อาการ นอนกัดฟัน เป็นอาการหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติด้านการบดเคี้ยว หรือมีปัญหาการทำงานของขากรรไกร นอกจากจะมีปัญหากับคนที่นอนข้างๆ
อาการ นอนกัดฟัน เป็นอาการหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติด้านการบดเคี้ยว หรือมีปัญหาการทำงานของขากรรไกร นอกจากจะมีปัญหากับคนที่นอนข้างๆ หรือเพื่อนร่วมห้องแล้ว การ นอนกัดฟัน ยังสามารถก่อให้เกิดปัญหากับตัวเองด้วย ปัญหาดังกล่าวได้แก่ อาการปวดข้อต่อกระดูกขากรรไกรและกล้ามเนื้อ ซึ่งอยู่หน้ารูหู ในเวลาที่ตื่นนอนตอนเช้าจะรู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือเวลาที่บดเคี้ยวอาหารก็จะรู้สึกเจ็บปวดได้ อาการฟันสึก ในบางรายมีอาการฟันสึกจนถึงชั้นเนื้อฟัน เห็นเนื้อฟันสีเหลืองเข้ม และมีอาการเสียวฟันเวลาที่ดื่มน้ำร้อน, น้ำเย็น หรือของหวานได้
สาเหตุของการ นอนกัดฟัน (Sleep Bruxism) น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
1. สภาพของจิตใจ การดำเนินชีวิตประจำวันอาจมีความเครียด เนื่องจากความเร่งรีบในการทำงานก็เป็นสาเหตุที่ให้เรานอนกัดฟันในเวลานอน โดยเราไม่รู้สึกตัวได้
2. สภาพฟัน อาจมีจุดสูงที่อยู่บนตัวฟัน ที่อาจเกิดจากวัสดุอุดฟัน มีการเรียงกันของฟันที่ผิดปกติ ฟันซ้อนเก หรือเป็นโรคปริทันต์ หรือในคนไข้ที่สูญเสียฟันแท้ไป โดยที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมทดแทน ซึ่งถ้าว่าจุดสูงหรือจุดขัดขวางการบดเคี้ยว โดยธรรมชาติของคนเราจะพยายามกำจัดจุดสูงหรือจุดขัดขวางการบดเคี้ยว โดยพยายามบดเคี้ยวให้จุดสูงนั้นหมดไป มักจะเกิดในเวลาที่เรานอนหลับ ซึ่งเป็นเวลาที่เราไม่รู้สึกตัว
วิธีการแก้ไขอาการ นอนกัดฟัน
1. พฤติกรรมบำบัด ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงผู้ป่วยลดความเครียดหรือความกังวลด้วยการทำจิตใจให้สบาย อาจทำโดยการนั่งสมาธิ, เล่นกีฬา, รวมทั้งลด หรือ งดการดื่มกาแฟ และ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์
2. รักษาสาเหตุและแก้ไขอาการนอนกัดฟัน โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์หรือทันตแพทย์ อาจจะแนะนำให้ใส่ Splint หรือ เฝือกสบฟันเพื่อลดการสึกของฟัน โดย Splint นั้น มีลักษณะเป็น อะคริลิคใส แข็ง ใสในฟันบน หรือฟันล่าง ใส่เฉพาะในเวลานอนตอนกลางคืนเท่านั้น นอกจากนี้อาจปรึกษาทันตแพทย์เพื่อการกรอ หรือปรับลักษณะสบฟันหรือจัดฟันให้อยู่ในสภาวะปกติ หรือ อาจถอนฟันซี่ที่ไม่มีคู่สบเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากการขบฟัน แล้วแต่ลักษณะที่พบ
3. การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาด้วยการรับประทานยาหรือฉีดยาเพื่อลดการทำงานหรือให้กล้ามเนื้อคลายตัว ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการให้ยาเพื่อลดอาการข้างเคียงขออาการนอนกัดฟัน
4. การฉีดโบท็อก (Botox, Botulinum Toxin) เข้ากล้ามเนื้อมัดที่ควบคุมการเคี้ยว ถือเป็นการทำให้กล้ามเนื้อลดการทำงานช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังสามารถใช้งานหรือเคี้ยวอาหารได้ใกล้เคียงปกติๆ วิธีนี้เป็นที่แพร่หลายมากในประเทศสหรัฐอเมริกา
5. Bio Feedback เหมือนการทำผิดแล้วถูกลงโทษ สอนสมองให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว โดยแพทย์ผู้รักษาจะให้ใช้เครื่องมือที่มีตัวเซนเซอร์กล้ามเนื้อกราม หากกัดเข้าหากันในระดับรุนแรง เครื่องมือชนิดนี้จะส่งสัญญาณที่เป็นได้ทั้งในรูปแบบของเสียงที่ดังพอให้รู้สึกตัวแต่ไม่ถึงกับตื่น หรือในรูปแบบของกระแสไฟฟ้าที่ไม่เป็นอันตรายเพื่อช็อตให้สะดุ้ง เพราะเมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวก็จะหยุดกัดกราม
ขอบคุณที่มาจาก : รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล