ตะกาฟุล ธุรกิจประกันในอิสลาม ข้อมูล ตะกาฟุล เชิงลึก


996 ผู้ชม

ศาสนาก็มีหลักคำสอนที่จะช่วยเหลือสมาชิกในสังคมเช่นกัน



นอกจากอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรือที่เรียกว่าปัจจัยสี่จะมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์แล้ว มนุษย์ยังต้องการหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจการค้าของตนด้วย ดังนั้น นับตั้งแต่อดีต มนุษย์จึงหาหนทางที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยและมาตรการบรรเทาความสูญเสียต่างๆในการดำรงชีวิตและการทำธุรกิจของตนหลากหลายวิธี เช่น จ้างคนคุ้มครอง จ่ายส่วยให้แก่เจ้าเมือง เก็บรักษาพืชผลหรือผลผลิตของตัวเองไว้เพื่อใช้ในยามขาดแคลน เป็นต้น

      สัญชาตญาณในการเตรียมตัวเพื่อความมั่นคงปลอดภัยและบรรเทาภาระความเดือดร้อนนี้มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตแม้แต่สัตว์ เช่น มดรู้จักสะสมเสบียงไว้ในภาวะขาดแคลน คนป่าหันมาปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นหลักประกันความไม่แน่นอนในอนาคต แม้แต่นบียูซุฟเองก็สะสมเมล็ดข้าวไว้เตรียมพร้อมสำหรับภาวะขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 ปีตามคำทำนายฝันของท่าน เป็นต้น

      ศาสนาก็มีหลักคำสอนที่จะช่วยเหลือสมาชิกในสังคมเช่นกัน เช่น หลักคำสอนเรื่องการทำทานที่มีในทุกศาสนา

      นอกจากนี้แล้ว รัฐก็มีหน้าที่หลักในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนของตนด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมประชาชนจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐ บางประเทศที่ใช้นโยบายรัฐสวัสดิการอย่างเช่นอังกฤษก็ดำเนินนโยบายประกันสังคมโดยการเรียกเก็บภาษี(เบี้ย)ประกันสังคมจากประชาชนในอัตราสูงโดยรัฐรับประกันการรักษาพยาบาลให้ฟรีและมีเงินบำนาญให้หลังการปลดเกษียณ

การประกันภัยก่อนสมัยอิสลาม

      ในสมัยก่อนหน้าอิสลาม เมื่อพ่อค้าชาวอาหรับจะนำกองคาราวานออกเดินทางไปค้าขายยังแดนไกล ชาวอาหรับรู้ดีว่าเส้นทางในทะเลทรายมีอันตรายจากทั้งโจรและภัยธรรมชาติ ดังนั้น ก่อนออกเดินทาง พ่อค้าชาวอาหรับก็จะนำเงินส่วนหนึ่งมารวมไว้เป็นกองกลางโดยให้คนที่ไว้ใจได้เป็นผู้ดูแลและตกลงกันว่าถ้าหากพ่อค้าคนใดประสบภัยหรือความเสียหายระหว่างการเดินทางค้าขาย เงินกองกลางนี้จะถูกนำไปช่วยบรรเทาทุกข์หรือความเสียหายให้แก่พ่อค้าคนนั้น หากกองคาราวานเดินทางกลับมาโดยปลอดภัย เงินกองกลางก็จะถูกแบ่งให้ผู้ดูแลเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าจ้าง ส่วนที่เหลือก็จะคืนให้แก่สมาชิกผู้จ่ายเงิน วิธีการเช่นนี้ในภาษาอาหรับเรียกว่า "ตะกาฟุล" ซึ่งหมายถึงความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกันในหมู่คณะ

ประกันภัยกลายเป็นธุรกิจ

      เมื่อโลกเจริญก้าวหน้าไปตามกาลเวลาและการดำเนินธุรกิจการค้ามีความสลับซับซ้อนขยายกว้างออกไปมากยิ่งขึ้น รัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน พ่อค้าและนักธุรกิจในการให้หลักประกันความปลอดภัยและการบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างเพียงพอและทันการ ภาระนี้ส่วนหนึ่งจึงถูกปล่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการกันเองในรูปขององค์กรการกุศลและองค์กรบรรเทาทุกข์ เช่น สมาคมฌาปนกิจ สมาคมสงเคราะห์ต่างๆ และบริษัทประกันภัยซึ่งทำหน้าที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐในการดูแลช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ของสมาชิกในสังคม ดังนั้น การประกันภัยจึงกลายเป็นธุรกิจขึ้นมาด้วยความจำเป็นของสถานการณ์

ธุรกิจประกันในมุมมองของอิสลาม

      ธุรกิจประกันภัยอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้มีขึ้นมานานหลายร้อยปีแล้วในประเทศตะวันตกและเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากธุรกิจประกันได้คืบคลานเข้ามาสู่โลกอิสลามจนกลายเป็นความจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่เช่นเดียวกับสถาบันการเงินระบบดอกเบี้ยที่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ดังนั้น ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการมุสลิมจึงมองธุรกิจประกันจากมุมมองของอิสลามและเห็นว่าธุรกิจประกันโดยหลักการแล้วสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลาม แต่วิธีการดำเนินธุรกิจประกันภัยมีบางสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของอิสลาม เช่น

      1) ธุรกิจประกันภัยสมัยใหม่มีเรื่องของความเสี่ยงแบบการพนันอยู่ เช่น ข้อเสนอจะให้เงินชดใช้แก่ผู้ซื้อประกันเป็นวงเงินถึง 1 แสนบาทถ้าหากผู้ซื้อประกันจ่ายเงินเบี้ยประกันจำนวน 100 บาทและเสียชีวิตลงในระยะเวลา 1 ปี แต่ถ้าหากผู้ซื้อประกันไม่เสียชีวิตในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้เอาประกันก็จะสูญเสียเงินนั้นไปเพราะได้ซื้อประกันนั้นไปแล้ว ลักษณะของการประกันดังกล่าวนี้ไม่ต่างอะไรไปจากการซื้อล็อตเตอรี่ที่หากว่าไม่ถูกรางวัลก็เสียเงินเปล่า แต่ถ้าหากถูกรางวัลก็ได้รับเงินก้อนโตไป ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากการพนันที่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนาอิสลาม

      กรณีของการประกันวินาศภัยก็เช่นกัน ถ้าหากผู้เอาประกันซื้อประกันรถยนต์หนึ่งปีและไม่มีอุบัติเหตุหรือรถไม่สูญหายตามเงื่อนไข ผู้เอาประกันก็จะเสียเงินเบี้ยประกันไปและจะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันในปีถัดไปถ้าหากมีการต่อประกันกับบริษัทเดิม แต่หากเปลี่ยนบริษัทประกันก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆจากส่วนลดนี้ ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุหรือรถยนต์ที่ทำประกันหาย ผู้เอาประกันก็จะได้รับการชดใช้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ถึงแม้ผู้เอาประกันจะได้รับการชดใช้เพื่อบรรเทาทุกข์ แต่สัญญาประกันภัยก็ไม่ต่างอะไรไปจากการพนัน และบริษัทประกันก็ไม่ต่างอะไรไปจาก "เจ้ามือ"

      2) เรื่องของความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในระหว่างสัญญา เพราะทั้งผู้เอาประกันและผู้ประกันต่างก็ไม่รู้ว่าอุบัติเหตุหรือความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใด และทรัพย์สินที่เสียหายนั้นมีจำนวนเท่าใด นักวิชาการอิสลามจึงนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นโต้แย้งว่าธุรกิจประกันภัยไม่ใช่การซื้อขายในความหมายของอิสลามถึงแม้จะใช้คำว่า "ซื้อประกัน" "ขายประกัน" ก็ตาม เพราะในการซื้อขายตามหลักของอิสลามนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องรู้ชัดเจนถึงจำนวนสินค้าและเวลาที่ส่งมอบ แต่ธุรกิจประกันภัยไม่สามารถให้คำตอบได้ในเรื่องนี้

      3) ประเด็นที่สำคัญคือบริษัทประกันภัยในปัจจุบันไม่ต่างอะไรไปจากสถาบันการเงินในระบบดอกเบี้ยที่แสวงหากำไรโดยการนำเงินเบี้ยประกันส่วนใหญ่ของลูกค้าไปบริหารเพื่อหารายได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ทำโดยการซื้อพันธบัตร การปล่อยกู้ระยะสั้น การเก็งกำไรในตลาดหุ้นเพื่อเอาดอกเบี้ยและรายได้จากการเก็งกำไรมาจัดสรรเป็นผลประโยชน์แก่ผู้เอาประกันตามที่ตกลงกัน

      สรุปแล้ว ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันจึงมีอะไรที่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนาอิสลามมากกว่าธนาคารเสียอีก

ของดีที่ควรเก็บไว้ และของเสียที่ควรแก้ไข

      จะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันภัยสมัยใหม่มีทั้งสิ่งที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และวิธีการที่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนาอิสลามอยู่รวมกัน

      สิ่งดีที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลามก็คือการช่วยเหลือกันในหมู่ผู้เอาประกันโดยการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อให้บริษัทประกันเป็นผู้บริหารงานรับประกัน แต่เนื่องจากบริษัทประกันเป็นเอกชนและดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เป้าหมายของบริษัทประกันก็คือกำไร ยิ่งมีผู้เอาประกันมีจำนวนมาก บริษัทประกันก็ยิ่งมั่นคงและยิ่งเจริญเติบโต เพราะธุรกิจประกันก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆที่ต้องใช้หลัก "จำนวนมาก" เป็นฐานในการทำธุรกิจ ถึงแม้ธุรกิจประกันจะเป็นธุรกิจที่รับความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ถูกคำนวณมาเป็นอย่างดีแล้วว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้และทำกำไรดี เพราะถึงแม้คนจะจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหรือประกันรถยนต์ แต่ก็ไม่มีใครอยากจะป่วยหรืออยากจะขับรถชนใครหรืออยากให้ใครมาชน ดังนั้น ธุรกิจนี้จึงต้องมีฝ่ายหนึ่งได้และฝ่ายหนึ่งเสีย

      ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำลายร่องรอยของความเสี่ยงเยี่ยงการพนันนี้ให้หมดไปจากการธุรกิจประกัน ? และทำให้ผู้ที่ร่วมเอาประกันเปลี่ยนความรู้สึกจาก "ความเสี่ยง" มาเป็น "ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" หรือที่ศัพท์ทางวิชาการอิสลามเรียกว่า "ตะกาฟุล"

ตะกาฟุล ประกันภัยแบบอิสลาม

      โดยปกติ เมื่อผู้เอาประกันจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว ผู้เอาประกันจะไม่รู้เลยว่าบริษัทประกันจะบริหารและจัดสรรเงินเบี้ยประกันอย่างไร เพราะเมื่อซื้อประกันแล้ว ผู้เอาประกันก็ถือว่า "เป็นเรื่องของเอ็ง รถข้าประสบอุบัติเหตุเมื่อใด เอ็งจ่ายเงินประกันให้ข้าก็แล้วกัน" ความคิดดังกล่าวจึงเป็นความคิดแบบตัวใครตัวมัน ขอให้ตัวเองได้ก็แล้วกัน

      แต่ความคิดเช่นนี้จะหมดไปถ้าหาก

      1) ผู้เอาประกันได้รู้ว่าเบี้ยประกันของตนจะถูกหักออกไปจำนวนหนึ่ง สมมุติ 2.5% เป็น "เงินบริจาคช่วยเหลือผู้เอาประกันกันคนอื่นๆที่ประสบภัย" และตัวเลขนี้ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นอะไรและจำนวนเท่าใด

      2) ผู้เอาประกันได้รู้ว่าเขาเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เขาจ่ายเบี้ยประกันด้วย บริษัทประกันไม่ใช่เจ้ามือ แต่เป็นคณะผู้รับมอบอำนาจในการบริหารเงินเบี้ยประกันของพวกเขาในการนำไปช่วยเหลือสมาชิกผู้จ่ายเบี้ยประกันร่วมกับพวกเขาเมื่อประสบอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเสียชีวิตตามที่ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์ แต่เมื่อบริษัทต้องมีผู้บริหาร ผู้จัดการ พนักงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆ พวกเขาก็ยินดีที่จะจ่าย ขอให้กำหนดมาให้ชัดเจนก็แล้วกัน  

      ส่วนเงินที่เหลือจากนั้น บริษัทผู้บริหารเงินประกันจะต้องใช้ความสามารถในการนำไป แสวงหารายได้ที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนาอิสลาม (ชะรีอ๊ะฮฺ) หากได้กำไรก็จะปันผลแก่ผู้จ่ายเบี้ยประกันตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้เมื่อกรมธรรม์ครบอายุในกรณีของการประกันอุบัติเหตุหรือนำไปสะสมไว้ในบัญชีของผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตในระยะยาว เงินกำไรนี้ บริษัทสามารถที่จะนำส่วนหนึ่งไปสะสมไว้ใน "บัญชีบริจาค" ก็ได้เพื่อเป็นการเพิ่มสวัสดิการแก่สมาชิกและรักษาบรรยากาศการแข่งขันในการให้บริการ

 หากเป็นไปดังที่กล่าวมาข้างต้น ธุรกิจประกันก็ไม่มีอะไรที่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนาอิสลาม

การเติบโตของธุรกิจตะกาฟุล

      ถึงแม้อิสลามจะเริ่มต้นที่ซาอุดีอารเบีย แต่การนำหลักการอิสลามมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจตะกาฟุลกลับเริ่มต้นที่ซูดานและมาเติบโตที่มาเลเซีย บริษัทตะกาฟุลของมาเลเซียถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2527 หลังจากที่ได้มีการก่อตั้งธนาคารอิสลามขึ้นมาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจประกันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจธนาคารและเนื่องจากรัฐบาลประเทศมาเลเซียมีนโยบายที่จะให้ระบบการเงินอิสลามเป็นทางเลือกของประชาชนที่นับถืออิสลาม รัฐบาลมาเลเซียก็ได้ออกพระราชบัญญัติตะกาฟุลมาสนับสนุนจนธุรกิจตะกาฟุลของมาเลเซียมีความเข้มแข็ง

      อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบัน ถึงแม้มาเลเซียจะเป็นประเทศเล็กๆที่มีประชาชนนับถืออิสลามประมาณ 60 % แต่ประเทศมุสลิมทั่วโลกก็ยอมรับว่ามาเลเซียเป็นชาติผู้นำและเป็นแบบอย่างทางด้านสถาบันการเงินอิสลาม ธุรกิจตะกาฟุลเติบโตอย่างรวดเร็วและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในมาเลเซีย ถึงแม้ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียจะประสบปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี พ.ศ.2540 แต่ด้วยระบบของอิสลาม ทั้งธนาคารอิสลามและธุรกิจตะกาฟุลของมาเลเซียก็สามารถยืนท้าทายฝ่าวิกฤตมาได้อย่างสง่างาม เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าระบบของอิสลามสามารถนำมาใช้ได้ในโลกปัจจุบัน

   - editor อ. บรรจง บินกาซัน 

ตะกาฟุล ธุรกิจประกันในอิสลาม ข้อมูล ตะกาฟุล เชิงลึก

อัพเดทล่าสุด