วงจรการบริหารกลยุทธ์ MUSLIMTHAIPOST

 

วงจรการบริหารกลยุทธ์


638 ผู้ชม


วงจรการบริหารกลยุทธ์




ใครที่ชื่นชอบหรือสนใจในเรื่องของกลยุทธ์ไม่ควรจะพลาดนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคมนี้นะครับ เนื่องจากเป็นฉบับพิเศษที่ว่าด้วยเรื่องของ Leadership และ Strategy โดยเฉพาะ
       
       ในวารสารดังกล่าวมีบทความของอาจารย์ชื่อดังทางกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ทั้งการกลับมาทบทวน 5-Forces ของ Michael E. Porter หรือ บทความจาก Clayton M. Christensen หรือ จาก Rosabeth Moss Kanter โดยเนื้อหาที่ผมจะนำมาเสนอในสัปดาห์นี้มาจากบทความของ Robert Kaplan กับ David Norton ครับ
       
        จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงชื่อของ Kaplan กับ Norton ผมเชื่อว่าท่านที่สนใจในด้านการบริหารก็พอจะร้องอ๋อขึ้นมาครับ เนื่องจากทั้งคู่เป็นผู้คิดค้นระบบ Balanced Scorecard ที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ในวารสาร Harvard Business Review นี้ทั้งคู่เขียนเรื่องที่ชื่อว่า Mastering the Management System ซึ่งเป็นการมองภาพที่ใหญ่กว่าเพียงเรื่องของ Balanced Scorecard กับ Strategy Map ที่เราคุ้นเคย และเชื่อว่าบทความนี้ก็เป็นเสมือนบทคัดย่อของหนังสือเล่มใหม่ของทั้งคู่ที่จะออกประมาณกลางปีนี้ ที่ชื่อว่า The Execution Premium
       
        ถ้าใครติดตามงานของทั้งสองคนมาอย่างต่อเนื่องจากพบถึงพัฒนาการในแนวคิดของทั้งคู่พอสมควรครับ โดยแนวคิดของทั้งคู่นั้นดูเหมือนจะพัฒนาจากเล็กไปใหญ่ หรือ จากแคบไปหากว้าง โดยแรกเริ่มนั้นทั้งคู่นำเสนอแนวคิดเรื่องของ Balanced Scorecard (BSC) เพื่อใช้ในการประเมินผลองค์กรว่าสามารถดำเนินงานตามกลยุทธ์ได้หรือไม่?
       
       จากนั้นพัฒนา Balanced Scorecard จากการเป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดในสี่มุมมอง มาเป็นเรื่องของแผนที่กลยุทธ์ (Strategy Map) เพื่อใช้ในการสื่อสาร ถ่ายทอดกลยุทธ์ให้ชัดเจนขึ้น จากนั้นก็มาบทความล่าสุดที่ลงใน Harvard Business Review ครับ ที่มองการบริหารกลยุทธ์เป็นวงจรหรือระบบการบริหาร ส่วนพวกเครื่องมือหรือวิธีคิดต่างๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่เสริมให้เข้ากับวงจรแต่ละวงจร
       
        หลังจากเกริ่นมานานเราลองมาดูแนวคิดของ Kaplan กับ Norton กันนะครับ จริงๆ จะเรียกว่าใหม่ก็ไม่ได้นะครับ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สอนกันมานานพอสมควรแล้ว เพียงแต่พอเป็นนักคิดหรืออาจารย์ระดับโลกเขียนลงในวารสารระดับโลกก็เลยกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมา Kaplan กับ Norton นั้นนำเสนอระบบหรือวงจรการบริหารกลยุทธ์ที่มีความเชื่อมโยงตั้งแต่การคิดหรือการวางกลยุทธ์ การนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ การเชื่อมโยงกับการติดตามและเรียนรู้จากลยุทธ์ รวมทั้งการทดสอบและปรับกลยุทธ์
       
       ทั้งคู่มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบริหารกลยุทธ์ของแต่ละองค์กรนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากการขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างขั้นตอนแต่ละขั้นตอนของการบริหารกลยุทธ์ โดยทั้งคู่ได้แนะนำว่าระบบการบริหารกลยุทธ์ที่ดีนั้นควรจะเป็น Closed-Loop Management System โดยเป็นระบบปิดที่เชื่อมโยงขั้นตอนแต่ละขั้นตอนที่สำคัญเข้าไว้ด้วยกัน
       
        ขั้นตอนในการบริหารกลยุทธ์ที่ทั้งคู่เสนอมานั้นประกอบไปด้วย
       
       ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ จากนั้นกำหนดทิศทางขององค์กรให้ชัดเจน และกำหนดกลยุทธ์ในการขยายตัวและกลยุทธ์ในการแข่งขัน
       
       ขั้นที่ 2 จะเป็นการแปลงกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นในขั้นแรกเป็นวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ตัวชี้วัด รวมทั้งโครงการหลักหรือ Strategic Initiatives ที่จะดำเนินการ
       
       ขั้นที่ 3 จะเป็นการเชื่อมระหว่างกลยุทธ์กับการดำเนินงานผ่านทางการปรับปรุงกระบวนการในการทำงานในด้านต่างๆ การวางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งการจัดเตรียมเรื่องของงบประมาณ
       
        จากนั้นเมื่อองค์กรได้ดำเนินงานตามโครงการ แผนงานต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ก็เข้าสู่ขั้นที่ 4 ซึ่งเป็นการติดตามผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งมักจะเป็นไปในรูปแบบของการประชุมเพื่อทบทวนกลยุทธ์ และผลจากการทบทวนกลยุทธ์ องค์กรยังได้เกิดการเรียนรู้ว่ากลยุทธ์ที่ได้วางไว้และนำไปใช้นั้นมีความถูกต้องหรือผิดพลาดประการใด และขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ก็จะเป็นการทดสอบและปรับกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้น
       
        ท่านผู้อ่านจะพบได้นะครับว่าขั้นตอนทั้งห้าประการของการวงจรการบริหารกลยุทธ์นั้นไม่ได้แปลกใหม่อะไรมากนะครับ บางท่านอ่านเสร็จแล้วก็อาจจะระลึกถึง PDCA (Plan-Do-Check-Act) ที่เราคุ้นเคยกันก็ได้นะครับ เพียงแต่นำเอาวงจร PDCA มาปรับใช้ในกระบวนการบริหารกลยุทธ์เท่านั้น
       
       นอกจากนี้ทั้ง Kaplan กับ Norton ยังได้นำเสนอให้องค์กรรู้จักที่จะนำเครื่องมือทางด้านการจัดการต่างๆ เข้ามาปรับใช้ในแต่ละขั้นตอน เช่น นำเครื่องมือในการวิเคราะห์อย่าง SWOT หรือแนวคิดของ Blue Ocean Strategy เข้าใช้ในขั้นที่ 1 นำเรื่องของ BSC และ Strategy Map มาใช้ในขั้นที่สอง นำเครื่องมือในการปรับปรุงกระบวนการทำงานเช่น Reengineering หรือ Six Sigma มาใช้ในขั้นที่สาม และการนำเรื่องของ Decision Analytics มาใช้ในขั้นที่ห้า
       
        ดูเหมือนว่าผลงานล่าสุดของ Kaplan กับ Norton นั้นจะเป็นการบูรณาการงานวิชาการทั้งของตนเองและท่านอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน ในรูปแบบของการบริหารกลยุทธ์ที่ครบวงจร เพียงแต่ประเด็นที่น่าสนใจคือจะมีองค์กรอยู่มากน้อยเท่าใดที่สามารถบริหารได้อย่างครบวงจรจริงๆ และสามารถนำเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้มาใช้ได้จริงๆ

แหล่งข่าว : โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด