การบริหารคนเก่ง Talent Management
ตำแหน่งที่ว่านี้เรียกว่าตำแหน่งอะไรครับ สมชายถามสมศักดิ์ ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษา โดยทำหน้าที่หางานให้กับผู้บริหารระดับสูง ที่เรียกว่า Head Hunter นั่นเอง |
สมศักดิ์รู้จักสมชายมาหลายปีแล้ว เขารู้ว่าตำแหน่งนี้สมชายมีคุณสมบัติเหมาะสมมาก สมศักดิ์ตอบไปว่า ผู้จัดการอาวุโส หรือ Senior Manager ครับ สมชายตอบไปว่า ผมคงไม่คุยหรอกครับ อ้าว ทำไมละครับ ก็ผมมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแล้วที่นี่นะ แต่ว่าคุณสมชายยังไม่ทราบรายละเอียดของงาน และผลตอบแทนเลย ไม่ลองฟังดูก่อนหรือครับ แต่ว่าตำแหน่งนี้มันเป็นแค่ผู้จัดการอาวุโส แค่นั้นใช่ไหมละ สมชายถามย้ำให้แน่ใจ ใช่ครับ บริษัทนี้เขาเป็นบริษัทข้ามชาติ ทุกที่ทั่วโลกเขาเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้จัดการอาวุโส ทั้งนั้นครับ ขอบคุณครับคุณสมศักดิ์ ผมอายุ 45 ปีแล้ว ถ้ายังมีตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ผมคงเทียบกับเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกันไม่ได้ ส่วนใหญ่พวกเขามีตำแหน่งผู้อำนวยการ รองประธานฯ ผู้จัดการทั่วไป บางคนก็มีตำแหน่งซะหรูเลย เช่น กรรมการผู้จัดการ ซีอีโอ ประธานฯ ผมพอใจกับตำแหน่งแล้วก็งานที่นี่อยู่แล้วครับ สมศักด์เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง น่าแปลกใจว่า ตำแหน่งบนนามบัตร มีผลสำคัญมากสำหรับคนไทยหลายๆ คนในการเลือกงาน ทำไมหรือครับคุณเกรียงศักดิ์ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของหน้าตานะครับ สำหรับหลายๆ คนแล้ว ตำแหน่งที่ดูดีในนามบัตรมีนัยสำคัญพอๆ กับเงินเดือนที่เขาได้รับเลยทีเดียวล่ะ เพราะว่าเราไม่รู้นี่ว่าคุณมีเงินเดือนมากน้อยขนาดไหน แต่ว่าตำแหน่งก็พอจะช่วยบอกเป็นนัยๆ ได้บ้างล่ะ ประเทศไทยเราขาดแคลนคนเก่งๆ นะ เราเป็นประเทศที่เพิ่งเริ่มอุตสาหกรรมกันแบบบูมๆ นี่เมื่อราวๆ 20 ปีที่แล้วมานี่เอง ดังนั้น ทำให้เรามีผู้บริหารระดับกลางหรือผู้จัดการขึ้นมารองรับกับงานที่ขยายตัวไม่ทัน บริษัทส่วนใหญ่ก็เลยต้องโปรโมตคนภายใน หรือไปดึงตัวมาจากที่อื่นๆ มาชั่วข้ามคืน เราก็มีผู้จัดการจำนวนมากขึ้นมา แต่ก็ยังไม่พอ บริษัทก็ต้องยื้อแย่งดึงตัวกันไป ดึงตัวกันมา ก็เลยเกิดมีการเสนอเงื่อนไขดีๆ ตำแหน่งใหญ่ๆ บริษัทข้ามชาติอาจจะได้เปรียบเพราะชื่อเสียง ดังนั้น บริษัทขนาดกลางและบริษัทท้องถิ่น จึงต้องใช้กลยุทธ์การจ่ายดีๆ และตำแหน่งหรูๆ มาล่อใจ สมศักดิ์ออกความเห็น แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาซิครับ อะไรหรือครับ การที่อยู่ๆ เราก็มีผู้จัดการจำนวนมากเกิดขึ้น โดยที่พวกเขาขาดประสบการณ์ และเราก็ไม่มีเวลาเตรียมตัวพวกเขามากนัก ส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้ก็มักจะถูกคัดเลือกมาจากคนที่มีแวว และเป็นพวกทำงานเก่งด้วยตนเอง ส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะคือ ทำงานหนัก มีความคิดริเริ่มเอง รับผิดชอบสูง มีวินัยที่ดี มีความทะเยอทะยาน คุณสมบัติเหล่านี้อาจจะบดบังดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร ที่จะต้องพิจารณาทักษะอื่นๆ ในการบริหารจัดการ ฝ่ายบริหารอาจจะคิดว่าคนเก่งๆ เหล่านี้ สามารถจะเป็นผู้จัดการเก่งๆ ได้ด้วย น่าเสียดายว่าการบริหารตนเองกับการบริหารคนอื่นนั้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว มันมีทักษะและคุณสมบัติอื่นๆ ที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาอีกมาก องค์กรส่วนใหญ่ก็เลยเข้าสู่วงจรที่เรียกว่า เสียคนเก่งไปหนึ่งคน แล้วได้ผู้จัดการแย่ๆ เพิ่มอีกราย น่าจะมีทางออกนะครับ ผมบอกว่า สำหรับคนที่โชคดี ได้ทำงานในองค์กรข้ามชาติที่มีระบบพัฒนาและฝึกอบรมที่ดี พวกเขาก็จะได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้ หลายๆ องค์กรก็ส่งชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์และเป็นคนมีฝีมือเข้ามา พวกเขาช่วยถ่ายทอดและโค้ชคนไทยให้เก่งขึ้นในเรื่องทักษะการบริหาร โชคร้ายที่ตลาดขาดแคลนคนเก่งๆ อย่างมาก ดังนั้น คนจึงเปลี่ยนงานถี่ขึ้น คนจำนวนมากอาจจะเปลี่ยนงานทุกๆ 1 หรือ 2 ปี ผมคิดว่านั่นมันสั้นไป อย่างน้อย 3 หรือ 5 ปี ถึงควรจะเปลี่ยนงาน ทำไม 3-5 ปีละครับ เพราะว่าปีแรกคือการเรียนงาน พอปีที่ 2 ก็ลองผิดลองถูกจากการเรียนรู้ในปีแรก และพอปีที่ 3 คุณก็เรียกว่ามีประสบการณ์เพียงพอที่จะบอกว่าสิ่งไหนเหมาะ สิ่งไหนควรเลี่ยง การเปลี่ยนงานเร็วเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะมันเป็นการบอกแค่ว่าคุณรู้อะไรมาบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่า คุณทำอะไรมามากเพียงพอ สมศักดิ์ถามต่อ แต่ผมว่ามันก็ดูไม่น่าจะมีปัญหานะครับ ผมก็เห็นบริษัททั้งหลายก็ดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดีนี่ครับ แน่นอน ในภาวะที่ธุรกิจและเศรษฐกิจเติบโตนั้น มันอาจจะดูไม่มีปัญหาอะไร อย่าลืมว่าประเทศเรามีการเติบโตมาตลอด ยกเว้นการชะลอตัวในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น แต่ว่าบทพิสูจน์เรื่องฝีมือนี่ก็จะเห็นกันตอนที่เศรษฐกิจไม่ได้เติบโตมากนี่แหละ แล้วก็ตอนนี้มันเป็นยุคใหม่ของการแข่งขัน เรามีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น WTO หรือ FTA เรามีคู่แข่งที่น่ากลัวระดับโลก เช่น จีนและอินเดีย ยังไม่นับคู่แข่งหน้าใหม่เช่นเวียดนามอีก สำหรับคนไทยที่คิดว่าตนเองแน่ๆ เขาอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความน่ากลัวของการแข่งขัน หลายคนยังอาจจะชื่นชมความสำเร็จในอดีตของตนเองอยู่ แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่ากำลังเผชิญสิ่งที่ท้าทายมากๆ อยู่ มีคำแนะนำอย่างไรครับ คุณต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มากขึ้นละ ยิ่งคุณมีรายได้มาก คุณยิ่งต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นให้มากตามไปด้วย วิธีที่คุณเคยใช้ในอดีต หลายๆ อย่างมันอาจจะไม่เวิร์กสำหรับวันนี้ แน่นอนไม่ต้องพูดถึงวันพรุ่งนี้หรอก ประสบการณ์เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่ามันก็อาจจะทำให้เราตาบอด หลงใช้ประสบการณ์เดิมๆ กับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปก็ได้ คุณอาจจะต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ๆ ด้วย ผมขอแนะนำอย่างจริงจังเลยว่า ให้เด็กๆ รุ่นใหม่มาเป็นครูของเราซักคนสองคน เรียนรู้จากพวกเขาว่า คนรุ่นใหม่นี้เขาคิดกันอย่างไร เขามีวิถีชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะถ้าคุณขายสินค้าหรือบริการที่มีกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ วิธีนี้น่าจะช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างวัยได้เป็นย่างดี |
ที่มา : โพสต์ ทูเดย์ |