาถาอาคมต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนอารมณ์ของผู้อ่าน แต่ก็มีผู้นิยมอ่านอยู่มาก เช่น เรื่องเกี่ยวกับ ผีดิบคืนชีพ วิญญาณพยาบาท เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นนิทานพิมพ์ขายสำหรับเด็ก ๆ) ส่วนนวนิยายประเภทมหัศจรรย์ และเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งเป็นจินตนาการลึกลับจากสังคมโบราณมาเป็นโครงเรื่อง เช่น ราชินีบอด ของ สุวัฒน์ วรดิลก เปลวสุริยาและจุฬาตรีคูณ ของ พนมเทียน ธนูทอง ของ อิงอร โรงแรมผี ของ อ.อรรถจินดา แก้วขนเหล็ก ของ ตรี อภิรุม ทิพย์ ของ ทมยันตี ฟ้าจรดทราย ของ โสภาค สุวรรณ เป็นต้น
        2.7) นวนิยายเกี่ยวกับท้องถิ่น (Novel of Soil) ได้แก่ นวนิยายที่มีเนื้อหากล่าวถึงสถานที่สำคัญแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของเหตุการณ์และตัวละครในเรื่อง เช่น เรื่อง ทุ่งมหาราช ของ เรียมเอง แสนแสบ ของ ไม้เมืองเดิม และ ลูกอีสาน ของ คำพูน บุญทวี เป็นต้น
        2.8) นวนิยายเป็นตอนต่อเนื่องกัน (Episodic Novel) ได้แก่ นวนิยายที่กล่าวถึงเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มีความสัมพันธ์กันด้วยการใช้ตัวละครชุดเดียวกัน หรือมีแกนกลางของเรื่องเป็นแกนเดียวกัน เช่น ชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต หลายชีวิต ของ ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช เป็นต้น
        2.9) นวนิยายเชิงจิตวิทยา (Psychological Novel) ได้แก่ นวนิยายที่มีเนื้อหากล่าวบรรยายถึงความรู้สึกและจิตใจของตัวละครเอกที่มีต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต เช่น เงาราหู ของ โสภาค สุวรรณ มายา ของ ว.วินิจฉัยกุล ทองเนื้อเก้า ของโบตั๋น ปูนปินทอง ของกฤษณา อโศกสิน และ จันดารา ของ อุษณา เพลิงธรรม เป็นต้น
        2.10) นวนิยายเชิงปัญหา (Problem Novel) ได้แก่นวนิยายที่มีเนื้อหากล่าวถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและปัญหาชีวิตครอบครัว เช่น ทำไม ข้าวนอกนา ของ สีฟ้า และ เวลาในขวดแก้ว ของ ประภัสสร เสวิกุล เป็นต้น
        2.11) หัสนิยาย (Humour Novel) ได้แก่ นวนิยายที่มีเนื้อหามุ่งให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ มักเป็นเรื่องเบาสมอง เช่น ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ของ กาญจนา นาคนันท์ พ่อปลาไหล ของ กนกเรขา ชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต ชุดชาวเขื่อน ของ มนันยา ชีวิตรักนักศึกษา ของ ศุภักษร และ ทหารเรือมาแล้ว ของ ประเทือง ศรีสุข เป็นต้น
        2.12) นวนิยายสังคมและการเมือง (Politics and Sociological Novels) คือ นวนิยายที่มีโครงเรื่องเกี่ยวเนื่องด้วยปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ การปกครอง ตลอดจนปัญหาการขัดแย้งของสังคม ในการดำเนินเรื่อง นักเขียนอาจจะใช้กลวิธีการดำเนินเรื่องอย่างแยบยลในการเสนอปัญหาดังกล่าวผ่านตัวละครมาสู่ผู้อ่าน คือ ให้ผู้อ่านทราบถึงปัญหาทางสังคม การขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง         นักเขียนอาจจะเสนอในรูปการถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองและลัทธิของตัวละครในเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านรับรู้แนวทางด้านการเมือง หรืออาจจะเสนอในรูปการต่อสู้ทางการเมืองของตัวละคร เช่น เรื่องไผ่แดง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไผ่ตัน ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ จาก ดวงใจ ของ ดวงใจ พัทยา ของ ดาวหาง ปีศาจ และ ความรักของวัลยา ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ พลับพลามาลี ของ รัตนะ ยาวะประภาษ นวนิยายที่ผู้เขียนเสนอแนวคิดทางการเมืองโดยผ่านพฤติกรรมของตัวละครคือแสดงให้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองของตัวละครตัวเอก เช่น ขบวนการเสรีจีน ของ สด กูรมะโรหิต จันทร์หอม ของ วิสิษฐ์ เดชกุญชร เมืองเนรมิต ของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ และ พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก เป็นต้น
        ส่วนนวนิยายสังคมนั้นส่วนใหญ่ผู้เขียนพยายามที่จะชี้ให้เห็นปัญหาชีวิต สภาพชีวิตในสังคมโดยเสนอให้เห็นบทบาทของการดำเนินชีวิตในสังคม ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม การเสนอแนวคิดดังกล่าว นักเขียนมักเสนอผ่านพฤติกรรม หรือแนวคิดของตัวละคร เพื่อเป็นการชักนำให้ผู้อ่านทราบถึงปัญหาทางสังคมนั้น ๆ เช่น แผ่นดินนี้ของใคร ของศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ระย้า ของ สด กูรมะโรหิต สนิมสร้อย ของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ เทพธิดาโรงแรม ของ ณรงค์ จันทร์เรือง เขาชื่อกานต์ ของ สุวรรณี สุคนธา นายอำเภอปฏิวัติ ของ บุญโชค เจียมวิริยะ ทำไม ของ สีฟ้า จดหมายจากเมืองไทย ของ โบตั๋น ทะเลฤาอิ่ม ของ สุวรรณี สุคนธา เป็นต้น
        2.13) นวนิยายลูกทุ่ง (Peasant Novel) คือ นวนิยายที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสภาพชีวิตในสังคมชนบท ซึ่งผู้เขียนมุ่งที่จะเสนอภาพสังคม แนวคิด ปรัชญาชีวิตของสังคมอีกมุมหนึ่ง เป็นการสะท้อนสภาพชีวิตที่ยากแค้น การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการดำเนินชีวิตเพื่อการอยู่รอด หรืออาจจะเสนอภาพชีวิตของสังคมชนบทที่มีความรื่นรมย์ท่ามกลางธรรมชาติ และสังคมที่ไม่ดิ้นรนมากนักก็ได้ เช่น นวนิยายชุดของไม้เมืองเดิม ได้แก่เรื่อง ชายสามโบสถ์ เกวียนหัก แสนแสบ โป๊ะล้ม เรือเพลงเรือเร่ เป็นต้น หรือชุดเรื่องสั้น "ผู้เฒ่า" ของ มนัส จรรยงค์ ชุดเสเพลบอยชาวไร่ ของ' รงค์ วงษ์สวรรค์ สร้อยทอง สาวชาวไร่ ลูกชาวนา ของ นิมิต ภูมิถาวร ทุ่งมหาราช ของ เรียมเอง รวมถึงเรื่อง ลูกอีสาน ของ คำพูน บุญทวี เป็นต้น
        2.14) นวนิยายต่างแดน (Exotic Novel) คือ นวนิยายที่ใช้ฉาก หรือสถานที่ต่างประเทศในการดำเนินเรื่อง ฉะนั้น คตินิยมจึงมีลักษณะประสมประสานระหว่างแนวคิดแบบไทยและต่างประเทศอยู่มาก ผู้เขียนมุ่งจะเปรียบเทียบคตินิยมและปรัชญาชีวิตของสังคมนั้น ๆ ด้วย นอกจากนี้นวนิยายต่างแดนยังมีส่วนในการเสนอฉาก สถานที่ต่างประเทศ เป็นลักษณะสารคดีนำเที่ยวอยู่บ้างซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการชักนำให้ผู้อ่านสนใจในเรื่องราวอีกด้วย เช่น เรื่องละครแห่งชีวิต ของ ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา รัตนาวดี ของ ว.ณ ประมวลมารค ปักกิ่งนครแห่งความหลัง ของ สด กูรมะโรหิต ความรักของวัลยา ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ นักบุญคนบาป ของ อิศรา อมันตกุล ทิวาหวาม ของ ศศิพงศ์ ประไพ ใต้ถุนป่าคอนกรีต ของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ รวมทั้งเรื่อง พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก ก็ใช้ฉากต่างประเทศเช่นเดียวกัน
        2.15) นวนิยายอาชญากรรม และนักสืบ (Detective and Crime Novel) เป็นนวนิยายที่ผู้เขียนผูกโครงเรื่องให้ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ซ่อมปม เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความระทึกใจ สะเทือนอารมณ์ไปตามตัวละครและเนื้อเรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจารกรรม การสืบสวน นวนิยายประเภทสืบสวนนี้ในสมัยแรก ๆ ได้แปลมาจากตะวันตก เช่น เรื่อง เชอร์ล็อคโฮล์ม (เซอร์ อาเธอร์ โคแนนดอยส์) และภายหลังได้แก่เรื่องนวนิยายชุด เจมส์บอนด์ 007 (เอียน เฟลมมิ่ง) เรื่องนี้มีชื่อเสียงมากและได้มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศจำนวนมาก นวนิยายชุดนักสืบและอาชญากรรมของไทย ได้แก่ เรื่อง แพรดำ ของ หลวงสารานุประพันธ์ เล็บครุฑ ของ พนมเทียน ชุดนักสืบพราน ของ 4411 ชุด อินทรีแดง ของ เศก ดุสิต ชุด เหยี่ยวราตรี ของ ส. เนาวราช และเรื่อง แบงค์ ของ พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์ เป็นต้น
        2.16) นวนิยายอิงศาสนา (Moral Novel) คือ นวนิยายที่มุ่งเสนอสาระทางจริยธรรมแก่สังคมแต่ก็ไม่ได้เขียนเป็นแบบเทศนาโวหาร และกลับผูกเรื่องเป็นนวนิยาย มีตัวละคร เพื่อให้ผู้อ่านจับประเด็นสำคัญของเรื่องเอาเอง หรือผู้เขียนพยายามเสนอแนวคิด คติธรรม จริยธรรม โดยผ่านพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องสู่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านสนุกสนาน ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย โครงเรื่องส่วนใหญ่จะนำมาจากเรื่องราวที่มีอยู่ในศาสนา และผู้เขียนนำมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้ตัวละครเหล่านั้นมีบทบาทน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น เรื่อง กามนิตวาสิฏฐี ของ เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป กองทัพธรรม ของ สุชีพ ปัญญานุภาพ อานนท์พุทธอนุชา ของ วศิน อินทสระ ลีลาวดี ของ ธรรมโฆษ ชุดกฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ ชุด "หลวงตา" ของ แพร เยื้อไม้ เป็นต้น
         2.17) นวนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Novel) เป็นนวนิยายที่เกี่ยวกับการค้นพบสิ่งแปลกใหม่ ความตื่นเต้นมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ยานมนุษย์ ของพรหมบุตร ชั่วนิจนิรันดร์ เรื่องแปลโดย กัญญา เป็นต้น

อัพเดทล่าสุด