กลอนเกษียณอายุราชการครู กลอนเกษียณอายุราชการครู บทกลอนเกษียณอายุราชการ
กลอนเกษียณอายุราชการครู กลอนเกษียณอายุราชการครู บทกลอนเกษียณอายุราชการ
กลอนเกษียณอายุราชการ
เมื่อถึงวันเวลาฟ้าก็เปลี่ยน
กาลเกษียณเวียนมาน่าใจหาย
ต้องอำลาจากกันแสนอาลัย
แต่สายใยความผูกพันยังมั่นคง
คุณความดีประจักษ์เป็นหลักฐาน
ตรากตรำงานอย่างซื่อสัตย์มิไหลหลง
พัฒนาชาติไทย(ธนาคารเรา)ให้ยืนยง
เกียรติดำรงก้องปรากฏมิวางวาย
ระยะทางจักเป็นเครื่องพิสูจน์ม้า
วันเวลาบอกคุณค่าของคนได้
ผ่านร้อนเย็นอุปสรรคมามากมาย
ความดีงามที่สร้างไว้มิมีเลือน
ขออัญเชิญพระไตรรัตน์มาปกป้อง
จงคุ้มครองให้มีสุขหาใครเหมือน
เกียรติภูมิจะปรากฏเป็นหลักเรือน
คอยย้ำเตือนตราตรึงตราบนิรันดร์
ขอขอบคุณ กลอนวันเกิด โดยคุณ doohub จาก toursisaket.com
ตั้งแต่เริ่มเดิมที ที่เราเห็น
ไม่เคยเป็น อย่างเช่นทุกวันนี้
มีเพียงห้องเล็กๆ คนน้อยๆอย่างที่มี
มาวันนี้เปลี่ยนไป เหมือนพริบตา
คนๆหนึ่งยอมทำ ไม่ท้อถอย
ไม่ยอมเหนื่อยแม้แต่น้อย แม้อ่อนล้า
คนๆนี้ ยอมแม้ที่ สละเวลา
เพื่อความก้าวหน้า ขององค์กร อย่างมั่นคง
จนวันนี้ องค์กรมีหน้าตา
ใครๆต่างได้รู้ว่า ได้บรรลุวัตถุประสงค์
มีทุกสิ่ง ทุกอย่างตามเจตจำนงค์
และเสริมส่งให้เจริญ ยิ่งขึ้นไป
และวันนี้ พวกเราจะสานต่อ
เจตนา จะไม่ท้อ ต่อสิ่งใหน
ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
จะก้าวไป ตามความคิดท่าน อย่าง มั่นคง
ขอขอบคุณ กลอนวันเกิด โดยคุณ doohub จาก toursisaket.com
กลอนเกษียณอายุราชการครู กลอนเกษียณอายุราชการครู บทกลอนเกษียณอายุราชการ
ถึงเวลาคลาไคลวัยเกษียณ
ได้หมุนเวียนเปลี่ยนมาต้องลาพัก
แต่ใจจักอยู่ใกล้ไม่หน่ายหนี
ขอจงมีความสุขกายสุขใจ
ทั้งห่างไกลโรคภัยภยันตราย
ชีวิตภายภาคหน้าจงเจริญ
สิ่งที่ได้ล่วงเกินโปรดให้อภัย
ส่งใจถึงใจให้กันตลอดไป
ขอขอบคุณ กลอนวันเกิด โดยคุณ doohub จาก toursisaket.com
แด่ครูผู้เกษียณ
มุทิตาจิตศิษย์...แด่ครูฉัน
ผู้รังสรรค์สอนสั่งหวังเกิดผล
ยกวิญญาณด้านจิตใจหัวใจคน
จากวังวนหลุดพ้นอวิชา
ศิษย์สำนึกตรึกตรองไตรในคำสอน
ศิษย์สังวรคำสอนครูคู่ใจหนา
สอนเรียนรู้สู้ชีวิตวิทยา
ใช้ปัญญาเบิกทางอย่างพอดี
ฉันจดจำถ้อยคำครูผู้ศักดิ์สิทธิ์
สั่งสอนศิษย์ให้รู้จักรักศักดิ์ศรี
รู้จักงานการเอื้อนเอ่ยเผยวาจี
ถ้อยวาทีพริ้งไพเพราะเสนาะกรรณ
จักจดจำคำสอนดีมีความหมาย
จนชีพวายมิคลายไปให้แปรผัน
พระคุณครูผู้หวังดีมีอนันต์
ชั่วชีวันไม่ลืมครูผู้สอนใจ
ศิษย์...ร้อยรสบทกลอนสุนทรหวาน
เนื่องในงานการเกษียณเปลี่ยนสมัย
มุทิตา...ครูอาจารย์กาลตามวัย
ครูจักได้พักหย่อนกายา
ขออัญเชิญคุณพระศรีที่เรืองฤทธิ์
เนรมิตพรชัยให้รักษา
อัญเชิญองค์เผ่าพงศ์วงศ์อินทรา
น้อมพรมาแด่ครูผู้...เกษียณเทอญ
ขอขอบคุณ กลอนวันเกิด โดยคุณ doohub จาก toursisaket.com
กลอนเกษียณอายุราชการครู
๖๐ ปีที่ผ่านพ้นพวงหนาม
ครบวาระกะเกณฑ์เบนเข็มทิศ
ทางชีวิตราชการงานสุขสม
เอ่ยอำลาประชาว่าอบรม
กล่าวกราบก้มประนมกรอ่อนชุลี
งานของรัฐวัฒนาฝ่าพวงหนาม
พยายามแก้ปัญหาพาสุขศรี
บางครั้งท้อรอเกษียณเวียนวันปี
ช่วงชีวีในบั้นปลายคลายกังวน
วะวารวันผันผ่านกาลมาถึง
คิดคำนึงห่วงใยใจสับสน
งานประจำเคยทำประจำตน
สัมฤทธิ์ผลได้ชื่นชมสมฤทัย
จิตปั่นป่วนรวนเรเหหนหัน
ค่ำคืนวันผ่านผันใจหวั่นไหว
บางคนชื่นรื่นเริงบันเทิงใจ
ฉันจักได้พักผ่อนนอนสุขกัน
ลางคนคิดติดเสียดายไม่หน่ายหนี
ต่ออีกปีได้ไหมใจสุขสันต์
กำลังสร้างวางโครงการงานแบ่งปัน
หลงลืมวันสุขกับงานการเรื่อยมา
หกสิบปีที่ผ่านผันอันพวงหนาม
พยายามพากเพียรเรียนรู้สู้ปัญหา
สร้างความดีมีคุณธรรมงามวาจา
กล่าวอำลากันยามาสราชลางาน
ขอขอบคุณ กลอนวันเกิด โดยคุณ ขุนศรี จาก thaipoem.com
กลอนเกษียณอายุราชการครู
เปิดกรุ..."กลอนครู" ของ รัตนธาดา แก้วพรหม
"...แม้ที่นี่ ไม่มีฟ้าสีสวย
แต่ครูขออยู่ด้วยช่วยสอนหนู
ด้วยอยากเห็น ดอกไม้ป่า น่าเชิดชู
ครูจะอยู่จนที่นี่..ฟ้าสีทอง..."
ถึง..ลูกๆกวีน้อยที่รัก
กลอนข้างต้น เป็นบทหนึ่งในกลอนชื่อ "ดอกไม้ป่า" ซึ่งลุงเขียนเมื่อปี ๒๕๑๖ (๗ สิงหาคม ๒๕๑๖) เป็นถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ความมุ่งมั่นของเด็กหนุ่มวัย ๑๗ ขณะที่เริ่มเข้าเรียนเป็นนักศึกษาวิชา "ครู" ชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ปีที่ ๑ ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช-ปัจจุบัน)
กลอน "ดอกไม้ป่า" สำนวนนี้ เป็นสื่อเชื่อมโยงยืนยันอุดมการณ์ของนักศึกษาวิทยาลัยครูนครฯ (ลูกมหาชัย) ในยุคนั้นได้อย่างดี โดยเฉพาะบทที่เป็นวรรคทองข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่เคยผ่านตาผ่านหู และส่วนหนึ่งจำได้ท่องได้จนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รุ่นมหาชัย '๑๖"
(เป็นนักศึกษารุ่นที่ ๑๗ ของวิทยาลัยครูนครฯ เข้าเรียนปีการศึกษา ๒๕๑๖ จบปีการศึกษา ๒๕๑๗ แต่ด้วยความผูกพันกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จึงเรียกตัวเองกันว่า "รุ่นมหาชัย '๑๖")
จำกันได้อย่างลึกซึ้ง
ตั้งแต่ "ครูประถม" จนถึง "รัฐมนตรี"
........................................................................
"วันครู" - ๑๖ มกราคม กำลังจะมาถึง
ลุงเขียนกลอนเกี่ยวกับ "ครู" ไว้จำนวนหนึ่ง
มีทั้งกลอน "บูชาครู" ที่เขียนรำลึกบูชาพระคุณของครู
กลอน "อุดมการณ์ครู" ที่เขียนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของตนเอง
กลอน "รำพึงถึงครู" ที่เขียนเพื่อทบทวนบทบาทภารกิจแห่งครู
เมื่อเปิดกรุ "กลอนปีใหม่" จบไปแล้ว
จึงขอใช้เวลาในช่วงวันครูนี้ เปิดกรุ "กลอนครู" ของ รัตนธาดา แก้วพรหม อีกสักชุด
เพื่อเป็นการตรวจสอบความรู้สึกนึกคิด ลีลาภาษาอารมณ์ของผู้เขียนตามยุคตามสมัย
ตั้งแต่ "วัยรุ่น" จนถึง "วัยโรย" (ฮา..)
ไปพร้อมๆกันด้วย ว่าเริ่มต้นอย่างไร
มีความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างไรบ้าง?
อย่าลืมติดตามอ่านกันให้จงได้นะครับ...
ลุงบุญเสริม
๘ มกราคม ๒๕๕๓
พิมพ์พิไล
“ครู” คือความใฝ่ฝันในวันนี้
ถึงไร้ศรี-ไร้เกียรติ ถูกเหยียดหยาม
แต่ครูยังอบอุ่นในคุณงาม
เป็นนิยาม “พิมพ์พิไล” กลางใจครู
เพื่อลูกศิษย์ครูพร้อมยอมทุกอย่าง
หวังสรรค์สร้างชีวิตศิษย์ให้หรู
ประดับสังคมไทยให้น่าดู
ช่วยเชิดชูชาติเชื้อเลือดเนื้อไทย
ครูไม่มี “พระเดช” ในเขตขัณฑ์
ครูสร้างสรรค์เพียง “พระคุณ” บุญยิ่งใหญ่
สอนศิษย์ให้ฉลาดล้ำเลิศอำไพ
ความภูมิใจของครู..อยู่ตรงนี้
อยากเห็นศิษย์สำเร็จงานการศึกษา
ใช้วิชาก่อร่างสร้างหน้าที่
กระเดื่องชื่อลือนามต่อความดี
ครูก็พลอยเปรมปรีดิ์ดีใจแทน
เพื่อ “ดอกไม้ป่า” จะระรื่นร่าย
มีความหมายมีค่าน่าหวงแหน
กลิ่นหอมหวานสีสวยหรูคู่ดินแดน
เพื่อเป็นแกนให้ชาติพิลาสตาม
“ครู” คือความใฝ่ฝันในวันนี้
ถึงไร้ศรี-ไร้เกียรติ ถูกเหยียดหยาม
แต่ครูยังอบอุ่นในคุณงาม
เป็นนิยาม “พิมพ์พิไล” กลางใจครู
รัตนธาดา แก้วพรหม
หมายเหตุ
...คิดว่าน่าจะมีกลอนที่ลุงเขียนเกี่ยวกับ "ครู" ไว้บ้างก่อนหน้านี้
แต่เมื่อค้นหาในสมุดกลอนเล่มแรก ก็พบว่าสำนวนที่ชื่อ "พิมพ์พิไล" สำนวนนี้เป็นกลอนเกี่ยวกับครูสำนวนแรกที่พบ เขียนเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๖ ลงพิมพ์ในหน้ามาลัยเมืองใต้ หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๖
...เป็นกลอนที่บอกเล่าถึงความคิด มุมมอง ความใฝ่ฝันของเด็กหนุ่มวัย ๑๗ ปี ที่เพิ่งเข้ามาเป็นนักศึกษาครู (ชั้น ป.กศ.ปีที่ ๑ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) ผ่านไปเพียงเดือนกว่าๆ (เข้าเรียนตอนกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๑๖ เขียนกลอนสำนวนนี้ตอนปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๖)
...ข้อมูลพื้นฐาน ความคิด มุมมองและความใฝ่ฝัน จึงน่าจะเป็นสิ่งที่รับรู้และก่อเกิดมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยส่วนหนึ่ง โดยมีบริบทของความคิด ความฝันใหม่ในรั้ววิทยาลัยครูเป็นส่วนเติมเต็ม ให้ก่อเกิด "เป็นนิยาม..พิมพ์พิไล..กลางใจครู" ขึ้นมาในที่สุด
ลุงบุญเสริม
๙ มกราคม ๒๕๕๓
(วันคล้ายวันสถาปนาวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช)
ดอกไม้ป่า
จากโค้งฟ้าสีทองของเมืองหลวง
หอบเอาความโชติช่วงซึ่งหวงแหน
มาให้ "ดอกไม้ป่า" ชายแดน
ซึ่งแร้นแค้นความอบอุ่นหนุนวิญญา
หลายดอกของดอกไม้สยายม่าน
พร้อมจะบานประดับกับราวป่า
บางดอกก็เ อี่ ยวแห้งแล้งโรยรา ....(ห)
บางมาลาก็ตายก่อนได้บาน
เด็กเอยเด็กน้อย..
โหยละห้อยแววตาน่าสงสาร
เพื่อพวกหนูครูจะอยู่อีกนาน
หวังสร้างสมอุดมการณ์งานของครู
แม้ที่นี่ไม่มีฟ้าสีสวย
แต่ครูขออยู่ด้วยช่วยสอนหนู
ด้วยอยากเห็น "ดอกไม้ป่า" น่าเชิดชู
ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง
ด้วยรักด้วยศรัทธาด้วยหน้าที่
อย่างยินดีต่อตำแหน่งเป็นแสงส่อง
เต็มใจสร้างนิยามความเรืองรอง
อยากจะมองเห็น "ตาวัน" ในวันนี้
หนูเอยหนูน้อย..
อย่าเศร้าสร้อยเลยหนาหมดราศี
อย่าหวั่นใจอย่าหม่นเลยคนดี
..ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง..
รัตนธาดา แก้วพรหม
หมายเหตุ
...กลอนสำนวนนี้เขียนเมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๖ ลงพิมพ์ครั้งแรกในหน้ามาลัยเมืองใต้ หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๖ เดิมทีเดียวชื่อว่า "ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง" แต่เมื่อพิมพ์ซ้ำครั้งหลังๆ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ดอกไม้ป่า"
กลอนเกษียณอายุราชการครู
....กลอนข้างต้น เป็นถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ความมุ่งมั่นในจินตนาการของเด็กหนุ่มวัย ๑๗ ขณะที่เริ่มเข้าเรียนเป็นนักศึกษาวิชา "ครู" ชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ปีที่ ๑ ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช-ปัจจุบัน) โดยใช้ "ดอกไม้ป่า" เป็นสัญลักษณ์แทนเด็กๆในชนบทห่างไกลและลำบากยากไร้
...กลอน "ดอกไม้ป่า" สำนวนนี้ เป็นสื่อเชื่อมโยงยืนยันอุดมการณ์ของนักศึกษาวิทยาลัยครูนครฯ (ลูกมหาชัย) ในยุคนั้นได้อย่างดี โดยเฉพาะบทที่เป็นวรรคทองที่ว่า
...แม้ที่นี่ไม่มีฟ้าสีสวย
แต่ครูขออยู่ด้วยช่วยสอนหนู
ด้วยอยากเห็น "ดอกไม้ป่า"
น่าเชิดชู ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง...
ข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่เคยผ่านตาผ่านหู และส่วนหนึ่งจำได้ท่องได้จนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รุ่นมหาชัย '๑๖"
(เป็นนักศึกษารุ่นที่ ๑๗ ของวิทยาลัยครูนครฯ เข้าเรียนปีการศึกษา ๒๕๑๖ จบปีการศึกษา ๒๕๑๗ แต่ด้วยความผูกพันกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จึงเรียกตัวเองกันว่า "รุ่นมหาชัย '๑๖")
จำกันได้อย่างลึกซึ้ง
ตั้งแต่ "ครูประถม" จนถึง "รัฐมนตรี"
...เพื่อนๆหลายคน เคยนำเอากลอนบทนี้ไปทำเป็นสติกเกอร์บ้าง.. ที่คั่นหนังสือบ้าง.. พิมพ์ไว้บนปกหลังของจุลสารเผยแพร่บ้าง.. จนถึงนำไปใช้เกริ่นนำในการบรรยายเรื่องอุดมการณ์งานครูบ้าง...
... อาจารย์ชินวรณ์ บุญยเกียรติ (ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ - ๑๐ ม.ค.๕๓) หนึ่งใน "รุ่นมหาชัย ๑๖" เคยให้สัมภาษณ์วารสาร "รัฐสภาสาร" เมื่อคราวได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก เมื่อปี ๒๕๓๕ ถึงอุดมการณ์ความมุ่งมั่นของ ส.ส.หนุ่ม ความตอนหนึ่งว่า...
...คนหนุ่มสาวในรุ่นผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจใฝ่ฝันถึงการรับใช้สังคม สร้างสรรค์สังคม โดยมีกลอนบทหนึ่งที่เราท่องกันขึ้นใจเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์อุดมการณ์ว่า ...แม้ที่นี่ไม่มีฟ้าสีสวย แต่ครูขออยู่ด้วยช่วยสอนหนู ด้วยอยากเห็น "ดอกไม้ป่า" น่าเชิดชู ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง...
...กลอน "ดอกไม้ป่า" จึงเป็นบทกลอนที่มีเรื่องราวเป็นตำนานต่อเนื่องให้บอกเล่าอยู่ไม่น้อย
รวมทั้งเมื่อจัดพิมพ์หนังสือรวมบทกวี ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือรวมกลอนที่สมบูรณ์และเป็นทางการจริงจังเล่มแรก ของ รัตนธาดา แก้วพรหม เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๒ ก็ตั้งชื่อเล่มว่า "ดอกไม้ป่า" (เขียนเล่าถึงหนังสือรวมบทกวี "ดอกไม้ป่า" ไว้บ้างแล้ว ในบทความชุด "เปิดกรุ..กลอนปีใหม่ ของ รัตนธาดา แก้วพรหม)
...ในวัยหนุ่ม ลุงเองก็มักจะใช้กลอนวรรคทอง "แม้ที่นี่ไม่มีฟ้าสีสวย...ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง" เกริ่นนำในการเป็นวิทยากร หรือพูดคุยแนะนำตัวอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งครั้งหนึ่งในชีวิตที่จดจำได้ไม่ลืมเลือน เพราะโดนวรรคทองย้อนกลับมา ทำให้ถึงกับต้องสะอึกทีเดียว..
...เรื่องของเรื่องเป็นดังนี้
...เมื่อเรียนจบชั้น ป.กศ.(ต้น) จากวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ในปี ๒๕๑๘ แล้ว ก็สมัครสอบบรรจุเป็นครูสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้เป็น "ครูจัตวา" ที่โรงเรียนวัดนาเหรง ตำบลกะหรอ อำเภอท่าศาลา(ปัจจุบันอำเภอนบพิตำ) เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๘ สอนประจำชั้น ป.๒ ในปีแรก
...วันแรกของการรายงานตัว แนะนำตัว "ครูใหม่" หน้าเสาธง นอกจากการแนะนำตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหนอย่างไรแล้ว ยังยืนยันถึงเจตนารมณ์อุดมการณ์กับ "พี่ครู" และ "นักเรียน" อย่างชัดถ้อยชัดคำด้วยกลอนวรรคทอง
...แม้ที่นี่ไม่มีฟ้าสีสวย
แต่ครูขออยู่ด้วยช่วยสอนหนู
ด้วยอยากเห็น "ดอกไม้ป่า" น่าเชิดชู
ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง..
...หลังจากนั้นก็ใช้ที่ชีวิตเป็นครูประชาบาล พักอยู่บ้านพักครูโรงเรียนวัดนาเหรงมาตามปกติตามเจตนารมณ์อุดมการณ์ที่มุ่งมั่น จนถึงปีที่ ๓ จึงยื่นคำร้องขอย้ายกลับบ้าน ขอไปสอนที่โรงเรียนวัดเทวดาราม (โรงเรียนที่เคยเรียนหนังสือในชั้นประถม)
...ในวันที่คำสั่งย้ายแจ้งถึงโรงเรียน แม้จะสมความตั้งใจที่อยากย้ายกลับบ้าน แต่ก็ "ใจหาย" เหมือนกัน เพราะว่า ๓ ปีที่อยู่ที่นั่น ก็คือความรักความผูกพัน ทั้งชุมชน โรงเรียน เพื่อนครูและลูกศิษย์ทุกคน
...วันนั้น จึงเป็นวันที่รู้สึกเศร้าซึมกันพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของ "ครูและลูกศิษย์" รวมทั้งเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องสะอึก.. จำได้ว่าตอนเที่ยงวันนั้นเด็กหญิงจารีย์ กับเพื่อนๆชั้น ป.๔ (เป็นศิษย์รุ่นแรกจากชั้น ป.๒) อีก ๓-๔ คน เดินเข้ามาหาตาแดงๆพร้อมบางถ้อยคำ
...ครูไม่ย้ายไม่ได้หรือ...
...หนูอยากให้ครูอยู่ที่นี่...
...พวกหนูไม่อยากให้ครูย้าย...
ครูยังไม่ทันได้ตอบหรืออธิบายเหตุผลความจำเป็น เด็กหญิงจารีย์เธอก็ทวงคำมั่นสัญญาขึ้นมาว่า
...ก็ไหนคุณครูว่า ครูจะอยู่จนที่นี่เป็นเงินเป็นทอง เล่าคะ...
โอ้...ครูเผลอลืมวรรคทองที่เคยพูดไว้ไปแล้ว แต่เธอยังไม่ลืม..!
ลุงบุญเสริม
๑๐ มกราคม ๒๕๕๓
กานต์"
กลอนชุด....นิยายชีวิตและอุดมการณ์ของครูหนุ่ม
ในยุคนั้นมีนักกลอนที่มีชื่อเสียงบางคนพยายามนำเสนองาน "กลอนชุด" ที่เป็นเหมือนนวนิยายหลายตอนออกมาสู่สายตาผู้อ่าน งานที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดน่าจะเป็นงานของ "สุรศักดิ์ ศรีประพันธ์" แห่งชุมนุมวรรณศิลป์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รัตนธาดา แก้วพรหม ในขณะนั้นชื่นชมกับรูปแบบ "กลอนชุด" ไม่น้อย จึงพยายามนำเสนอนวนิยายชีวิตและอุดมการณ์ของครูหนุ่มในจินตนากร โดยมีครูหนุ่มที่ชื่อ "กานต์" เป็นพระเอกของเรื่อง กลอนชุด "กานต์" มีความยาว ๖ บรรพ(ตอน) ด้วยกัน และไม่ลังเลที่จะนำเอากลอนชื่อ "ดอกไม้ป่า" มาเป็นบรรพจบของกลอนชุดนี้
...ต่อไปนี้คือชีวิตและอุดมการณ์ของครูหนุ่ม จากจินตนาการของนักศึกษาครูวัย ๑๗ ปี คนนั้น...
"กานต์"
บรรพที่หนึ่ง
มือที่(กำลังจะ)เปื้อนชอล์ค
แล้วก็ถึงวารวันเคยฝันใฝ่
สัมผัสวัย-นิยามความสมหวัง
หอมหวานดอกมาลีแห่งชีวัง
ยากยับยั้งการยิ้มย่องของอารมณ์
ต่อหน้าที่ที่ได้รับกับเอมอิ่ม
นาม "แม่พิมพ์ของชาติ" พิลาสสม
"ดวงชมพู" ดวงใหม่ในสังคม
ซึ่งเฝ้าบ่มเฝ้ารอมาพอดู
รับประกาศนียบัตรแห่งศรัทธา
ด้วยประกายดวงตาสง่าหรู
คุณสมบัติกับงานการเป็นครู
พร้อมเชิดชูโชติช่วงกลางดวงใจ
กับโค้งฟ้าสีทองของที่นี่
กับไมตรีมวลมิตรคิดยื่นใหม้
และเพลงรักในอ้อมฟ้า "มหาชัย"
อบอุ่นไอแนบสนิทนิจนิรันดร์
ไกลโค้งฟ้าสีทองของที่นี่
มวลมาลีมีมากหลากสีสัน
บางดอกบานบางดอกเฉา-มากเท่ากัน
และบางวันไม่มีมาลีบาน
"มือที่เปื้อนชอล์ค" คือมือสร้างสม
หวังชื่นชมคุณค่ามาลาหวาน
อย่างยินดี-ชีวิต, จิต, วิญญาณ
มอบสร้างสาน "ดอกไม้ป่า" ให้ลาวัณย์
รัตนธาดา แก้วพรหม
..เขียน ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๖
..พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับ ๑๗ มกราคม ๒๕๑๗
..พิมพ์รวมเล่มในรวมบทกวีชุด "ดอกไม้ป่า" เมื่อสิงหาคม ๒๕๒๒
"กานต์"
บรรพที่สอง
ประทีปแห่งป่า
"กานต์" เป็นชื่อเด็กหนุ่มวัยรุ่มร้อน
ซึ่งแรมรอนรายทางความช่างฝัน
ผจญโลกโชคชะตาชอบฝ่าฟัน
ร่านและรั้น, เรื่องอ่อนข้อยากพอดู
ราชการหน้าที่ กานต์มีบ้าง
หากมีอย่างย่อยยศแสนอดสู
กระนั้นกานต์รักงานกานต์เชิดชู
ไม่เคยหลู่ปฏิบัติด้วยศรัทธา
หน้าที่กานต์คือ "ครู" อยู่บ้านนอก
มือเปื้อนชอล์ค-ให้งานการศึกษา
กานต์รักเด็ก เด็กรักกานต์แต่นานมา
รับวิชากานต์ให้เด็กได้ดี
พัฒนาหมู่บ้านกานต์ขยัน
กานต์หมายมั่นให้ชนบทงามสดศรี
อยากเห็นป่าหมดค่า "ป่า" เสียที
คนที่นี่จึงรักหวงและห่วงกานต์
งานหลวงไม่ขาด งานราษฎร์ไม่เสีย
แม้กานต์ต้องละ เอี่ย เพลียสังขาร ...(ห)
แต่กานต์ก็ภูมิใจในผลงาน
ที่สร้างสานจนป่าอ่าอำไพ
กระนั้นตำแหน่งหน้าที่ อยู่ที่เก่า
กานต์อับเฉาทุกทางช่างหวั่นไหว
มีแต่วันตกต่ำชอกช้ำใจ
เพราะกานต์ไม่ชอบท่า.."เลียขานาย"
รัตนธาดา แก้วพรหม
..เขียน ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๖
..พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๖
..พิมพ์รวมเล่มในรวมบทกวีชุด "ดอกไม้ป่า" เมื่อสิงหาคม ๒๕๒๒
"กานต์"
บรรพที่สาม
ตัดสินใจ
วันต่อวันหยุดนิยามสร้างความหวัง
กานต์จึงตั้งต้นใหม่เมื่อไม่สาย
ป.กศ.จบมาแบบท้าทาย
ต้องขวนขวายและฝันวันต่อไป
ซึ่งสิทธิเสรีพอมีบ้าง
ใช้เหยียบย่างสู่ความงามสดใส
เกียรติ, ยศ, ศักดิ์ เป็นเหมือนเพื่อนปลอบใจ
ด้วยห่วงใยตัวเอง-กานต์เกรงกลัว
ด้วยวัยหนุ่มคือวัยการไขว่คว้า
หากขืนช้าละโอกาสอาจปวดหัว
จำแข่งขันกันบ้างเพื่อสร้างตัว
เกมฉ้อ-ชั่ว อาจใช้คร่าคราอับจน
งานที่นี่มีบางอย่างคั่งค้างอยู่
หาคนดูแลต่อก็ขัดสน
แต่ทุกอย่างจุนเจือเพื่อมวลชน
จึงด้นรนรับเรียกร้องของอารมณ์
กราบเท้าลาแม่พ่อขอพรส่ง
ให้ดำรงชีวิตประสิทธิ์สม
จะหอบเอาปริญญามาให้ชม
และจะบ่มนิสัยให้เป็นครู
กับลูกศิษย์ก่อนกานต์จากบ้านป่า
ทุกแววตาอาลัยใจหดหู่
ตัดสินใจเอ่ยลาน้ำตาพรู
"...อีกไม่นานหรอกหนู-ครูกลับมา..."
รัตนธาดา แก้วพรหม
..เขียน ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๖
..พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๖
..พิมพ์รวมเล่มในรวมบทกวีชุด "ดอกไม้ป่า" เมื่อสิงหาคม ๒๕๒๒
"กานต์"
บรรพที่สี่
การเดินทาง
หากนับกาลก็นานวันที่ฝันใฝ่
หนุ่มคือวัยเร่งรุดสู้อุตส่าห์
และก็หลายหน้าฝนด้นชีวา
แสวงหาสิ่งอยากลองของอารมณ์
ไกลลูกศิษย์ลูกหาด้วยหน้าที่
ต้องคลุกคลีตำราหาสะสม
เพียงเพื่อเพิ่มศรัทธาค่านิยม
และลบปมด้อยที่ข่มขี่ใจ
จึงนำชีพการต่อสู้สู่เมืองหลวง
หวังตักตวงทุกสิ่งที่พอมีให้
ซึ่งจะขอรีบรับแล้วกลับไป
พร้อมสิ่งใหม่สำหรับงานการเป็นครู
กับความไร้เดียงสาแต่กล้าฝืน
วันและคืนเหยียบย่ำความหราหรู
ด้วยตั้งใจเรียนร่ำคอยค้ำชู
ทั้งในลู่นอกรอยปล่อยทุกทาง
เห็นแก่ตัว..คือถนนคนที่นี่
เล่ห์ กล ลวง คลุกคลีมีทุกอย่าง
ประเพณีความเชื่อ(อาจเจือจาง)
จะเหลือบ้างเพียงเพื่องานการหากิน
วัยและประสบการณ์ กานต์น้อยอยู่
กานต์บั่นบากลบหลู่คำดูหมิ่น
กับความเชยบ้านป่า-ปลิดปาดิน
รับเชยชินจากที่นี่..ทวีคูณ
รัตนธาดา แก้วพรหม
..เขียน ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗
..พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗
..พิมพ์รวมเล่มในรวมบทกวีชุด "ดอกไม้ป่า" เมื่อสิงหาคม ๒๕๒๒
"กานต์"
บรรพที่ห้า
สิ่งซึ่งแสวงหา
จำเป็นกับศีลธรรมนำทางหรือ
ความสัตย์ซื่อลาดปูสู่สิ้นสูญ
บาปหรือบุญก็ได้ให้ "สมบูรณ์"
การเกื้อกูลถูกปัดถูกรัดรึง
เป็นบทเพลงซึ่งกานต์เพิ่งพานพบ
ไร้วันจบจากจุดนี้สู่ที่หนึ่ง
ความแปรปรวนกับความนึกคำนึง
ต่างดูดดึ่งยื้อยุดแย่งฉุดกานต์
ความรับผิดรับชอบเป็นกรอบเกราะ
กานต์ยิ้มเยาะทายท้าอย่างกล้าหาญ
ความแตกต่างหว่างภูธร-นครบาล
ห่างเกินสานเชื่อมใยให้ใกล้กัน
หลายกระบวนหลายวิธีที่ยื่นให้
คือ "มหาวิทยาลัย" ซึ่งใฝ่ฝัน
ทังทฤษฎี-ปฏิบัติ สัมผัสพันธ์
มีอนันต์ใช้ชีวิตเพื่อกิจกรรม
สิ้นการสู้สู่ชีวิตบัณฑิตใหม่
เกินห้ามใจสำหรับรับดื่มด่ำ
สบสมหวังก่อกานต์หวานลำนำ
คือชื่นฉ่ำของแม่พ่อผู้รอคอย
ซึ่งเป็นสิ่งแสวงหา (และหาพบ)
กานต์ทวนทบอุดมคติมิท้อถอย
พร้อมยืนหยัดก้าวย่างกลางป่าดอย
สร้างสมรอยงามงดเพื่อ..ทดแทน
รัตนธาดา แก้วพรหม
..เขียน ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗
..พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๗
..พิมพ์รวมเล่มในรวมบทกวีชุด "ดอกไม้ป่า" เมื่อสิงหาคม ๒๕๒๒
"กานต์"
บรรพที่หก
ดอกไม้ป่า
จากโค้งฟ้าสีทองของเมืองหลวง
หอบเอาความโชติช่วงซึ่งหวงแหน
มาให้ "ดอกไม้ป่า" ชายแดน
ซึ่งแร้นแค้นความอบอุ่นหนุนวิญญา
หลายดอกของดอกไม้สยายม่าน
พร้อมจะบานประดับกับราวป่า
บางดอกก็ เอี่ยว แห้งแล้งโรยรา ... (ห)
บางมาลาก็ตายก่อนได้บาน
เด็กเอยเด็กน้อย..
โหยละห้อยแววตาน่าสงสาร
เพื่อพวกหนูครูจะอยู่อีกนาน
หวังสร้างสมอุดมการณ์งานของครู
แม้ที่นี่ไม่มีฟ้าสีสวย
แต่ครูขออยู่ด้วยช่วยสอนหนู
ด้วยอยากเห็น "ดอกไม้ป่า" น่าเชิดชู
ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง
ด้วยรักด้วยศรัทธาด้วยหน้าที่
อย่างยินดีต่อตำแหน่งเป็นแสงส่อง
เต็มใจสร้างนิยามความเรืองรอง
อยากจะมองเห็น "ตาวัน" ในวันนี้
หนูเอยหนูน้อย..
อย่าเศร้าสร้อยเลยหนาหมดราศี
อย่าหวั่นใจอย่าหม่นเลยคนดี
..ครูจะอยู่จนที่นี่ฟ้าสีทอง..
รัตนธาดา แก้วพรหม
..เขียน ๗ สิงหาคม ๒๕๑๖
..พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๖
..พิมพ์รวมเล่มในรวมบทกวีชุด "ดอกไม้ป่า" เมื่อสิงหาคม ๒๕๒๒
หมายเหตุ
...เรื่องราวในกลอนชุด "กานต์" ซึ่งเป็นเรื่องราวของครูหนุ่มคนหนึ่งนั้น สำหรับบรรพที่ ๓, ๔ และ ๕ นั้น เป็นเรื่องราวในจินตนาการของผู้เขียนเป็นเบื้องต้น ในขณะเรียนชั้น ป.กศ.ปีที่ ๑ และยังคงเป็นเรื่องราวในจินตนาจริงๆของผู้เขียนจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะว่า ในชีวิตจริงของผู้เขียน หลังจากที่จบ ป.กศ.(ต้น) เดินออกจากรั้ววิทยาลัยครูแล้ว ผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสกลับเข้าไปเรียนและใช้ชีวิตแบบ "นักศึกษามหาวิทยาลัย" อย่างที่ว่านั้นอีกเลย....
ลุงบุญเสริม
๑๐ มกราคม ๒๕๕๓
ครูผู้มีแต่การเกิดไม่รู้สิ้น
เมื่อเขาเทียบเปรียบครูอยู่เรือจ้าง
จงหยัดร่างแรงพายอย่าหน่ายหนี
พบผู้คนซึ่งจนยากลำบากมี
จงนำเขาส่งฟากที่ฟ้าสีทอง
เมื่อครูเป็นเทียนทิพย์ระยิบแสง
จงสำแดงบทบาทการสาดส่อง
สละแม้ต้องเผาไหม้ตัวตายกอง
เพื่อมอบหวังอันรังรองแก่ผองคน
เมื่อครูเป็นแม่พิมพ์พึงอิ่มอาบ
กำซับซาบความดีมีเหตุผล
ยึดแนวทางนำศรัทธาประชาชน
ประพฤติตนหนักเน้นความเป็นธรรม
เมื่อครูเป็นเยี่ยงผู้ปูชนียะ
ก็พึงจะแน่วในนามความชื่นฉ่ำ
ยืนหยัดเคียงข้างคนท้นระกำ
และจงนำเขาย่างสู่ทางชัย
และครูก็คือครูผู้สร้างสรรค์
ร่วมผลักดันสร้างสมสังคมใหม่
สังคมที่เรืองรองผ่องอำไพ
มีประชาธิปไตยในแผ่นดิน
นี่แหละครูจึงเป็นครูผู้ล้ำเลิศ
ครูผู้มีแต่การเกิดไม่รู้สิ้น
ครูชูธรรมส่องสว่างทั้งธานินทร์
ประชาจินต์จึงเทอดค่า..บูชาครู
รัตนธาดา แก้วพรหม
หมายเหตุ
...กลอนสำนวนนี้เขียนเมื่อวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๒๒ ลงพิมพ์ครั้งแรกในหน้า "มาลัยเมืองใต้" หนังสือพิมพ์เมืองใต้ ฉบับวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๒ ต่อมาลงพิมพ์ในนิตยสารคุรุปริทัศน์ นิตยสารรายเดือนของกรมการฝึกหัดครู ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๓ รวมทั้งรวมพิมพ์ในเล่ม "ดอกไม้ป่า" เมื่อสิงหาคม ๒๕๒๒ และรวมพิมพ์อีกครั้งในเล่ม "เทียนทิพย์ที่ทอแสง" เมื่อมกราคม ๒๕๓๙
..."เทียนทิพย์ที่ทอแสง" เป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มเล็กๆของรัตนธาดา แก้วพรหม หนา ๓๒ หน้า รวมบทกวีเกี่ยวกับครูไว้ ๑๐ สำนวน สำนักงานคณะกรรมการคุรุสภาอำเภอท่าศาลา เป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๓๙
...อาจารย์วินิจ กองสวัสดิ์ ศึกษาธิการอำเภอท่าศาลา(ขณะนั้น) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุรุสภาอำเภอท่าศาลา เขียนไว้ในหน้าเกริ่นนำตอนหนึ่ว่า...
"....สำหรับวันครูปี ๒๕๓๙ นี้ ไม่มีกิจกรรมเสริมอย่างเคยมี แต่ได้จัดพิมพ์ เทียนทิพย์ที่ทอแสง เล่มนี้ โดยรวบรวมบทกวีที่ รัตนธาดา แก้วพรหม ครูอีกคนหนึ่ง เคยเขียนและเคยอ่านในงานวันครูหลายๆปีที่ผ่านมา เพื่อมอบเป็นที่ระลึกและฝากเป็นการบ้านไปคิดต่อ สำหรับทุกท่านที่มีครูและเป็นครู...."
ลุงบุญเสริม
๑๒ มกราคม ๒๕๕๓
บันทึกของครู
บันทึกด้วยความภูมิใจ..ไว้หน้าหนึ่ง
เมื่อนำศิษย์ส่งถึงซึ่งจุดหมาย
หยิบผ้าขึ้นซับเหงื่อที่เพรื่อพราย
ที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยกายก็หายไป
ประกายตาเอิบอิ่มเพื่อพิมพ์ภาพ
เพื่อซึมซาบศรัทธาสง่าใส
แต่ละย่างแต่ละเท้าศิษย์ก้าวไกล
จึงปรากฏชัดในหัวใจครู
เธอ..คือคนซึ่งผ่านการหล่อหลอม
จนเพียบพร้อมสีสันอันสวยหรู
ผ่านการแต่งกล่อมเกลี้ยงการเลี้ยงดู
มีคุณค่าควรคู่สังคมคน
ครูทุ่มเทชีวิตอุทิศให้
ด้วยแรงใจเร่งเร้าเฝ้าฝึกฝน
กลางคลื่นลมแปลกเปลี่ยนที่เวียนวน
กลางความทุกข์และมืดมนในหนทาง
ครูมีมือถือชอล์ค-บอกอ่านเขียน
ให้เร่งรู้เร่งเรียนเพียรสรรค์สร้าง
ให้อดทนให้ต่อสู้รู้หนาบาง
ให้ศึกษาแบบอย่างในทางดี
ให้รักเพื่อน รักคนซึ่งจนยาก
ให้บั่นบาก ให้หาญกล้า รู้หน้าที่
ให้อ่อนหวาน ให้แผ่เผื่อเอื้ออารี
ให้เธอมีความจริงใจมอบให้กัน
เฝ้าปลูกฝังคุณธรรมนำชีวิต
ให้รู้ถูกรู้ผิด คิดสร้างสรรค์
ให้มุ่งรักแผ่นดินอยู่กินนั้น
มีใจอันเที่ยงธรรมและเทอดไท
กลางความมืดของคืนวันอันอ้างว้าง
ครูคือเทียนส่องทางสว่างให้
เมื่อเธอก้าเลยล่วงพ้นปวงภัย
เทียนทุกดวงก็ภูมิใจในแสงเทียน
ศิษย์รัก.........
หนทางนั้นยังยาวนักจักแปรเปลี่ยน
ล้วนเล่ห์ลวงสกปรกทั้งวกเวียน
ซึ่งเธอต้องร่ำเรียนด้วยชีวิต
บางครั้งอาจลื่นล้มจนจมหาย
ทั้งเหน็ดเหนื่อยแหนงหน่าย-เดินทางผิด
ถูกล่อหลอกด้วยเล่ห์กลจนหลงทิศ
ชีพน้อยนิดเมื่อพลั้งพลาดอาจอับปาง
แม้ส่งเธอข้ามฟากจากไปแล้ว
ยังเหลือแววห่วงใยไม่เคยห่าง
ความเป็นครูยังฝังใจไม่เคยจาง
ปรารถนายังพราวพร่างยังศรัทธา
ครูจึงมอบเทียนทองเพื่อส่องแสง
ให้เธอแจ้งคำสอนเคยศึกษา
ให้ฝังใจโชติช่วงเต็มดวงตา
ซึ่งจะนำเธอกล้าฝ่าผองภัย
ขออวยพรและสั่งย้ำคำสุดท้าย
ก่อนร่างเธอลับหาย..ให้สดใส
หากเธอพลั้งโศกศัลย์ ณ วันใด
จงตั้งใจนึกถึงครู- สู้ภัยพาล ฯ
รัตนธาดา แก้วพรหม
หมายเหตุ
....กลอนสำนวนนี้ เขียนเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๓ เพื่อลงพิมพ์ในวารสาร "เทวดาราม" ฉบับพิเศษ "อนุสรณ์ ป.หกรุ่นสิบห้า" ปีการศึกษา ๒๕๒๒ ของโรงเรียนวัดเทวดาราม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาพิมพ์เผแพร่ในนิตยสารคุรุปริทัศน์ ของกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๒๔ และนำมารวมเล่มในบทกวีชุด "เทียนทิพย์ที่ทอแสง" เมื่อปี ๒๕๓๙
...ช่วงที่ลุงเป็นครูอยู่โรงเรียนวัดเทวดาราม (ช่วงปี ๒๕๒๑-๒๕๒๕) นอกจากเป็นครูสอนภาษาไทยชั้น ป.๕-๖ แล้ว มีงานพิเศษที่สำคัญอีก ๒ อย่าง คือ บรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน และ บรรณาธิการวารสาร "เทวดาราม" รายเดือน
...วารสาร "เทวดาราม" เป็นวารสารทำมือจัดพิมพ์ในระบบอัดสำเนา ขนาดกระดาษ เอ.๓ พับครึ่ง หนา ๓๒ หน้า เนื้อในกระดาษปรู๊ฟ ปกกระดาษสีหนา แต่ละฉบับเนื้อหาสาระเข้มข้นเอาการ ตั้งแต่บทนำ สรุปข่าว บทสัมภาษณ์ บทความ เรื่องสั้น บทกวี สาระความรู้ บันเทิง ตอบปัญหาชิงรางวัล และมีส่วนฉบับเด็กๆเป็นเวทีการเขียนของนักเรียน ออกเผยแพร่ฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๒ และต่อเนื่องมาจนถึงฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๔ จึงเลิกราไป...
...คิดหวนทวนความไปถึงบรรยากาศการจัดทำวารสารโรเนียวในครั้งกระโน้นแล้ว อดที่จะชื่นชมในความอุตสาหะพยายามและความ "อึด" ของคนทำอย่างยิ่งทีเดียว ยุคนั้นเครื่องไม้เครื่องมือมีแค่เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องโรเนียว กระดาษไข กว่าจะเสร็จแต่ละหน้าต้องพิมพ์ ต้องเขียนกระดาษไข ผิดแล้วผิดอีก ลบแล้วลบอีก จนกระดาษไขแดงด้วยสีน้ำยาลบไปทั้งหน้า กว่าจะเสร็จได้แต่ละฉบับ หามรุ่งหามค่ำกันทีเดียว
แต่เชื่อไหมว่า.. ยุ่งยากมากมายขนาดนั้น กลับมีหลายโรงเรียนหลายที่หลายแห่งขยันจัดทำออกมาอย่างต่อเนื่องจริงจัง...
ผิดกับยุคนี้ เครื่องไม้เครื่องมือเครื่องทุนแรงพร้อมสรรพ แต่ไม่ค่อยจะได้เห็นสักเท่าไหร่ ???
ณธรรมคือหางเสือของเรือจ้าง
ท่ามกลางความอับเฉาเขลาความคิด
คือชีวิตเด็กน้อยซึ่งหงอยเหงา
ด้วยดักดานดุจเดินโดยดุ่มเดา
มืดแห่งเงาดวงจิตอวิชชา
ความเป็นไปกลางชีวิตมืดมิดนั้น
ครูคือผู้สร้างสรรค์การศึกษา
ชูโคมทองส่องแสงแห่งปัญญา
เพื่อส่งค่าที่ดีงาม..ความเป็นคน
ครูจึงมีคุณธรรมประจำจิต
มีความคิดมีหัวใจไม่สับสน
มีวินัยจรรยาชูค่าตน
เพื่อส่งผลสร้างหวังแก่สังคม
ครูต้องรักและศรัทธาในอาชีพ
เพื่อสร้างกลีบดอกไม้ให้สวยสม
ไช่เบื่อหน่ายทนฝืนเฝ้าตรอมตรม
แต่ต้องรื่นชื่นชมอุดมการณ์
ครูต้องรักเมตตากรุณาศิษย์
แนบสนิทพันผูกเหมือนลูกหลาน
ไม่ปิดบังตำราวิชาชาญ
พร้อมถ่ายทอดทุกด้านด้วยจริงใจ
ครูต้องมีขันติธรรมคอยนำเนื่อง
เมื่อสอนศิษย์ไม่รู้เรื่อง-ใช่เรื่องใหญ่
ควรฤๅใช้อารมณ์ระดมไป
แท้ต้องคิดสอนใหม่ใจเยือกเย็น
ครูต้องทรงคุณธรรมประจำจิต
ชี้สิ่งถูกสิ่งผิดให้ศิษย์เห็น
อย่าลำเอียงต้องเที่ยงธรรมคิดบำเพ็ญ
เพื่อให้เป็นตัวอย่างในทางดี
ครูจะต้องสุภาพและเรียบร้อย
อย่าด่างพร้อมให้เสื่อมสูญเสียศักดิ์ศรี
ทั้งจริตกิริยาทั้งท่าที
พึงสำรวมทุกที่ให้ดีงาม
ครูต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่
ไม่ละทิ้งหน่ายหนีน่าเหยียดหยาม
ต้องอุทิศเวลาพยายาม
เลิกเช้าชามเย็นชามชั่วน่าชัง
ครูจะต้องซื่อสัตย์สุจริต
มีความคิดที่จริงใจไม่โอหัง
ต่อตนเองต่อศิษย์ไม่ปิดบัง
เป็นตาชั่งตราชูต่อผู้คน
ครูต้องมีปรีชาความสามารถ
ที่เปรื่องปราดรอบรู้อยู่ทุกหน
ที่เป็นจริงเป็นไปไม่วกวน
เพื่อนำชนสู่ทางที่พร่างพราย
ครูต้องมีอุดมการณ์ที่หาญกล้า
เพื่อฟันฝ่าก้าวข้ามสู่ความหมาย
เพื่อสรรค์สร้างความถูกต้องครรลองราย
ทั้งท้าทายสิ่งผิดที่บิดเบือน
ครูต้องมีมนุษยสัมพันธ์คอยพนผูก
ครูต้องปลูกน้ำใจไว้เป็นเพื่อน
ต่อสังคมทุกชนชั้นหมั่นเยี่ยมเยือน
คอยเอ่ยเอื้อนอัธยาเป็นอาจิณ
ครูต้องเป็นเรือจ้างระหว่างฟาก
ที่บั่นบากแรงพายกลางสายสินธุ์
ครูต้องเป็นเทียนทองส่องแผ่นดิน
ให้มืดหม่นหมดสิ้นสู่ถิ่นธรรม
ครูต้องเป็นแม่พิมพ์ที่อิ่มอาบ
เพื่อสร้างภาพพิมพ์ความที่งามขำ
ครูต้องเป็นผู้สร้างสรรค์เป็นผู้นำ
ให้ผองชนก้าวย่ำไปกำชัย
"คุณธรรม" คือหางเสือของเรือจ้าง
คือเส้นทางสาว่างแจ้งเทียนแท่งใหม่
คือคุณค่าแม่พิมพ์พิลาสพิไล
คือหัวใจของครูผู้เป็น "ครู"
รัตนธาดา แก้วพรหม
หมายเหตุ
....กลอนสำนวนนี้เขียนเมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ตามคำขอของ อาจารย์หนูไม้ จันทรภักดี รักษาการหัวหน้าหมวดการศึกษาอำเภอท่าศาลา(ขณะนั้น) เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาครูหรืออะไรสักอย่าง โดยพยายามประมวลเอาคุณลักษณะของความเป็นครูที่แท้ มีคุณค่าและเป็นที่ศรัทธาเชื่อมั่นของสังคมมาเขียน
....ลงพิมพ์เผยแพร่ทั่วไปครั้งแรกใน "สารพัฒนาหลักสูตร" ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ฉบับเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๒๖ และลงพิมพ์รวมเล่มในรวมบทกวีชุด "เทียนทิพย์ที่ทอแสง" เมื่อวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๓๙
.... ผศ.ดร.เหม ทองชัย อดีตอธิการสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช เคยบอกว่า ท่านนำเอาบทกลอนสำนวนนี้ไปใช้ประกอบในกิจกรรมการสอนนักศึกษาว่าด้วยวิชาความเป็นครู ทั้งนักศึกษาภาคปกติและนักศึกษาที่เป็นครูประจำการ...ขอบคุณครับ..
ลุงบุญเสริม
๑๓ มกราคม ๒๕๕๓