คุณมี แผลในกระเพาะอาหาร หรือเปล่า?
อยู่ๆ ก็นั่งปวดท้อง แต่เอ๊ะ…กินข้าวแล้วนี่นา แต่ทำไมยังปวดท้องอีกละเนี่ย
ปัญหาเรื่องปวดท้อง เคยเกิดกับคุณบ้างหรือเปล่า ถ้าเคยและเป็นอยู่บ่อยๆ รู้หรือไม่ว่า กระเพาะอาหารของคุณอาจมีแผลเล็กๆ ซึ่งถ้าปล่อยปละละเลย อาจกลายเป็นโรคในกระเพาะที่ร้ายแรงก็ได้
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ เผยว่า โรค แผลในกระเพาะอาหาร หรือบางท่านอาจเรียก โรคกระเพาะอาหาร เพราะอาการปวดท้องที่เป็นมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร ความหมายของโรคกระเพาะนั้น โดยทั่วไปหมายถึงโรค แผลในกระเพาะอาหาร แต่ที่จริงแล้วโรคกระเพาะยังหมายถึง โรคแผลที่ลำไส้เล็ก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคลำไส้เล็กอักเสบอีกด้วย
สำหรับสาเหตุของโรค แผลในกระเพาะอาหาร นั้นมีมากมาย ซึ่งแต่ละสาเหตุจะทำให้เกิดภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การรับประทานยาแก้ปวดจำพวก Aspirin ยาลดการอักเสบ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) การดื่มสุรา และสูบบุหรี่ นอกจากนี้ในปัจจุบันพบว่า แบคทีเรีย Helicobacterpylori ที่อาศัยอยู่ในชั้นเมือกที่ปกคลุมผิวกระเพาะอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากในการ ทำให้เกิดแผลขึ้น
อาการของโรค แผลในกระเพาะอาหาร
- ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว
- อาการปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหาร หรือยาลดกรด ผู้ป่วยบางคนอาการปวดจะเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น
- อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ มานานเป็นปี โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลายๆเดือน จึงกลับมาปวดอีก
- ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว
- บางรายจะไม่มีอาการปวดท้อง แต่จะมีอาการแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีอาการท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังกินอาหารท้องจะอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโกรกกราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อ หรือช่วงเช้ามืดผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อยลง และน้ำหนักลดลงบ้างเล็กน้อย
- แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม ไม่มีน้ำหนักตัวลด ไม่ซีดลง
การรักษาโรค แผลในกระเพาะอาหาร
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เมื่อมีอาการของโรคกระเพาะกำเริบ
- รับประทานอาหารจำนวนน้อยๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม กาแฟ ของทอด ของมัน และของขบเคี้ยว
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยารักษาโรคข้อกระดูกอักเสบทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา กลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์
- ผ่อนคลายความเครียด และความวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหาร ติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร หรือตรวจโดยการเป่าลมหายใจ
- ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง หรือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ถ่ายเป็นเลือดสด หรือสีดำเหลว ควรรีบไปพบแพทย์
- ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลดีหลายวิธี นอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว การตรวจ X-RAY กลืนสารทึบรังสี และการส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหารสามารถตรวจพบแผล เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารเพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง และตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้
นอกจากนี้ คุณควรพึงระลึกไว้เสมอว่า โรค แผลในกระเพาะอาหาร มักเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หลังได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อนใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน 4-8 สัปดาห์ แผลจึงหาย เมื่อหายแล้วจะกลับมาเป็นใหม่ได้อีก ถ้าไม่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องหรือถ้ายังไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียใน กระเพาะอาหารให้หมดไปได้
การดูแลร่างกายของผู้ที่เป็น แผลในกระเพาะอาหาร
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง อาหารแข็งย่อยยาก อาหารที่ต้องทอดหรือมีไขมันมาก ส่วนผลไม้ที่กินแล้วทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น บางคนกินฝรั่ง หรือสับปะรด จะปวดท้องมากขึ้น เป็นต้น ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ ช็อคโกแลต น้ำอัดลม เครื่องดื่มนั้นไม่ควรร้อนจัด หรือเย็นจัดเกินไป ส่วนนมหรือน้ำผลไม้คั้น อาจมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก อาจทำให้มีอาการอืดแน่นมากขึ้นได้ขณะที่กำลังปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหาร การดื่มนมมากๆไม่ได้ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แต่อาจช่วยกระตุ้นให้มีกรดมากขึ้นจากกระเพาะอาหาร และอาจทำให้ท้องอืดได้
อาหารที่ควรรับประทาน ได้แก่ อาหารที่ย่อยง่าย อาหารอ่อนๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยๆกลับมารับประทานอาหารที่ใกล้เคียง ปกติได้
แผลในกระเพาะอาหาร จะกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่
โรคแผลในกระเพาะอาหารจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆหายๆ นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่เริ่มแรกโดยตรง แต่พึงระวังไว้ด้วยว่าโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจมาเกิดร่วมกับโรคแผลในกระเพาะอาหารก็ได้ โดยเฉพาะคนสูงอายุ เนื่องจากอาการเริ่มแรกของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร และโรคแผลในกระเพาะอาหารคล้ายกันมาก ไม่สามารถแยกจากกันได้โดยการซักประวัติ หรือตรวจร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารเพื่อช่วยในการวินิจฉัย สำหรับอาการที่บ่งชี้ว่าอาจมีโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ซีดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายอุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด อาเจียนมาก และเป็นติดต่อกันเป็นวัน ในคนสูงอายุที่เริ่มมีอาการครั้งแรกของโรคกระเพาะอาหารหรือผู้ที่มีอาการมา นานแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงของอาการ เช่นปวดท้องรุนแรงขึ้น ในภาวะต่างๆเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์